หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 17 แก่นหรือกระพี้ ในพิธีทำขวัญนาค


ในความพอเหมาะพอควรย่อมที่จะรักษาคุณค่าในความต้องการได้มากกว่าการกระทำตามใจตนเอง

หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 17

“แก่นหรือกระพี้ ในพิธีทำขวัญนาค”

นายชำเลือง มณีวงษ์

ผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม

(เพลงพื้นบ้าน พุ่มพนมมาลา รางวัลราชมลคลสรรเสริญ ปี 2547)

          แก่น คำว่าแก่น ถ้าเป็นแก่นไม้ อยู่เลยกระพี้เข้าไป เป็นเนื้อไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานที่สุด เป็นที่ต้องการแก่นไม้กันมาก เพื่อที่จะนำเอามาใช้ประโยชน์

          แก่นแท้ในทางพระพุทธศาสนา คือ การอบรมความรู้ให้รู้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง ในความเป็นจริงทั้งหลายล้วนประกอบด้วยเหตุและผล มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน เป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์ไม่ยึดมั่น ถือมั่น 

          กระพี้ คำว่า "กระพี้" ถ้าเป็นต้นไม้ก็คือ สิ่งที่ห่อหุ้มล้ำต้น ซึ่งอยู่รองจากเปลือกไม้ลงมา กล่าวคือ อยู่ระหว่างเปลืองไม้กับเนื้อไม้  

          กระพี่ในทางพระพุทธศาสนา มีความหมายว่า  สิ่งที่ไม่ใช่แก่นสารโดยตรงของพระศาสนานั่นเอง  

          ด้วยบทความที่ผมกล่าวมาทั้ง 16 ตอน เกี่ยวกับหมอทำขวัญ ซึ่งผมได้นำเอาประสบการณ์ที่ผมได้สัมผัสมาจากหลายสถานที่และในเวลาที่ยาวนานกว่า 59 ปีของชีวิต เมื่อผมมีอายุได้ 18 ปี ผมอยู่ในพิธีทำขวัญนาคกับพ่อคุณวัน มีชนะ พ่อพาผมและลูกชายของป้าอีกคนไปทำขวัญนาคหลายสถานที่และได้ร่วมอยู่ในพิธีกับพ่อคุณจนผมมีอายุเลย 20 ปี จึงได้รับงานทำขวัญนาคด้วยตนเองตามที่มีผู้มาติดต่อ 

         

         

          มักจะได้ยินผู้แสดงความเห็นในหลาย ๆ กรณีที่เกี่ยวข้องกับพิธีทำขวัญนาค ซึ่งก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะคิดอย่างไร เป็นสิทธิในส่วนบุคคลย่อมที่จะทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องมาหยุดคิดว่า ในโลกนี้ย่อมมี 2 ด้านเสมอ มีดีก็ต้องมีชั่ว มีมืดก็ต้องมีสว่าง  มีขาวก็ต้องมีดำ  มีได้ก็ต้องมีเสีย  มีรวยก็ต้องมีจน  มีสุขก็ต้องมีทุกข์  มีฉลาดก็ยังต้องมีโง่เขลา  มีเกิดก็ต้องมีตาย  มีความจริงก็ยังมีหลอกลวง  มีประโยชน์ก็ยังมีโทษ ฯลฯ เพียงแต่ว่าอย่างไหนจะมีมากกว่ากันหรืออย่างไหนจะมีคุณค่ามากกว่ากัน ในสิ่งที่เราคิดว่าดี ความจริงแล้วก็มีสิ่งที่ไม่ดีปนอยู่ ทำนองเดียวกันในสิ่งที่เราคิดว่าไม่ดีก็ยังมีสิ่งที่ดีปนอยู่ด้วย  

          ในบทความนี้ผมคงจะต้องหยิบยกเอาคำว่า พิธีทำขวัญนาค มากล่าวอีกบทความหนึ่ง เพื่อมุ่งประเด็นให้เห็นทั้ง 2 ด้าน ตามทัศนของหมอทำขวัญ (ความเห็นส่วนตัว) ท่านผู้อ่านสามารถที่จะแสดงความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ได้ ครับ

          มีคำถามจากคนรุ่นใหม่ ๆ รวมทั้งพ่อแม่รุ่นใหม่ว่า ทำไมต้องมีพิธีทำขวัญนาค ในสมัยพุทธกาลก็ไม่มีพิธีทำขวัญนาค สำหรับในประเทศไทยเราชาวพุทธเริ่มมาให้ความสนใจ ทำให้เกิดมีพิธีทำขวัญนาคเมื่อไม่เกิน 200 ปี หรือราว 150 กว่าปีมานี้เอง มีคำ ๆ หนึ่งคือคำว่า กุศโลบาย เป็น ความชาญฉลาดในการพูดหรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้เกิดความสำเร็จ เป็นการทำให้คนอื่นหลงเชื่อไปในทางที่ถูกที่ควรนั่นเอง

         

         

          คำว่ากระพี้ ซึ่งผมขอแปลความหมายว่า มิใช่แก่นสารในพิธีทำขวัญนาค มองได้หลายแง่และหลายเหตุผลที่ถูกยกเอามานำเสนอโดยโหราหรือหมอทำขวัญในแต่ละท่านซึ่งก็จะต้องหาวิธีที่จะทำให้ผู้ที่จะบวชได้รับในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เพียงแต่ว่า กุศโลบายของใครจะนำพาผู้ฟังไปให้ถึง ณ จุดนั้น จุดที่เป็นความหวังสูงสุดได้หรือไม่เพียงใด เท่านั้น มองภาพไปที่กระพี้ (ไร้แก่นสาร) ในพิธีทำขวัญนาค เท่าที่พอจะมองเห็น ได้แก่ 

          1. ตัวหมอทำขวัญหรือผู้ที่ทำหน้าที่โหรา แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีราคาแพง ตามด้วยเครื่องประดับที่ขนกันเอามา ซึ่งจะต้องซื้อหามาด้วยเงินตราที่สูงมาก ขับรถค้นใหม่ที่มียี่ห้อเพื่อให้คนมอง หิ้วกระเป๋าหรูวางมาดเฉียบคมมาก ในทางกลับกันก็ยังมีหมอทำขวัญที่แสดงความสมรรถถะ แต่งตัวธรรมดา สวมเสื้อสีขาว นุ่งทับเรียบร้อยพอสมควร แต่ว่าติดบุหรี่และดื่มเหล้า (เมาเล็กน้อยถึงปานกลาง) พอคุมสติได้ ไม่มีมาด ทำตัวง่าย ๆ แต่ก็เป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสมนักก็มี ในความเป็นจริงควรที่จะเดินสายกลางให้ได้มากที่สุด เอาแต่พอดีพอควร ไม่หรูหราจนเกินงามหรือตกต่ำจนไม่น่าเชื่อถือ

          2. คำสอนหรือคำบอกกล่าวในพิธีทำขวัญนาค หมอบางท่าน ไม่อาจที่จะนำเอาคำสอนตรง ๆ มาสอนหรือมาบอกได้จึงจำเป็นที่จะต้องมีการอ้อมค้อมไปหาจุดเริ่มต้นและลงท้ายจนกลายเป็นลูกเล่นที่แพรวพราวและมากเกินไปที่จะทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา กลายเป็นความสนุกสนานจนลืมคำว่าสมาธิ สติปัญญา ร้องเล่นจนเพลินเกินเวลา หากว่าพิธีทำขวัญนาคต้องใช้เวลาเกิน 3 ชั่วโมงบวกกับความหงุดหงิด เหลือบมองที่นาฬิกาอยู่บ่อยครั้งของบิดา มารดาและตัวนาค นั่นหมายถึงหมอขวัญกำลังยัดเยียดในสิ่งที่ไร้ค่าให้เขาก็คือกระพี้นั่นเอง แต่ถ้ารู้สึกตัวแล้วลดลงมาให้เหลือความพอดีก็น่าที่จะพอรับได้ 

          3. จุดเน้นของพิธีทำขวัญนาค คือ สอนใจให้ได้มีสติ  หรือทำให้หลงใหลเพื่อหวังผลตอบแทนในค่าของเงินตราอย่างมหาศาล ที่มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ หมอขวัญร้องเล่นขอเงินเจ้าภาพตอนแล้วตอนเล่าหลายครั้งจนน่ารำคาน ขอแล้วไม่ได้เงินยังมีพูดกระทบกระเทียบอีกให้ได้อายจนทนไม่ไหวต้องควักเงินในกระเป๋ามาให้ด้วยความไม่เต็มใจ แต่ถ้าเจ้าภาพมีความพึงพอใจและมอบน้ำใจให้ด้วยความยินดีก็ว่าไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นเป็นความสุขใจที่เขาได้รับโดยไม่มีใครไปบังคับให้ต้องกระทำตาม หากพบกันตรงสายกลางคือ ตรงความพอเหมาะพอควรก็น่าที่จะทำได้ตามโอกาสที่เอื้ออำนวย

          4. ความสนุกสนานของบรรดาญาติพี่น้องเพื่อนร่วมงาน ที่โห่ร้องเล่นเต้นรำทำท่าทางสนุกกันสุดเหวี่ยงจนฟังไม่ได้สับว่าหมอขวัญร้องอะไร สอนอะไรออกไป (กรณีนี้ผมเคยเจอ แต่ก็ไม่บ่อยนัก) พอได้ยินเพลงสนุก ๆ จังหวะมัน ๆ ก็มีคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาเต้นแบบหน้าเวทีสตริง พอจบเพลงก็นั่งลง แต่ก็มีบางสถานที่เขามาขออนุญาตหมอขวัญเต้นอยู่ห่าง ๆ พอจบเพลงก็เข้ามายกมือไหว้ขออภัยเราก็ดูไปอีกแบบหนึ่ง (ความจริงยังไม่ต้องเต้นก็ได้) แต่ว่าความสนุกในพิธีทำขวัญนาคยังมีการแสดงออกที่เหมาะสมและเสริมปัญญาได้อีกมากมายแบบในท้องถิ่นชนบท สนุกแบบมีสาระ

          5. เจ้าภาพ เป็นอีกต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไร้สาระอย่างคาดไม่ถึง ในกรณีที่มีเจ้าภาพเป็นผู้จัดการเรื่องหมอขวัญ พอหมอจะเริ่มทำพิธี ผู้ว่าจ้างจะมาสั่งการ ทำตัวเป็นผู้กำกับหมอขวัญ โดยสั่งการว่า งานนี้ขอให้หมอทำขวัญนาค 1 ชั้วโมงพอ แถมย้ำอีกว่า 1 ชั่วโมงพอไหม ผมเคยตอบเจ้าภาพไปว่า ผมต้องขอทำความเข้าใจกับท่านผู้ฟังที่อยู่ในบริเวณที่ได้ยินเสียงเครื่องไฟในงานนี้เสียก่อนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง พอเริ่มทำหน้าที่ไปได้สักพักก็มีกระดาษ 1 แผ่น พร้อมทั้งรายชื่อบุคคลจำนวนมาก 2 หน้า ส่งมาให้แล้วสั่งว่า ขอให้หมอช่วยร้องเรียกชื่อบุคคลที่จดมาให้ด้วย เราทำตามร้องด้นกลอนสดให้ทั้งหมด พอดีเวลาครบ 1 ชั่วโมงตามข้อตกลง ผมจึงต้องรวบลัดเข้าสู่พิธีเวียนเทียนเบิกบายศรี เป็นอันว่างานนี้ได้กระพี้ (ความไร้สาระ) ไปโดยไม่ได้ตั้งใจมาก่อน

                        

                        (คลิกที่ปุ่มเล่น  ชมบันทึกการแสดงสดพิธีทำขวัญนาคตอนกำเนิดของคนได้)

          ต่างคนต่างความคิด ต่างจิตต่างใจ แต่ในความพอเหมาะพอควรย่อมที่จะรักษาคุณค่าในความต้องการได้มากกว่าการกระทำตามใจตนเองเป็นหลัก ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมเป็นผู้หนึ่งที่ใช้ความพยายามในการเก็บข้อมูลก่อนที่จะทำงานไม่ว่าจะเป็นการแสดงเพลงพื้นบ้านประเภทต่าง ๆ หรือเมื่อเวลาที่ผมไปทำหน้าที่โหรา (หมอทำขวัญนาค) เพื่อที่จะทำให้เกิดความถูกใจ (ไม่ขัดคอ) แต่แฝงเอาไว้ด้วยสารประโยชน์ เราคงทิ้งกระพี้ไปเสียทั้งหมดเลยไม่ได้ แต่เราจะนำเอาความไร้สาระมาแทรกไว้ในส่วนใดเวลาใด และทำให้มีคุณค่าในทางเสริมแรง ให้กำลังใจ โดยไม่ลืมหลักการที่ว่า กุศโลบาย นั่นเอง

ติดตาม หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 18 แก่นหรือกระพี้ พิธีทำขวัญนาค

หมายเลขบันทึก: 336121เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท