หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 18 แก่นหรือกระพี้ ในพิธีทำขวัญนาค (ต่อ)


แก่นหรือกระพี้ถ้าผู้นำเอามาใช้ทำได้อย่างถูกต้องเหมาะสมก็สามารถที่จะกระทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้

หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 18

“แก่นหรือกระพี้ ในพิธีทำขวัญนาค”

นายชำเลือง มณีวงษ์

ผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม

(เพลงพื้นบ้าน พานพุ่มพนมมาลา รางวัลราชมลคลสรรเสริญ ปี 2547)

          ต่างคนต่างความคิด ต่างจิตต่างใจ แต่ในความพอเหมาะพอควรย่อมที่จะรักษาคุณค่าในความต้องการได้มากกว่าการกระทำตามใจตนเป็นหลัก ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมเป็นผู้หนึ่งที่ใช้ความพยายามในการเก็บข้อมูลก่อนที่จะทำงานไม่ว่าจะเป็นการแสดงเพลงพื้นบ้านประเภทต่าง ๆ หรือเมื่อเวลาที่ผมไปทำหน้าที่โหรา (หมอทำขวัญนาค) เพื่อที่จะทำให้เกิดความถูกใจ (ไม่ขัดคอ) แต่แฝงเอาไว้ด้วยสารประโยชน์ เราคงทิ้งกระพี้ไปเสียทั้งหมดเลยไม่ได้ แต่เราจะนำเอาความไร้สาระมาแทรกไว้ในส่วนใดเวลาใด และทำให้มีคุณค่าในทางเสริมแรง ให้กำลังใจ โดยไม่ลืมหลักการที่ว่า กุศโลบาย นั่นเอง

         

          

         

          พิธีทำขวัญนาค ในความเป็นจริง คือ การเชิญผู้ที่รอบรู้ในคัมภีร์มาอบรม แนะนำ สั่งสอนนาคให้ได้รับรู้ในสิ่งที่ควรยึดถือปฏิบัติทั้งข้อปฏิบัติของสงฆ์ ข้อปฏิบัติของบุตรที่พึงมีต่อบิดา มารดา แต่การที่หมอขวัญจะนำเอาคำสอนมาบอกกันตรง ๆ ก็ดูเหมือนว่าเป็นการบังคับให้นาคต้องมานั่งรับฟังคนแก่ ๆ พูดสอนเป็นเวลานานทั้งเมื่อยและอ่อนเพลีย จึงทำให้ผู้รู้ได้คิดหาวิธีการอย่างชาญฉลาด นำเอามาใช้ในพิธีทำขวัญนาคอย่างเหมาะสม เรียกว่า บททำขวัญนาคฉบับครู

          แก่นแท้ในพิธีทำขวัญนาค คือ เป็นการเปิดโอกาสให้นาค (ผู้ที่จะบวช) ได้รับความรู้ในการประพฤติปฏิบัติตนตั้งแต่วันทำขวัญนาค (ก่อนบวช 1 วันหรือก่อนเข้าโบสถ์) เป็นการเรียกสมาธิ สติปัญญา (เรียกขวัญนาค) ให้ความรู้ในความเป็นบุตรที่มีต่อผู้ที่ให้กำเนิด ได้อาบน้ำ ล้างมือ ล้างเท้าให้ท่าน ได้รับฟังเรื่องราวในการถือกำเนิดเกิดมาของคนตั้งแต่แรกเริ่มจุติในครรภ์ของมารดาจนคลอดออกมาและได้รับการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ได้สติกลับคืนมาสู่ความสงบใจ ได้ข้อคิด โดยบรมครูทั้งหลายได้เขียนเอาไว้เป็นบทร้องทำนองเสนาะ และเพลงประกอบการร้องมากมาย

          แก่นสารในพิธีทำขวัญนาค สิ่งที่อยู่ลึกลงไปในที่สุดคือ ต้องการที่จะให้นาคได้ล่วงรู้ในความเป็นมาของการบวช มีสติ ระลึกได้ ไม่หลงใหลในกิเลส แต่อย่างที่ผมกล่าวเอาไว้ในตอนที่ผ่านมาว่า หากหมอขวัญจะมาอบรมสั่งสอนนาคกันตรง ๆ ก็จะขาดความตั้งใจ หรือเกิดความเบื่อหน่าย ดังนั้นการที่จะนำพาคน ๆ หนึ่งให้เดินทางไปสู่จุดหมายที่ตั้งเอาไว้ได้นั้น ในบางครั้งก็จะต้องพาอ้อมไปบ้างเพื่อที่จะไม่ให้เขารู้ตัว หรือรู้ทันจึงต้องหยิบยกเอาตัวอย่าง นิทาน ตำนาน เรื่องราวเก่า ๆ ทั้งที่เป็นคำกลอนสอนใจให้เกิดสติ ปัญญา ความรู้

          แก่นแท้ที่นาคจะได้ในพิธีทำขวัญนาค ผมขอใช้คำว่า ประโยชน์ที่ผู้ที่จะบวชคือ นาค จะได้รับในการรับฟังทำขวัญนาค ขอกล่าวไปตามประเด็น นะครับ

          1. ประโยชน์ต่อนาค (ผู้ที่จะบวช) เป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะได้เตือนสตินาค เพราะชายหนุ่มทุกคนที่ผ่านวัยรุ่นมาตั้งแต่อายุ 13-19 ปี ก่อนที่จะถึงวันบวช ย่อมที่จะเคยหลงระเริง หมกมุ่นอยู่กับการเที่ยวเตร่ ออกนอกบ้าน หลงอบายมุข คบเพื่อนจำนวนมากที่มีที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนห่วงอนาคตของตน ในวันทำขวัญนาคเป็นวันที่ผู้สูงวัยจะได้แนะนำ อบรมสั่งสอนให้รู้ผิดชอบชั่วดี โดยเฉพาะความยุ่งยากลำบากของบิดา มารดาที่ได้เลี้ยงดูมาเป็นเวลา 20 ปี บางครอบครัวต้องเลี้ยงดูแลกันไปจนตลอดชีวิต พระคุณของท่านทั้งสองมีมากมาย สมควรที่จะได้กลับมาทดแทนบุญคุณตามหน้าที่ของลูกที่ดี

          2. ประโยชน์ต่อบิดา มารดา และญาติพี่น้อง ที่จะได้บวชพระของตนเอง จะได้อาศัยใบบุญที่ได้สร้างกุศลนี้ไปสู่ความสงบสุขในภายภาคหน้า จนถึงในชาติหน้า เป็นความห่วงใยในผลกรรม ยับยั้งความคิดไปในทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการเตือนใจตนเอง ห่วงว่าในชาติหน้าจะเกิดความลำบาก (ไม่คิดทำความชั่ว) นอกจากนั้นในงานบวชพระก็จะมีญาติพี่น้องทั้งบ้านใกล้บ้านไกลมารวมกัน เป็นวันพบญาติได้รับความอบอุ่นเป็นสุขใจ ได้มานั่งรับฟังถ้อยคำที่แฝงเอาไว้ด้วยหลักธรรมของหมอทำขวัญ มีความลึกซึ้ง ไพเราะเสนาะหู กินใจจนน้ำตาไหล

          3. ประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ชาวพุทธในประเทศไทยยึดถือกันมานาน เมื่อมีลูกผู้ชายอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ก็จะนำไปฝากวัดเพื่อเตรียมท่องขานนาค ฝึกห่มจีวร ครองผ้าและออกไปบินทบาตร (หิ้วปิ่นโต) กับพระในตอนเช้า เตรียมตัวที่จะบวช ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ชายไทยคนใดไม่ได้ผ่านการบวชเรียนมาก่อนก็จะไม่มีผู้หญิงมาเกี่ยวข้อง เพราะถือว่ายังเป็นชายดิบ จะต้องผ่านการบวชเรียนมาเสียก่อน และในการบวชเรียนเมื่อสมัยก่อน เขาบวชกันอย่างน้อยก็ 1 พรรษา (3 เดือน) มาในยุคปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความจำเป็น แต่ก็นับได้ว่า พ่อแม่ได้ส่งลูกให้ไปเป็นญาติสืบต่อพระพุทธศาสนา

          4. ประโยชน์ต่อชุมชนสังคมไทยเราอาศัยอยู่ ขนบประเพณีที่ดีงามทุกอย่าง คนในสมัยก่อนได้คิดสร้างสรรค์เพื่อหล่อหลอมจิตใจของลูกหลานให้ยึดถือปฏิบัติอยู่ในครรลองครองธรรม ยึดปฏิบัติตามแนวทางที่ดี เพราะว่าชีวิตของคนเราจะอยู่อย่างมีความสุขได้ คนเราจะต้องพึ่งพาตนเอง และไม่อาจที่จะรอให้ใครมาช่วยเราได้ หากเราไม่สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ก็ไม่มีวันที่จะสมหวังในอนาคต การที่หมอทำขวัญร้อง พูดแนะนำให้ผู้ที่จะบวชให้ล่วงรู้หน้าที่ของตนเอง ให้ความสนใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อย่างตั้งใจ เป็นหนทางที่จะช่วยพยุงและส่งเสริมสังคมในภาพรวมให้มีพลัง มีความเข้มแข็งขึ้น ครอบครัวที่ดีจะต้องมีความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวให้การดูแลลูกหลานอย่างอบอุ่นต่อไป

          5. ประโยชน์ต่อประเทศชาติในภาพรวม  การบวชเป็นทางไปสู่ความสงบ เป็นประตูเป็นช่องทางหนึ่งที่เปิดต้อนรับบุคคลที่มีความตั้งใจดี มีคุณธรรมไปสู่ทางที่สูงส่ง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีน้ำใจและให้ปัน งานบวชพระถือได้ว่าเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ ในอดีตกาล พ่อหมอหรือโหรา เป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้การยกย่อง เคารพนับถือ เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในพระพุทธศาสนามาเป็นผู้ประกอบพิธีทำขวัญนาค สังเกตได้จากความอาวุโส (ผู้สูงวัย,สูงอายุ) เมื่อมีผู้รู้มาให้แนวทาง มาเตือนสติ มาสอนใจก็ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ได้รับฟัง ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบัน คำสอนจากหมอขวัญจะมีการประยุกต์เพื่อให้เกิดความน่าสนใจต่อผู้ฟังบ้าง แต่ก็ดูตามความเหมาะสม ถ้ายังคงประคับประคองจิตใจให้ไปในทางที่สูงส่ง สงบร่มเย็นก็ถือได้ว่ายังอยู่ในกรอบการเดินทางที่ไม่ออกนอกไปไกลเลยประเพณีการทำขวัญนาคจึงยังคงมีประโยชน์ มีแก่นแท้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมของพระพุทธศาสนาของชาติอยู่นั่นเอง

                          

                           (คลิกที่ปุ่มเล่น ชมบันทึกการแสดงสดทำขวัญนาค ตอนเรียกขวัญนาคได้)

          ขอยกเอาคำว่า กะพี้ กลับมาแสดงความเห็นอีกนิด ถึงแม้ว่ากระพี้จะไม่ใช่แก่นสารโดยตรงของพระพุทธศาสนา แต่ถ้าผู้นำเอามาใช้ทำได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมก็สามารถที่จะกระทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้  ในทำนองเดียวกัน หากการนำเอาแก่นสาร หรือแก่นแท้มาใช้ในทางที่ผิด ไม่เหมาะสม ไม่ตรงทางก็จะส่งผลเสียต่อผู้กระทำและสังคมโดยรวมเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ขออย่าได้ลุ่มหลงงมงายในสิ่งที่มิใช่แก่นสารจนเกินพอดี จงอย่ากระทำความดีเพื่อหวังในสิ่งตอบแทนที่มากมายมหาศาล เปลี่ยนไปเป็นการกระทำความดีเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติของเราจะดีกว่า

ชำเลือง  มณีวงษ์  เข็มเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ รางวัลผู้สร้างสรรค์คุณประโยชน์

                        ต่อประชาชนโดยส่วนรวมอย่างดียิ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2552

หมายเลขบันทึก: 336122เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้รับประโยชน์ความรู้มากครับ

และขออนุญาตอาจารย์ นำสาระความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดขณะทำขวัญนาคครับ

อาจารย์เคยมาทำขวัญนาคที่ระยองไหมครับอยากไปดูอาจารย์ทำขวัญมาก

ขอบคุณครับ

สวัสดี มนัส ระยอง

  • เป็นความรู้สึกที่ดี ที่มนัสแสดงความเห็นออกมาในฐานะผู้ที่สนใจงานทำขวัญนาค
  • ผมเคยไปทำขวัญนาคแถว ๆ แกรง 2 ครั้ง (ในตัวเมือง ลงรถแล้วนั่งมอเตอร์ไซด์ลงไปซ้ายมืออีก 300-400 เมตร) เมื่อประมาณ 10 ปี มาแล้ว)

อยากรบกวนสอบถามอาจารย์จะกรุณามาทำขวัญนาคที่จันทบุรีได้ไม๊ค่ะ?

  • ติดต่อเข้ามาและแจ้งรายละเอียดได้ที่ mail : [email protected]
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท