สถาบันอาศรมศิลป์ : สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้


          บ่ายโมงวันที่ ๓ ก.พ. ๕๓ ผมออกจากที่ประชุมสภาสถาบันอาศรมศิลป์ด้วยความรู้สึกว่า    สถาบันอาศรมศิลป์ช่างสมกับเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกเสียจริงๆ   คือคิดทำอะไรๆ ไม่เหมือนกับที่สถาบันอุดมศึกษาโดยทั่วไปเขาทำกัน

          ตรงจริตของผมเสียจริง

          ที่จริงคำว่า “สถาบันอุดมศึกษาทางเลือก” มาจากภาษาอังกฤษว่า alternative higher education   คือเป็นคนละสายกับกระแสหลัก   อาจจะเรียกว่าเป็นกระแสรองก็ได้  

          แต่ที่สถาบันอาศรมศิลป์กำลังทำอยู่มีคุณค่ามากกว่าการเป็น “กระแสรอง”  ไม่ได้เป็น “นางรอง” หรือ “พระรอง”   แต่กลับทำหน้าที่ “นางเอก” หรือ “พระเอก” ของอุดมศึกษา    เพราะมีการเสาะหา (explore) ทดลองวิธีการใหม่ๆ ในการเรียนรู้ และในการทำหน้าที่อุดมศึกษารับใช้สังคม  

          เป็น “นางเอก” หรือ “พระเอก” ของการเสาะหาแนวทางใหม่ให้แก่บ้านเมือง   หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่บ้านเมือง และแก่วงการอุดมศึกษา

          ในวงการแสดง นางเอกพระเอกเขาค่าตัวแพงมาก   แต่ในวงการศึกษากลับไม่มีค่าตัว หรือค่าตัวถูก   สถาบันอาศรมศิลป์จึงตกอยู่ในภาวะขาดทุน ต้องใช้เงินที่มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณเอามาจุนเจือ 

          แม้สถาบันอาศรมศิลป์จะรับทุนวิจัยและพัฒนาจากแหล่งต่างๆ มาดำเนินการและเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคณาจารย์และนักศึกษาไปในตัว    สถาบันก็ยังไม่อยู่ในฐานะเลี้ยงตัวได้   ต่างจากมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่ที่เน้นหารายได้จากการสอน    ได้ข่าวว่ากำไรปีละเป็นพันล้านบาท 

          โครงการวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เรื่อง “โจ๊มาลือล่ะ โรงเรียนวิถีชีวิต ศูนย์การศึกษาพิเศษชนเผ่าปะกากะญอ บ้านสบลาน  อ. สะเมิง  จ. เชียงใหม่” ของคุณอรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์ เป็นตัวอย่างของการทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่บ้านเมือง และแก่วงการอุดมศึกษา

          โดยคุณอรพินท์ “อิน” กับงานนี้มาก    จนวางแผนย้ายบ้านและลูกไปอยู่ที่นั่น เพื่อทำงานนี้    และมีการประสานงานกับ สพท.  อบต.  ผู้นำชนเผ่า   การศึกษานอกโรงเรียน  และส่วนต่างๆ ของระบบการศึกษาเพื่อหาทางเชื่อมโยงบูรณาการกับการศึกษาในระบบ 

         มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือจัดการศึกษาเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชนเผ่าที่อยู่บริเวณป่าต้นน้ำลำธาร   และมีภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่าหนักแน่นมาก   ให้ดำรงความเข้มแข็งของชนเผ่าในท่ามกลางกระแสสมัยใหม่ได้ 

          สถาบันอาศรมศิลป์มี “ทุนสังคม” มาก (แม้ทุนเงินตราจะน้อย)   จึงมีโอกาสใช้ทุนนี้ บวกกับ “ทุนปัญญา” ซึ่งกล้าแข็งเพิ่มพูนขึ้นทุกวันทุกคืน   ในการทำงานวิชาการกระแสทางเลือก คือทำงานพัฒนานำวิจัย เขียนออกมาเป็นผลงานวิชาการหรือวิทยานิพนธ์

         โครงการนี้ระบุวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ

๑. จัดตั้งศูนย์การศึกษาอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนปกากะญอ เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่บ้านสบลาน


๒. ศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์คุณค่าและองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน   เพื่อนำมาจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนเผ่าปกากะญอ


๓. จัดทำหลักสูตรการศึกษาโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ซึ่งมีฐานจากวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชนเผ่าปกากะญอ    โดยบูรณาการสาระการเรียนรู้สู่ชีวิตอย่างเป็นองค์รวม   ให้เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของชุมชน


          ผมได้ชี้ว่า ที่จริงโครงการนี้มีวัตถุประสงค์แฝงเชิงคุณค่า ยกระดับขึ้นไปจากวัตถุประสงค์ ๓ ข้อนี้   คือเพื่อเป็นโครงการนำร่องโครงการหนึ่ง ของการศึกษาทางเลือกเพื่อพื้นที่และชุมชนพิเศษ ที่เป็นชนเผ่า และเป็นพื่นที่ต้นน้ำ    หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษานั่นเอง 

         หลักสูตรปริญญาโท ด้านการศึกษาทางเลือก ของสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นการรับใช้การปฏิรูปการศึกษาไทยโดยตรง    ซึ่งแม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็มีคุณค่าสูง หาคนทำยาก เชื่อมโยงยาก   แต่สถาบันอาศรมศิลป์มีต้นทุนให้ทำงานเล็กๆ ขับเคลื่อนระบบใหญ่ได้

          ผมจึงมองว่าสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้    ชอบที่ระบบการศึกษาของภาครัฐจะใส่เงินเข้าไปอุดหนุนงาน “พัฒนาและวิจัย” เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ ในรูปแบบที่เล่าแล้ว

 

วิจารณ์ พานิช
๕ ก.พ. ๕๓
                       

 

หมายเลขบันทึก: 339820เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2010 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท