วิเคราะห์เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์


วิเคราะห์เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์

 

๑. โครงเรื่อง

                เริ่มต้นด้วยกษัตริย์แคว้นหนึ่งต้องการแผ่อำนาจเข้าครอบครองแคว้นใกล้เคียง  แต่กษัตริย์ผู้ครองแคว้นนั้นยึดมั่นในอปริหานิยธรรม  มีความสามัคคีปรองดองมั่นคง  กษัตริย์ผู้ต้องการแผ่อำนาจจึงต้องใช้อุบายส่งพราหมณ์ปุโรหิตของตนเข้าไปเป็นไส้ศึก  หาวิธีทำลายความสามัคคีของกษัตริย์แคว้นนั้นเสียก่อน  แล้วจึงยกทัพเข้าโจมตี  พราหมณ์ปุโรหิตใช้เวลาถึง ๓ ปีจึงดำเนินกลอุบายทำลายความสามัคคีได้สำเร็จ  กษัตริย์แคว้นนั้นก็แผ่อำนาจเข้าครอบครองแคว้นข้างเคียงเป็นผลสำเร็จ

 

๒. สาระของเรื่อง

สามัคคีเภทคำฉันท์ชี้ให้เห็นว่า

๒.๑  ความสามัคคีเป็นธรรมที่จำเป็นในการทำงาน

๒.๒ การร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตต่าง ๆ นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในอันจะป้องกันชาติบ้านเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น

๒.๓ วิจารณญาณเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับมนุษย์  โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในโลกของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและเข่นฆ่ากันอย่างไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

๒.๔ สงครามนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนของคนในประเทศ  มนุษย์ไม่ควรเบียดเบียนกัน

๒.๕ การละทิฐิมานะ ละอคติจะทำให้บุคคลดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุขและตริตรองเรื่องต่าง ๆได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น

 

๓. แก่นเรื่องของสามัคคีเภทคำฉันท์

๓.๑ แก่นเรื่องหลัก

คือโทษของการแตกความสามัคคีซึ่งนำหมู่คณะไปสู่ความหายนะ

๓.๒ แก่นเรื่องรอง  คือ

๓.๒.๑  การใช้สติปัญญาเอาชนะฝ่ายศัตรูโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ การรู้จักเลือกใช้บุคคลให้เหมาะกับงานจะทำให้งานสำเร็จด้วยดี

๓.๒.๒ การถือความคิดของตนเป็นใหญ่และทะนงตนว่าดีกว่าผู้อื่นย่อมทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

 

๔. ฉาก

          เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์เป็นเรื่องที่เรารับมาจากอินเดีย  กวีจึงพยายามพรรณนาฉากให้บรรยากาศของเรื่องเป็นประเทศอินเดียในสมัยพระเจ้าอชาตศัตรู  แต่กวีเป็นคนไทยดังนั้นฉากจึงมีความเป็นไทยแทรกอยู่บ้าง เช่น การพรรณนาชมบ้านเมือง

        อำพนพระมนทิรพระราช                    สุนิวาสวโรฬาร์

อัพภันตรไพจิตรและพา                             หิรภาคก็พึงชม

เล่ห์เลื่อนชะลอดุสิตฐา                                นมหาพิมานรมย์

มารังสฤษฎ์พิศนิยม                                    ผิจะเทียบก็เทียมทัน

สามยอดตลอดระยะระยับ                           วะวะวับสลับพรรณ

ช่อฟ้าตระการกลจะหยัน                            จะเยาะยั่วทิฆัมพร

บราลีพิลาศศุภจรูญ                                    นภศูลประภัสสร

หางหงส์ผจงพิจิตรงอน                              ดุจกวักนภาลัย

          นับว่าเป็นบทพรรณนาชมบ้านเมืองที่ไพเราะทั้งเสียง จังหวะและลีลา  นัยว่านายชิต  บุรทัตพรรณนาตอนนี้จากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  แต่ไม่ใช่ข้อบกพร่องเสียหายเพราะธรรมดากวีย่อมบรรยายจากสิ่งที่ได้เคยพบเห็น  เรียกกันว่าเป็นอนุโลมกวี  คือกวียานุโลมแม้ในบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาก็พรรณนาชมบ้านเมืองของกษัตริย์ชวาตามลักษณะของกรุงเทพฯ เช่นกัน

          การพรรณนากระบวนทัพช้างและทัพม้าตอนพระเจ้าอชาตศัตรูกรีธาทัพนั้น  นับว่าพรรณนาได้อย่างน่าเกรงขาม  เช่น

               ขุนคชขึ้นคชชินชาญ                    คุมพลคชสาร

ละตัวกำแหงแข็งขัน

               เคยเศิกเข้าศึกฮึกครัน                  เสียงเพรียกเรียกมัน

คำรณประดุจเดือดดาล

          การพรรณนาชมธรรมชาติซึ่งนับว่านิยมมากในวรรณคดีไทย  แต่ในสามัคคีเภทคำฉันท์ขาดรสนี้ไป  ตอนวัสสการพราหมณ์ถูกขับก็ดี  หรือตอนพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพก็ดี  น่าจะมีบทพรรณนาชมธรรมชาติบ้าง  แต่ผู้แต่งเพียงพรรณนาสรุปสั้น ๆ ว่า

         แรมทางกลางเถื่อน                       ห่างเพื่อนหาผู้

หนึ่งใดนึกดู                                            เห็นใครไป่มี

หลายวันถั่นล่วง                                      เมืองหลวงธานี

นามเวสาลี                                              ดุ่มเดาเข้าไป

 

๕. การเลือกสรรความ

         เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ดำเนินเรื่องไปตามลำดับไม่สับสนทำให้ผู้อ่านเข้าใจตลอดทั้งเรื่อง  นายชิต  บุรทัตเลือกสรรความได้อย่างกระชับไม่เยิ่นเย้อทำให้ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว เช่น ตอนที่วัสสการพราหมณ์ถูกลงพระราชอาญาแล้วเนรเทศจากแคว้นมคธมีการบทคร่ำครวญพอสมควรเท่านั้น

        นอกจากนี้วรรณคดีประเภทฉันท์นั้นกวีจะต้องเลือกใช้ฉันท์ให้เหมาะสมกับความ  เพราะฉันท์แต่ละชนิดมีลีลาและให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันไป  ซึ่งนายชิต  บุรทัตก็เลือกใช้ฉันท์ได้อย่างเหมาะสม  เช่น

 

สัททุลวิกกีฬิตฉันท์  ลีลาท่วงทำนองเคร่งขรึม  ใช้ในบทประณามพจน์

 

วสันตดิลกฉันท์  ลีลาจังหวะสละสลวย   ใช้พรรณนาชมบ้านเมือง

 

อิทิสังฉันท์  ลีลากระแทกกระทั้น  ใช้ตอนพระเจ้าอชาตศัตรูกริ้ว

 

จิตรปทาฉันท์  ลีลาคึกคัก เร่งเร้า กระชั้น ใช้แสดงความตกใจเมื่อศึกมาประชิด

 

อินทรวิเชียรฉันท์ ลีลาสละสลวย   ใช้ตอนวัสสการพราหมณ์ถูกเนรเทศ

 

มาณวกฉันท์  ลีลาเร่งเร้าผาดโผน ใช้ตอนวัสสการพราหมณ์ยุพระกุมาร

 

โตฎกฉันท์   ลีลากระชั้น  คึกคัก   ใช้ตอนพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 329686เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นหนังสือที่มีติดตัว เสมอ สมัยมัธยมครับ

ครูภาษาไทยเป็นครูประจำชั้น ประทับใจในอาจารย์มาก

โดยเฉพาะเวลาท่านสอนเรื่อง เจ้ามอม วันนี้ไม่ได้เป็นครูภาษาไทย

ก้ยังฝึกฝนอยู่เสมอ

แต่งฉันท์ ยากครับ

สวัสดีค่ะ P  คุณ สันติสุข
   สามัคคีเภทคำฉันท์เป็นหนังสือดี ๑ ใน ๑๐๐ เล่มที่คยไทยควรอ่าน  โดยเฉพาะในเวลาที่คนไทยกำลังแตกแยกทางความคิดเช่นทุกวันนี้  ดิฉันจึงหวังว่าผู้อ่านผู้ศึกษาทุกคนจะได้รับข้อคิดอันเป็นประโยชน์ค่ะ

ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์นะครับ ไม่รู้อาจารย์จะจำผมได้รึเปล่า 6/7 รุ่น 104

ขณะนี้ผมก็เรียนเอกภาษาไทยที่บ้านสมเด็จครับ พอดีได้ทำรายงานเรื่องนี้พอดีเลยครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆครับ สอนผมตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมตอนนี้ก็ยังได้สอนผมอีกครับ อิอิ

อาจารย์ทำให้ผมรักภาษาไทยเลยล่ะครับ

  สวัสดีจ้ะ รณฤทธิ์

ครูปลื้มใจมากที่มีส่วนทำให้เธอชอบภาษาไทย

อย่างไรก็ตามครูก็ยังคงเป็นครูของเธอเสมอ  ครูที่คอยชื่นชมกับความสำเร็จของลูกศิษย์ทุกคน

ขอขอบคุณท่านอาจารย์มากที่ช่วยไขความรู้เรื่องต่างๆเกี่ยวกับเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์เพื่อที่จะให้เพื่อนครูด้วยกันนำไปใช้ประกอบการสอนสำหรับเด็กๆ ต่างจังหวัดค่ะ

สวัสดีค่ะ  เพื่อนครูภาษาไทย

  ดิฉันรู้สึกยินดีมากที่บันทึก "ศึกษาวรรณคดี  สามัคคีเภทคำฉันท์" เป็นประโยชน์ต่อการสอนของคุณครูภาษาไทย และเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของนักเรียน  และทำให้นักเรียนเข้าถึงวรรณคดีที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งเรื่องนี้ 

ูครูค่ะครูช่วยยกตัวอย่างบุคคลวัตในสามัคคีเภทคำฉันท์ และก็อติพจน์ 

อวพจน์ได้ไหมค่ะหนูไม่เข้าใจค่ะ ขอบคุณค่ะ


ผู้ที่เคยเรียนสามัคคีเภทฉันท์ ส่วนใหญ่ประทับใจตอนใหนกันบ้างคะ ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท