ถอดความสามัคคีเภทคำฉันท์ในบทเรียน (๒)


ถอดความสามัคคีเภทคำฉันท์ในบทเรียน (๒)

อุเปนทรวิเชียร ฉันท์ฯ

           ทิชงค์เจาะจงเจตน์                        กลห์เหตุยุยงเสริม

กระหน่ำและซ้ำเติม                                  นฤพัทธก่อการณ์

          ละครั้งระหว่างครา                          ทินวารนานนาน

เหมาะท่าทิชาจารย์                                  ธก็เชิญเสด็จไป

          บห่อนจะมีสา                                  รฤหาประโยชน์ไร

 กระนั้นเสมอนัย                                       เสาะแสดงธแสร้งถาม

         และบ้างก็พูดว่า                               น่ะแน่ะข้าสดับตาม

ยุบลระบิลความ                                        พจแจ้งกระจายมา

         ละเมิดติเตียนท่าน                           ก็เพราะท่านสิแสนสา

รพัดทลิทภา                                             วและสุดจะขัดสน

         จะแน่มิแน่เหลือ                               พิเคราะห์เชื่อเพราะยากยล

ณที่บมีคน                                                 ธก็ควรขยายความ

         และบ้างก็กล่าวว่า                            น่ะแน่ะข้าจะขอถาม

เพราะทราบคดีตาม                                  วจลือระบือมา

          ติฉินเยาะหมิ่นท่าน                          ก็เพราะท่านสิแสนสา

รพันพิกลกา                                              ยพิลึกประหลาดเป็น

           จะจริงมิจริงเหลือ                           มนเชื่อเพราะไป่เห็น

ผิข้อบลำเค็ญ                                            ธก็ควรขยายความ

          กุมารองค์เสา                                  วนเค้าคดีตาม

กระทู้พระครูถาม                                       นยสุดจะสงสัย

          ก็คำมิควรการณ์                              คุรุท่านจะถามไย

ธซักเสาะสืบใคร                                        ระบุแจ้งกะอาจารย์

          ทวิชแถลงว่า                                    พระกุมารโน้นขาน

ยุบลกะตูกาล                                             เฉพาะอยู่กะกันสอง

          กุมารพระองค์นั้น                            ธมิทันจะไตร่ตรอง

ก็เชื่อณคำของ                                          พฤฒิครูและวู่วาม

พิโรธกุมารองค์                                    เหมาะเจาะจงพยายาม           

ยุครูเพราะเอาความ                                  บมิดีประเดตน

         ก็พ้อและต่อพิษ                                ทุรทิฐิมานจน

ลุโทสะสืบสน                                             ธิพิพาทเสมอมา

         และฝ่ายกุมารผู้                                ทิชครูมิเรียกหา

ก็แหนงประดารา                                       ชกุมารทิชงค์เชิญ

          พระราชบุตรลิจ                               ฉวิมิตรจิตเมิน

ณกันและกันเหิน                                       คณะห่างก็ต่างถือ

          ทะนงชนกตน                                  พลล้นเถลิงลือ

ก็หาญกระเหิมฮือ                                      มนฮึกบนึกขามฯ

ถอดความ อุเปนทรวิเชียร ฉันท์ฯ

                พราหมณ์เจตนาหาเหตุยุแหย่ซ้ำเติมอยู่เสมอ ๆ  แต่ละครั้ง แต่ละวัน นานนานครั้ง  เห็นโอกาสเหมาะก็จะเชิญพระกุมารเสด็จไปโดยไม่มีสารประโยชน์อันใด  แล้วก็แกล้งทูลถาม  บางครั้งก็พูดว่า นี่แน่ะข้าพระองค์ได้ยินข่าวเล่าลือกันทั่วไป  เขานินทาพระกุมารว่าพระองค์แสนจะยากจนและขัดสน  จะเป็นเช่นนั้นแน่หรือ  พิเคราะห์แล้วไม่น่าเชื่อ  ณ ที่นี้ไม่มีผู้ใด ขอให้ทรงเล่ามาเถิด  บางครั้งก็พูดว่าข้าพระองค์ขอทูลถามพระกุมาร  เพราะได้ยินเขาเล่าลือกันทั่วไปเยาะเย้ยดูหมิ่นท่าน  ว่าท่านนี้มีร่างกายผิดประหลาดต่าง ๆ นานาจะเป็นจริงหรือไม่  ใจไม่อยากเชื่อเลยเพราะไม่เห็น   ถ้าหากมีสิ่งใดที่ลำบากยากแค้นก็ตรัสมาเถิด

               พระกุมารได้ทรงฟังเรื่องที่พระอาจารย์ถามก็ตรัสถามกลับว่า  สงสัยเหลือเกินเรื่องไม่สมควรเช่นนี้ท่านอาจารย์จะถามทำไม  แล้วก็ซักไซ้ว่าใครเป็นผู้มาบอกกับอาจารย์  พราหมณ์ก็ตอบว่าพระกุมารพระองค์โน้นตรัสบอกเมื่ออยู่กันเพียงสองต่อสอง  กุมารพระองค์นั้นไม่ทันได้ไตร่ตรอง  ก็ทรงเชื่อในคำพูดของอาจารย์  ด้วยความวู่วามก็กริ้วพระกุมารที่ยุพระอาจารย์ใส่ความตน   จึงตัดพ้อต่อว่ากันขึ้น  เกิดความโกรธเคืองทะเลาะวิวาทกันอยู่เสมอ  ฝ่ายพระกุมารที่พราหมณ์ไม่เคยเรียกเข้าไปหาก็ไม่พอพระทัยพระกุมารที่พราหมณ์เชิญไปพบ  พระกุมารลิจฉวีหมางใจและเหินห่างกัน  ต่างองค์ทะนงว่าพระบิดาของตนมีอำนาจล้นเหลือ  จึงมีใจกำเริบไม่เกรงกลัวกัน

สัทธรา ฉันท์ฯ

        ลำดับนั้นวัสสการพราหมณ์               ธก็ยุศิษยตาม

แต่งอุบายงาม                                            ฉงนงำ

        ปวงโอรสลิจฉวีดำ                              ริณวิรุธก็สำ

คัญประดุจคำ                                             ธเสกสรร

       ไป่เหลือเลยสักพระองค์อัน                 มิละปิยะสหฉันท์

ขาดสมัครพันธ์                                           ก็อาดูร

         ต่างองค์นำความมิงามทูล                 พระชนกอดิศูร

แห่งธโดยมูล                                              ปวัตติ์ความ

         แตกร้าวก้าวร้ายก็ป้ายปาม                ลุวรบิดรลาม

ทีละน้อยตาม                                               ณเหตุผล

         ฟั่นเฝือเชื่อนัยดนัยตน                       นฤวิเคราะหเสาะสน

สืบจะหมองมล                                             เพราะหมายใด

         แท้ท่านวัสสการใน                              กษณะตริเหมาะไฉน

เสริมเสมอไป                                               สะดวกดาย

        หลายอย่างต่างกลธขวนขวาย             พจนยุปริยาย

วัญจโนบาย                                                  บเว้นครา

         ครั้นล่วงสามปีประมาณมา                  สหกรณประดา

ลิจฉวีรา                                                        ชทั้งหลาย

          สามัคคีธรรมทำลาย                           มิตรภิทนะกระจาย

สรรพเสื่อมหายน์                                          ก็เป็นไป

                ต่างองค์ทรงแคลงระแวงใน          พระราชหฤทยวิสัย

ผู้พิโรธใจ                                                      ระวังกันฯ

ถอดความ สัทธรา ฉันท์ฯ

          ในขณะนั้นวัสสการพราหมณ์ก็คอยยุลูกศิษย์  แต่งกลอุบายให้เกิดความแคลงใจ  พระโอรสกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายไตร่ตรองในอาการน่าสงสัยก็เข้าใจว่าเป็นจริงดังถ้อยคำที่อาจารย์ปั้นเรื่องขึ้น  ไม่มีเหลือเลยสักพระองค์เดียวที่จะมีความรักใคร่กลมเกลียว  ต่างขาดความสัมพันธ์ เกิดความเดือดร้อนใจ  แต่ละองค์นำเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้นไปทูลพระบิดาของตน  ความแตกแยกก็ค่อย ๆ ลุกลามไปสู่พระบิดา  เนื่องจากความหลงเชื่อโอรสของตน  ปราศจากการใคร่ครวญเกิดความผิดพ้องหมองใจกันขึ้น  ฝ่ายวัสสการพราหมณ์ครั้นเห็นโอกาสเหมาะสมก็คอยยุแหย่อย่างง่ายดาย  ทำกลอุบายต่าง ๆ พูดยุยงตามกลอุบายตลอดเวลา  เวลาผ่านไปประมาณ ๓ ปี  ความร่วมมือกันระหว่างกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายและความสามัคคีถูกทำลายลงสิ้น  ความเป็นมิตรแตกแยก ความเสื่อม ความหายนะก็บังเกิดขึ้น กษัตริย์ต่างองค์ระแวงแคลงใจ  มีความขุ่นเคืองใจซึ่งกันและกัน

หมายเลขบันทึก: 330832เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2010 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
  • สวัสดีค่ะ 
  • แวะมาทักทายและมาเป็นกำลังใจคนทำงานค่ะ สบายดีนะค่ะ
  • ขอให้มีความสุขกับสิ่งดี ๆ ในทุกวันค่ะ
  • สวัสดีค่ะ  P  คุณบุษรา
      ยินดีที่ได้พบกันอีกครั้ง  ขอบคุณมากค่ะสำหรับกำลังใจที่ให้มา  ช่วยให้คลายความเหนื่อยล้าลงได้  แต่ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยแทบตายก็ไม่เคยท้อ  ยังยืนยันจะเป็น จะทำ อย่างนี้เรื่อยไปค่ะ  ขอให้มีความสุขกับสิ่งดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิตเช่นกันค่ะ

    ขอบคุณมากค่ะ

    ขอบคุณมาก ๆๆๆๆๆๆน่ะค่ะ

    ขอบคุณมากๆค่ะ

    ขอบคุณมากครับสำหรับการถอดความ มันเป็นประโยชน์ต่อผมมากครับ

    tank you หลายๆ คับ ช่วยได้มากเลย

    สวัสดีค่ะ  สุนิสา  ตูน   ธิดารัตน์   นักเรียนไทย และ กด

       ยินดีต้อนรับสู่ "ศึกษาวรรณคดี  สามัคคีเภทคำฉันท์" ค่ะ 

     

    ขอบคุนมากๆเลยนะค่ะ ทันเวลาพอดี ทำเสดก้อส่งอาจารย์เลย

    ขอยคุณครับ อาจารย์ ทำทันพอดี

    ขอบคุณมากครับครู ^ ^

    ขอบคุณมากๆๆครับ ไม่งั้นผมเองก็จนปัญญาเหมือนกัน ขอบคุณครูแป้วมากครับ

    ขอบคุณมากนะคะ ช่วยได้มากเลยยย ขอบคุณมากๆค่ะ : )

    ขอบคุณมากครับ :)

    ขอบคุณมากๆๆๆ ครับผม ^____^


    ขอบคุณคุณครูมากๆเลยนะคะ น่ารักมากๆค่าาา

        ขอบคุนมากๆค่ะ  ที่ทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้อย่างถ่องแท้ และเรียนวรรณคดีได้อย่างมีความสุขและได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

    รบกวนช่วยถอดความบทนี้ให้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    พราหมณ์ครูรู้สังเกต ตระหนักเหตุถนัดครัน

    ราชาวัชชีสาร พจักสู่พินาศสม

    ยินดีบัดนี้กิจ จะสัมฤทธิ์มนารมณ์

    เริ่มมาด้วยปรากรม และอุตสหแห่งตน

    ขอบคุณมากนะคะ บทความมีประโยชน์มากๆเลย

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท