คุณธรรมพื้นฐาน


คุณธรรม

กระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งรับผิดชอบด้านการพัฒนาคุณภาพคนในชาติโดยตรง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ โดยในปีการศึกษา 2550 กำหนดเป็นปีปฏิรูปการศึกษากับ 8 คุณธรรมพื้นฐานที่ควรปลูกฝังให้กับผู้เรียน (กระทรวงศึกษาธิการ 2548 : 3) การประกาศนโยบายเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา โดยยึดคุณธรรมนำความรู้ ใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุขโดย 8 คุณธรรมพื้นฐาน

โรงเรียนบ้านนาเกิดผล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา   ปีการศึกษา 2552 มีนักเรียนทั้งสิ้น 44 คน จัดการเรียนการสอน 2 ระดับคือ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา  ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนโดยนำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการมาสู่การพัฒนาคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการแก่นักเรียน  เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาตามแนวทางคุณธรรมนำความรู้สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีคุณภาพเป็นคนดีของสังคมต่อไป

คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ เป็นการนำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการมาสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนานักเรียน ให้มีคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการดังนี้

1.  ขยัน  หมายถึงความตั้งใจเพียรพยายาม  ทำหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่อง  สม่ำเสมอ  อดทน  ความขยันต้องปฏิบัติควบคู่กับการใช้สติปัญญาแก้ปัญหาจนเกิดผลสำเร็จ

           ผู้ที่มีความขยัน  หมายถึงผู้ที่ตั้งใจทำอย่างจริงจังต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควรเป็นคนสู้งานมีความพยายามไม่ท้อถอยกล้าเผชิญอุปสรรครักงานที่ทำตั้งใจทำอย่างจริงจัง

2.  ประหยัด  หมายถึงการรู้จักเก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของแต่พอควรพอประมาณให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ

           ผู้ที่มีความประหยัด  หมายถึงผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายรู้จักฐานะการเงินของตน  คิดก่อนใช้คิดก่อนซื้อเก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า  รู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่าย รายออมของตนเองอยู่เสมอ

3.  ซื่อสัตย์  หมายถึงประพฤติตรงไม่เอนเอียงไม่มีเล่ห์เหลี่ยม  มีความจริงใจปลอดจากความรู้สึกลำเอียง  หรืออคติ

            ผู้ที่มีความซื่อสัตย์  หมายถึงผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อหน้าที่  ต่อวิชาชีพตรงต่อเวลาไม่ใช้เล่ห์กล  คดโกง  ทั้งทางตรงและทางอ้อมรับรู้หน้าที่ของตนเองและปฏิบัติอย่างเต็มที่ถูกต้อง

4.  มีวินัย  หมายถึงการยึดมั่นในระเบียบแบบแผน  ข้อบังคับและข้อปฏิบัติซึ่งมีทั้งวินัยในตนเองและวินัยต่อสังคม

             ผู้ที่มีวินัย  หมายถึงที่ปฏิบัติตนในขอบเขต  กฎระเบียบของสถานศึกษาสถาบัน/องค์กร/สังคมและประเทศ  โดยที่ตนเองยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ และตั้งใจ 

5.  สุภาพ  หมายถึงเรียบร้อยอ่อนโยนละมุนละม่อมมีกิริยามารยาทที่ดีงามมีสัมมาคารวะ

                  ผู้ที่มีความสุภาพ  หมายถึงผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะไม่ก้าวร้าวรุนแรง  วางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจาและท่าทางแต่ในเวลาเดียวกันยังคงมีความมั่นใจในตนเอง  เป็นผู้ที่มีมารยาท  วางตนเหมาะสมตามวัฒนธรรมไทย

6.  สะอาด  หมายถึงปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อมความผ่องใสเป็นที่เจริญตา  ทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น

      ผู้ที่มีความสะอาด  หมายถึงผู้รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย  สิ่งแวดล้อมถูกต้องตามสุขลักษณะ  ฝึกฝนจิตใจมิให้ขุ่นมัวจึงมีความแจ่มใสอยู่เสมอ

7. สามัคคี  หมายถึงความพร้อมเพียงกันความกลมเกลียวกันความปรองดองกัน  ร่วมใจกันปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามที่ต้องการเกิดงานการอย่างสร้างสรรค์ปราศจากการทะเลาวิวาทไม่เอารัดเอาเปรียบกัน  เป็นการยอมรับความมีเหตุผลยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด  ความหลากหลายในเรื่องเชื่อชาติความกลมเกลียวกันในลักษณะเช่นนี้เรียกอีกอย่างว่า ความสมานฉันท์

      ผู้ที่มีความสามัคคี  หมายถึงผู้ที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นรู้บทบาทของตน  ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดีมีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลังช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง  แก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้เป็นผู้มีเหตุผล  ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมความคิดความเชื่อ  พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ

8. มีน้ำใจ  หมายถึงความจริงใจที่ไม่เห็นแก่เพียงตัวเองหรือ  เรื่องของตัวเองแต่เห็นอกเห็นใจเห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์มีความเอื้ออาทร  เอาใจใส่  ให้ความสนใจในความต้องการความจำเป็นความทุกข์สุขของผู้อื่นและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน

     9.ผู้ที่มีน้ำใจ หมายถึงผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคมรู้จักแบ่งปัน  เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่นเข้าใจเห็นใจผู้ที่มีความเดือดร้อนอาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกาย  สติปัญญาลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาหรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ให้เกิดขึ้นในชุมชน

 

คำสำคัญ (Tags): #คุณธรรม
หมายเลขบันทึก: 330499เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2010 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การบริหารโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ อาจต้องผ่านอุปสรรคที่จะต้องฝ่าฟันอย่าท้อแท้ ดังนั้น ใจของผู้บริหารจะต้องอดทนและยึดมั่นกับอุดมการณ์ ขอเป็นกำลังใจให้ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท