เวทีตลาดนัดความรู้กรมอนามัย ปี 2553


เวทีตลาดนัดความรู้กรมอนามัย ปี 2553

“เวทีตลาดนัดความรู้กรมอนามัย ปี 2553”

2-3 กุมภาพันธ์ 2553  ณ  ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอมเพลส จ.เชียงใหม่

                “คุณหมอค่ะ พี่อ้อยโทรจากศูนย์อนามัยที่ 10 นะคะ พอดีทางศูนย์ฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดเวทีตลาดนัดความรู้กรมอนามัยที่เชียงใหม่ มีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 4 ห้องย่อย  พี่อ้อยรับผิดชอบห้องคนไทยไร้พุง จึงอยากเชิญคุณหมอมาเล่าประสบการณ์การทำงานโครงการภาคีร่วมใจคนไทยไร้พุงค่ะ”     นี่คือปฐมบทที่ทำให้ฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีตลาดนัดความรู้กรมอนามัยในครั้งนี้  กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานสนับสนุนการจัดการความรู้ สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย   จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อให้  ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานในสังกัดได้เผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จที่ทำให้เกิดนวตกรรมส่งเสริมสุขภาพและพัฒนานามัยสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จาก good practice สร้างบรรยากาศการเทียบเคียงอย่างสร้างสรรค์และต่อยอดการเรียนรู้ จนเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และเกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ทั่วทั้งกรมอนามัย ส่งผลต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคตอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการยกย่องประกาศเกียรติคุณแก่ผลงานดีเด่นประจำปี ตลอดจนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการทำงานส่งผลต่อการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป  ต้องขอบคุณพี่อ้อยหทัยรัตน์ ศูนย์อนามัยที่ 10 ที่ให้โอกาสได้มาเปิด        โลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ที่กรมอนามัยให้ความสำคัญและพยายามผลักดันให้หน่วยงานสังกัดได้นำเรื่องการจัดความรู้มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนางาน คนที่เข้าร่วมงานไม่น้อยน่าจะเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรหลายๆอย่าง ซึ่งฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจดี ๆ อยากเล่าสิ่งที่ได้เห็นได้รู้ให้คนอื่นได้ทราบบ้าง ลองอ่านดูนะคะ

Green and clean

โดยท่านอธิบดีกรมอนามัย ดร.นายแพทย์สมยศ  ดีรัศมี ให้เกียรติบรรยายพิเศษในภารกิจใหม่ที่กรมอนามัยจะทำในการดำเนินงานรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ        ซึ่งเป็นที่สนใจและชื่นชมของนักข่าวและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่า ประเทศไทยกำลังก้าวหน้าเป็นผู้นำของเอเชียด้านนี้  ซึ่งมีที่มาที่ไปคือ การประชุมส้วมโลกที่กรุงมนิลา ได้มีการพูดถึงเรื่อง sanitation  ว่าขณะนี้มีประเทศที่ไม่มีการพัฒนามาก เช่น เขมร มี house hold toilet 24 %   แต่ประเทศไทยเรามีส้วม 100% มาตั้งนานแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาขยายไปยังส้วมสาธารณะ แต่ประเทศไทยได้เสนออีกอย่างคือ จะพัฒนาส้วมและ hygiene ให้ link กับ climate change ซึ่งก็คือ Green and Clean โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา  2) ให้สถานบริการสาธารณสุข เป็นแบบอย่างการดำเนินการลดโลกร้อน  3) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรในเรื่องโลกร้อนที่มีผลต่อสุขภาพ    4) เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนในการร่วมรณรงค์ลดโลกร้อน โดยมี Green    เป็นกิจกรรม

       G  -  Garbage            การจัดการมูลฝอยและการใช้ประโยชน์จากสิ่งปฏิกูล

       R  -  Rest room          การจัดการส้วมให้ได้มาตรฐาน HASS

       E  -  Energy              ประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทนจากชีวภาพ

       N  -  Nutrition            การรณรงค์อาหารปลอดพิษ รณรงค์ผักพื้นบ้านอาหาร

                                      พื้นเมือง การใช้อุจาระปัสสาวะและสารอินทรีย์อื่น ๆ เป็น

                                      ปุ๋ย (Nutrient Cycle)

และ Clean เป็นกลยุทธ์

       C  -  Communication

       L  -  Leadership

       E  -  Effectiveness

       A  -  Activity

       N  -  Networking

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เรียนรู้อย่างมีพลังผ่าน weblog

โดยบุคคลที่โลดแล่นอยู่ใน Web go to know  เช่น รศ.นพ.จิตเจริญ  ไชยาคำ  ผู้ชวนคุยและผู้ร่วมก๊วนคุย,  คุณหมอนนทลี  จากกองทันตสาธารณสุข,  ดร.ขจิต  จาก            ม.เกษตร,  มล.มัตติกา  จาก ม.เชียงใหม่, ดร.สุดารัตน์  จาก ศูนย์อนามัยที่ 12  ยะลา และ คุณศศิชล  จากศูนย์อนามัย   ที่ 8 นครสวรรค์  ในช่วงนี้เป็นการประชาสัมพันธ์ go to know  ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งเนื้อหาสาระและวิชาชีพ  ทุกคนที่มาเล่าล้วนแต่หลงเสน่ห์ go to know อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ได้ทั้งความรู้ เพื่อน ได้คู่แม่ลูก (คุณหมอนนทลี และ ดร.ขจิต) ได้ชักชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมลองสัมผัส ซึ่งได้ผลมากเลย มีทั้ง notebook  เสื้อ หมวก มาแจกเพียบ แต่ว่าไม่พอค่ะเพราะพลังความอยากรู้ อยากได้   มีมากเกินของแจก

ห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ช่วงบ่ายของวันแรกจะมีการแบ่งห้องย่อย 4 ห้อง  ห้องที่ 1 อสม. กับงานฝากครรภ์ ในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว  ห้องที่ 2  ลดปัจจัยเสี่ยงในเด็กวัยรุ่น  ห้องที่ 3 คนไทยไร้พุง  ห้องที่ 4  Green and Clean  หลาย ๆคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากเข้าทุกห้องเลย แต่ก็เป็นไปไม่ได้จึงต้องเลือกห้องใดห้องหนึ่ง  ส่วนตัวฉันเองเลือกไม่ได้เพราะต้องเป็นผู้เล่าในห้องคนไทยไร้พุง   ที่มีอาจารย์จรัล สามิบัติ เป็นผู้ชวนคุย และสมาชิกที่ร่วมเล่าจากหลาย ๆ หน่วยงานถึง 12 คน  และมีพระภิกษุสามเณรอีก 2 รูป  บรรยากาศในห้องมีความเป็นกันเอง ผ่อนคลาย  ทุกคนเล่าถึงที่ไปที่มาด้วยความภาคภูมิใจ สีหน้ายิ้มแย้มแววตาเป็นประกาย เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว ที่กะกันว่าจะให้เล่าคนละ 2 รอบ กลับกลายเป็นว่าเล่าคนละรอบเวลาก็ไม่พอแล้ว  เรื่องราวของแต่ละคนที่เล่าสะท้อนถึงวิธีการทำงานให้สำเร็จ โดยที่ไม่สามารถอ่านได้จากตำราแห่งใดในโลก คนฟังก็สนุกไปกับเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนนั่งฟังนิทาน/นิยาย ประมาณนั้นเลย  ฉันว่านี่แหละคือการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา ก่อให้เกิดพลัง Action – Reaction จากผู้เล่าและผู้ฟัง  เรื่องราวรายละเอียดของผู้เล่าแต่ละท่านขอไม่กล่าวไว้ ณ ที่นี้     เพราะคิดว่าทางศูนย์อนามัยที่ 10 น่าจะรวบรวมเผยแพร่ต่อไป                             

ห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้

โดย พระมหาไพศาล  ฐานวุฑโฒ

เช้าวันที่ 2  เป็นการบรรยายธรรมะกับการจัดการความรู้ ซึ่งยิ่งทำให้เราเห็นว่าการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนางานได้กว้างขวางหลากหลายจริง ๆ แม้กระทั่งเรื่องราวของศาสนา  หลวงพ่ออยู่ที่วัดใหม่ท่าอิฐ  ซึ่งเป็นวัดที่น่าท่องเที่ยว สวยงาม และสะอาด  อยู่ ต.ป่าแดด   อ.เมือง จ.เชียงใหม่  สร้างมาประมาณ 500 ปี เป็นวัดที่ทรุดโทรมเกือบจะเป็นวัดร้าง ต่อมาได้รับการพัฒนาและได้พระมหาไพศาล  ฐานวุฑโฒ  มาเป็นเจ้าอาวาส  หลวงพ่อจบการศึกษาระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนบวชเคยเป็นอาจารย์สอนใน มจร.  พอบวชแล้วมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส ก็ตั้งเป็นปณิธานว่าจะเป็นผู้นำที่ดี เสียสละ ทำงานด้วยใจ คนเราเกิดเป็นมนุษย์ต้องทำความดีสร้างสรรค์สังคม ถ้ามีโอกาสทำความดีให้รีบทำอย่ารอช้า คนเราจะทำดีหรือไม่ดีอยู่ที่เรากำกับตัวเอง ไม่เหมือนการถ่ายละครถ้าจะถ่ายทำให้ดีสามารถทำหลายเทคหลายฉาก แต่ในชีวิตจริงไม่มีหลายเทค เพราะฉะนั้นต้องตั้งใจทำให้ดี หลวงพ่อยังให้แนวคิดเรื่องการให้ความรู้ว่าจะต้องดูกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร วิธีการก็ต้องปรับให้เหมาะกับกลุ่มนั้น ๆ ต้องทำให้สบายใจ ทำด้วยใจ จะทำให้ผู้เรียนติดใจอยากฟังอีก  นอกจากนี้แล้วยังฝากข้อคิดเรื่องการเกิดเป็นมนุษย์ เราควรเติมอะไรให้ชีวิตที่น่าสนใจมาก ๆ  3 ข้อ คือ

  1. คุณภาพ คือ อาหาร ต้องดีสำหรับชีวิตเราเท่านั้น การเติมอะไรเข้าไปในตัวเราต้องมีคุณภาพและปลอดสารพิษ การตามใจปาก เติมมากไปก็ไม่ดี
  2. คุณวุฒิ คือ ความรู้ มนุษย์ถ้าแค่กินอาหารและผสมพันธ์ก็ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ต้องใช้ปัญญาเป็นอาวุธในการต่อสู้ คนที่มีความรู้เปรียบเหมือนช้างที่มีงา ไปไหนก็มีค่ามีราคา ดังนั้นเราต้องเติมความรู้ให้กับตัวเอง ให้ครบทั้ง 2 ด้าน คือความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรม ท่านเปรียบไว้ว่า ความรู้ทางโลกไว้ชี้นำ ความรู้ทางธรรมเอาไว้ขัดเกลาชีวิต และอาวุธปืนที่ร้ายแรง แต่ถ้าไม่อยู่ในระเบียบวินัยก็เป็นแค่ปืนเถื่อน คนเราถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียวจะเกิด ego สูง จิตใจแข็งแกร่ง อาฆาตหนัก ไม่มีอะไรห้ามใจ ส่วนความรู้ทางธรรมเป็นการขัดเกลาชีวิตให้อ่อนลง รู้จักการให้อภัย เมตตา ความช่วยเหลือ สรุปความรู้ทั้ง 2 ด้านต้อง balance กัน
  3. คุณธรรม ถ้าไม่มีความรู้นี้จะอยู่ในโลกอย่างไม่มีความสุข การเติมคุณธรรมจะทำให้เกิดความสุขต่อต่อตนเองและผู้อื่น สรุปการจัดการความรู้ในแบบของพระมหาไพศาล คือ   ต้องทำด้วยใจ ใจที่มีคุณธรรม

สรุปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ห้องย่อยห้องย่อย

 โดย นพ.สมศักดิ์  ชุนหะรัศมิ์

 อาจารย์ นพ.สมศักดิ์ ได้สรุปการเรียนรู้ห้องย่อย 4 ห้อง ที่อาจารย์อ่านจากสรุปที่ note taker บันทึกไว้ แล้วต่อยอดการเรียนรู้เป็น 4 ประเด็น

                1.  การจดบันทึกความรู้ ดูจากบันทึกความรู้ที่เขียนเห็นแต่ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ซึ่งเป็นการสรุปอีกที ทำให้ไม่เห็นว่าทำอย่างไรเวลาเข้ากลุ่มทำ COP ต้องเตือนตัวเองว่าเราตั้งใจจะทำอะไร ซึ่งที่พวกเราเน้นมานานคืออยากได้ Tacit Knowledge ซึ่งเป็นความรู้จากการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเวลาฟังอย่าสรุปมากกเกิน ให้พยายามฟัง how to

                2.  เวลาที่บอกถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ จะไม่เห็นความรู้ ส่วนใหญ่จะออกมาเป็นผู้บริหารให้ความสำคัญ ชุมชนมีส่วนร่วมแต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไร ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีคนถามมากว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ความรู้แค่นั้นใช่หรือไม่ คงต้องบอกว่าไม่ใช่ เราทำการจัดความรู้เพื่อให้การทำงานได้ดีขึ้น ไม่ใช่จัดการความรู้เพื่อให้ได้ความรู้เท่านั้น เมื่อพูดถึงความรู้ให้นึกถึงความรู้ 3 แบบ คือ

                -  Tacit Knowledge  ความรู้แฝงที่ได้จากการทำงาน ไม่มีเขียนในตำรา สกัดจากประสบการณ์การทำงาน ความรู้แฝงที่ลองทำแล้วดีแล้วเอามาลองทำดู

                -  Explicit Knowledge คือ ความรู้จากตำรา

                -  R2R งานประจำสู่งานวิจัย เป็นการสร้างความรู้อย่างเป็นระบบจากการทำงาน โดยวางแผนเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป จะก่อให้เกิดการพัฒนา

                เราใช้ความรู้ทั้ง 3 แบบ ในการทำงานตลอดเวลา เวลาจัดการความรู้ในองค์กรเห็นประเด็นเหล่านี้มั๊ย

                3.  ชวนทุกหน่วยงานทำการจัดการความรู้ครบวงจร นั่นคือ การสร้างความรู้ การจัดการความรู้ และเอาความรู้มาใช้ ซึ่งจะทำให้เห็นคุณค่าของความรู้ พวกเราทำงานด้วยใจอยากทำงานให้ดีกันอยู่แล้ว แต่อยากเพิ่มให้ใจรักความรู้ ใจเชื่อมั่นว่าความรู้เป็นเรื่องสำคัญ

                4.  จัดการความรู้แปลว่าอะไร เราพูดกันมานานแล้วว่าให้แต่ละคนทำการจัดการความรู้และนำความรู้มาใช้ในการทำงาน แต่สิ่งหนึ่งที่ CKO มีบทบาทสำคัญคือ การสร้างสิ่งแวดล้อมและกลไกสนับสนุนให้เอื้อต่อคนในการจัดความรู้  ภาพฝันของกรมคือ อยากเห็นทุกหน่วยงานมีสิ่งแวดล้อม (IT) ช่วยให้พวกเราเรียนรู้อย่างต่อเนื่องครบวงจร ทันต้องการ เรียนรู้จากตำรา/งานวิจัยที่คนอื่นทำ             การตั้งวงคุยกันบน web หวังว่าระบบนี้จะเชื่อมต่อทั้งกรมอนามัยและหน่วยงานในสังกัด Google health Thailand คือเป้าหมายที่ตั้งไว้

                สรุป อยากให้เกิด Knowledge Worker มีความรู้ เรียนรู้เป็น มีเครื่องมือสนับสนุนให้เรียนรู้ตลอดเวลาเอาความรู้ไปใช้ในการทำงานได้ และเอาความรู้ที่ไปใช้มาสร้างความรู้ใหม่ ทำให้เกิดการหมุนเกลียวความรู้ต่อเนื่องตลอดไป

                               

 

                               

พิธีมอบเกียรติบัตร

ท่านอธิบดีกรมอนามัย ได้ให้ความสำคัญกับการจัดงานครั้งนี้มาก โดยอยู่มอบรางวัลหน่วยงานที่ชนะประกวดนิทรรศการ และเกียรติบัตรแก่หน่วยงานที่เข้าร่วมจัดนิทรรศการถึง 33 หน่วยงาน และยังมอบเกียรติบัตรแก่เครือข่ายที่มาเข้าร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องย่อยถึง 47 คน อาจเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ในสายตาใครแต่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สร้างขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานเป็นอย่างมาก ในการที่จะพัฒนาตนเป็น Knowledge worker ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 334725เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณนะคะ ได้รับความรู้เต็มๆ ก็ที่บันทึกนี้ละค่ะ
  • พี่ได้ไปเพียงวันแรกเท่านั้นเอง ... อีกวัน ต้องมาเตรียมกิจกรรมไป นครศรีธรรมราชค่ะ

ขอภัยที่มาเยี่ยมคุรหมอช้า

เพราะมัวแต่ยุ่งๆ

แต่ดีใจมากๆที่ได้บล็อกเกอร์เพิ่มค่ะ

แล้วจะรออ่าน เรื่องใหม่อีกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท