ระดับทักษะขีดความสามารถของบุคลากร (The Competency Skill Level)


          ผมได้มีเวลาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของขีดความสามารถในการทำงานของบุคลากร ซึ่งได้พบปะและพูดคุยกับบุคลากรหลายๆ ระดับ ทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบ ระหว่างขีดความสามารถของบุคลากรในระดับต่างๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตามแต่งานที่ได้รับมอบหมาย

          ดังนั้น การที่มีระดับขีดความสามารถเป็นตัวชี้วัด ก็จะสามารถทำให้ทราบได้ว่า เราเหมาะหรือไม่ที่จะก้าวผ่านสู่ระดับนั้นๆ ซึ่งย่อมต้องมีการประเมินหรือเสนอผลงาน เพื่อเป็นการรับประกันว่า บุคลากรคนนั้น สามารถก้าวผ่านได้จริง

          ซึ่งผมจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน ใน 3 ระดับนี้ เป็นพื้นฐาน ที่ทุกหน่วยงานหรือองค์กรต้องมี ลองพิจารณาดูครับว่า ขีดความสามารถดังกล่าวนี้ เป็นตามที่ผมบอกหรือไม่

ระดับที่ 1 คือ ขีดความสามารถด้านงานปฏิบัติการ (Operation)

ระดับที่ 2 คือ ขีดความสามารถในการประยุกต์ใช้ (Apply)

ระดับที่ 3 คือ ขีดความสามารถในการกำหนดกลยุทธ์ (Strategy)

 

          จากโมเดลที่ผมกำหนดขึ้นมานั้น แสดงให้เห็นถึงบุคลากรทั้ง 3 ระดับ ที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานแตกต่างกัน

1.  ระดับ CEO หรือผู้บริหาร (CEO / Executive)

          จำเป็นที่จะต้องมีความสามารถทางด้านการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรค่อนข้างสูง เพราะเป็นเสมือนผู้ขับเคลื่อนองค์กร ว่าจะมีแนวทาง หรือมีนโยบายไปในทางใด หากความคิดวิสัยทัศน์นั้นสร้างสรรค์ หรือก้าวหน้าอย่างรวดเร็วตามสภาวการณ์ปัจจุบัน ก็จะสามารถนำพาองค์กรไปสู่จุดหมายได้รวดเร็วเช่นกัน ซึ่งผู้ที่จะอยู่ในระดับนี้ต้องรู้จักการต่อยอดแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มาปรับใช้ให้เข้ากับองค์กร ไม่ใช่จับทฤษฎีมาทั้งดุ้น โดยไม่ได้พิจารณาว่า เหมาะสมกับองค์กรหรือไม่

2.  ระดับผู้จัดการ หรือหัวหน้า (Line Manager)

          ต้องมีความสามารถในการประยุกต์แนวคิดจากผู้บริหาร ลงมากระจายให้ลูกน้องเข้าใจ ในสิ่งที่องค์กรกำลังจะก้าวหน้า โดยปรับแนวคิดทฤษฎีที่ได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว มาทำให้เกิดการปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจเนื้อหาซึ่งการประยุกต์ใช้ (Apply) นั้น จำเป็นที่ระดับนี้ ต้องสามารถสอนงาน (Coaching) หรือเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ได้

3.  ระดับปฏิบัติการ (Operation)

          เป็นส่วนที่สำคัญที่จะทำให้แนวคิดต่างๆ ที่ได้นั้น ประสบผลสำเร็จ นั่นคือการเป็นผู้ลงมือทำ แต่ไม่ใช่การลงมือทำอย่างเดียว ต้องพิจารณาในเนื้องานด้วยว่า เหมาะสมกับหน้างานในขณะนั้นหรือไม่ ต้องรู้จักการคิดวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน

 

          การที่บุคลากรจะก้าวผ่านในตำแหน่งงานนั้นๆ ได้ จำเป็นต้องมีความสามารถที่พร้อม และต้องผลักดันตามเป้าหมายได้ แต่จำเป็นต้องมีความสามารถทั้ง 3 ด้าน เพียงแต่ในตำแหน่งงานใด จะใช้ความสามารถด้านไหนมากกว่ากัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดบทบาทและหน้าที่ให้สอดคล้อง

          มีหลายครั้งและหลายองค์กร ที่ผลักดันบุคลากรเร็วเกินไป จนลืมพิจารณาถึงความสามารถดังกล่าว เรียกว่า อยาก Promote คนนี้มาก แต่เมื่อได้เลื่อนตำแหน่งแล้ว กลับไม่เป็นอย่างที่คิด จนเคยมีคำกล่าวว่า

“เสียลูกน้องมือดีไปหนึ่งคน แต่ได้หัวหน้าห่วยๆ มาหนึ่งคน”

          บางครั้งเราอาจจะเห็นหน้างานทำได้อย่างดี เหมาะสมกับการที่จะ Promote แต่ถึงเวลาจริงๆ เขาจะรู้สภาพว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะบางคน เก่งปฏิบัติแต่ยังไม่เก่งทฤษฎี ซึ่งผมได้เคยเขียนไว้แล้วในบทความเรื่อง “การพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ”

          อยากให้พิจารณาขีดความสามารถให้ละเอียดสักนิด ก่อนที่จะ Promote เพราะเมื่อไม่ถูกใจ หรือไม่เป็นตามคาด คนที่ทุกข์ใจหนักคือ ผู้บริหารนั่นเอง เพราะถือว่าสอบตกในเรื่องของกลยุทธ์เพราะ Put the wrong man for the wrong job   

หมายเลขบันทึก: 329832เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท