(25 พ.ค. 49) ไปรับฟังและกล่าวปิดการสัมมนา เรื่อง
“องค์กรชุมชนท้องถิ่นกับการปฏิรูปสังคมและการเมือง”
จัดโดยวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.)
ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
โดยมีแกนนำชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมสัมมนา
ในการกล่าวปิดการสัมมนา
ได้ให้ความเห็นซึ่งมีสาระสำคัญบางส่วนดังนี้
1. การปฏิรูปสังคมและการเมืองในระดับท้องถิ่น
กำลังเกิดขึ้นในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งและขยายตัวออกไปเรื่อยๆ
เป็นกระบวนการที่ผูกโยงผสมกลมกลืนอยู่กับการจัดการชุมชน
(หรือการจัดการท้องถิ่น) และการจัดการทางสังคมในระดับท้องถิ่น
ซึ่งรวมถึงเรื่องการทำแผนแม่บทชุมชน (หรือแผนชีวิตชุมชน)
(เพื่อการพึ่งตนเอง) เรื่องการเมืองแบบสมานฉันท์ในระดับท้องถิ่น
และอื่นๆ
2.
ควรช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนท้องถิ่นที่มีการปฏิรูปสังคมและการเมืองให้สามารถทำได้อย่างมีคุณภาพถึงขั้นน่าประทับใจ
เพื่อจะได้เป็นต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นจุดกระตุ้นการพัฒนา
ให้กับท้องถิ่นทั่วๆไป ให้กับกลุ่มคนหรือองค์กรหรือหน่วยงานที่สนใจ
และให้กับสังคมโดยรวม ได้อย่างมีนัยสำคัญและอย่างมีพลัง
3.
คววรช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่นที่มีการปฏิรูปสังคมและการเมืองได้ขยายจำนวนไปจนถึงระดับ
“มวลวิกฤต” (Critical mass)
เพื่อจะได้มีผลอย่างสำคัญต่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองในประเทศไทยโดยรวม
4. ควรช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด ความเป็นเครือข่าย
ความเป็นขบวนการ การจัดการความรู้ การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ
ฯลฯ ในหมู่ชุมชนท้องถิ่นทีมีการปฏิรูปสังคมและการเมือง
เพื่อให้เป็นขบวนการที่มีคุณภาพและขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น
พร้อมทั้งมีการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันได้ดีขึ้นและมากขึ้นไปเรื่อยๆ
5. การปฏิรูปสังคมและการเมือง
ควรมีเป้าประสงค์ที่จะนำไปสู่ความเป็นชุมชนและสังคมที่ (1)
มีความสันติสมานฉันท์ร่วมกัน (2) มีความเจริญพัฒนาร่วมกัน (3)
มีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน อย่างต่อเนื่องยาวนาน
(หรือมีเป้าประสงค์ให้เกิด
“ความสันติเจริญสุขร่วมกันอย่างต่อเนื่อง”)
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
2 มิ.ย. 49
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เรียน ท่านอ.ไพบูลย์ ที่เคารพอย่างสูง
ในนามของสถาบันยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอกราบขอบพระคุณท่านที่กรุณาเข้าร่วมสัมมนาระดมความคิดเห็น ให้ข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์และมีค่ายิ่งในการสัมมนาระดมความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในวันที่ 2 มิถุนายน 2549 ณ กระทรวงศึกษาธิการ ความคิดเห็นของท่านทำให้คณะนักวิจัยสามารถกำหนดกรอบแนวทางในการศึกษา กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ด้วยความเคารพ
รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท