ประสบการณ์ของคุณอำนวยในโครงการ "Patho Otop"


ให้ความสำคัญกับทุกคนบนเวที
         วันนี้ ได้รับเชิญจากกองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานอธิการบดี ไปเล่าเรื่อง “โครงการ Patho Otop : กรณีศึกษา การบูรณาการการจัดการความรู้กับการพัฒนางานประจำ” ให้เวทีหัวหน้าภาควิชาฟัง เวทีนี้เป็นเวทีที่ 4 แล้ว แต่คราวนี้ ไม่ไปฉายเดี่ยว ได้พาผู้ร่วมก๊วนอีก 3 ท่าน (ผศ. พญ.เสาวรัตน์ เอื้อเพิ่มเกียรติ ในฐานะรอง หน.ภาคฝ่ายพัฒนา คุณชวดี นพรัตน์ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการ และผศ. ดร. อ.จำนงค์ นพรัตน์ในฐานะ “คุณอำนวย” ตัวฉกาจ บนเวทีนำเสนอ)  ไปร่วมเสวนาด้วย เพราะเชื่อว่าผู้เข้าฟังน่าจะได้ฟังประสบการณ์ในแง่มุมต่างๆ มากกว่าที่ไปคนเดียว และก็ได้เกินคาดจริงๆ

อ.เสาวรัตน์ เล่าประสบการณ์ว่า “ทำอย่างไร จึงมีบุคลากรมาสมัครทำโครงการถึง 22 ทีม”
ต้องใช้กลยุทธ์หลายอย่าง ทบทวนและปรับเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ จึงจะมีคนสมัครมากขนาดนี้  โดยในตอนแรกหลังจากได้ร่างโครงการแล้ว ก็เชิญผู้ที่คาดหมายว่าน่าจะเป็นพี่เลี้ยงโครงการได้ มาประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น  หลังจากนั้นก็ประกาศรับสมัครทีม โดยให้กรอกแบบสอบถามเป็นแนวในการพัฒนางาน แต่ก็ไม่มีผู้มาสมัคร จึงต้องเรียกประชุมชี้แจงพี่เลี้ยงอีกครั้งเพื่อให้ช่วยสื่อสาร รวมทั้งลดข้อกำหนดในการสมัครให้ง่ายที่สุด” อ.เสาวรัตน์สรุปในตอนท้ายว่าประเด็นแห่งความสำเร็จในครั้งนี้น่าจะได้แก่ 
         - Finding the right facilitator (พี่เลี้ยง)
         - การมีส่วนร่วมของพี่เลี้ยงตั้งแต่ต้น
         - สื่อสารหลายทาง
อ.จำนงค์  ซึ่งรับอาสาเป็นพิธีกรประจำเวทีการนำเสนอ และสามารถสร้างบรรยากาศคุ้นเคย อบอุ่น เป็นกันเอง และสนุกสนาน ทำให้มือใหม่ทุกทีมอยากมานำเสนอแลกเปลี่ยน  เล่าให้ฟังถึงวิธีที่ทำให้เกิดบรรยากาศอย่างนั้น (เท่าที่บันทึกได้)
“เล่าให้ฟังลำบากว่าทำอย่างไร จึงทำให้เกิดบรรยากาศแบบนั้น เพราะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง  ที่สำคัญต้องให้เขารู้สึกเป็นกันเอง  ให้เขารู้สึกเด่น  ให้ความสำคัญกับทุกคนบนเวทีที่ขึ้นมา  นอกจากนี้ก็เลียนแบบเกมส์โชว์ในโทรทัศน์ คือให้ทุกคนใน floor มีส่วนร่วม  ส่วนหนึ่งอาจเพราะรู้จักบุคลากรในภาคค่อนข้างมาก ไม่แน่ว่าจะสามารถทำให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ ในคนกลุ่มอื่น หรือในสถานการณ์อื่นได้หรือไม่ (ถ่อมตัวไปหรือเปล่า!)”
นอกจากนี้ อาจารย์จำนงค์เสริมว่า “ต้องพยายามให้เขาคิดโครงการเอง เป็นเจ้าของโครงการ จะทำให้เขาอยากทำ และต้องไม่ให้ระยะเวลาโครงการยาวเกินไป    จุดหนึ่งที่ดีคือการรับประทานอาหารร่วมกันของบุคลากร ทำให้เพิ่มความสัมพันธ์ในภาควิชา เหมือนเรารับประทานอาหารกันในครอบครัว”

ส่วนประสบการณ์ของคุณชวดี (พี่เม่ย) ทุกท่านสามารถติดตามได้เป็นระยะในชุมชน Smart Path แห่งนี้

หมายเลขบันทึก: 3308เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2005 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ท่านที่เป็น "คุณเอื้อ" ควรได้อ่านบันทึกของ อ. หมอปารมี    จะได้เคล็ดลับดีๆ มากมาย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท