กว่าจะเป็นเส้นได้ (ด้าย)


ด้ายมันมีกี่ชนิดล่ะ? แล้วเขาวัดขนาดกันยังไงนะ?
  ไหมพรม

 

          สวัสดีค่ะ  วันนี้จะขอนำเสนอเรื่องราวของเส้นด้ายค่ะ  ซึ่งไหมพรมเองก็เป็นด้ายชนิดหนึ่ง  แล้วด้ายมันมีกี่ชนิดล่ะ?  แล้วเขาวัดขนาดกันยังไงนะ?  ฮั่นแน่...อยากรู้แล้วใช่ไหมค่ะ  มาดูกันเลยค่ะ
          เส้นด้ายมีลักษณะเป็นเส้นยาวที่ประกอบขึ้นจากเส้นใยหลายๆเส้นรวมกัน (แบบสามัคคีกันนะเออ ^^) โดยอาจมีการขึ้นเกลียวหรือไม่ก็ได้ ด้ายแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ ด้ายจากเส้นใยสั้น (spun yarn) ด้ายจากเส้นใยยาว (filament yarn) และ ด้ายชนิดพิเศษ (special yarn)
 

เส้นด้าย

 

          ด้ายจากเส้นใยสั้น (Spun yarn) ประกอบด้วยเส้นใยสั้นที่ขึ้นเกลียว (twist) เพื่อให้ยึดติดกันเป็นเส้นด้าย ผิวมักจะไม่เรียบ เนื่องจากมีปลายของเส้นใยโผล่ออกมา

 

เส้นด้าย

 

          ด้ายจากเส้นใยยาว (Filament yarn) ประกอบด้วยเส้นใยยาว (filament) ที่รวมกันเป็นกลุ่มโดยอาจจะมีการขึ้นเกลียวเพียงเล็กน้อย ผิวมีลักษณะเรียบ เส้นใยอาจมีลักษณะเป็นเส้นตรงเรียงกัน หรือมีลักษณะฟู (bulky) เนื่องจากการทำหยัก (crimp) บนเส้นใยยาว

ไหมพรม

 

          ด้ายชนิดพิเศษ (Special yarn) เป็นด้ายที่มีผลิตขึ้นเพื่อใช้ในงานเฉพาะทาง  รวมไปถึงไหมพรมของเราด้วยค่ะ
 
ขนาดของด้าย (Yarn size)
          ขนาดของด้ายเองก็มีหลายๆขนาดเหมือนกับคนเรานี่แหละค่ะ  สามารถวัดได้ด้วยการระบบวัดหลายแบบ เช่นเลขด้าย (yarn number) ดีเนียร์ (denier) และ เท็กซ์ (tex) คล้ายๆกับหน่วยวัดน้ำหนักของคนเราเลยค่ะ
          ระบบการวัดแบบเลขด้าย (yarn number) มักใช้กับด้ายที่ทำด้วยเส้นใยสั้น (spun yarn) โดยเป็นค่าความยาว (หลา)ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ของด้าย หน่วยวัดความยาวหนึ่งที่ใช้ในระบบนี้คือ แฮงค์ (hank) โดย 1 แฮงค์ยาว 840 หลา ด้ายที่มีขนาดเล็กก็จะมีค่าเลขด้ายสูงกว่าด้ายที่ที่มีขนาดใหญ่กว่า
           ดีเนียร์และเท็กซ์ (denier and tex) ใช้กับด้ายที่ทำด้วยเส้นใยยาว เป็นการวัดค่าน้ำหนัก (กรัม) ต่อความยาว 9000 เมตร (ยาวมากจริงๆ = =”) เช่นเดียวกับที่ใช้กับเส้นใย
           เอาล่ะค่ะ  หลังจากที่ได้รู้จักชนิดของเส้นด้าย และการวัดขนาดกันไปแล้ว  คราวนี้มาดูกันต่อดีกว่าว่าเขาผลิตกันยังไง
 

การผลิตเส้นด้าย

 

          กระบวนการผลิตด้าย (yarn manufacturing) มีหลายกระบวนการ  แต่ในที่นี้จะขอนำเสนอการะบวนการผลิตจากเส้นใยสั้น เพราะจะมีกระบวนการหลายขั้นตอน กว่าการผลิตด้ายจากเส้นใยยาว ซึ่งมีเพียงการนำเอาเส้นใยมารวมกัน แล้วขึ้นเกลียวเท่านั้น จะยกตัวอย่างกระบวนการผลิตของเส้นใยฝ้ายนะคะ ซึ่ง การผลิตด้ายจากเส้นใยสั้น (spun yarn) นั้นมีขั้นตอนกระบวนการผลิตดังนี้ค่ะ
          1. การเปิด (opening) เป็นการทำให้เส้นใยที่อัดอยู่ในกอง (bale) มีการเปิดและกระจายตัว รวมทั้งทำการผสมเส้นใยให้ทั่วถึง (uniform) มากขึ้น
          2. การสางใย (carding) เป็นการทำให้เส้นใยเรียงตัวไปในทิศทางเดียวกัน เส้นใยมีการสานกันไปมาเป็นใย (web)บาง
          3. การดึง (drawing) เป็นการเพิ่มการจัดทิศทางของเส้นใยให้ขนานกันมากขึ้น โดยใย (web) ที่ได้จะถูก ดึงผ่านลูกกลิ้งที่มีความเร็วต่างกัน ทำให้เกิดเป็นเส้นด้ายที่มีการรวมตัวของเส้นใยอย่างหลวมๆ
          4. การขึ้นเกลียว (roving) เป็นการดึงเพิ่มเติมเพื่อจัดเส้นใยให้มีการเรียงตัวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น มีการขึ้นเกลียวนิดหน่อยเพื่อเพิ่มแรงยึด (ความสามัคคี) ระหว่างเส้นใย
          5. การปั่นเส้นด้าย (spinning) เป็นการนำเอาด้ายที่มีการขึ้นเกลียวเล็กน้อย มาขึ้นเกลียวเพิ่ม เพื่อให้ได้ เส้นด้ายที่มีความแข็งแรง  (เพิ่มความสามัคคียิ่งขึ้น)
 
 
 
หมายเลขบันทึก: 329752เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กว่าจะเป็นไหมพรหม มันก็ไม่ง่ายเนอะ

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันกันครับ ^^

เส้นด้ายที่เกิดขึ้นจากเส้นใยหลายๆ เส้นรวมกัน

สอนให้เรารู้ว่า เมื่อใดที่คนเรานั้นมีความสามัคคี เรื่องดีๆ ก็จะเกิดขึ้น

ดังเช่นไหมพรมที่เกิดจากการถักทอเส้นด้ายเข้าด้วยกัน

ทำให้เกิดความสวยงาม หรือเป็นงานศิลปะชิ้นเอกที่โดนใจ

ถ้าคนไทยทุกคนสามัคคีกันได้เหมือนไหมพรม

ประเทศไทยจะน่าอยู่ขึ้นเยอะเลยครับ

"ขอบคุณสาระดีๆ ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ"

@ คุณไพรัช ไม่ง้ายทั้งการการผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เลยค่ะ ถ้าได้รับไหมพรมถักจากคนสำคัญแล้ว

รีบเก็บรักษาไว้อย่างดีเลยนะคะ ขอให้ได้รับไวๆนะคะ ^^

@ คุณ What women want? คิดตรงจุดนั้นเหมือนกันเลยค่ะ ขอบคุณที่แวะมานะคะ

พี่ได้ความรู้เยอะเลยล่ะ น้องชาม

ว่าแต่ว่า สำหรับการนำด้ายดิบ

มาทำเป็นก้อนไหมพรมน่ะ

ตรงนี้ คิดเป็นต้นทุนที่สูงรึเปล่าคะ

พี่ไม่รู้จริงๆ เรื่องไกลตัวอ่ะ

jw

อันนี้ขอรวบรวมข้อมูลก่อนนะคะ

ขอบคุณสำหรับคำถามที่เป็นข้อเสนอแนะด้วยค่ะ

^/\^

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามดูได้ที่นี่นะคะ

 

>>> http://gotoknow.org/blog/yarn/331761

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท