ตัววัด ตัวชี้วัดคุณภาพ ตัวชี้วัดปริมาณ ตัวชี้วัด มาตรวัด เข็มไมล์ เคพีไอ ทีโออา ฯลฯ


สวัสดีครับ ผู้หลงใหลในการวัดและประเมินผล และผู้ถูกประเมินทุกท่าน

          ผมกลับมาทำงานได้ปีครึ่ง ได้มีโอกาสรู้จักตัววัดหลายๆ ตัวเลยครับ มีมาตรฐานอะไรต่างๆ ในบ้านเราเพิ่มขึ้น ตัววัดส่วนใหญ่จะเน้นการวัดเชิงคุณภาพ เพราะตัววัดเชิงปริมาณที่บอกค่าได้อย่างเข็มไมล์รถ ตัววัดปริมาณน้ำมันที่ใช้ ที่เหลืออยู่ วัดความเร็ว วัดอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความเข้มแสงที่ผิวโลกได้รับ และอื่นๆ มากมายครับ ตัววัดเชิงปริมาณมีอยู่ครบและเกิดมานานแล้ว แต่ตัววัดเชิงคุณภาพนั้นเพิ่งมาได้รับความนิยมมากในบ้านเรา จะว่ากันไปการวัดคุณภาพนั้นมันวัดไม่ง่ายหรอกใช่ไหมครับ เพราะตัววัดเชิงคุณภาพจริงๆ เราต้องแปลงเป็นตัวเลขก่อน แล้วเอาตัวเลขมาวัดว่ามันอยู่ในเกณฑ์ระดับใด ซึ่งถามว่าถูกต้องแค่ไหน ผมว่าบางทีอาจจะผิดก็ได้ ตัววัดคุณภาพผมว่าอยู่ที่ใจ ใจของคนที่ทำกิจกรรมต่างๆ แล้วมีความสุข รอยยิ้มที่ยิ้มออกมาแบบไม่ต้องเสแสร้งแกล้งยิ้ม น่าจะเป็นตัวชี้แบบคุณภาพ เหมือนเราทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ทำด้วยใจ เต็มใจ ใส่ใจ ทำแล้วอิ่มใจ สุขใจ เบิกบานใจ เกิดผลต่างๆ ตามมาในความแน่นแฟ้มทำงานเป็นทีมร่วมกัน เกิดพลังในการสานงานต่อไปในอนาคตให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ ต่อมาได้อีกมากมาย แต่หากเราเอากิจกรรมเหล่านี้มาผ่านมาตรวัดที่ใครๆ สร้างขึ้นมาแล้วไปตีตราโครงการหรือกิจกรรมเหล่านี้ด้วยตัวเลข นี่เป็นวิธีการที่จะลายระบบน้ำใจ จิตใจได้อย่างดีเยี่ยม ระบบเดิมอย่างบ้านเราที่มีการจัดงานขึ้นมา แล้วมีชาวบ้านมาร่วมแรงร่วมใจกัน งานเสร็จเร็ว มีคุณภาพจากผลการกระทำ ทุกคนที่ทำมีรอยยิ้มมีความสุข ผลของการประเมินด้วยใจของคนมาร่วมงานก็ประทับไว้ในใจของแต่ละคนเอง ถามว่าเราต้องพิสูจน์หลักฐานอะไรอีกหรือไม่ครับ เราต้องเอาหลักฐานเหล่านี้ไปแสดงต่อต่างประเทศว่าคนเรามีความสุขไหม มันจำเป็นหรือเปล่าครับ?

         จริงๆ ผมไม่อยากจะต่อต้านระบบการวัดและประเมินผลเลยนะครับ ผมรู้สึกว่าจำเป็นต้องมี แต่มันควรมีอยู่ในกรอบที่จะทำได้ แต่อย่าสร้างตัววัดใจหรือคุณภาพของจิตใจคนเลย เพราะคุณวัดไม่ได้จริงๆหรอกครับ หากวัดแล้วผิดพลาดขึ้นมาจะส่งผลเสียทั้งชีวิตเลยครับ เหมือนเราจะเลือกคบใครสักคน หรือจะเลือกใครสักคน เราวัดด้วยอะไร หลักๆ คือวัดใจกัน ใจวัดใจเราจะรู้ด้วยใจเอง แต่ใช้เวลาครับ วัดใจวัดด้วยเคพีไอ ไม่ได้หรอกครับ มันก็ต้องเอาใจนี่ละครับวัดใจ แล้วก็ตัดสินใจก็ตัดสินด้วยใจอีกเช่นกันครับ คือหากเรามองเรื่องของใจเป็นเรื่องของปริมาณ คุณค่าทางใจจะลดลง อันนี้ผมคิดเอาแบบความคิดแคบๆ ของผมเองนะครับ เพียงแต่รู้สึกว่า เราจะวัดกันไปทำไมในหลายๆ เรื่องที่ไม่จำเป็น ผมเรียนคณิตศาสตร์มาแต่กลับเบื่อตัวเลขในเรื่องของตัววัดบางอย่างครับ ผมคิดว่าความเหมาะสมมันมีของมันอยู่ พยายามเอาคนไปใส่ในกรอบ ห้อง มากเกินไปหรือเปล่าครับ อันนี้ผมมองในกรอบของการศึกษานะครับ ผมจำได้ว่าผมเคยเขียนกิจกรรมบางอย่างลงไปในแบบประเมินแล้วพอคลิกใส่เข้าไป มีค่าประเมินออกมาไม่เกิน 0.05% ซึ่งมองแล้วกับใจที่เราทุ่มเต็มที่ทำไมต้องให้ตัวเลขแสดง เพราะคุณค่ามันวัดด้วยใจเราเองว่าเราใส่ใจกับงานนี้แค่ไหน หากจะต้องการทราบว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรบ้าง ก็ให้กรอกเพียงแค่กิจกรรมที่ทำแล้วจำนวนชั่วโมงที่ทำก็เพียงพอครับ อย่าให้หลุดออกมาเป็นตัวเลขเลยครับ ผมว่าความรู้สึกไม่ค่อยดีนัก

          จริงๆ แล้วผมคิดเอาแบบเบื้องต้นว่า จริงๆ แล้วคนเราต้องมาติดอยู่กับตัววัดเหล่านี้หรือไม่ ถามว่าใครจะวัดตัวเราได้มากกว่าตัวเรา แน่นอนว่าตัวเราก็วัดตัวเราได้ไม่ทั้งหมด คนภายนอกก็มีสิทธิวัดเรา แต่เราควรจะวัดตัวเราเองได้มากกว่าคนนอกที่เข้ามาวัดเรา แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่เิปิดใจที่จะให้คนอื่นวัด  อย่างตัววัดคุณธรรมหลักๆ ผมคิดว่ามีแค่สองตัวที่ครูเคยสอนไว้คือ  ความละอายต่อการทำไม่ดี  กับการเกรงกลัวที่จะทำไม่ดี

ผมว่าสองตัวนี้นะขั้นเทพเลยครับ สำคัญมาก หากสองตัวนี้ที่อยู่ในใจคนเราแล้วเราทำได้ ข้อกำหนดอื่นๆ แทบไม่ต้องเอามาใส่ให้รุงรังในหลักสูตรทางการศึกษาเลย ตัววัดสองตัวนี้ใช้ได้กับคนทั้งโลกเลย ส่วนที่เหลืออยู่ที่ว่าใครจะเพิ่มคุณภาพให้กับตัวเองแบบไหน  อย่างการที่เราออกข้อสอบให้เด็กนักศึกษา นักเรียนทำ ถามว่าหากเค้าสอบตก จะบอกว่าเค้าไร้ปัญญาได้ไหมครับ ก็ไม่ถูกต้องหากจะบอกแบบนั้น ข้อสอบแบบฝืนใจให้ทำโดยไม่มีตัวเลือกที่จะทำเลยบางทีก็ติดกรอบเหมือนกันครับ

ผมถึงว่าการประเมินตนเองนั้นสำคัญที่สุด ผิดถูกเรารู้อยู่ในใจ ตัวชี้วัดอื่นๆ จากภายนอกนั้นก็มีส่วนให้คนๆนี้เป็นอย่างไร สำหรับทางการศึกษาแล้วผมคิดว่าทุกคนน่าจะรู้ภาระหน้าที่ของตัวเอง สอนให้เค้ารู้ว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร ตระหนักและทำในหน้าที่ให้ดีก็จะยอดมากๆ แล้ว บางทีให้คนข้างนอกมาประเมิน โดยมานั่งฟังอะไรสักสองสามชั่วโมง แบบฟอร์มกรอกครบ ประสบความสำเร็จ สำหรับทางการศึกษาผมว่ามันฉาบฉวยเกินไป

ผมยังชอบคำพูดหนึ่งที่ไปอ่านในสไลด์ของอดีตอธิการบดีของผมว่า เราจะรู้จักต้นไม้ต้นนั้นได้จากผลของมัน พูดอีกทีก็คือว่า ผลของต้นไม้ทำให้รู้จักว่ามันเป็นลูกของต้นอะไร อะไรทำนองนี้ครับ คล้ายๆ กับว่าบัณฑิตคนนี้หล่นมาจากสถาบันไหนประมาณนั้น จะว่าไปแล้วผลลัพธ์คือตัวชี้วัดที่สำคัญ  สำหรับการศึกษาบัณฑิตที่จบออกไปก็คือผลไม้ของสถาบันการศึกษานั่นเอง ความศรัทธาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากตัวชี้ที่อยู่ในใจนั่นเอง  

หากมีคนจะค้านผมในเรื่องนี้ หลังจากค้านแล้ว ผมก็จะขอถามกลับต่อว่า

ในสมัยรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นทวดของพวกเราที่ถือกระดานหินไปโรงเรียน สมัยนั้นเค้าใช้ตัววัดอะไรในการวัดคุณภาพคน ทำไมคนรุ่นนั้นมีคุณภาพ เรียนจบประถมศึกษาก็เป็นครูใหญ่ใจดี มีคุณภาพสร้างคนในประเทศได้มากมาย ตัววัดต่างๆ เค้าวัดกันด้วยอะไร หากเราเอาตัววัดสมัยนี้ไปใช้กับคนในสมัยนั้นจะเป็นอย่างไร แล้วหากเอาตัววัดของคนสมัยนั้นมาใช้กับคนสมัยนี้จะเป็นอย่างไร

แล้วสถาบันอุดมศึกษาสมัยก่อนยุคตัววัดเหล่านี้ ผลิตบัณฑิตหลายๆ รุ่นที่ออกมารับใช้สังคมหรือที่มาออกแบบตัววัดต่างๆ ในสมัยนี้ เค้ามีตัววัดอะไรเหมือนสมัยนี้ไหม หรือว่าในสมัยนั้นไม่มีตัววัดแล้วพบว่าเราในสมัยนั้นไม่มีคุณภาพ และต้องการให้คนสมัยนี้มีคุณภาพ หรือว่าอย่างไรกันแน่ละครับ....ผมคิดว่ามันน่าจะถึงเวลาที่เราควรจะทบทวนกันแล้วหรือยังครับ

ตัววัดในปัจจุบันเรามักจะเอาไปโยงผลของการวัดเข้ากับรายได้ของคน การเลื่อนลำดับชั้นของงาน ตรงนี้อันตรายและเป็นดาบสองคมครับ ไม่แน่นะครับ เมื่อวันหนึ่งในอนาคต เราอาจจะต้องให้คนบริจาคผ่าน ภาษีแทนการบริจาคด้วยใจจริง....จากแรงศรัทธาจริง....

นโยบายต่างๆ นะครับ ผมว่าออกจากกระทรวงฯ ได้นะครับ เพียงแต่คนที่ออกนโยบายควรจะลงมาสัมผัสของจริงในพื้นที่บ้างนะครับ มิใช่นั่งฝันเอาเองนะครับ หรือว่าไปดูข้อมูลจากต่างประเทศแล้วมาฝันว่าบ้านเราต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้นถึงจะทันสมัยโดยไม่ได้ดูรากเหง้าทางวัฒนธรรมของพื้นที่หรือความงามของชุมชนเลยนะครับ อยากให้ทบทวนให้มากๆ ก่อนจะออกตัวชี้วัดหรือตัวแบบอะไรก็ตาม ผมทำงานทางคณิตศาสตร์ก็ต้องตรวจสอบตัวแบบเหมือนกัน ใช้ไม่ได้ก็ต้องทบทวนครับ แต่ตัวแบบที่ใช้ในการวัดใจ ต้องระวังนะครับ ไม่อย่างนั้น....

เป็นการระบายความรู้สึกเท่านั้นครับ และไม่ได้รับการกดดันอะไรจากทำงานของผมเลยครับ เพียงแต่ผมมองภาพรวมของประเทศว่า การศึกษาไทยควรจะไปไกลกว่าีนี้ ควรจะทุ่มเทกับการเสริมสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนไทย คนไทยดีกว่า มามุ่งทำหรือกรอกแบบฟอร์มให้ครบ ประสบความสำเร็จนะครับ เน้นที่เป้าหมายที่แท้จริง

ตอนท้ายผมของฝากไว้ว่า  หากตัวชี้วัดที่คุณสร้างกันออกมาวัดว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรยอดเยี่ยมจากการวัดและประเมิน แต่ชาวบ้านหรือชุมชนไม่ได้ปลื้มด้วย เราจะคิดอย่างไร และสังคมของมนุษย์เรานั้น มีความเห็นแก่ตัวเป็นรากฐาน ดังนั้นคงต้องทำความเข้าใจคนเราด้วยกันครับ เป้าหมายของเราที่แท้จริงนั้น เกิดมาเพื่ออะไรกันแน่.... สังคมส่วนใหญ่ต้องการอะไรกันแน่.... ธรรมชาติต้องการเห็นมนุษย์เราเป็นแบบไหนกันแน่.....

ใจต้องวัดด้วยใจ....อย่าเอาใจไปต่อกับเข็มไมล์....เพราะเข็มไมล์หมุนได้แค่ 360 องศา แต่ใจคนเรามันกว้างกว่านั้น.....

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร ช่วยอารีย์ (เม้ง)

หมายเลขบันทึก: 339580เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2010 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

ผมเองก็ไม่ชอบระบบการวัดประเมินผลทั้งในด้านของปริมาณ และคุณภาพ

แต่ทำอย่างไรได้มันอยู่ในระบบที่เราต้องทำ ต้องเรียนรู้

อย่างไรก็ตามก็ขอให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่าสองมาตรฐานเป็นใช้ได้ครับ

ขอบคุณครับ

แหม ประจวบเหมาะเจาะจริงๆ ค่ะ กำลังเตรียมเอกสารทั้ง คิวพีอาร์ ทีโออาร์ จนรู้สึกเหมือนจะ ทีเคโอ แล้วค่ะ ๕  ๕ ... ท่านผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านก็เห็นหน้าดำคร่ำเคร่ง กับแบบฟอร์มยั้วเยี้ย เห็นแล้วปวดหัวแทน ... คนทำงานภาคสนามเค้าเห็นๆ และรับรู้กันอยู่ว่า อะไรเป็นอะไร

จากความพึงพอใจของชาวบ้าน จากความสมัครสมานของทีมงาน และบรรลุเป้าหมายทั้งของส่วนรวม และปัจเจกชน ... ส่วนในกระดาษที่กองพะเนินทุ่ง เก็บอ้างอิงไว้ ก็ไม่ทราบนะคะ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท