"ภาษา" สำคัญอย่างไร


“ภาษาเป็นเครื่องมือทางสังคม”

               ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อ สาร เพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุรการงาน และดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุข และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ ความคิดวิจารณ์และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี (กรมวิชาการ. ๒๕๔๕ : ๓-๖)

                จำเป็นอย่างยิ่งมนุษย์ต้องอาศัยภาษาติดต่อสื่อสาร ถ้าหากขาดสาระสำคัญแล้วมนุษย์คงไม่สามารถรวมกันเป็นสังคมได้ ทั้งนี้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์อาจที่จะอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง แต่จะต้องติดต่อไปมาหาสู่กันต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่าภาษาที่เขาใช้ ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า “ภาษาเป็นเครื่องมือทางสังคม” ก็คงไม่ผิด สำหรับทักษะทางภาษาที่มนุษยชาติต่างๆ ใช้ติดต่อ สื่อสารกันก็คือ ภาษาศิลป์หรือศิลปะทางภาษานั่นเองอันได้แก่ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน มนุษย์อาศัยทักษะทั้ง 4 ประการที่กล่าวมานี้เสริมสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิด พัฒนาอาชีพและพัฒนาบุคลิกภาพ รวมทั้งสิ่งอื่นๆ อีกมากให้กับตนเองและสังคม ด้วยเหตุผลดังกล่าวภาษาจึงมีบทบาทและความสำคัญสำหรับบุคคลทุกคนของทุกชาติ (วรรณี โสมประยูร. ๒๕๔๔ : ๑๖)

               นอกจากนี้ภาษาไทยยังเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางบรรพบุรุษ ด้านวัฒนธรรมประเพณี และสุนทรียภาพ โดยการบันทึกไว้เป็นวรรณคดีและวรรณกรรมอันล้ำค่าภาษาไทยจึงเป็นสมบัติของชาติที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป ซึ่งความสำคัญของภาษาไทย สามารถสรุปได้ว่าเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ความรู้และประสบการณ์อันมีคุณค่าของบรรพบุรุษ เป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน เป็นเครื่องมือสร้างเอกภาพของชาติและเป็นเครื่องมือช่วยจรรโลงใจ ดั้งนั้นครูภาษาไทยจึงมีความสำคัญ ต่อการดำรงชีวิตและความเป็นปึกแผ่นของสังคมไทย คนไทยจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย ต้องทำความเข้าใจและศึกษาหลักเกณฑ์ของภาษาและฝึกฝนให้มีทักษะฟัง พูด อ่าน และเขียน ภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปใช้ในการสื่อสาร การเรียนรู้ การเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันการสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ และความจรรนโลงใจเพื่อเกิดประโยชน์แก่ตนเอง ชุมชนสังคม และประเทศชาติ (กรมวิชาการ.๒๕๔๕ : ๓-๖ )

                   มนุษย์อาศัยทักษะ ทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมานี้เสริมสร้างสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิดพัฒนาอาชีพและพัฒนาบุคลิกภาพรวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ด้วย อีกมากมายให้กับตนเองและสังคม ดังนั้นภาษาจึงมีบทบาทและความสำคัญสำหรับบุคคลทุกคนของชาติ (วรรณี โสมประยูร. ๒๕๔๔ : ๑๖)

                  กิจกรรมของภาษาไทยซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือในการสื่อสารนั้น แบ่งเป็น ๔ ทักษะ ได้แก่ การฟัง การอ่าน และการเขียน และทักษะการอ่านเป็นทักษะที่มีความสำคัญมากในการศึกษาหาความรู้ การประกอบธุรกิจการงานต่าง ๆ จะต้องอาศัยทักษะการอ่านเป็นสำคัญ เพราะว่าการสื่อสารความรู้ที่นิยมใช้และแพร่หลายที่สุดก็คือสื่อที่เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ ดังนั้นการสอนให้ผู้เรียนอ่านได้ อ่านคล่องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสอนอ่าน เป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุด ใช้เวลาถึงร้อยละ ๘๐-๙๐ ของกิจกรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา การอ่านเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการแสวงหาความรู้และสิ่งที่ใช้ถ่ายทอดความคิดระหว่างบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับ

              สนิท ตั้งทวี (อ้างถึงในลมโชย ด่านขุนทด. ๒๕๔๔ : ๑) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าการอ่านเป็นกระบวนการสำคัญในการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ในปัจจุบันโลกได้วิวัฒนาการก้าวหน้าไปด้วยเทคโนโลยี ความรู้ต่าง ๆ ให้นำเสนอออกมาในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์เป็นจำนวนมาก เพราะงายและสะดวกในการนำเสนอและสามารถเผยแพร่ไปได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะข้อความที่ปรากฏอยู่ในกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์สินค้าที่คนเราต้องซื่อมาใช้ในการอุปโภคบริโภค เราต้องอาศัยการอ่านเพื่อทำความเข้าใจสรรพคุณและวิธีการใช้สินค้าชนิดต่าง ๆ (ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล. ๒๕๔๒ : ๔๗) จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องพัฒนาการอ่านให้กับนักเรียน เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำ วันนอกจากนั้นแล้ว

              Hairis (๑๙๕๖: ๔๗) ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านว่า ทักษะการอ่านมีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นเครื่องมือที่จะนำมาเพื่อซึ่งความรู้ความคิดต่าง ๆ ทุกแขนง การอ่านจึงจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่

              Hasrier and Hayden (๑๙๗๒: ๔๗)กล่าวว่า การอ่านจะช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทุกแขนง การอ่านจึงมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ และทำให้สติปัญญากว้างขวางขึ้น ก้อให้เกิดความบันเทิงทางอารมณ์ ช่วยพัฒนาตนเองทั้งด้านบุคลิกภาพ และการประกอบอาชีพถ้าส่งเสริมให้นักเรียนมีพื้นฐานในการอ่านคำ วลี ประโยค และข้อความต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษาแล้ว ก็จะทำให้มีพัฒนาการที่ดีในการอ่านต่อไปในอนาคตได้

             จากผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ต่ำโดยเฉพากลุ่ม วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย อีกทั้งยังพบว่าการเรียนการสอน ส่วนใหญ่ครูยังมุ่งสอนตามตำรา ไม่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (กรมวิชาการ . ๒๕๔๕ : ๑) และพฤติกรรมการสอนของครูยังยึดแบบเดิมไม่ยอมรับการสอนแบบใหม่ ๆ ไม่นำนวัตกรรมรมและเทคโนโลยีมาประกอบการเรียนการสอน สืบเนื่องมาจาก ครูมีปัญหาในการผลิตสื่อ เพราะงบประมาณมีน้อยมีภาระในการสอนมากและโรงเรียนมีสื่อในการสอนไม่เพียงพอ สิ่งที่มีอยู่ไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายหรือเนื้อหาที่จะสอน ครูนอกจากงานสอนแล้วยังต้องทำงานประจำชั้นและงานพิเศษที่ได้รับมอบหมาย เช่น การควบคุมดูแลนักเรียน การอบรม การวัดผลประเมินผล งานธุรการการเงิน เป็นต้น ทำให้ครูมีเวลาน้อยในการเรียนการสอนและคิดค้นหาแนวทางใหม่ ๆ มาสอนนักเรียนเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (พระสมชาย คำอินทร์. ๒๕๔๒ : ๓ ; อ้างอิงมาจากกองวิจัยแห่งชาติ. ๒๕๓๕ :๒๙)

 

หมายเลขบันทึก: 337827เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2010 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท