โครงการต่อยอดและขยายโรงผลิตน้ำดื่มชุมชน บ้านทานพอ หมู่ที่ 3 ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช


จากการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนพบว่าค่าใช้จ่ายในหมวดน้ำดื่มมีค่อนข้างสูง และโดยศักยภาพของชุมชนสามารถที่จะจัดการรายจ่ายหมวดดังกล่าวได้จึงได้บรรจุแนวทางการแก้ปัญหาน้ำดื่มไว้ในแผนชุมชน และเมื่อโอกาสอำนวยภาคราชการมีงบประมาณสนับสนุนให้ชุมชนดำเนินการตามแผนแม่บท จึงได้จัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันพิจารณาโครงการตามแผนชุมชนเพื่อเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านมีมติเลือกโครงการผลิตน้ำดื่มชุมชน

โครงการต่อยอดและขยายโรงผลิตน้ำดื่มชุมชน 

บ้านทานพอ หมู่ที่ 3 ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

         

บ้านทานพอเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประชากรจำนวน 1,083 คน 580 ครัวเรือน จากการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนพบว่าค่าใช้จ่ายในหมวดน้ำดื่มมีค่อนข้างสูง และโดยศักยภาพของชุมชนสามารถที่จะจัดการรายจ่ายหมวดดังกล่าวได้จึงได้บรรจุแนวทางการแก้ปัญหาน้ำดื่มไว้ในแผนชุมชน  และเมื่อโอกาสอำนวยภาคราชการมีงบประมาณสนับสนุนให้ชุมชนดำเนินการตามแผนแม่บท จึงได้จัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันพิจารณาโครงการตามแผนชุมชนเพื่อเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านมีมติเลือกโครงการผลิตน้ำดื่มชุมชนเป็นโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ กระทั่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 300,000 บาท จากโครงการ SML ทว่างบประมาณเพียง 300,000 บาท ยังไม่สามารถทำให้โรงผลิตน้ำดื่มชุมชน  รองรับความต้องการของผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังมีไม่เพียงพอต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ น้ำดื่มชุมชนให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  

ต่อมาเมื่อรัฐบาลดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) หรือโครงการชุมชนพอเพียงขึ้น ชาวบ้านทานพอจึงมีมติจากเวทีประชาคมถึงการต่อยอดโรงน้ำดื่ม เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับฐานทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว

โครงการต่อยอดโรงน้ำดื่มเป็นโครงการประเภทที่สนับสนุนการลดต้นทุนและ             ปัจจัยในการผลิตด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในอาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 300,000 บาท เพื่อต่อเติมอาคารปรับปรุงโรงเรือนให้ได้มาตรฐาน

คณะทำงานประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวน 12 คน ที่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจนและสามารถทำหน้าที่แทนกันได้ มีลูกจ้างโรงน้ำจำนวน 4 คน แบ่งเป็นฝ่ายผลิต 2 คน ฝ่ายขนส่ง 2 คน

การจัดการงบประมาณแบ่งเป็นการพัฒนาต่อต่ออาคารโรงเรือนจำนวน 230,000 บาท และเก็บไว้เป็นทุนสำรองจำนวน 70,000 บาท ชุมชนสมทบเป็นค่าเช่าที่ดินเดือนละประมาณ 1,500 บาท   มีภาคีเข้าร่วมสนับสนุนได้แก่ เทศบาลตำบลไม้เรียงให้การสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ผ่าน web-site ของเทศบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอให้ความรู้ด้านการควบคุมคุณภาพการผลิต และประสานงานเรื่องการรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ทำการปกครองอำเภอเป็นพี่เลี้ยงด้านการบริหารจัดการ การจัดระบบบัญชี

รูปแบบการดำเนินงาน เป็นการผลิตน้ำบรรจุขวดจำหน่ายในพื้นที่หมู่ที่ 3 และพื้นที่ใกล้เคียงในราคาถูกกว่าท้องตลาดขวดละ 50 สตางค์ การกำหนดราคาเช่นนี้ก็เพราะต้องการให้ผู้ประกอบธุรกิจผลิตน้ำดื่มเอกชนสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้เช่นกัน

แม้ว่ากิจการโรงผลิตน้ำดื่มชุนชนทานพอจะเพิ่งเริ่มดำเนินงาน แต่ก็มีผลที่เกิด            ขึ้นอย่างพึงพอใจต่อชาวบ้าน เพราะมีน้ำดื่มราคาถูก ซึ่งเป็นธุรกิจของชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ ราษฎรอย่างน้อย 4 ราย รายละ 1,650 บาท (เป็นไปตามผลกำไรของกิจการ) นอกจากนั้นคณะกรรมการยังได้เกิดกระบวนการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการทุน การบริหารจัดการกลุ่ม รวมทั้งมีการนำเอาบทเรียนการจัดการกองทุนต่าง ๆ ในพื้นที่มาให้เป็นความรู้ในการจัดการกิจการ

สำหรับแนวทางการพัฒนากิจการให้มีความยั่งยืน คณะกรรมการมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และพัฒนาขึ้นเป็นสหกรณ์น้ำดื่มระดมหุ้นและคืนผลกำไรให้แก่สมาชิก

ด้านปัญหาอุปสรรค พบว่าหากมีการขยายกิจการจำเป็นต้องมีรถที่สามารถขนส่งได้ในระยะทางไกล ๆ และได้ในปริมาณมาก ๆ ให้คุ่มค่ากับการลงทุน นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดด้านความรู้เรื่องการตรวจวัดคุณน้ำและการรักษาคุณภาพน้ำ ขาดอุปกรณ์ทำ ความสะอาด

อย่างไรก็ตามหากชุมชนต้องการขยายกิจการและพัฒนาให้มีความยั่งยืนจำเป็นต้อง เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านความรู้  ต้องศึกษาหาความรู้ด้านการตรวจวัดคุณภาพน้ำ การรักษาคุณภาพน้ำ  โดยอาศัยกระบวนการฝึกอบรม และการศึกษาดูงาน

2. ด้านระบบบัญชี ควรมีการคำนวณต้นทุนผลผลิตต่อหน่วย และการจัดทำระบบบัญชีที่ง่ายต่อการบันทึก เช่น การออกแบบโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการบริหารกิจการน้ำดื่มชุมชน ซึ่งสามารถข้อความร่วมมือได้จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์

3. ด้านการบริหารจัดการ ควรมีแผนงานขยายกิจกาจให้ชัดเจน ซึ่งควรจะครอบคลุมทั้งแผนการผลิต แผนการพัฒนาคุณภาพ แผนการตลาด

4. ด้านอุปกรณ์ ควรมีการจัดหาอุปกรณ์ทำความสะอาด อุปกรณ์อบฆ่าเชื้อ  ซึ่งอาจจะใช้วิธีระดมทุนจากสมาชิก หรือการขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รูปธรรมจากกิจการโรงน้ำดื่มที่บ้านทานพอ ตำบลไม้เรียง เป็นกระบวนการปรับตัว        ของชุมชนบนฐานข้อมูลที่ผ่านการจัดเก็บและการวิเคราะห์ มากำหนดแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับชุมชนเพื่อให้ครัวเรือนได้มีน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยบริโภค มีรายจ่ายที่ลดลง สร้างรายได้ให้แก่ราษฎร สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการ และสามารถพัฒนาเป็นระบบธุรกิจของชุมชนได้ในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 338910เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2010 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามมาอ่านก่อน เคยไปแต่ที่ไม้เสียบ ได้ข่าวพี่ติ๋วไหมครับ

น่าสนใจเรื่องรูปธรรมจากกิจการโรงน้ำดื่มที่บ้านทานพอ ตำบลไม้เรียง ถ้ามียละเอียดเขียนอีกนะครับ เผื่อชุมชนอื่นเอาไปปรับใช้ได้

สวัสดีค่ะ คุณ ว่าที่เรือตรี เฉลิมพล  บุญฉายา

- แวะมาทักทายเจ้าค่ะ  ได้อ่านบันทึกแล้วสนใจมากเลยค่ะ

- อยากให้โครงการนี้ขยายไปหลายๆ หมู่บ้านจังเลยนะค่ะ

- ถ้าอยากได้ความรู้เรื่องนี้ ชี้แนะได้ไหมค่ะ สนใจมากเลยค่ะ

- อยากให้คุณพ่อนำไปทำโครงการที่หมู่บ้านค่ะ

- ขอบคุณสำหรับบันทึกดีดีเจ้าค่ะ

สวัสดีค่ะ  คุณ ว่าที่เรือตรี เฉลิมพล  บุญฉายา

ดิฉันเป็นสมาชิกใหม่เพิ่มแสดงความคิดเห็นครั้งแรก ดิฉันกำลังจัดทำร่างระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับโรงน้ำดื่มของชุมชนค่ะ แต่ร่างไม่ค่อยสมบูรณ์ ไม่ทราบว่าคุณเฉลิมพลพอจะมีตัวอย่างบ้างไหมคะ

              ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

เรียน คุณเรไร

ข้อมูลในส่วนที่คุณต้องการผมไม่มีนะครับ แต่แนะนำให้คุณลองโทรไปประสานงานที่ ทต.ไม้เรียงดูนะครับ

 

หรือถ้าไม่รังเกียจส่งร่างของคุณมาให้ผมดูก็ได้เผื่อจะได้ช่วยเติมเต็ม

เฉลิมพล

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท