ค่ายเบาหวานที่ มวล. (๒)


คนที่ฉีดยาโชคดีกว่าคนที่กินยา เพราะสามารถปรับยาได้ทันการกิน คนที่กินยา – การปรับยาวันนี้จะไม่ออกผลในวันนี้ จึงปรับยาในระยะกระชั้นไม่ได้

ตอนที่ ๑

ประมาณ ๑๑ น.กว่าเราแบ่งชาวค่ายเป็น ๓ กลุ่ม เตรียมเข้าฐานการเรียนรู้ ก่อนเข้าฐานเราให้พักเพื่อรับประทานอาหารว่างและเข้าห้องน้ำ อาหารว่างที่เราจัดไว้เป็นน้ำสมุนไพร ที่สั่งแม่ค้าไว้ว่าไม่ต้องใส่น้ำตาล วันนี้เป็นน้ำกระเจี๊ยบและน้ำใบเตย ปรากฏว่าแม่ค้าไม่ได้ตรวจการทำงานของลูกน้องเลยได้น้ำที่หวาน ต้องเอาน้ำเปล่ามาเติมให้จืดลงอีก เราจัดผลไม้เป็นส้มและฝรั่งไว้ให้ชาวค่ายแทนขนม

ฐานของเรามี ๓ ฐานคือ
(๑) ฉลากโภชนาการ (หน่อย กวาง รับผิดชอบ) เน้นเรื่องน้ำตาลในเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ที่มีช้อนชาใส่น้ำตาลมาเทียบให้เห็นกันเลยว่าเครื่องดื่มและอาหารแต่ละอย่างมีน้ำตาลกี่ช้อน ชาวค่ายติดใจดูกันหลายรอบและถ่ายรูปไว้ ได้ไอเดียเอาไปใช้ต่อ
(๒) อาหารแลกเปลี่ยน (หมอฝนรับผิดชอบ) เรียนรู้จากโมเดลอาหารมาตรฐาน มีคำถามให้ช่วยกันตอบช่วยกันหยิบ
(๓) การจัดอาหารแต่ละมื้อ (อาจารย์ชนิดา รับผิดชอบ) ใช้อาหารภาคใต้มาจัดให้ดู พร้อมคำแนะนำว่าจะดัดแปลงอาหารที่ชอบอย่างไรให้กินได้ มีวิธีการกินอย่างไรไม่ให้กินเยอะเกินไป

 

ฐานการเรียนรู้เรื่องอาหาร ๓ ฐาน

กว่าชาวค่ายจะได้กินอาหารกลางวันก็ใกล้ ๑๒.๓๐ น. เราเจาะเลือดกันก่อน หลายคนคงหิว อาหารที่เตรียมไว้ดูน้อยเกินไป ต้องเจรจากับทางร้านว่ามื้อต่อๆ ไปให้ช่วยจัดอาหารให้มากขึ้นอีก

ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับจิตใต้สำนึกและดนตรีบำบัด ได้ยินว่าหมอฝนกล่อมหลับไปหลายคนและมีคนที่ม้วนช้อนได้หลายคนเช่นกัน มีละครเด็ดให้เข้าใจโรคเบาหวาน ฯลฯ ดิฉันไม่ได้อยู่ด้วยเพราะติดประชุมผู้บริหารของ มวล. กลับมาตอนเย็นเมื่อเวลา ๑๖.๒๐ น. ทันฟังหมอฝนเล่าเรื่อง “คู่รักจรจัด” และตัวอย่างชาวเบาหวานอำเภอครบุรีที่สามารถเปลี่ยนจากยาฉีดอินซูลินมาเป็นยากินได้ และคนที่ได้ยากินก็ตั้งเป้าว่าจะหยุดยาให้ได้

หมอฝนถามชาวค่ายเรื่องน้ำตาลในเลือดต่ำว่าอาทิตย์ที่แล้วใครยังเป็นอยู่บ้าง หมอฝนเรียกว่า “โรคหมอทำ” แต่ก่อนเราเดา เพราะดูแต่น้ำตาลตอนเช้าอย่างเดียว....

เรื่องอาหารพวกเนื้อสัตว์กินให้อิ่มได้...ถ้ากินไขมันมากๆ จะเป็นนางร้ายไปสะสมที่ผิวหนัง พุง ไม่ว่าอ้วนหรือผอม ไขมันก็สูงได้...Basal insulin (สอนเจ้าหน้าที่) มีออกมา ๑ ยูนิต/ชม. ประมาณ ๔๐ ยูนิต/วัน เมื่อกินอาหารจะมีอินซูลินเข้าสู่เลือดเพิ่มขึ้น ๕-๑๐ เท่า ร่างกายต้องใช้พลังงานตลอดเวลา ทุกครั้งที่เอาน้ำตาลเข้าไปในร่างกาย จะไปเคาะประตูตับอ่อน... ถ้ากินจุกกินจิก น้ำตาลจะคุมยาก จะทำให้ตับอ่อนเจ๊งเร็ว

ถ้าตับอ่อนไม่ให้อินซูลินออกมา ต้องฉีดอินซูลิน ที่ครบุรีมีคนไข้ที่เลิกฉีดได้ ๒ คน เดิมเป็นการฉีดแล้วกินแข่ง เมื่อตกลงทำสัมพันธภาพกันได้ พอลดกินก็ลดฉีด..ในที่สุดก็เลิกได้ หมอฝนโชว์ภาพการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด บอกโซนอันตรายที่เลือดหนืด... เวลาน้ำตาลสูงจะเหนื่อยๆ เพลียๆ ไม่มีแรง ถ้ากินน้ำหวานจะรู้สึกดีขึ้นนิดหน่อยแต่ไม่หายเหนื่อย ที่เหนื่อยเพราะมีน้ำตาลในเลือดเยอะ เนื้อเอาไปกินไม่ได้ เป็นน้ำตาลสาวโสด ไม่มีสามีจึงเข้าบ้านไม่ได้

เวลาน้ำตาลสูงทำอย่างไร การออกกำลังกายมากๆ อันตราย แต่ออกเบาๆ ได้ ถ้าอยู่ใกล้หมอก็หยอด “ทิดอิน” ถ้าจะเอาลงแบบเร็วๆ ต้องมาหาหมอ ถ้าช้าๆ ให้ลดอาหารและออกกำลังกายแบบที่ลุงหยาดทำกับป้าแต๋ว (ดูแลใกล้ชิด) น้ำตาลในแต่ละรอบวันมันวิ่งขึ้นวิ่งลง

เวลาน้ำตาลต่ำทำอย่างไร มีชาวค่ายตอบว่าดื่มน้ำหวาน ๑/๒ แก้ว น้ำหวาน ๑ ชต.ผสมน้ำ... น้ำตาลต่ำตอนกลางคืนมักเกิดจากยาตอนเย็นเยอะไป กลายเป็น “ผีตู้เย็น” กลางดึกสดุ้งตื่น เหงื่อแตก มักจะเกิดคืนวันหมอนัด เวลาหมอนัด ๒-๓ วันก่อนมามักไม่หิวข้าว...

มีคำถามว่าทำไมเป่าพัดลมแล้วหายเหงื่อออก...คำตอบคือกระบวนการ gluconeogenesis สำเร็จ ถ้ากิน metformin เยอะกระบวนการนี้อาจไม่สำเร็จก็ได้ คนที่กินเพิ่ม FPG อาจสูงหรือต่ำก็ได้ คนที่ไม่กินเพิ่ม FPG จะสูงเพราะ gluconeogenesis รุนแรง ดังนั้นการปรับยาต้องซักประวัติอย่างละเอียด อย่าดู FPG อย่างเดียว คนที่ฉีดยาแรกๆ การเจาะน้ำตาลวันละ ๖ ครั้ง เป็นเรื่องจำเป็น

คนที่ฉีดยาโชคดีกว่าคนที่กินยา เพราะสามารถปรับยาได้ทันการกิน คนที่กินยา – การปรับยาวันนี้จะไม่ออกผลในวันนี้ จึงปรับยาในระยะกระชั้นไม่ได้ ถ้าทำดีๆ (กิน ออกกำลังกาย) สัก ๓ อาทิตย์จะลดยาได้

การเข้าค่าย ๓ วันนี้ ต้องเข้าใจตัวเองให้ได้ แล้วไปเรียนต่อที่บ้าน เจ้าหน้าที่ก็มาเรียนเบาหวานจากคนไข้ เรียนจากของจริง

หลังจากฟังการบรรยายของหมอฝนเสร็จก็มีการสอนตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยทำกันได้เร็วกว่าที่คิดไว้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนยังไม่เคยเจาะเลือดตัวเองเลย มือไม้สั่นไปหมด

 

เรียนรู้วิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

ตรวจเลือดกันเสร็จสิ้นราว ๑๗.๔๐ น. หมอฝนพบทีมของแต่ละโรงพยาบาล เพื่อคุยเรื่องน้ำตาลในเลือด อาหาร และยาของผู้ป่วยแต่ละคน ก่อนกินอาหารเย็น

 

หมอฝนเปลี่ยนบทมาเป็นหมอปรับการรักษา

๑๘.๔๕ น. ช่วงสุดท้ายของวันเป็นการทบทวนว่าวันนี้ได้เรียนรู้อะไรกันไปบ้าง รพ.วังวิเศษ จับฉลากได้พูดก่อนทีมของโรงพยาบาลอื่น พูดดีหรือถูกอย่างไรก็มีคะแนนให้ น่าประทับใจสิ่งที่ผู้ป่วยบอกว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง เช่น
- อาหาร ด้านผัก เพราะหมอบอกว่าให้กินผักเยอะๆ ก็กินไม่รู้เรื่อง พอเห็นเป็นผักก็กินทั้งเพ...จะเอาไปบอกเพื่อน
- กินสม่ำเสมอ ที่กินไปแล้วเป็นน้ำตาล...มัน ถั่วฝักยาวมีแป้ง น้ำขวดมีน้ำตาลช้อนครึ่ง
- กินข้าว ๒ ทัพพี ถ้าจะกินก๋วยเตี๋ยว/ ขนมจีน/ มังคุด ให้เอาไปแลกเปลี่ยน
- หลักการคุมอาหาร ๕ ต. ตอนนี้ตัวเองอยู่ที่ “ตั้งต้น”
- จากละครเบาหวาน – กินเยอะไปทำให้น้ำตาลในเลือดมาก พระเอกคืออินซูลิน ตับอ่อนสั่งให้นายอินมาที่น้ำตาล มาแต่งงานกัน ฮันนีมูนที่บ้านคือกล้ามเนื้อ...ตับอ่อนขี้เกียจ...ตัวร้ายคือไขมัน
- ฯลฯ

ได้เวลา ๑๙ น. เราสวดมนต์คาถาชินบัญชรร่วมกัน ๑ จบ ก่อนกลับไปพักผ่อน ค่ายวันแรกนี้ใช้เวลาคุ้มค่าจริงๆ ชาวค่ายทุกคนทรหดมาก เราแจกเครื่องตรวจน้ำตาลให้ทุกคนไปเจาะก่อนนอนและตอนเช้าอีก พรุ่งนี้นัดออกกำลังกายพร้อมกันตอน ๐๖.๓๐ น.

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 338081เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ที่บ้านเป็นเบาหวานทั้งพ่อแม่เลยค่ะ

ตอนนี้ปุ๊กอายุ25 แล้วยังไม่เป็น

แล้วจะเป็นช่วงอายุเท่าไรคะ

พอทราบหรือเปล่า

เรียนคุณปุ๊ก

ตอบยากค่ะ บอกได้แค่ว่ามีความเสี่ยง อายุยิ่งมากขึ้นความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นควรดูแลน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วนและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

วัลลา

เพิ่งกลับจาประชุมของสรพ.ที่เมืองทองนะคะได้เข้าฟังกลุ่มของของหมอฝน อาจารย์ค่ะอยากบอกดีใจจริงๆค่ะที่ได้มีโอกาสเข้ารับฟังสิ่งดีๆซึ่งโอกาสดีดีของค่ายเบาหวานก่อนหน้านี้มักไม่ถึงผู้ปฏิบัติหรอกค่ะ แต่หลังจากนี้หนูจะพยายามเข้ากลุ่มแลกเปลี่ยนการดูปแลผู้ป่วยเบาหวานให้มากกว่านี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท