+โครงการสำนึกพลเมืองกับสถานศึกษานำร่อง อาชีวศึกษาภาคเหนือ


โครงการสำนึกพลเมือง (project citizen) กับสถานศึกษานำร่อง อาชีวศึกษาภาคเหนือ

 

 

 

โครงการนี้เป็นความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้ากับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการส่งเสริมหรือปูพื้นฐานประชาธิปไตยอย่างเป็นขั้นตอนด้วยผ่านกระบวนการเรียนรู้  ภาคเหนือ มีจังหวัดและสถานศึกษาร่วมนำร่อง 4 จังหวัด 15 สถานศึกษา ประกอบด้วย  จังหวัดน่าน ได้แก่  วิทยาลัยเทคนิคน่าน  วิทยาลัยสารพัดช่างน่าน  วิทยาลัยการอาชีพปัว  วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา  จังหวัดพะเยา ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคพะเยา  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา  วิทยาลัยการอาชีพเชียงคำ วิทยาลัยการอาชีพดอกคำใต้  จังหวัดเชียงราย ได้แก่  วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย  วิทยาลัยการอาชีพเชียงราย  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอนและวิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง

 

โดยมีตัวแทนของผู้บริหารและครูเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจโครงการสำนึกพลเมือง ที่จังหวัดเชียงราย  จากนั้นก็อบรมให้ความรู้กลุ่มศึกษานิเทศก์ (มิถุนายน) เพื่อทำหน้าที่ติดตามนิเทศโครงการดังกล่าวสัปดาห์ถัดมา  ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยความรู้และการกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ โดยผ่านคีย์วอร์ดคำว่า  เสียงข้างมาก  ฉันทามติ   นโยบายสาธารณะ โชว์เคส  ซึ่งมีทั้งหมด 6 ขั้นตอน*

 

 Photobucket

โชว์เคส วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย


สำหรับภาคเหนือ  ได้จัดประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง (กันยายน) และทำแผนการจัดการเรียนรู้และแผนติดตามประเมินผลโครงการ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ภาคเหนือก็ได้ “แนวทางการพัฒนากิจกรรมสร้างสำนึกพลเมือง”  จัดทำเป็นรูปเล่ม ในเอกสารประกอบด้วยแผนการจัดการการเรียนรู้  และแผนกิจกรรมชมรมสร้างสำนึกพลเมือง เป็นความร่วมมือของครูและผู้บริหารที่ตั้งใจจะพัฒนากิจกรรมดังกล่าวให้เกิดในสถานศึกษานำร่อง  โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคเหนือได้ส่งเอกสารให้สถานศึกษานำร่อง เป็นแนวทางให้กับครูผู้ที่จะนำเอากิจกรรมดังกล่าวไปสอดแทรกในกิจกรรมการสอนวิชา วิถีธรรมวิถีไทย  หรือนำไปกำหนดเป็นกิจกรรมชมรมของสถานศึกษา  ต่อจากนั้น ทิ้งระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ก็ได้ติดตามโครงการเพื่อจะได้ทราบความก้าวหน้าหรือปัญหาอุปสรรคในการจัดการ โดยสรุปผลการติดตามดังต่อไปนี้

 

  • ครูที่เข้ารับการอบรม ไม่ได้นำกิจกรรมทั้ง 6 ขั้นตอนมาสอดแทรกในการจัดการเรียนการสอนเนื่องจาก เห็นว่า เนื้อหารายวิชาไม่สอดคล้องกับกิจกรรมที่ระบุในเอกสาร เช่น ครูที่สอนประเภทวิชาบริหารธุรกิจ  ประเภทวิชาอุตสาหกรรม
     
  • ครูที่เข้ารับอบรมโครงการครั้งแรก  ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมต่อเนื่อง ในการจัดทำ แผนการจัดการการเรียนรู้  และแผนกิจกรรมชมรมสร้างสำนึกพลเมือง จึงไม่ทราบถึงรายละเอียดที่จะดำเนินการต่อ

 

  • การดำเนินโครงการนี้เป็นช่วงระหว่างภาคเรียน และครูได้จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ครบทั้ง  6 ขั้นตอน

 

  • ภาคเรียนที่มีการติดตาม สถานศึกษาไม่ได้บรรจุรายวิชาวิถีธรรมวิถีไทยไว้ในแผนการเรียน และครูก็ไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องกิจกรรมชมรม

 

  • ความเข้าใจสับสนว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับ สถานศึกษา 3 ดี และได้นำเอกสารและรายงานผลของโครงการ 3 ดี หัวข้อเรื่อง Democracy นำมารายงานให้ทราบ

 

  • เอกสาร “แนวทางการพัฒนากิจกรรมสร้างสำนึกพลเมือง”  ของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคเหนือ ที่ระบุมอบให้ครูสอนวิชาวิถีธรรมวิถีไทยและหัวหน้ากิจกรรม และอีกจำนวนหนึ่งให้สถานศึกษาเก็บไว้เพื่อใช้ในการค้นคว้าอ้างอิง บุคคลที่ถูกระบุดังกล่าวยังไม่ได้รับเอกสาร  ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันว่า โครงการดังกล่าวยังไม่เริ่มต้นดำเนินการ

 

  • สถานศึกษาหลายแห่งก็ได้นำแผนการจัดการเรียนรู้ไปบูรณาการในวิชาวิถีธรรมวิถีไทย โดยครูได้จัดการเรียนการสอนและดำเนินกิจกรรม อยู่ระหว่างดำเนินการขั้นตอนที่ 2 (การเลือกปัญหาเพื่อศึกษาในชั้นเรียน) ยังไม่สามารถระบุปัญหาที่เลือกได้   สถานศึกษาบางแห่งได้จัดตั้งชมรมสำนึกพลเมืองขึ้นเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้และอีกส่วนหนึ่งยังแทรกกิจกรรมไว้ในชมรมประชาธิปไตยเช่นเดิม

 

 Photobucket

 โชว์เคส วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา

 

สำหรับสถานศึกษาที่ได้นำกระบวนการและกิจกรรมของโครงการสำนึกพลเมือง ทั้งแทรกไว้ในรายวิชาวิถีธรรมวิถีไทยและกิจกรรมชมรม จากการนิเทศติดตาม พบข้อสังเกต การโชว์เคสของผู้เรียน จากการนำเสนอและลองสุ่มตั้งคำถาม พบว่า

 

  • การจัดทำบอร์ด   ยังไม่ชัดเจน ทั้งปัญหา  นโยบายสาธารณะ และแผนการดำเนินการ  ขนาดของบอร์ดมีหลากหลายขนาดไม่ได้เป็นไปตามที่เอกสารกำหนด  การจัดเรียงลำดับแฟ้มเอกสารประกอบการนำเสนอ
  • การนำเสนอของผู้เรียน  อยู่ระหว่างการฝึกฝนกันเองในชั้นเรียน โดยที่ครูยังไม่ได้ให้ข้อสังเกตและคำแนะนำ ผู้เรียนจึงไม่สามารถสรุปเรื่องได้

 

  • ผู้เรียน ผู้ร่วมชมรม  หากได้ทำกิจกรรมดังกล่าวเอง จะมีความเชื่อมั่นและการตอบปัญหาได้ชัดเจน

 

  • การกำหนดปัญหา มีปัญหาที่จะมากำหนดเป็นนโยบายสาธารณทั้งปัญหาภายในสถานศึกษาและปัญหาในชุมชน ได้แก่  การทะเลาะวิวาท  การแต่งกายไม่เรียบร้อย การเหยียบส้นรองเท้า  ปัญหาการสูบบุหรี่ในห้องน้ำ การจอดรถของนักศึกษา การใช้ห้องน้ำของนักศึกษา ขยะในโรงเรียน การใช้รถจักรยานยนต์ในชุมชน การตัดไม้ทำลายป่า  พิษภัยจากยาฆ่าแมลง  เป็นต้น

 

  • การเลือกปัญหา  ยังโน้มเอียงใช้เสียงข้างมาก มากกว่าการใช้ฉันทามติ และเลือกปัญหาจากผู้เรียนที่มีลักษณะเป็นผู้นำกลุ่ม

 

  • แหล่งข้อมูล  ผู้เรียนเลือกใช้แหล่งข้อมูลที่นำมาเสนอปัญหา  ที่ไม่ตรงกับปัญหาโดยตรง นั้นคือ กว้างไม่เจาะลงลึกหรือไม่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างกรณี  ปัญหาในสถานศึกษา แต่ผู้เรียนนำเสนอข้อมูลจากภายนอก เช่น อินเทอร์เน็ต  หนังสือพิมพ์

 

  • การตอบคำถาม  ผู้เรียนที่นำเสนอโชว์เคสส่วนใหญ่ ตอบคำถามตรงจุดและให้รายละเอียดชัดเจน เพียงแต่ต้องฝึกการลำดับคำตอบ แบ่งหน้าที่ให้ชัดเจนในคำตอบแต่ละคำถาม

 

  • การกำหนดนโยบายสาธารณะ  ผู้เรียนบางกลุ่มนำเสนอปัญหาได้ชัดเจน การสืบค้นและได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบเอื้อและสามารถดำเนินการได้ หากได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายต่าง ๆ 

 

  • บุคลิกภาพและการนำเสนอของผู้เรียน  ควรได้ฝึกฝนและได้รับคำแนะนำจากครูสอนหรือครูที่ปรึกษาชมรมนั้น ๆ จะด้วยการฝึกนำเสนอในหรือนอกชั้นเรียน ทั้งผู้เรียนด้วยกันเองหรือต่างชั้น ต่างระดับ เพื่อจะได้เกิดความเชื่อมั่น ไม่ประหม่าเมื่อพูดในที่ชุมชน
     
  • จำนวนผู้โชว์เคส   มีหลายหลายลักษณะได้แก่  ให้ผู้เรียนหรือผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดมายืนเรียงแถว แต่นำเสนอเพียงส่วนหนึ่ง   ผู้นำเสนอเพียงคนเดียว   ผู้นำเสนอห้าคนโดยแต่ละบอร์ดมีผู้รับผิดชอบและอีกคนเป็นผู้แนะนำสมาชิกกลุ่มและสรุป  ผู้นำเสนอมีแปดคน


สำหรับข้อสังเกตทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของภาพที่ได้ติดตามนิเทศโครงการนี้ จากผู้เขียนเพียงคนเดียว ไม่ได้เป็นภาพรวมของกลุ่มคณะทั้งหมด และยังขาดบางจังหวัด ดังนั้น จึงเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่คิดว่า  สถานศึกษาและครูผู้สอน ครูชมรม ได้เดินมาถูกทิศทาง แม้ว่า บางแห่งยังไม่ได้เริ่ม  ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เป็นส่วนประกอบในการทำงานต่อไปได้ และคาดหวัง อยากให้เป็นตัวอย่างโครงการที่ยั่งยืนอีกสักหนึ่งโครงการใน สอศ. ของเราสืบไป

 

* หมายเหตุ :  6  ขั้นตอนได้แก่  การระบุปัญหานโยบายสาธารณะในชุมชนของท่าน  การเลือกปัญหาเพื่อศึกษาในชั้นเรียน การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่จะศึกษาในชั้นเรียน  การพัฒนาแฟ้มผลงานของชั้นเรียน การนำเสนอแฟ้มผลงานและผลสะท้อนจากประสบการณ์การเรียนรู้

 

 

พิมพร  ศะริจันทร์ ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่ 30 มกราคม 2553
จากการนิเทศติดตามโครงการสำนึกพลเมือง วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา วิทยาลัยเทคนิคน่าน  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา วิทยาลัยการอาชีพเชียงราย วิทยาลัยกาญจนาภิเษกเชียงรายและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย  ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม  2553

ผู้ที่จะนำบทความ รูปภาพไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น
ผลงานและสิ่งพิมพ์ของผู้เขียน ปรับปรุงข้อมูล วันพฤหัสบดี, 25 กุมภาพันธ์ 2553

ติดต่อผู้เขียนที่  
[email protected] 

 

หมายเลขบันทึก: 339828เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2010 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท