แนวคิดเกี่ยวกับสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ (ตอนสุดท้าย) ภาระหน้าที่ของสถาบันควรเป็นอย่างไร


ภาระหน้าที่ของสถาบันวิชาการ

ภาระหน้าที่เป็นคลังทางวิชาการและองค์ความรู้จากสาเหตุของข้ออ่อนสำหรับการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวที่สำคัญ ก็คือ การขาดองค์ความรู้ในการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งในมิติของพฤติกรรมเด็ก เยาวชน มิติของพัฒนาการของเด็ก เยาวชน ตลอดจน มิติของวิธีการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งถึงแม้ว่าผู้ผลิตมีความประสงค์ในการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ฯ แต่ เพราะไม่มีความรู้ในมิติที่ครบถ้วน เป็นเหตุให้รายการโทรทัศน์อาจกลายเป็นรายการที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบได้โดยไม่ตั้งใจแต่ในขณะเดียวกัน ความจำเป็นที่ต้องเร่งการผลิต ทำให้การค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆที่จะต้องอาศัยเวลา และผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เกิดการเพิ่มต้นทุนการผลิต ตลอดจน การเพิ่มเวลาในกระบวนการผลิต ทำให้ การเข้าไปค้นคว้างานวิชาการที่เกี่ยวกับการจัดทำรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กฯ จึงไม่ได้ถูกวางอยู่บนพื้นฐานงานวิชาการ

ดังนั้น ภารกิจที่สำคัญของสถาบันก็คือ การทำหน้าที่เป็นห้องสมุดทางวิชาการที่ครบครัน อันเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งเป็นมิติทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้ง งานวิชาการที่เกี่ยวกับด้านจิตวิทยา งานด้านสังคมศาสตร์ รวมไปถึง งานวิชาการที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต ที่ผสมผสานงานความรู้ในศาสตร์ต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการผลิตและพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว

 

ภาระหน้าที่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

             ที่ผ่านมา ปัญหาด้านงานวิชาการหรือหลักสูตรว่าด้วยการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นรูปธรรม ประกอบกับ งานวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ได้มีการกำหนดกรอบแห่งจริยธรรมในการผลิตสื่อที่เป็นเอกภาพมากนักดังนั้น ความจำเป็นในการที่จะสร้างสถาบันวิชาการเพื่อพัฒนาหลักสูตรสำหรับงานสื่อเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อเป็นหลักสูตรมาตรฐานที่อุดมไปด้วยงานความรู้ในเชิงสหวิทยาการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

อีกทั้ง แนวคิดในการที่จะทำให้เกิดการยกระดับคุณค่าของงานโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว การพัฒนาให้สถาบันวิชาการเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่จะเป็นหน่วยอบรมระยะสั้นให้กับผู้สนใจในการผลิตหรือสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ฯ กลายเป็นผู้ที่ได้รับการยกระดับคุณภาพ และ ศักยภาพให้กับผู้ผ่านการอบรม และ ทำให้การอบรมดังกล่าว เป็น การเปิดทางสู่นักวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ ซึ่งใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจในรูปของค่าตอบแทน นอกจากนั้นแล้ว ภาระหน้าที่ของสถาบันในการที่จะเป็นหน่วยของการวางกรอบในจริยธรรมทางวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้กรอบแห่งจริยธรรมของนักวิชาชีพสื่อมวลชนมีความเป็นเอกภาพ จะช่วยให้การยกระดับคุณค่าทางวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้รับแรงจูงใจจากอาชีพไปสู่งานด้านวิชาชีพอย่างแท้จริง

 

ภาระหน้าที่ในการเป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิของสังคม

 นอกจากนั้นแล้ว สถาบันวิชาการจำเป็นที่จะต้องตอบสนองต่อความรู้ในเชิงสถานการณ์ของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้กับสังคม ดังนั้น นอกเหนือจากภารกิจด้านขุมทรัพย์ทางวิชาการแล้ว การเป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิด้านสถานการณ์รายการโทรทัศน์ให้กับสังคม ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก เยาวชน

ในขณะเดียวกัน การประเมินสถานการณ์ของรายการโทรทัศน์ โดยนอกเหนือจากการประเมินสถานการณ์ในภาพรวมของรายการโทรทัศน์แล้ว การเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายภาคประชาสังคมเข้ามาทำการประเมินคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ โดยใช้เกณฑ์ชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ ผ่านระบบเรตติ้ง เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่สำคัญเพื่อเป็นแหล่งการให้ข้อมูลในการแนะนำรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้กับสังคมอย่างต่อเนื่อง

 

ภาระหน้าที่ในส่วนที่ปรึกษางานวิชาการ

 ในกระบวนการการผลิตรายการโทรทัศน์ สิ่งสำคัญในสร้างสรรค์ก็คือ การผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวที่ วางอยู่บนพื้นฐานของงานวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาการในมิติของพัฒนาการเด็ก พัฒนาการสมอง ตลอดจนจิตวิทยาเด็ก แต่ในขณะเดียวกัน ในความเป็นจริงพบว่า ผู้ผลิตจำนวนน้อยที่จะใช้นักวิชาการด้านดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาในการสร้างทำเนียบนักวิชาการเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการผลิตรายการโทรทัศน์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ฯ เข้ามาใช้ข้อมูลในการที่จะเข้าไปร่วมทำงานกับกลุ่มภาคนักวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก จิตวิทยาเด็ก

ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบดังกล่าวได้รับการตอบสนองและมีค่าบังคับอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างนโยบายให้กับรายการโทรทัศน์ที่จะมาขอรับการสนับสนุนด้านภาษีและกองทุน โดยผู้ผลิตรายการที่ผ่านการให้คำปรึกษาของนักวิชาการในทำเนียบ จะได้รับการติดตั้งสัญลักษณ์หรือโลโก้ ว่าเป็นรายการโทรทัศน์ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ซึ่งหากได้รับการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ในระบบเรตติ้ง โดยกลุ่มภาคประชาสังคม ก็จะมีผลต่อการได้รับการสนับสนุนด้านภาษี หรือกองทุน  

       ภาระหน้าที่ด้านการประสานความรู้และการจัดการเครือข่าย ประชาคมนักวิจัยและพัฒนา            จากการถอดบทเรียนถึงความไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนารายการโทรทัศน์ สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การขาดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารายการโทรทัศน์ ดังนั้น แนวคิดในการสร้างประชาคมในการทำงานเชิงสร้างสรรค์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสถาบันทางวิชาการเป็นพื้นที่ของการทำงานในรูปแบบของประชาคม จะช่วยให้เกิดกระบวนการในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น

ารกิจ ๓ ด้าน วิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนองค์ความรู้ Research Development  and Movement

             ในการทำงานภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว หรือ TV4Kids ได้นำแนวคิดในการทำงานในรูปแบบของการวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ ควบคู่ไปกับงานด้านการพัฒนาองค์ความรู้ อีกทั้ง กระบวนการในการขับเคลื่อนงานความรู้สู่สังคม ซึ่งเน้นหนักที่การพยายามสร้างประชาคมวิจัยและพัฒนา พบว่า ความสำเร็จของงานวิชาการปรากฏชัดในรูปของการนำองค์ความรู้ทีได้จากการทำงานเข้าสู่ระบบการปฏิบัติการจริงในสังคม ซึ่งในการขับเคลื่อนงานวิชาการนั้น ได้รับการตอบรับและบังคับใช้จากภาคีเครือข่ายในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัว             ความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์มิตรกับกลุ่มเครือข่ายต่างๆใน ๕ ส่วน กล่าวคือ ภาครัฐ นโยบาย ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาควิชาชีพสื่อมวลชน ทำให้งานการพัฒนาองค์ความรู้และการขับเคลื่อนองค์ความรู้ลงไปในระดับลึกในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารายการโทรทัศน์ฯ            ดังนั้น การเปลี่ยนรูปของกระบวนการในการทำงานวิจัย ที่เน้นภารกิจหลัก ๓ ด้าน ทั้งในส่วนของการแสวงหาองค์ความรู้ การพัฒนาองค์ความรู้ ตอลดจนการขับเคลื่อนองค์ความรู้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานของสถาบันวิชาการนี้ได้รับการยอมรับจากสังคม และงานวิจัยที่ได้รับการแสวงหาความรู้มานั้น ก็สามารถประกันได้ว่า จะถูกนำมาใช้และยอมรับในสังคมได้ ไม่เป็นเพียงกระดาษในห้องสมุดเท่านั้น            อย่างไรก็ดี ในการสร้างประชาคมวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์ฯ ดังนั้น ภาคีที่จะเข้ามาทำหน้าที่หลักใน ๓ ส่วน อาจจะไม่ได้อยู่ภายใต้การทำงานของสถาบันวิชาการนี้แต่เพียงลำพัง ในการพัฒนาและขับเคลื่อนองค์ความรู้อาจอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรภาคีเครือข่ายในการทำงานในรูปของประชาคมวิจัยและพัฒนา

หมายเลขบันทึก: 33776เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2006 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท