ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อรรถกถา สังคายนาพระอภิธรรม


พระพุทธพจน์ที่ชื่อว่าสุตตันตปิฎก ได้แก่พุทธพจน์ต่อไปนี้คือ ทีฆนิกาย มีจำนวน ๓๔ สูตร มีพรหมชาลสูตรเป็นต้น มัชฌิมนิกาย มีจำนวน ๑๕๒ สูตร มีมูลปริยายสูตรเป็นต้น สังยุตตนิกาย มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร มีโอฆตรณสูตรเป็นต้น อังคุตรนิกายมีจำนวน ๙,๕๕๐ สูตร มีจิตตปริยาทานสูตรเป็นต้น ขุททกนิกายมี ๑๕ ประเภทคือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถระคาถา เถรีคาถา ชาดก นิทเทส ปฏิสัมภิทา อปทาน พุทธวงศ์ และจริยาปิฎก.

ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์อังคุตรนิกายนั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้สังคายนาบาลีพระอภิธรรม ซึ่งเป็นอารมณ์ของญาณอันสุขุม อันบัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญแล้วอย่างนี้ แล้วกล่าวว่า ปิฎกนี้ชื่อ อภิธรรมปิฎก พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ได้ทำคณะสาธยาย แผ่นดินได้ไหวตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล,

ต่อจากการสังคายนาพระอภิธรรมปิฎกนั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้สังคายนาพระบาลี คือ ชาดก นิทเทส ปฏิสัมภิทามรรค อปทาน สุตตนิบาต ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา พระฑีฆภาณกาจารย์กล่าวว่า ประชุมคัมภีร์นี้ชื่อว่า ขุททกคันถะ และกล่าวว่า พระธรรมสังคาหกเถระ ยกสังคายนาในอภิธรรมปิฎกเหมือนกัน.

ส่วนพระมัชฌิมภาณกาจารย์กล่าวว่า ขุททกคันถะทั้งหมดนี้กับจริยาปิฎกและพุทธวงศ์ นับเนื่องในสุตตันตปิฎก.

พระพุทธพจน์แม้ทั้งหมดนี้ พึงทราบว่ามี ๑ คือ รส มี ๒ คือธรรมและวินัย มี ๓ คือปฐมพจน์ มัชฌิมพจน์ และปัจฉิมพจน์ มี ๓ ด้วยอำนาจแห่งปิฎก มี ๕ ด้วยอำนาจแห่งนิกาย มี ๙ ด้วยอำนาจแห่งองค์ มี ๘๔,๐๐๐ ด้วยอำนาจธรรมขันธ์ ด้วยประการฉะนี้.

พระพุทธพจน์มี ๑ คือรส นับอย่างไร?

จริงอยู่คำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมแล้ว ทรงสั่งสอนเทวดา มนุษย์ นาค และยักษ์เป็นต้นก็ดี ทรงพิจารณาอยู่ก็ดี ตลอดเวลา ๔๕ ปี ในระหว่างนี้ตราบเท่าเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตรัสไว้ คำทั้งหมดนั้นมีรสเดียวคือ วิมุตติรส นั่นแล พระพุทธพจน์มี ๑ คือ รส นับอย่างนี้.

พระพุทธพจน์มี ๒ คือธรรมและวินัยนับอย่างไร?

จริงอยู่พระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้ ย่อมนับว่าธรรมและวินัย ในธรรมและวินัยนั้นวินัยปิฎกชื่อว่า วินัย พระพุทธพจน์ที่เหลือชื่อว่า ธรรม.

เพราะเหตุนั้นแล พระมหากัสสปะจึงกล่าวว่า อย่ากระนั้นเลยเราทั้งหลายพึงสังคายนาพระธรรมและวินัย และกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะถามวินัยกะพระอุบาลี จะถามธรรมกะพระอานนท์ พระพุทธพจน์มี ๒ คือพระธรรมและวินัย นับอย่างนี้.

พระพุทธพจน์มี ๓ คือปฐมพจน์ มัชฌิมพจน์ และปัจฉิมพจน์นับอย่างไร?

จริงอยู่ พระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้มี ๓ ประเภท คือ ปฐมพจน์ มัชฌิมพจน์ ปัจฉิมพจน์ ใน ๓ ประเภทนี้ ปฐมพจน์ได้แก่พุทธพจน์นี้คือ

“อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ

คหการํ คเวสนฺโต  ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ

คหการก ทิฏโฐสิ   ปุนเคหํ น กาหสิ

สัพฺพา เต ผาสุกา ภัคฺคา  คหกูฏํ วิสงฺขตํ

วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ   ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา”

 เราแสวงหาช่างผู้ทำเรือนคืออัตภาพ เมื่อไม่พบ ได้ท่องเที่ยวไปแล้ว สิ้นสงสารนับด้วยชาติมิใช่น้อย ความเกิดบ่อยๆเป็นทุกข์ ดูก่อนช่างผู้ทำเรือนคืออัตภาพ เราพบท่านแล้ว ท่านจะทำเรือนคืออัตภาพของเราอีกไม่ได้ โครงบ้านของท่านทั้งหมด เราทำลายแล้วยอดแห่งเรือนคืออวิชชา เรารื้อแล้ว จิตของเราถึงพระนิพพานแล้ว เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้ว.

อาจารย์บางพวกกล่าวอุทานคาถาในคัมภีร์ขันธกะ มีคำว่า “ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา” ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ ดังนี้เป็นต้น ว่าเป็นปฐมพจน์ ก็อุทานคาถานี้พึงทราบว่า เป็นอุทานคาถาที่บังเกิดแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงพิจารณาอยู่ซึ่งปัจจยาการ ด้วยพระญาณที่สำเร็จด้วยโสมนัสเวทนาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ก็คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในเวลาใกล้เสด็จปรินิพพานว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังสัมมาปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ดังนี้ เป็นปัจฉิมพจน์”.

คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสระหว่างปฐมพจน์และปัจฉิมพจน์ ได้ชื่อว่า มัชฌิมพจน์ พระพุทธพจน์ ๓ ประเภทคือ ปฐมพจน์ มัชฌิมพจน์ ปัจฉิมพจน์ นับอย่างนี้.

พุทธพจน์มี ๓ ด้วยอำนาจแห่งปิฎกนับอย่างไร?

จริงอยู่ พระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้มี ๓ ประเภท คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก ใน ๓ ปิฎกนั้น พระพุทธพจน์นี้คือ ปาติโมกข์ทั้ง ๒ วิภังค์ ขันธกะ ๘๒ ปริวาร ๑๖ ชื่อวินัยปิฎก เพราะรวมพระพุทธพจน์ทั้งหมดที่สังคายนาในครั้งปฐมสังคายนา และที่ทำสังคายนาต่อมา.

พระพุทธพจน์ที่ชื่อว่าสุตตันตปิฎก ได้แก่พุทธพจน์ต่อไปนี้คือ ทีฆนิกาย มีจำนวน ๓๔ สูตร มีพรหมชาลสูตรเป็นต้น มัชฌิมนิกาย มีจำนวน ๑๕๒ สูตร มีมูลปริยายสูตรเป็นต้น สังยุตตนิกาย มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร มีโอฆตรณสูตรเป็นต้น อังคุตรนิกายมีจำนวน ๙,๕๕๐ สูตร มีจิตตปริยาทานสูตรเป็นต้น ขุททกนิกายมี ๑๕ ประเภทคือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถระคาถา เถรีคาถา ชาดก นิทเทส ปฏิสัมภิทา อปทาน พุทธวงศ์ และจริยาปิฎก.

จบตอนนี้ท่านกล่าวการสังคายนาพระอภิธรรมและต่อด้วยการนับพระพุทธพจน์ ว่านับอย่างไร ทำให้เห็นภาพรวมแต่ละปิฎกคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์โดยย่อและพิสดาร พระธรรมสังคาหกเถระได้เรียบเรียงไว้อย่างยอดเยี่ยม

ถ้าอ่านในพระไตรปิฎกจริงๆแล้วอยากบอกว่าพิสดารกว่านี้มาก เหมือนชมดอกไม้ สวนจิตรดาของพระอินทร์อย่างไร อย่างนั้นดอกไม้คือพระธรรมของพุทธองค์มีให้เลือกชมไม่รู้เบื่อเลย.

วันนี้เป็นวันพระด้วยครับท่านที่รักทั้งหลายอย่าลืมสวดมนต์เจริญภาวนาเผื่อความไม่ประมาทด้วยกันทุกท่าน

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังสัมมาปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”ฯฯฯฯ

หมายเลขบันทึก: 334604เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2010 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สาธุค่ะ
  • พระพุทธพจน์มีรสเดียวคือ วิมุติรส
  • พระพุทธพจน์มีสองคือ ธรรมกับวินัย
  • อ่านแล้วเข้าใจชัดเจนดีค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาอ่านบันทึกดี ๆ ให้ข้อคิดมากมาย   
  • ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ ที่นำมาแบ่งปันกันค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณค่ะที่อุตสาหะ จัดนำธรรมะมาแบ่งปันกัน

คุณครูธรรมทิพย์ก็มาขอบพระคุณครับ ความจริงตามที่ผมสัมผัสมาคุณครูที่สนใจทางศาสนาจริงๆนั้นหายากเหมือนกันครับ แต่พอเข้ามาสัมผัสในโกทูโน สมาชิกหลายท่านที่เป็นคุณครูแต่ละท่านสนใจด้านศาสนาทั้งนั้นเลย บันทึกของคุณธรรมทิพย์เป็นที่ชอบใจของผมเหมือนกันแต่ไม่ค่อยได้ ทักทาย

ผมเข้าไปดูบันทึกของคุณบุษรา ขอบพระคุณครับที่ได้รู้จักถือว่าเป็นโชค วาสนาของผมเลยที่เดียวที่มีกัลยาณมิตรที่ดีดีทุกๆท่าน เป็นบุญกุศลที่ได้รู้จักทุกๆท่านครับ

สำหรับคุณณัฐนี่เป็นคนที่ผมรู้จักมากที่สุดก็ว่าได้ แต่ยังไม่เคยเห็นตัวจริง ไม่เป็นไรครับถือว่าผมเป็นลูกศิษย์ในสายธรรมธาราของท่านคงได้นะครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท