โลกาภิวัฒน์มักจะปรับกระบวนทัศน์คนด้วยข่าวสาร


คนที่นำข่าวสาร นำเทคโนโลยีเข้าหมู่บ้านมักจะมองเหมือนเทวดา แต่ที่แท้จริงเป็นซาตานที่หยิบยื่นความทุกข์ทรมานแก่จิตใจ

โลกาภิวัฒน์มักจะปรับกระบวนทัศน์คนด้วยข่าวสาร (Information) และข่าวสารก็มักจะปนเปื้อนด้วยผลประโยชน์ของผู้ส่งสาร
ประเทศใดที่ถูกจัดว่าด้อยพัฒนา คนในประเทศนั้นจะบริโภคข่าวสารน้อย
ภูมิปัญญาท้องถิ่นในประเทศด้อยพัฒนาย่อมถูกปนเปื้อนน้อย
ภูมิปัญญาท้องถิ่นคือ ปัญญาที่มีภูมิเหมาะสมกับท้องถิ่น
เมื่อความรู้อันปนเปื้อนที่มาในรูปของข่าวสารนั้นเข้ามาได้น้อย หรือเข้ามาไม่ได้ วิถีชีวิตในท้องถิ่นนั้นก็จะสบาย ๆ สไตล์ “ธรรมชาติ”

แต่เมื่อใดที่รู้มาก ก็มักเริ่มมองตัวเองไม่ดี หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการเกิดเปรียบเทียบ
เมื่อมีคนอื่นให้มองก็อยากเป็นเหมือนคนอื่นเขา สิ่งที่เราเคยมี เคยดีอยู่ ก็กลายเป็นไม่ดี ไม่มี ไม่ “เพียงพอ”

ครั้นอยากดีอย่างเขาก็ต้องพึ่งพาความรู้เขา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ก็จะหลั่งไหลตามมาในภาษา “โลกาภิวัฒน์ (Globalization) ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็จะถูกประเมินว่าโง่ ล้าสมัย ล้าหลัง เต่าล้านปี

คนในท้องถิ่นจะถูกกล่อมด้วยข่าวสารที่มาในรูปของสื่อสารมวลชน
คนที่นำข่าวสาร นำเทคโนโลยีเข้าสู่ท้องถิ่นมักจะมองเหมือนเทวดา แต่ที่แท้จริงเป็นซาตานที่หยิบยื่นความทุกข์ทรมานแก่จิตใจ

เครื่องมือที่จะใช้ต่อสู้กับการขยายตัวของข่าวสารในยุคโลกาภิวัฒน์นี้คือ “ศาสนา”
ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ ถ้าหากเข้มแข็ง มีเหตุ มีผล และสามารถรักษาศรัทธาให้กับคนในชุมชนหรือท้องถิ่นได้ คนกลุ่มนั้นก็จะรู้จักใช้ปัญญาที่สามารถคัดกรองและใช้งานข่าวสารได้อย่างเหมาะสม

ที่จริงแล้วโลกาภิวัฒน์เอย ข่าวสารเอย เขาก็เป็นเพียงกระแสที่ลอยลมไป ลอยลมมา แต่จิตใจของคนที่อ่อนแอและมักอ่อนไหวอันขาดหลักที่พึ่งอันแท้จริงของจิตใจก็มักหลงไหลไปตามกระแสลมที่ผ่านพัดมา

ศาสนาทำให้เกิดภูมิคุ้มกันของชีวิต
ศาสนานำพาความศรัทธาที่สามารถปกป้องสังคม

แต่นั่นก็เถอะ โลกาภิวัฒน์ก็มักจะนำลัทธิ ความเชื่อมาสร้างศาสนาใหม่ ๆ ให้กับสังคม
ลัทธิทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย เมื่อคนเราเริ่มคิดว่าตนเองมีอิสระ เสรีภาพทางด้านความเชื่อก็มักจะต้องเปลี่ยนแปลงไป
ความเชื่อเดิม ๆ จะเชื่อต่อไปอีกไม่ได้ เพราะโลกาภิวัฒน์เขาเป็นของใหม่ ความเชื่อ ศรัทธาและศาสนาก็ต้อง “ใหม่” ตามไปด้วย

อะไร ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องแก้ไข
ของเดิม เก่า ล้าหลัง
ค่านิยมต่าง ๆ ก็มาพร้อมกับเทคโนโลยีของข่าวสาร (Information systems)
สงครามในยุคโลกาภิวัฒน์คือสงครามแห่งข่าวสาร อันเป็นสงครามที่จะสร้าง “มวลชน”
มวลชนที่มั่นคงในศาสนาก็จะถูกตราหน้าว่าล้าหลัง
มวลชนที่ง่อนแง่นก็จะถูกเชิดชูว่าเข้ากระแสแห่งการพัฒนาและถูกตราว่าเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การ “ภิวัฒน์”

เมื่อศาสนาอันเป็นรากฐานแห่งจิตใจถูกทำลาย ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ตายทั้งยืนต้น
ต้นไม้ที่เหลืองแต่เนื้อไม้ กิ่งใบและรากจริงนั้นต้องกลับเพราะสูญสลายด้วยยาพิษที่ดูดซึมเข้าสู่หัวใจ
เนื้อไม้สักก็จะถูกแต่งแต้มด้วยกาฝากและวัชพืช
ความสวยงามของต้นเดิมมีคุณค่าในแง่ของเอกลักษณ์ แต่ถูกเสริมเติมแต่งด้วยดอกไม้และอันเป็นผลผลิตจากโลกาภิวัฒน์ ที่ถูกเร่งรัดออกมาจากห้องทดลอง

หมายเลขบันทึก: 333664เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2010 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โลกาภิวัฒน์เป็นหลุมพรางแห่งความรู้

เรามักถูกสื่อให้เชื่อว่าความรู้ใหม่นั้นดี และความรู้เก่านั้นไม่ดี

ดังนั้นเมื่อเราต้องการการเปลี่ยนแปลง เราจึงต้อง Reject ความรู้เก่าออกไป ค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมเก่า ๆ ระบบวิถีชีวิตที่พึ่งตนเอง จะถูกลบ ถูกล้าง ถูกทำลายไปด้วยคำว่า "พัฒนา (Development)"

ระบบที่สมบูรณ์ "สมดุล" ก็จะค่อย ๆ ง่อนแง่น คลอนแคลน

ชีวิตที่เคยสงบจึง "วุ่นวาย"

ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกก็จะกลายเป็นประชาธิปไตย ซึ่งนิยามง่าย ๆ ได้ว่าเป็นระบบ "พวกมากลากไป"

พวกมากมักลากเราเข้าไปหาระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก (Core Economics) ซึ่งเน้นการผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Production) ผลิตเพื่อขาย ผลิตเพื่อสร้างความร่ำรวย ผลิตเพื่อ "เงิน"

จากเดิมที่มีครอบครัวเป็นสื่อกลาง ความสุขเป็นสื่อกลาง ความสงบเป็นสื่อกลางในการที่เราจะแลกเปลี่ยนผลิตผลส่วนเกินที่ครอบครัว ท้องถิ่น ชุมชน สังคมของเราที่ผลิตได้นั้นแก่บุคคลรอบข้าง ก็ต้องเปลี่ยนสื่อกลางนั้นเป็น "เงิน" ซึ่งเงินนั้นก็ถูกสมมติให้เป็นวัตถุอันวิเศษที่สามารถซื้อได้ทุกสิ่งถึงแม้นด้วยความสุขอันเกิดจาก "ความสงบ"

เมื่อคนเริ่มใช้เงินเป็นสื่อกลาง ตัววัดซึ่งจะสามารถเปรียบเทียบความมากกว่า ความน้อยกว่าจึงสามารถทำได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเราและเขาได้มากขึ้นจึงสามารถวัดคนรวยและคนจนได้มากขึ้น

รายได้ต่อหัว ต่อคน ต่อปี ถูกนักเศรษฐศาสตร์คำนวณโดยใช้ค่าความเป็นไปได้ทางสถิติโดยสมมติว่ามีเส้นกลางที่วัดว่าใครรวย ใครจน ใครผ่าน ใครไม่ผ่าน ใครพ้น ใครตก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท