พราหมณ์ : การแบ่งยุคทางศาสนาพราหมณ์ยุคมหากาพย์และทัศนะทั้ง ๖ และ ยุคใหม่จนถึงปัจจุบัน (ตอนที่ ๒/๒)


การแบ่งยุคทางศาสนาพราหมณ์ (ตอนที่ ๒/๒)

ยุคมหากาพย์และทัศนะทั้ง ๖

                ประมาณ ๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. ๒๐๐  ถือเป็นยุคสำคัญของศาสนาพราหมณ์เพราะเกิดศาสนาคู่แข่งเพิ่มขึ้น คือศาสนาพุทธ และศาสนาเชน และมีแนวโน้มว่าจะเป็นที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ   โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่มีคำสอนต่างกันเกือบจะคนละขั้ว คือไม่เชื่อเรื่องเทพเจ้าและไม่ยอมรับระบบวรรณะ

                เมื่อศาสนาพุทธเจริญขึ้น คำสอนในข้อที่ว่า กรรมเป็นผลจากการกระทำ ไม่ได้เกิดจากการดลบันดาลของเทพเจ้า ศาสนาพุทธมุ่งสอนให้ผู้คนไป่สู่ปรินิพพานคือหลุดพ้นจากการเวียน ว่าย ตาย เกิด นั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองไม่ใช้อำนาจของเทพเจ้า ศาสนาพราหมณ์มุ่งปฏิบัติด้วยความสุดโต่ง ศาสนาพุทธปฏิบัติตามทางสายกลาง ศาสนาพราหมณ์เชื่อเรื่องการบูชายัญ ศาสนาพุทธไม่เชื่อเรื่องการบูชายัญ ไม่เชื่อเรื่องการติดต่อติดสินบนเทพเจ้า ฯลฯ คำสอนเหล่านี้มีส่วนสำคัญทำให้ประชนชน โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่พอใจต่อพราหมณ์ที่เรียกร้องค่าประกอบพิธีกรรมติดต่อกับเทพเจ้าเป็นจำนวนเงินที่สูง และคนที่ไม่พอใจกับการกดขี่ของระบบวรรณะเริ่มเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น ส่งผลให้พราหมณ์ผู้ที่อ้างตนว่าติดต่อกับเทพเจ้าได้ลดความสำคัญลง แม้แต่พราหมณ์ในราชสำนักก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเช่นแต่ก่อน โดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์มีความศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างยิ่ง ดังปรากฏ ในพุทธศตวรรษที่ ๓ พระองศ์ทรงให้มีทำการสังคยานาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ และได้ส่งสมณะทูตไปเผยแพร่พุทธศาสนาถึง ๙ เส้นทาง นับว่าเป็นสมัยที่ศาสนาพุทธมีความเจริญสูงสุดในอินเดีย  เมื่อเป็นดังนี้ศาสนาพราหมณ์จึงต้องมีการพัฒนารูปแบบให้ดีขึ้นเพื่อให้สามารถต่อสู้กับศาสนาใหม่ที่กำลังมาแรงได้

                ในยุคมหากาพย์และทัศนะทั้ง ๖ นี้ เกิดคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ที่สำคัญเกิดขึ้น ๒ เรื่องคือ

                มหากาพย์ภารตะ เป็นบทกวีขนาดยาว  ว่าด้วยเรื่องราวสงครามระหว่างกษัตริย์เการพ (เการพ) กับกษัตริย์ปาณฑพ (ปาณฑวะ) ทั้งสองเป็นญาติกัน ณ ทุ่งกุรุเกษตร  และยังได้กล่าวถึงอาวตานทั้ง ๘ ของพระนารายณ์ คือพระกฤษณะ ทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึก และสอนปรัชญาทางศาสนาให้พระอรชุน ข้อความในบรรพที่ ๖ ของมหากาพย์ภารตะคือคัมภีร์ภควคีตา (บทเพลงแห่งภควคีตา) ถือว่าเป็นหัวใจของมหากาพย์และปรัชญาในยุคนี้ มหากาพย์ภารตะคือสงครามกลางเมืองคือสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นประมาณศตวรรษที่ ๑๔ ก่อนคริสตกาล เป็นสงครามเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในอินเดียภาคเหนือ เรื่องราวของสงครามกลางเมืองนี้ได้เกิดขึ้นภายหลังการประพันธ์มหากาพย์ภารตะในครั้งแรก นักประพันธ์ได้เพิ่มเติมเข้าไปในภายหลัง (ยวาหระลาล เนห์รู, ๒๕๔๘ : ๒๑๒)

                มหากาพย์รามยณะ เป็นบทกวีที่ว่าด้วยอวตารที่ ๗ ของพระนารายณ์เพื่อปราบปามอสูรราวณะ หรือทศกัณฐ์ มหากาพย์รามยณะแท้จริงนั้นคือ เรื่องราวของการขยายอำนาจของชนชาติอารยันลงสู่ภาคใต้ของอินเดียนั่นเอง (ยวาหระลาล เนห์รู, ๒๕๔๘ : ๒๑๒)

                มหากาพย์ทั้งสองนี้ถือว่าเป็นการยกย้องอำนาจกษัตริย์ เพราะพระนารายณ์ถือเป็นเทพตัวแทนแห่งกษัตริย์  มหากาพย์ทั้งสองเป็นการอวตารของพระนารายณ์ลงมาเป็นกษัตริย์ ดังนั้นยุคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่ายุค เอปิค เป็นยุควรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์อันเป็นที่รัก เป็นวีรบุรุษ (ชาญมิตต์ นาคเกิด, ๒๕๔๑ : ๔)

                มหากาพย์ทั้งสองเป็นการยอมรับอำนาจของเทพเจ้า ยกย่องอำนาจของเทพเจ้าให้สูงส่ง เริ่มรวบรวมพระเจ้าให้มีเทพเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว เช่นพระนารายณ์อาวตารเป็นพระเจ้าองค์ต่าง ๆ ถึง ๑๐ ปาง อีกทั้งยังได้ควบรวมพระพุทธเจ้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาวตารของพระนารายณ์ด้วย สิ่งนี้ถือว่าเป็นพัฒนาการของศาสนาพราหมณ์ครั้งสำคัญเพื่อให้สามารถต่อสู้กับศาสนาพุทธ เพื่อเรียกความศรัทธาของประชาให้หันกลับมานับถือศาสนาพราหมณ์ 

                ทัศนะทั้ง ๖ หรือ ปรัชญา ๖ มีหลักปรัชญาในการดำรงชีวิตตามวิถีของชาวฮินดู มีหลักดังนี้

                นยาน (นยาย) โดยฤๅษีโคตรมะว่าด้วยการค้นหาความจริงวิธีอันเหมาะสมด้วยการวิเคราะห์อนุมานตามเหตุผลเปรียบเทียบเป็นขั้นตอน จึงมีผู้เรียกลัทธินี้ว่า “ตรรกลัทธิ”

                ไวศเศษิกะ โดยฤๅษีกนาทะ ว่าด้วยการเกิดของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มีความแตกต่างกัน โดยสอนให้วิจารณ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติ ความรู้แจ้ง หรือการเข้าถึงข้อเท็จจริงดังกล่า คือทางแห่งการหลุดพ้น (โมกษะ) เป็นอภิปรัชญา

                สาขยะ โดยฤๅษีปิละ ว่าด้วยการยกย้องสิ่งที่เป็นความจริงแท้มากล่าวถึง ๒๕ ประการ  แล้วสรุปลงเป็นสองประเภทใหญ่ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันคือ “บุรุษ” (อาตมันหรือวิญญาณสากล) กับ “ปรกติ” (ต้นเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งทั้งหลายทั้งปวง) อีกทั้งยังอธิบายเกี่ยวกับชีวิต การเวียนว่ายตายเกิดและทุกข์ไว้ด้วย

                โยคะ โดยฤๅษีปตัญชาลี มุ่งที่การฝึกจิตให้อยู่ในวินัยอันดี เป็นการรวมอาตมัน (วิญญาณย่อย) เข้าสู่ปรมาตมัน (วิญญาณใหญ่ หรือวิญญาณที่รวมอาตมัน)

                ปูรวมมิมางสา หรือกรรมมิมางสา โดยฤๅษีไชมินี เน้นพิจารณาสอบสวนพระเวทตอนต้นโดยเฉพาะในเรื่องกรรม โดยจำแนก ผงของกรรมไว้ ๒ ประเภทคือ ผลจากภายนอก เน้นผลทางวัตถุ  เป็นผลอย่างหยาบไม่ยั่งยืน ผลภายใน ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา แต่สามารถแสดงออกมาเมื่อใดก็ได้ เป็นผลที่ละเอียดและเป็นนิรันดร์

                เวทานตะ หรืออุตตรมิมางสา โดยฤๅษีวยาสหรือพาทรายณ์ เป็นการพิจารณาพระเวทตอนปลาย คือคัมภีร์อุปนิษัท โดยเน้นความสำคัญของพราหมณ์และญาณ

                ตอนปลายของยุคนี้ได้เกิดสิ่งสำคัญที่สุดขึ้นมา และสามารถเจริญรุ่งเรื่องสืบมาได้จนถึงปัจจุบัน กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของทางศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นจุดแข็ง และบ่อเกิดทางพิธีกรรมทางศาสนายุคใหม่ที่สำคัญ สิ่งนั้นคือกำเนิดลัทธิใหม่ ๓ ลัทธิที่สำคัญคือ

              ๑. ลัทธิบูชาพระวิษณุ หรือไวษณพนิกาย  นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ในยุคมหากาพย์นี้ มหากาพย์ที่สำคัญทั้งสองที่กล่าวไป ล้านแต่ยกย้องพระนารายณ์ พระนารายณ์มีหน้าที่สำคัญคือปราบปราบเหล่าร้ายทั้งหลายโดยการอาวตาร (เกิดใหม่) เป็น ๑๐ ภาค (ทศอวตาร) อวตารที่สำคัญคืออวตาร ๙ เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า 

              ๒. ลัทธิบูชาพระศิวะ (พระอิศวร) หรือ ไศวนิกาย  เป็นลัทธิสำคัญของศาสนาพราหมณ์ นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ พวกไศวนิกายจะถือว่า พระศิวะมีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งในจักรวาล พระศิวะในรูปมนุษย์มี ๓ ตา ตาที่ ๓ อยู่ตรงกลางหน้าผาก เกล้าผมขึ้นเป็นขมวดมีพระจันทร์เสี้ยวประดับ นุ่งหนังเสือ หนังช้าง หนังกวาง และมีงูเป็นสร้อยสังวาล มีอาวุธประจำกายที่สำคัญคือตรีศูรย์ มีสัตว์พาหนะคือโคเผือกนามว่านนทิ ประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส บนเทือกเขาหิมาลัย เชื่อว่าพระศิวะเป็นเทพเจ้าองค์แรก ๆ เป็นเทพของชาวพื้นเมืองอินเดีย เพราะมีการขุดค้นพบแผ่นดินเผาแกะเป็นรูปบุรุษและวัวบริเวณเมืองโบราณโมเฮนจาดาโร – ฮารัปปาที่มีอายุกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีพิธีกรรมสำคัญมากมายในปัจจุบันนั้นเกี่ยวข้องกับพระศิวะ เช่น ศิวะราตรี, พิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย เป็นต้น

                ๓. ลัทธิบูชามเหสีของพระผู้เป็นเจ้า หรือศักติ ถือเป็นวิวัฒนาการมาจากการนับถือพระแม่ผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งทั้งปวง  การนับถือเทพีให้ทัดเทียมเทพบุรุษนั้น ปรากกฎมานานแล้วในกลุ่มชนพื้นเมืองชาวอินเดีย  ลัทธิศักติเชื่อว่า มีเพศชายก็ต้องมีหญิงเป็นของคู่กันสร้างความสมดุลให้แก่กัน เป็นอำนาจสนับสนุนชีวิตทั้งปวงให้คงอยู่ รวมถึงประคับประคองให้โลกอยู่ในภาวะสมดุล  เทพที่สำคัญที่สุดของลัทธิศักติ คือพระอุมา ซึ่งเป็นชายาคู่บารมีพระศิวะ  พระอุมาจะปรากฏเป็นปางต่าง ๆ เพื่อปราบอสูร เช่น ปามหิษาสุรมรรทินี ปราบอสูร มหิษะสุระ  ปางมหากลี เป็นปางดุร้ายผิวกายดำ เป็นต้น

ยุคใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน   

                ประมาณ ค.ศ. ๒๐๐ ถึงปัจจุบัน ลักษณะสำคัญของยุคนี้คือ มีเรื่องราวเกี่ยวกับเทพและเทพีโดยสืบต่อจากเรื่องที่มีในพระเวท และมุ่งแสวงหาอำนาจแท้จริงของจักรวาล (กนวลี สุริยะธรรม, ๒๕๔๑ : ๕)  ในยุคนี้มีแนวคิดเรื่องตรีมูรติ คือให้ความสำคัญของเทพเจ้าสูงสุดทั้งสามพระองค์โดยแยกหน้าที่ต่างกันคือ พระพรหมเป็นผู้ให้กำเนิด พระนารายณ์เป็นผู้ปกป้องรักษา พระศิวะเป็นผู้ทำลายเพื่อสร้างใหม่ มีการนำเทพเจ้าทั้งสามมารวมกันเป็นมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่เพียงองค์เดียวเรียกว่า ตรีมูรติ เป็นมหาเทพสูงสุดแห่งนิรันดร์ มีการกำหนดสัญลักษณ์ทางศาสนาคือตัวอักษรสามคำ มะ หมายถึงพระพรหม อะ หมายถึงพระนารายณ์ อุ หมายถึงพระศิวะ  เมื่อ มะ อะ อุ รวมกัน จะเรียกว่า “โอม” ดังนั้นโอมจึงเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ มักใช้ขึ้นต้นบทสวดมนต์ต่าง ๆ ของสาสนาพราหมณ์ เมื่อยุคสุดท้ายแห่งโลกมาถึงหรือกัป มหาเทพตรีมูรติจะถึงการสิ้นสุดดับสลายกลายเป็นอาจมัน เรียกว่า “เกวลาตมัน” 

                ลัทธิใหม่ที่เกิดในยุคปัจจุบัน มี ๓ ลัทธิใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ

                ๑. พราหมณ์สมาช คือสมาคมผู้บูชาพระพรหม ยกย่องพระพรหมให้เป็นใหญ่กว่าเทพทั้งหลาย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑

                ๒. อารยสมาช คือสมาคมของผู้เป็นอารยะ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ และ

                ๓. รามกฤษณะมิชชั่น คือคณะเผยแพร่ศาสนาของพระรามและพระกฤษณะ บูชาองค์อวตารให้มีความสำคัญเช่นเดียวกับลัทธิบูชามหาเทพและศักติต่าง ๆ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐  (กนวลี สุริยะธรรม, ๒๕๔๑ : ๖ - ๗)

                 กล่าวโดยสรุป ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาที่มีพัฒนาการอันยาวนานหลายพันปี จึงเป็นการยากในการศึกษาประวัติที่แน่นอนและยากแก่กำหนดได้ว่าผู้ใดคือศาสดา จนต้องถือว่าเป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดา จากการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง และไปสู่อีกหลาย ๆ รุ่น ทำให้เกิดการสั่งสมประสบการณ์ความรู้ เกิดเป็นคำสอน เกิดการบันทึกเป็นคำภีร์ แต่การถ่ายทอดจากหลายครูอาจาริยาหลายสำนัก ทำให้คำสั่งสอนของแต่ละสำนักต่างกัน ทำให้เนื้อหาในคำภีร์ รายละเอียดปลีกย่อยในการประกอบพิธีกรรม ความเชื่อในเทพเจ้าต่างกัน หรือแม้แต่ชื่อของศาสนาเองก็ยังเรียกต่างกันไปตามกาลเวลา ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เป็นศาสนาเก่าแก่ที่ยากแก่การศึกษาเรื่องราวให้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งกว่าศาสนาอื่น เนื่องจากเนื้อหาอันเป็นแก่นแท้ของลัทธิเกิดจากแนวคิดและมโนคติที่ลึกซึ้งและสูงยิ่ง

               มีวิวัฒนาการที่เกิดจากการผสมผสาน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองหลายซับหลายซ้อน จนยากแก่การจำแนกแจกแจงขั้นตอนให้เห็นเด่นชัด อีกทั้งเอกสาร (คัมภีร์ต่าง ๆ) อันเป็นหลักฐานสำคัญของศาสนานี้ แม้จะมีมากและมีมานานนับเวลาพันปีแต่ก็มิได้รับการเผยแพร่เพราะถูกสงวนไว้เป็นสมบัติส่วนตัวของพราหมณ์แต่ละตระกูล คงมีการถ่ายทอดให้แก่ทายาทผู้สืบเชื้อสายเท่านั้น อีกทั้งศาสนานี้ไม่มีศาสดาที่เป็นมนุษย์คำสอนทั้งปวงพราหมณ์อ้างว่าได้ยินได้ฟังมาจากเสียงสวรรค์ จากโอษฐ์ของพระเจ้าโดยตรง อย่างไรก็ตาม คำสอนอันเป็นแก่นแท้ของศาสนาพราหมณ์ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวท ก็เป็นพื้นฐานให้เกิดศาสนาอื่นที่สำคัญ ๆ หลายศาสนา เป็นหลักฐานที่สนใจศึกษากันในหมู่นักปรัชญาทั่วไปในสมัย  ส่วนสำคัญที่สุดของศาสนาพราหมณ์คือการมีหลักความเชื่อผูกติดอยู่กับปรากกฎการณ์ต่าง ๆ  ทางธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องสร้างเทพเจ้าต่าง ๆ ให้มีหน้าที่ตามธรรมชาตินั้น ๆ  การกระกอบพิธีกรรม เซ่นสรวงยัญญะ  ให้เทพเจ้าพึงพอใจจะได้ดลบันดาลให้ธรรมชาติเป็นไปตามที่ตนต้องการ และดลให้ตนมีความสุขสมปรารถนาในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับปัจจัย ๔ ความต้องการขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต ยิ่งกาลผ่านไปมากเท่าใด จำนวนเทพเจ้าและลัทธิบูชาเทพเจ้านั้น ๆ ก็เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น พิธีกรรมต่าง ๆ ก็สลับซับซ้อนและเพิ่มตามมากขึ้นเท่านั้น พิธีกรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตตั่งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ต้องแต่เกิดจนตาย และสอดแทรกอยู่ในทุก ๆ กิจกรรม ดังนั้นพิธีกรรมจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของศาสนา  จนกล่าวได้ว่า ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาแห่งพิธีกรรม

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

บรรณานุกรม

        กนกวลี สุริยะธรรม. “ร่องรอยหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖ที่พบในบริเวณชุมชนเมืองโบราณเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์.” รายงานการศึกษาเฉพาะบุคคล ศิลปะศาสตร์บัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี,  มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๔๑.

        ชาญมิตต์ นาคเกิด. “ร่องรอยหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่พบในบริเวณชุมชนเมืองโบราณเมืองศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี.” รายงานการศึกษาเฉพาะบุคคล ศิลปะศาสตร์บัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี,  มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๑.

       ยวาหระลาล เนห์รู. พบถิ่นอินเดีย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แม่คำผาง. ๒๕๔๘.

คำสำคัญ (Tags): #พราหมณ์
หมายเลขบันทึก: 330585เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2010 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท