นโยบายการรับนักเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๓


นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยแนวทางการรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เน้น ๒ ประเด็น คือ นักเรียนทุกคนต้องมีที่เรียน และการเรียนของนักเรียนต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาที่เสมอภาคกัน

รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่จะสร้างความเสมอภาค และสร้างโอกาสให้กับผู้เรียนทุกคน สิ่งเหล่านี้จะต้องขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องไปทำความเข้าใจว่า การเรียนฟรีไม่ใช่โครงการแจกหนังสือเรียน ไม่ใช่โครงการแจกอุปกรณ์การเรียน แต่เป็นโครงการสวัสดิการของรัฐที่ต้องการนำไปสู่เป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เริ่มต้นในการที่มีโอกาสเสมอภาคกัน   เพื่อเด็กจะได้มีความภาคภูมิใจว่า ถ้ามีความมุ่งมั่น มีความขยัน มีความตั้งใจ จะมีโอกาสเรียนฟรี และจะต่อยอดในการมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำหรับเรียนในระดับที่สูงขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นโรงเรียนจะต้องเป็นฐานในการจัดการเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส

เมื่อประชาชนเข้าใจนโยบายนี้แล้ว จะต้องรณรงค์เพื่อให้ได้รับความร่วมมือกลับมาว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมใจกันในการระดมทรัพยากรเพื่อเด็กของเรา เพื่อการศึกษาของประเทศไทยให้ได้มีการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนี้ เพื่อนำไปสู่คุณภาพของตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง ถ้าหากมาร่วมกันระดมทรัพยากรในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว นอกจากจะได้ความรู้สึกภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมในการสร้างพลเมืองที่ดีแล้ว ที่สำคัญที่สุดการศึกษาในทุกระดับจะพัฒนาไปได้

ดูตัวเลขจากธนาคารโลก สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) (สมศ.) ประเทศไทยเราได้ลงทุนในภาครัฐไม่ได้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ขาดการระดมทุนที่เป็นกระบวนการในการะดมทรัพยากรอย่างแท้จริง จึงจะเร่งรัดในการออกกฎหมายมารองรับ และเร่งรัดในการเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้เกิดความเข้าใจว่า การลงทุนนั้นโดยหลักที่จะเป็นการศึกษาเพื่อปวงชนแล้ว จะต้องให้ปวงชนคือ ประชาชนทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วย

ในช่วงปีที่ผ่านมา โครงการรับนักเรียนก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง สำหรับการรับนักเรียนเข้ามัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๑ (ม.๑) ในปีนี้จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง คือ จะไม่ให้มีคำว่า แป๊ะเจี๊ยะ เกิดขึ้น ต่อไปนี้จะเปลี่ยนใหม่ในยุคปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง คือ โดยให้มาช่วยกันระดมทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของเด็ก และขอร้องผู้อำนวยการสถานศึกษาว่า อย่าให้มีการต่อรองในช่วงรับเด็กเข้าเรียน ควรมีการเชิดชูยกย่องกับคนที่มาสนับสนุนการศึกษาที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตัวเอง แต่จะยกย่องคนที่เห็นความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือการพัฒนาชาติ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต่อไปนี้ไม่เพียงแต่คนที่จะนำเด็กเข้าเรียนเท่านั้น บางคนลูกหลานเรียนจบไปแล้ว ก็จะเชิญชวนให้มาบริจาค มาระดมทรัพยากรให้กับ

แนวทางที่ต้องทำมี ๓ เรื่อง ดังนี้

๑. การนำตัวเลขในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยปี ๒๕๕๓ มาเป็นเครื่องยืนยันว่าสามารถที่จะเปิดโอกาสให้กับนักเรียนถึงแม้ว่าจะไม่ผ่านมาจากโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง จากกระบวนการที่เราได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ได้มีการทดสอบจาก GAT และ PAT ตลอดถึงการที่นำคะแนนสะสมที่เด็กให้ความสนใจจะกลับเข้าไปในชั้นเรียน ไม่ใช่เพราะต้องมาเรียนกวดวิชาหรือว่าต้องมาเรียนที่โรงเรียนดี ถึงจะมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัย ตัวนี้จะเป็นตัวชี้วัดประการหนึ่ง

๒. ต้องมีการแนะแนวนักเรียน ให้มีความเข้าใจว่าโอกาสที่จะเรียนต่อนั้น ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องมาเรียนในโรงเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เท่านั้น ต่อไปนี้การศึกษาของเราจะมุ่งเน้นในการค้นหาอัจฉริยะภาพของนักเรียน เช่น นักเรียนบางคนเรียนคณะคหกรรมศาสตร์ หรือวิชาดนตรี แต่อาจจะประสบความสำเร็จในชีวิตก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะให้อาจารย์แนะแนวได้แนะนำทางเลือกว่า การที่ผู้เรียนจะเลือกวิชาอะไรไม่ใช่เลือกตามค่านิยม แต่ควรเลือกตามความสามารถและความถนัดของตัวผู้เรียน

๓. การต่อยอดให้โรงเรียนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ได้มีโอกาสไปสร้างโรงเรียนคู่ขนาน เช่น ให้ดำเนินการเปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั่วประเทศ เป็นต้น และในปี ๒๕๕๔ จะสนับสนุนโรงเรียนเอกชนให้มีสัดส่วนในการรับนักเรียน ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ และที่สำคัญจะไม่ให้เงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชนแบบเดิมอีกแล้ว กล่าวคือ แบบเดิมจัดสรรให้เท่ากันตามกฎหมาย ต่อไปนี้โรงเรียนใดเปิดห้องวิทยาศาสตร์ ห้องดนตรี ห้องที่ส่งเสริมอัจฉริยภาพพิเศษในแต่ละด้าน กระทรวงศึกษาธิการจะสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดขายของโรงเรียนเอกชนในอนาคต และก็จะแบ่งเบาภาระให้กับโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงและต้องรับภาระมาก การยกระดับมาตรฐานโรงเรียนเหล่านี้เพื่อเป็นโรงเรียนไปสู่สากล เพื่อให้รองรับการเป็นศูนย์กลางของการศึกษาในภูมิภาคนี้ และต้องไม่สร้างข้อจำกัดให้กับนักเรียนที่เรียนในต่างจังหวัด เพราะกระบวนการในการศึกษาต่อ ได้มอบนโยบายให้กับมหาวิทยาลัยไปแล้ว ว่าไม่ใช่เพียงแต่จะคัดเลือกเด็กที่เป็น ๑ ใน ๑๐ หรือเด็กที่เป็นสุดยอดเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยต้องมีนโยบายในการเชื่อมต่อที่จะรับนักเรียน  จากระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและรับนักเรียนจากอาชีวศึกษาต่อยอดเข้ามา ซึ่งเข้าใจว่าจะใช้เวลาประมาณ ๑-๒ ปี จะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ปกครองได้มั่นใจได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ จะดำเนินการให้เด็กได้มีที่เรียน และมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่ใกล้กับที่พักอาศัยมากที่สุด เพื่อลดภาระของผู้ปกครองด้วย

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สำหรับจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนในช่วงชั้นแต่ละระดับ บางชั้นมีนักเรียน ๔๐-๖๐ คนก็สอนได้ หากเด็กมีพัฒนาการอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่บางชั้นเรียนเด็กที่ต้องสอนซ่อมเสริม  เช่น เด็กออทิสติก เด็กลักษณะพิเศษ ซึ่งอาจใช้ครู ๑ คน ต่อ เด็ก ๔ คน เท่านั้น แต่ขณะเดียวกันเด็กที่ต้องเสริมให้มีความเป็นอัจฉริยะภาพ เช่น ต้องการจะเรียนดนตรี ซึ่งควรจะเป็น ๑ ห้องต่อ ๑๕ คนเท่านั้นจึงจะได้ผล เป็นต้น จึงอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจกรอบตรงนี้ ที่ต้องสอนภายใต้จิตวิทยาการสอนแบบใหม่เพื่อต้องการสร้างองค์ปัญญา การดำรงชีวิตจริงๆ ขึ้นอยู่ที่กระบวนการที่คนจะเรียนรู้ได้อย่างไร และในกระบวนการนั้นต้องควบคู่ไปกับคุณธรรม จึงขอให้ครูได้เปลี่ยนกรอบความคิดนี้

ในการบริหารโรงเรียนก็จะต้องเปลี่ยนกรอบความคิด นี้คือเป้าหมายสำคัญที่สุดในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และแน่นอนที่มากไปกว่านั้นก็คือว่า การที่จะเปลี่ยนค่านิยมจากหน้ามือเป็นหลังมือว่า ไม่ให้เด็กไปเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง หรือไม่ให้เรียนเพื่อให้ได้ปริญญาบัตร หรือประกาศนียบัตร หากศึกษาตัวเลขจริงๆ จะพบว่า คนเราเริ่มให้ความสนใจว่าจะทำอย่างไรให้บุตรของตนได้เป็นคนที่สมบูรณ์ นอกจากจะให้ไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาแล้ว ก็ยังให้เรียนกีฬา ดนตรี เพราะต้องการให้บุตรเป็นคนที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เป็นคนที่สมองโต หัวใจเห็นแก่ตัว ร่างกายอ่อนแอ ต่อไปนี้การศึกษาต้องทำให้เด็กไทยมีความสมบูรณ์ เพราะกระบวนการในการจัดห้องเรียน กระบวนการในการส่งเสริมการเรียนรู้ กระบวนการในการเปลี่ยนกรอบการสอนของครู ก็ต้องมาปรับกันพอสมควรในส่วนนี้ และต้องมาดูว่าหลักสูตรเป็นอย่างไร การประเมินช่วงชั้นเป็นอย่างไร การประเมินเพื่อการเรียนต่อควรจะเป็นอย่างไร ถ้าสามารถสร้างกระบวนการนี้ได้ใหม่ก็จะนำไปสู่กระบวนการสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง การศึกษาสำคัญที่สุด คือ ระดับมัธยมศึกษาที่สร้างความเป็นพลเมืองดี

ส่วนการศึกษาที่ต่อยอดไปจากนั้นจะเป็นการศึกษาที่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี ความรับผิดชอบต่อยอดต่อไป และที่สำคัญที่สุดต้องมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ซึ่งควรจะเกิดขึ้นมากกว่าที่จะเรียนรู้หนังสืออย่างเดียว เพราะวันนี้องค์ความรู้มีหลากหลาย และทุกองค์ความรู้สามารถที่จะช่วยเหลือบ้านเมืองได้ทั้งสิ้น.

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/websm/2010/feb/061.html

คำสำคัญ (Tags): #รับนักเรียน2553
หมายเลขบันทึก: 339258เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีคะ
  • เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายการรับนักเรียน ปีก.ศ. 2553 ด้วยฅนคะ
  • แต่นโยบายกำหนดโดยคนที่ไม่ได้ปฏฺบัติ และคนปฏิบัติก็ไม่รู้จะจะสามารถทำตามนโยบายที่สวยหรู ได้ขนาดไหน
  • ได้แต่หวังว่าการจัดการศึกษาไทยจะก้าวไปข้างหน้า ไม่หยุดนิ่ง และถอยหลังไปกว่านี้คะ และหวังว่าการศึกษาแบบทุนนิยม น่าจะหมดไปซะที
  • ขอบคุณที่ไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน บล็อก My WoRk "PoOmDeE" คะ
  •  

สวัสดีครับ

P
P
การศึกษาที่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี ความรับผิดชอบต่อยอดต่อไป และที่สำคัญที่สุดต้องมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ซึ่งควรจะเกิดขึ้นมากกว่าที่จะเรียนรู้หนังสืออย่างเดียว
ขอบคุณครับที่มาเสนอความคิด...แลกเปลี่ยนกันครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท