คำคล้องจอง คือ คำที่มีเสียงสระเดียวกัน และถ้ามีตัวสะกดจะต้องอยู่ในมาตราเดียวกัน คำคล้องจองในบทประพันธ์ร้อยกรอง เรียกว่า สัมผัส (สันต์ สุวทันพรกูล, ม.ป.ป. : 41)
ความเป็นมาและความสำคัญของคำคล้องจอง
คำคล้องจองเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของภาษาไทย คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ดังนั้น การใช้คำคล้องจองกันในภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก และการที่เราคุ้นเคยกับคำคล้องจองนี่เองอาจเป็นสาเหตุทำให้เราไม่เห็นความสำคัญ หรือไม่เห็นว่าเป็นลักษณะพิเศษในภาษาไทย ซึ่งที่จริงเป็นลักษณะพิเศษทีเดียว เพราะในภาษาอื่นไม่มี จะมีก็เป็นคำประพันธ์ไปเลย ไม่ใช่ภาษาที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวัน คำคล้องจองก็พัฒนามาจากคำซ้อนนั้นเอง เช่น คำซ้อนที่ใช้สระและตัวสะกดเหมือนกัน เช่น เงียบเชียบ รอบคอบ หรือคำซ้อนที่ใช้พยัญชนะต้นเหมือนกัน เช่น เคว้งคว้าง ต่ำต้อย ดังนั้น จึงไม่ยากเลยที่จะพัฒนาคำซ้อนเหล่านี้ให้เป็นคำคล้องจองกัน หรือพูดอีกนัยหนึ่งคำคล้องจองกันก็คือคำซ้อนที่มีคำมากว่า 2 คำขึ้นไปนั้นเอง
ลักษณะของคำคล้องจอง
คำคล้องจองเกี่ยวข้องกับคำสัมผัส โดยที่คำสัมผัสมี 2 ลักษณะดังนี้
1. สัมผัสสระ มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะดังนี้
1.1 สัมผัสสระที่มีสระคล้องจองกัน เพราะใช้สระเสียงเดียวกัน เช่น ใบ-ใส
ป่า-กา นะ-คะ จะเห็นว่าเป็นคำที่มีเสียงสระคล้องจองกัน เพราะใช้สระเสียงเดียวกันในมาตราแม่ ก.กา
1.2 สัมผัสสระที่มีเสียงสระคล้องจองกัน เพราะใช้เสียงสระและตัวสะกดมาตราเดียวกัน เช่น กาล-บ้าน จริง-นิ่ง กฎ-บท
2. สัมผัสอักษร มีลักษณะดังนี้
คล้องจองกันด้วยพยัญชนะต้นเป็นพยัญชนะตัวเดียวกัน เช่น ห่าง-เหิน จันทร์-เจ้า ความ-ควาน อยาก-อยู่ หมอ-เหมือน หรือคล้องจองค้วยพยัญชนะต้นมีเสียงเดียวกัน เช่น ซึ้ง-สุข เพราะ ช เป็นอักษรคู่ของ ส หรือ ทับ-ถึง เพราะ ท เป็นอักษรคู่ ของ ถ หรือ เย็น-หยาด เป็นสัมผัสอักษรระหว่าง ย กับ หย
การสัมผัสมี 2 ประเภท คือ
1. สัมผัสนอกหรือสัมผัสบังคับ ไม่มีไม่ได้ เพราะถูกฉันทลักษณ์บังคับให้มีตามกำหนดไว้ที่เรียกว่าสัมผัสนอกก็เพราะเป็นสัมผัสนอกวรรค หรือสัมผัสระหว่างวรรค สัมผัสนอกจะเป็นสัมผัสสระ
2. สัมผัสใน หมายถึง สัมผัสที่คล้องจองกันในวรรคเดียวกัน เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับดังนั้นจึงไม่มีก็ได้ไม่ถือว่าผิด แต่สัมผัสในนี้เองที่ทำให้กลอนมีความงาม ความไพเราะรื่นหูเพิ่มขึ้นถือว่าเป็นความสามารถพิเศษในการเขียน เพราะเป็นสัมผัสไม่บังคับ ถ้าสัมผัสนอกสร้างรูปร่างลักษณะให้แก่คำประพันธ์แล้ว สัมผัสในก็สร้างความมีชีวิตให้ สัมผัสในมีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร
คำคล้องจอง หมายถึง คำที่มีเสียงสัมผัสสระ ทำให้ง่ายต่อการออกเสียง ง่ายต่อการจดจำและหากนำมาเรียงเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ก็จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ติดตามอ่าน เด็กๆ ในระดับประถมศึกษาจะชอบอ่านข้อความที่มีเสียงคล้องจองกันมาก นอกจากนี้ การฝึกเขียนคำคล้องจองยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเขียนหรือแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองต่างๆ ต่อไปในอนาคตด้วยสำหรับคำคล้องจองมีหลายชนิด มีทั้งคำคล้องจองที่มี 2 คำ 3 คำ และ 4 คำ
คำคล้องจองที่มี 2 พยางค์ คือ กลุ่มคำที่มีคำกลุ่มละ 2 พยางค์ และมีเสียงคล้องจองกันระหว่างกลุ่ม โดยพยางค์ท้ายของกลุ่มคำหน้าสัมผัสกับพยางค์แรกของกลุ่มคำหลังเรื่อยไป
คำคล้องจองที่มี 3 พยางค์ คือ กลุ่มคำที่มีคำกลุ่มละ 3 พยางค์ และมีเสียงคล้องจองกันระหว่างกลุ่ม โดยพยางค์ท้ายของกลุ่มคำหน้าสัมผัสกับพยางค์ที่ 1 หรือ 2 ของกลุ่มคำหลังเรื่อยไป
คำคล้องจองที่มี 4 พยางค์ คือ กลุ่มคำที่มีคำกลุ่มละ 4 พยางค์ และมีเสียงคล้องจองกันระหว่างกลุ่ม โดยพยางค์ท้ายของกลุ่มคำหน้าสัมผัสกับพยางค์ที่ 1 หรือ 2 ของกลุ่มคำหลังเรื่อยไป
คำคล้องจองสระ หมายถึง คำที่ใช้สระเหมือนกัน รูปวรรณยุกต์ และเสียงวรรณยุกต์ไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ต้องเป็นคำที่มีความหมาย เช่น จำ – นำ ห้า – ผ้า
คำคล้องจองสระและตัวสะกด คำที่ใช้สระและตัวสะกดเหมือนกัน รูปวรรณยุกต์และเสียงวรรณยุกต์ไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ต้องเป็นคำที่มีความหมาย เช่น ฉัน – กัน บาง - ช้าง
ตัวอย่าง คำคล้องจองที่มี 2 พยางค์ เช่น
โชคลาภ บาปบุญ คุณโทษ โกรธกัน
ชื่นชอบ ตอบแทน แฟนเพลง เก่งจัง
ตัวอย่าง คำคล้องจองที่มี 3 พยางค์ เช่น
ทำความดี มีความรู้ ชูเชิดเรา เอาใจใส่
ทำความดี มีน้ำใจ ไม่ย่อท้อ รอเวลา
ตัวอย่าง คำคล้องจองที่มี 4 พยางค์ เช่น
เจ้าแมวน่ารัก มันทักทายฉัน ทุกวันกินข้าว
นอนหาวปากอ้า ค่ำมาจับหนู ชอบขู่เสียงดัง
อ้างอิง
สันต์ สุวทันพรกูล. (ม.ป.ป.). หลักและการใช้ภาษาไทย ระดับประถมศึกษา (ป.1 -
ป.6). กรุงเทพฯ : พีบีซี.
คำสำคัญ (Tags)#คำคล้องจอง#คล้องจอง#ความหมายของคำคล้องจอง#ที่มาและความสำคัญของคำคล้องจอง#ประเภทของคำคล้องจอง
หมายเลขบันทึก: 333900, เขียน: 04 Feb 2010 @ 20:53 (), แก้ไข: 11 Dec 2012 @ 13:36 (), สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน, ดอกไม้: 1, ความเห็น: 51, อ่าน: คลิก
เก่งมาก นำคำคล้องจองมาแต่งเป็นเพลงดูได้จาก หัวข้อบันเทิง"ดอกรัก ดอนตรอ" นะครับ