เน็ตช้า!!!


เน็ตช้า!!! ตอนที่ 1

       เรื่องเริ่มที่ “เน็ตช้า” การใช้งานอินเทอร์เน็ตจากออฟฟิศช้ามาก และที่ทุกคนต้องการเหมือนกันคือ “ให้มันเร็วขึ้น” เพื่อจะได้ทำงานได้เร็วขึ้น ใช้เวลาทุกวินาทีได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น ทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่สะดุด ไม่ต้องรอ ซึ่งฝ่ายไอทีเสนอให้อัพเกรดระบบเน็ตเวิร์คภายในองค์กร จากของเก่าซึ่งเป็นอีเธอร์เน็ตแลน หรือแลนแบบมีสาย ไปเป็นแลนไร้สาย หรือไวร์เลสแลน หรือ Wi-Fi โดยให้เหตุผลว่ามันจะช่วยให้เน็ตเร็วขึ้น
       
       คำถามคือ “การอัพเกรดเครือข่ายภายในองค์กรช่วยให้การดาวน์โหลดสิ่งต่างๆจากอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น ... จริงหรือ???”
       
       อินเทอร์เน็ต แท้จริงแล้วก็คือเน็ตเวิร์คของเน็ตเวิร์ค เป็นการต่อเชื่อมเครือข่ายคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ครอบคลุมไปทั่วโลก เพราะฉะนั้นแล้วเพื่อให้เข้าใจการทำงานของอินเทอร์เน็ตและรู้ถึงเหตุที่แท้จริงของ “เน็ตช้า” เราจึงควรทำความรู้จักกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์เบื้องต้นกันสักนิด
       
       ระบบสื่อสารข้อมูล
       
       ย้อนหลังกลับไปสัก 40 ปีก่อน เครือข่ายคอมพิวเตอร์เกิดขึ้น เพราะมีคนต้องการให้เครื่องคอมพิวเตอร์คุยกันได้ เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนหรือรับส่งข้อมูลกันได้อย่างสะดวก แทนที่จะก็อปปี้ไฟล์ใส่แผ่นดิสก์แล้วนำไปก็อปปี้ลงเครื่องคอมพิวเตอร์อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นการส่งถึงกันโดยตรง และการที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะคุยกันได้ก็จำเป็นต้องมีครบทั้ง 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. เครื่องคอมพิวเตอร์ 2. อุปกรณ์รับส่งสัญญาณข้อมูล 3. สาย/สื่อสัญญาณ และ 4. ซอฟต์แวร์ควบคุม
       
       ในยุคแรก ระบบสื่อสารข้อมูลจะเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า Host-Terminal เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยนั้นเป็นเมนเฟรม หรือเรียกว่า Host คุณสมบัติของ Host คือสามารถรองรับผู้ใช้ได้พร้อมกันหลายๆคน โดยผู้ใช้แต่ละคนจะสื่อสารกับ Host ผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีหน่วยประมวลผลในตัวเรียกว่า Terminal ซึ่งมีหน้าที่เพียงรับข้อมูลจากคีย์บอร์ดส่งผ่านไปยัง Host เพื่อประมวลผล และรับผลลัพธ์จาก Host กลับมาแสดงบนจอภาพเท่านั้น
       
       การสื่อสารระหว่าง Host กับ Terminal ก็เป็นรูปแบบง่ายๆ ผ่านสายโทรศัพท์ที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไป แต่เพราะโทรศัพท์เป็นระบบอนาล็อก และเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นระบบดิจิตอล ดังนั้นจึงต้องมีตัวแปลงสัญญาณระหว่างอนาล็อกกับดิจิตอลเข้ามาคั่นอยู่ตรงกลางเพื่อให้ระบบสื่อสารข้อมูลเป็นไปได้ อุปกรณ์แปลงสัญญาณดังกล่าวนั้น เราทุกคนคุ้นเคยกันดีในชื่อ โมเด็ม (Modem; Modulator-Demodulator)
       
       โมเด็มยุคแรกจะมีความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลสูงสุด หรือแบนด์วิธ (Bandwidth) เพียง 300 bps (บิตต่อวินาที) ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการในสมัยนั้น ขณะที่ช่องสัญญาณเสียงบนสายโทรศัพท์มีแบนด์วิธอยู่ที่ 3,000Hz หรือประมาณ 30,000 bps หรือ 30kbps (กิโลบิตต่อวินาที) เมื่อเทียบกันแล้วจะเห็นว่าแบนด์วิธของช่องสัญญาณเสียงบนสายโทรศัพท์ใหญ่กว่าแบนด์วิธของโมเด็มถึง 100 เท่า นั่นไม่มีปัญหา แต่น่าสังเกต
       
       ปี 1984 โมเด็มเริ่มมีวิวัฒนาการ แบนด์วิธถูกปรับให้กว้างขึ้น จาก 300bps เป็น 1,200 bps, 2,400 bps, 9,600 bps, 19.200 kbps, 28.8 kbps และ 33.6 kbps ตามลำดับ และที่กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบันคือ 56 kbps ขณะที่แบนด์วิธช่องสัญญาณเสียงบนสายโทรศัพท์ยังคงเท่าเดิมที่ 30 kbps
       
       จะสังเกตได้ว่า แบนด์วิธของโมเด็ม 56k ใหญ่กว่าแบนด์วิธของช่องสัญญาณเสียงบนสายโทรศัพท์เกือบ 2 เท่า แต่ที่ยังเป็นไปได้ก็เพราะใช้เทคนิคเข้าช่วย เทคนิคนี้มีชื่อว่า Quadrature Amplitude Modulation (QAM) และ 56 kbps ก็เป็นแบนด์วิธที่สูงที่สุดแล้วสำหรับการส่งผ่านข้อมูลผ่านช่องสัญญาณเสียงบนสายโทรศัพท์โดยใช้เทคนิคนี้
       
       สัญญาณกวน
       
       การส่งผ่านข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์ด้วยความเร็วสูงจะทำให้เกิดสัญญาณรบกวน (Noise) ขึ้น จนบางครั้งทำให้ข้อมูลที่รับส่งเกิดความคลาดเคลื่อน บิดเบือน ผิดพลาด และต้องมีการส่งข้อมูลซ้ำเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันระหว่างเครื่องส่งกับเครื่องรับ ประเด็นคือ ถ้าต้องมีการส่งข้อมูลซ้ำบ่อยๆ เวลาที่ใช้ในการส่งไฟล์ข้อมูลหนึ่งก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งบางครั้งก็อาจนานจนทำให้ใครหลายๆคนหงุดหงิด โดยเฉพาะไฟล์ขนาดใหญ่ เช่น รูปภาพ
       
       การแก้ปัญหานี้มี 2 วิธี วิธีแรกคือเปลี่ยนสายโทรศัพท์ไปใช้เกรดที่ดีขึ้น ซึ่งระดับสัญญาณรบกวนจะต่ำลง แต่วิธีนี้คงเป็นไปได้ยากเพราะไม่คุ้มสำหรับผู้ให้บริการเครือข่าย ดังนั้นวิธีที่เป็นไปได้มากที่สุดจึงเป็นการลดความเร็วในการรับส่งข้อมูลลง วิธีนี้จะช่วยให้ระดับสัญญาณรบกวนลดลงเช่นกัน สังเกตว่าโมเด็มความเร็วสูงส่วนใหญ่จะสามารถปรับเพิ่มหรือลดความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้นๆ
       
       นี่คือคำตอบว่าทำไมเวลาเราต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็ม 56k แล้ว จึงไม่เคยเชื่อมต่อได้ที่ความเร็ว 56 kbps เลยแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 48-52 kbps เท่านั้น อย่างไรก็ตามแบนด์วิธที่สูงกว่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่อุปกรณ์ที่ใช้ต้องมีคุณภาพสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเฉพาะในห้องแล็บเท่านั้น และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของ “เน็ตช้า”
       
       ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอุตสาหกรรมการสื่อสาร (Electronic Industry Association/Telecommunication Industry Association; EIA/TIA) ได้กำหนดมาตรฐานสาย Unshielded Twisted Pair (UTP) เอาไว้ 5 ประเภทด้วยกันคือ 1. Voice Only (Telephone Wire) 2. Data to 4 Mbps (LocalTalk) 3. Data to 10 Mbps (Ethernet) 4. Data to 20 Mbps (16 Mbps Token Ring) และ 5. Data to 100 Mbps (Fast Ethernet) ซึ่งสายโทรศัพท์ทั่วไปจัดอยู่ในประเภทที่ 1
       
       ADSL (Asymetrical Digital Subscriber Line) คือวิวัฒนาการล่าสุดของโมเด็ม เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถใช้สายโทรศัพท์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ว่ากันว่าเทคโนโลยี ADSL ให้เราสามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 8 Mbps (เมกะบิตต่อวินาที) ทีเดียว เราจะมาเจาะลึกเทคโนโลยี ADSL กันในคราวต่อไป
       

เน็ตช้า!!! ตอนที่ 2
 
ตอนที่แล้วได้เล่าให้ฟังถึงเกี่ยวกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์เบื้องต้น เหตุเพราะอินเทอร์เน็ตคือเน็ตเวิร์คของเน็ตเวิร์ค ความรู้เกี่ยวกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์จะทำให้เรารู้ว่า อะไรคือต้นเหตุที่แท้จริงของ “เน็ตช้า”
       
       โมเด็มเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เน็ตช้า โมเด็มความเร็วสูงส่วนใหญ่จะสามารถปรับลดความเร็วในการรับส่งข้อมูล หรือแบนด์วิธ ลงได้อัตโนมัติตามสภาพแวดล้อมในการทำงานขณะนั้น เช่น คุณภาพของสายโทรศัพท์ เพื่อลดปริมาณเสียงรบกวน หรือนอยซ์ ให้อยู่ในระดับที่รับได้ ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของ “เน็ตช้า” แล้วติดค้างกันเอาไว้ว่าจะมาเล่าเกี่ยวกับ ADSL กันในตอนนี้ ในฐานะที่ ADSL เป็นวิวัฒนาการขั้นล่าสุดของโมเด็ม
       
       ADSL ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย เทคโนโลยีนี้เข้าสู่เมืองไทยมานานแล้ว แล้วเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เพราะหลายคนยังไม่รู้ จึงขออนุญาตฉายหนังซ้ำอีกรอบ ช่วงที่เข้าเมืองไทยใหม่ๆ ADSL ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เหตุผลหลักๆมาจากค่าตัวที่สูงกว่ามาก ทั้งค่าบริการและค่าอุปกรณ์ เทียบกับโมเด็ม 56K ลูกค้าในระยะแรกจึงเป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจที่ต้องการระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์
       
       แต่ด้วยนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลที่ประกาศออกมาชัดเจนเมื่อต้นปี 2004 ว่าต้องการให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงบรอดแบนด์ได้โดยไม่ยาก ADSL จึงได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีถูกลงตามกาลเวลา โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ที่ ADSL กำลังเป็นกระแสร้อน อันนี้คงต้องยกประโยชน์ให้กับแคมเปญบรอดแบนด์ราคาถูกของค่าย TRUE ที่กำลังถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีบริการ ADSL ราคาถูกจากค่ายอื่นๆอีก เช่น Samart, ADC, TOT, TT&T, CSLoxinfo และ ISSP เป็นต้น
       
       ถ้าสังเกต บทความตอนที่แล้วจะปรากฏข้อความว่า “ช่องสัญญาณเสียงบนสายโทรศัพท์” ความตอนหนึ่งระบุว่า “ช่องสัญญาณเสียงบนสายโทรศัพท์มีแบนด์วิธอยู่ที่ 3,000Hz หรือประมาณ 30,000 bps หรือ 30 kbps” สงสัยหรือเปล่าว่าทำไมไม่ใช้คำว่า “สายโทรศัพท์” ทำไมต้อง “ช่องสัญญาณเสียงบนสายโทรศัพท์” เหตุผลก็เพราะว่าถ้าใช้คำว่า “สายโทรศัพท์” แล้ว ข้อความดังกล่าวจะ “ผิด”
       
       เพราะสายโทรศัพท์แท้จริงแล้วมีแบนด์วิธกว้างถึง 1.5 MHz แต่ถูกแบ่งใช้เพื่อการสื่อสารด้วยเสียงประมาณ 3,000 Hz คือในช่วงความถี่ 400-3,400 Hz เหตุผลเพราะเสียงพูดของคนเราจะชัดเจนที่สุดในย่านความถี่ดังกล่าว ซึ่งบางครั้งอาจเลยไปถึงระดับ 4,000 Hz บ้างเล็กน้อย
       
       เพื่อป้องกันปัญหาสัญญาณรบกวน ทางผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์จึงกรองความถี่ในย่านที่สูงกว่า 4,000 Hz ออกไป และใช้ประโยชน์จากสายโทรศัพท์เพียง 4,000 Hz เท่านั้น ปล่อยแบนด์วิธที่เหลือให้กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า นัยหนึ่งคือยังมีที่ว่างเหลือบนสายโทรศัพท์อีกเป็นจำนวนมหาศาล สำหรับการรับส่งข้อมูลโดยไม่กระทบต่อการสื่อสารด้วยเสียง คร่าวๆก็ประมาณ 1.496 MHz การใช้ประโยชน์จากที่ว่างดังกล่าวก็คือคอนเซ็ปต์ของ ADSL นั่นเอง
       

ภาพจาก ThaiInternetwork.com

ADSL มีประโยชน์อยู่หลายอย่าง และก็เหมือนๆกับที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี โฆษณาไว้ กล่าวคือ
       
       1. ผู้ใช้สามารถใช้โทรศัพท์ขณะต่ออินเทอร์เน็ตได้ ประมาณว่าเล่นเน็ตไป คุยโทรศัพท์ไป ไม่มีปัญหา
       
       2. ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงกว่าการใช้โมเด็มปกติ (128kbps ขึ้นไปเทียบกับ 56kbps)
       
       3. ไม่จำเป็นต้องเดินสายใหม่ สามารถใช้สายโทรศัพท์ธรรมดาที่มีอยู่แล้วได้ทันที ตรงนี้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้พอประมาณ
       
       4. เป็นการเชื่อมต่อแบบ Always On ไม่ต้องหมุนโทรศัพท์ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์สำหรับต่อเน็ตอีกต่อไป
       
       กระนั้น ADSL ก็ยังมีข้อเสียอยู่ อันนี้ผู้ให้บริการ ADSL ไม่ได้บอกเอาไว้ และก็คงไม่แปลกที่จะไม่บอก ว่า
       
       1. คนที่อยู่ใกล้กับชุมสายโทรศัพท์ที่ให้บริการ ADSL เท่านั้น ที่จะได้รับประสิทธิภาพการเชื่อมต่ออย่างเต็มที่ กล่าวคือได้ความเร็วพอๆกับที่ทางไอเอสพีโฆษณาไว้
       
       2. ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต (ดาวน์สตรีม) กับความเร็วในการอัพโหลดข้อมูลขึ้นอินเทอร์เน็ต (อัพสตรีม) จะไม่เท่ากัน
       
       3. บริการ ADSL จะไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของตัวเทคโนโลยีเอง
       
       4. ไม่มีการรับประกันความเร็วขั้นต่ำ หากมีการใช้งานพร้อมกันหลายๆคน ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลก็จะถูกเฉลี่ยออกไป
       
       แพ้ระยะทาง
       
       รู้หรือเปล่าว่า ADSL เป็นเทคโนโลยีที่ไวต่อระยะทางอย่างยิ่ง ถ้าคุณอยู่ห่างจากชุมสายโทรศัพท์ที่ให้บริการ ADSL มาก คุณภาพและความเร็วในการเชื่อมต่อก็จะต่ำ แต่ถ้าคุณอยู่ติดกับชุมสายฯเลย คุณภาพกับความเร็วที่ได้ก็อาจจะถึง 100% เต็ม ตามทฤษฎีระยะของการให้บริการ ADSL จะอยู่ที่ประมาณ 5.46 กิโลเมตร แต่ไอเอสพีส่วนใหญ่จะจำกัดระยะให้สั้นลง ด้วยเหตุผลด้านคุณภาพและความเร็ว
       
       เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเซนซิทีฟ เพราะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคโดยตรง คุณคงไม่ยอมเสียเงิน 100% เพื่อแลกกับความเร็วไม่ถึง 10% หรอกจริงหรือเปล่า ดังนั้นผู้ให้บริการส่วนใหญ่จึงปกปิดข้อมูลส่วนนี้เป็นความลับ ไม่มีใครรู้ว่าชุมสายโทรศัพท์ไหนรองรับบริการ ADSL บ้าง เว้นแต่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง
       
       ถึงจะรู้ว่าชุมสายฯใดรองรับ ADSL แต่ระยะทางที่วัดได้จริงจากแผนที่ หรือในทางกายภาพ ก็หาใช่ระยะจริงของความยาวสายโทรศัพท์ที่ลากจากบ้านจนถึงชุมสายฯ หรือในทางลอจิก อยู่ดี เพราะการวางสายโทรศัพท์ย่อมต้องมีเลี้ยวลดคดเคี้ยววกวนขึ้นลงบ้าง ซึ่งความยาวสายส่วนใหญ่จะมากกว่าระยะทางที่วัดได้เสมอ และแน่นอนว่าระหว่างทางจะต้องมีการตัดต่อสายโทรศัพท์เข้ากับอุปกรณ์บางอย่าง จุดนี้ทำให้เกิดการอ่อนลงของสัญญาณ (Loss) ด้วย แม้อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ไปกว่า 1 เมตร แต่ก็อาจเทียบได้กับสายโทรศัพท์ที่ยาวนับสิบเมตรทีเดียว
       
       ตามทฤษฎีแล้ว เทคโนโลยี ADSL จะให้ความเร็วดาวน์สตรีมสูงสุดถึง 8 Mbps และอัพสตรีมสูงสุด 640 kbps ที่ระยะ 1.82 กิโลเมตร ดังนั้นการที่มีคนบ่นว่า ADSL ของผู้ให้บริการบางรายช้า ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลที่ได้จริงๆไม่เห็นตรงตามที่โฆษณาไว้เลย โปรดจงทราบไว้ว่า นั่นอาจเป็นผลจากระยะทางระหว่างบ้านคุณถึงชุมสายฯ ADSL และนี่คืออีกหนึ่งเหตุของ “เน็ตช้า”
       
       ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกที่ทำให้ “เน็ตช้า” เราจะมาต่อกันในคราวหน้า พร้อมกับเรื่องราวของ ADSL อีกเล็กน้อย

เน็ตช้า!!! ตอนที่ 3 “แชร์สปีด”
 
นอกจาก “โมเด็ม” และ “ระยะทาง” แล้ว ยังมีต้นเหตุอีกมากมายที่ทำให้ “เน็ตช้า”
       
       ข้อความตอนหนึ่งบนเว็บไซต์ของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (True Corporation) โพสต์เอาไว้ว่า “Hi-Speed Internet เป็นบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบแชร์สปีด อัตราความเร็วของอินเทอร์เน็ตจึงขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการ ณ เวลาขณะนั้น, การใช้งานในช่วงเวลาที่หนาแน่น 20.00-24.00 น. รวมทั้งการดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่พร้อมกัน อาจทำให้ความเร็วของอินเทอร์เน็ตลดลงได้, ความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อกับโครงข่าย ไม่ใช่ความเร็วของอินเทอร์เน็ตในการดาวน์โหลดและอัพโหลดข้อมูล” (อ้างอิงจาก True)
       
       “ความเร็วในการเชื่อมต่อคือความเร็วของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายของทรู ไม่ใช่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูล ความเร็วในการดาวน์โหลดที่แท้จริงอาจจะต่ำกว่าความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อที่สมัครใช้บริการไว้ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น สภาพและระยะทางของสายโทรศัพท์ภายในของผู้เช่า สภาพเครื่องคอมพิวเตอร์ ความเร็วในการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตและการติดขัดของข้อมูลอินเทอร์เน็ต รวมถึงอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์และเราเตอร์ของเว็บไซต์ที่คุณเข้าเยี่ยมชม และปัจจัยอื่นๆอีกหลายประการ” นี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อความจากเว็บไซต์ของ ทรู เช่นกัน (อ้างอิงจาก True)
       
       ทั้งสองข้อความสามารถนำไปใช้อธิบายเกี่ยวกับบริการ ADSL และบริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการรายอื่นได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะกับ ทรู เท่านั้น ซึ่งสรุปได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ “เน็ตช้า” คือ 1.จำนวนผู้ใช้บริการ ณ เวลาขณะนั้น 2.ความหนาแน่นของการใช้งาน 3.การดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่พร้อมกัน 4.สภาพและระยะทางของสายโทรศัพท์ 5.สภาพเครื่องคอมพิวเตอร์ 6.ความเร็วในการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ต 7.การติดขัดของข้อมูลอินเทอร์เน็ต และ 8.ภาระงาน หรือโหลด บนเซิร์ฟเวอร์และเราเตอร์ของเว็บไซต์ที่เข้าเยี่ยมชม
       
       คำถามก็คือ “อย่างไร???” และ “ทำไม???”
       
       ซึ่งต้องพิสูจน์
       
       ในทางทฤษฎีแล้ว กรณีที่มีการส่งข้อมูลพร้อมกัน ความเร็วในการรับส่งข้อมูล หรือแบนด์วิธ จะถูกเฉลี่ยไปตามจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่บนเครือข่ายนั้น เช่น คอมพิวเตอร์ 10 เครื่องบนเครือข่าย 100 Mbps ความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะได้รับคือ 100/10 = 10 Mbps นัยหนึ่งคือความเร็วจะเฉลี่ยไปตามจำนวนผู้ใช้งาน แม้เครือข่ายจะมีแบนด์วิธสูงสุดถึง 100 Mbps และเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เชื่อมต่อกับเครือข่ายด้วยท่อขนาด 100 Mbps ก็ตาม และเพราะอินเทอร์เน็ตคือเน็ตเวิร์คของเน็ตเวิร์ค ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ด้วยว่า การดาวน์โหลดข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจะเร็วหรือช้า ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต ณ เวลาขณะนั้น
       
       นั่นเป็นเหตุผลอย่างง่ายๆเพื่อให้เห็นภาพว่า “เน็ตช้า” ไปเกี่ยวข้องกับ “จำนวนผู้ใช้” ได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความหลากหลายและซับซ้อนกว่านั้น โดยเฉพาะกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย ADSL
       
       ถนนสาย ADSL
       
       “Hi-Speed Internet เป็นบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบแชร์สปีด” ข้อความนี้เป็นข้อความที่สมควรแก่การ “ซึ่งต้องพิสูจน์” อย่างยิ่ง หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ “แชร์อย่างไร??? ไหนทฤษฎีว่า ADSL ไม่แชร์???” ถ้าจะตอบคำถามนี้ จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะต้องเข้าใจขั้นตอนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย ADSL เสียก่อน
       
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย ADSL สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง 1. จากบ้านถึงชุมสายโทรศัพท์ 2. จากชุมสายฯถึงผู้ให้บริการ ADSL 3. จากผู้ให้บริการ ADSL ถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี และ 4. จากไอเอสพีถึงอินเทอร์เน็ตแบ็คโบน
       
       ท่อข้อมูลในช่วงที่ 1 จะเป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ADSL Modem ซึ่งติดตั้งอยู่ที่บ้านของผู้ใช้บริการแต่ละราย เข้ากับอุปกรณ์ที่เรียกว่า DSL Access Multiplexer (DSLAM) ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ชุมสายฯ การเชื่อมต่อในช่วงนี้จะเป็นแบบ 1 : 1 เป็นท่อของใครของมัน ไม่มีการ “แชร์” ซึ่งเป็นจริงตามที่ทฤษฎีว่าไว้< ส่วนขนาดจะเล็กหรือใหญ่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราสมัครแพ็คเกจอะไรไว้ เช่น แพ็คเกจ 256/128 kbps (Download/Upload) ก็จะได้ท่อขนาด 256 kbps หรือแพ็คเกจ 1,024/512 kbps ก็จะได้ท่อขนาด 1,024 kbps เป็นต้น
       
       เพราะแพ็คเกจที่เราสมัคร คือขนาดท่อที่ต่อระหว่างบ้านกับชุมสายฯ จึงไม่จำเป็นที่ปริมาณข้อมูลซึ่งไหลอยู่ภายในท่อจะต้องเร็วคงที่สม่ำเสมอตลอดเวลา เสมือนหนึ่งท่อน้ำและปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่บ้านของเรา มีเบาบ้างแรงบ้างเป็นบางช่วงเวลา ถ้าท่อของเราเป็นขนาด 256 kbps ปริมาณข้อมูลที่ไหลอยู่ในท่อจะเป็นเท่าไหร่ก็ได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 256 kbps
       
       นี่คือคำอธิบายว่าทำไมทางผู้ให้บริการจึงระบุว่า “ความเร็วในการเชื่อมต่อคือความเร็วของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายของทรู ไม่ใช่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูล”
       
       ช่วงที่ 2 ชุมสายฯ – ผู้ให้บริการ ADSL
       
       หน้าที่อันหนึ่งของ DSLAM คือรวมสัญญาณการเชื่อมต่อ ADSL จากผู้ใช้แต่ละรายเข้าด้วยกัน และส่งต่อไปยังเครือข่ายหลักของผู้ให้บริการ ADSL ผ่านท่อความเร็วสูง “แชร์สปีด” จะเกิดขึ้นที่นี่ ด้วยอัตราส่วนการแชร์ที่ทางผู้ให้บริการกำหนด อาจจะเป็น 1:20, 1:25, 1:50, 1:60, 1:100 หรือ 1:200 และอื่นๆอีกมากมาย
       
       เหตุผลที่ต้องแชร์ก็เพราะท่อราคาแพง ผู้ให้บริการต้องลงทุนสูง อัตราค่าบริการก็ต้องสูงตามต้นทุน ถ้าจะปรับลดค่าบริการให้อยู่ในระดับต่ำ ก็ต้องขยายฐานลูกค้าเพิ่ม เพื่อไม่ให้ขาดทุน ตามสูตรมาร์จิ้นต่ำโวลุ่มสูงที่นายกฯ ทักษิณ พูดอยู่เสมอๆ ก็เลยต้องแชร์
       
       สมมุติว่าท่อที่ต่อระหว่างชุมสายฯกับผู้ให้บริการ ADSL มีขนาด 4 Mbps และเราใช้แพ็คเกจ ADSL 256/128 kbps ซึ่งมีอัตราส่วนการแชร์เป็น 1:50 เหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง สิ่งแรกที่รับรู้ได้ก็คือ คุณต้องแย่งกับคนอีก 49 คนเพื่อให้ได้ความเร็วเต็ม 256 kbps
       
       กรณีที่คุณชนะและได้ความเร็ว 256 kbps มาอยู่ในมือ ประมาณว่า ณ ขณะนั้น ในกลุ่ม 50 คน มีคุณใช้อยู่คนเดียว (ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก) ก็มิได้หมายความว่าสปีดของคุณจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 Mbps จากการที่ท่อขนาด 256 kbps ของคุณต่ออยู่กับท่อไฮสปีด 4 Mbps ความเร็วสูงสุดที่คุณได้รับยังคงเป็น 256 kbps เท่าเดิม ซึ่งถูกจำกัดและควบคุมโดยระบบบริหารช่องทางการสื่อสารที่ซับซ้อนของผู้ให้บริการ เพื่อความเท่าเทียมและยุติธรรม
       
       ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าเราได้เต็มที่แค่ 256 kbps ตามแพ็คเกจที่สมัครไว้ แล้วแบนด์วิธที่เหลืออีกประมาณ 3.75 Mbps จากท่อขนาด 4 Mbps ล่ะเอาไปให้ใคร??? ก็เอาไปให้ลูกค้าคนอื่นใช้น่ะสิ ถ้าใช้ไม่หมดก็ปล่อยว่างไว้ (โอกาสเกิดขึ้นจริงน้อยมากอีกเหมือนกัน)
       
       สำหรับกรณีที่ดีที่สุด ทุกอย่างลงตัว คือคุณได้สปีดเต็ม 256 kbps และไม่เกิดการว่างของช่องการสื่อสาร กรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนใช้ไม่เกิน 16 คน เพราะท่อไฮสปีดขนาด 4 Mbps สามารถแบ่งย่อยเป็นท่อละ 256 kbps ได้ประมาณ 16 ท่อ หมายความว่า ณ ขณะเดียวกัน ถ้าใช้แพ็คเกจ 256/128 kbps เหมือนกันหมดและได้ความเร็วที่ 256 kbps เท่ากันทุกคนแล้ว จะต้องมีคนใช้ ณ ขณะนั้นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 16 คน
       
       แต่ถ้ามากกว่า หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุด ด้วยอัตราส่วน 1 : 50 นั่นหมายความว่าท่อขนาด 4 Mbps จะรองรับผู้ใช้บริการได้สูงสุดเป็น 50 x 16 = 800 คน ซึ่งความเร็วที่แต่ละคนจะได้รับคือ 4 Mbps / 800 คน = คนละ 5 kbps !!! ซึ่งต่ำกว่าโมเด็ม 56K (ไม่ต้องตกใจ โอกาสเกิดขึ้นจริงน้อยมากๆเช่นกัน และตัวเลขที่นำมาใช้ในการคำนวณครั้งนี้ก็เป็นตัวเลขที่สมมุติขึ้นทั้งสิ้น หาใช่ตัวเลขที่แท้จริงไม่ เพราะเป็นความลับของผู้ให้บริการแต่ละเจ้า)
       
       ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าความเร็วต่ำสุดจะเป็นเท่าไหร่ หรือตัวเลขที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร ประเด็นอยู่ที่ว่า 1. แม้สปีดในช่วงแรกของคุณจะไม่แชร์ แต่ช่วงที่ 2 บนถนนสาย ADSL คุณ “แชร์สปีด” แน่นอน และ 2. ไม่ว่าจะเป็นแพ็คเกจไหน 256/128, 512/256 หรือ 1024/512 ถ้าอัตราการแชร์เท่ากันแล้ว ก็เป็นไปได้ที่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจะเท่ากันทุกแพ็คเกจ และอย่าลืมว่านี่เป็นเพียงจุด “แชร์สปีด” จุดแรกเท่านั้น
 

 

เน็ตช้า!!! ตอนที่ 4 แบ็คโบน

 
      ตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย ADSL ว่ามีการ “แชร์สปีด” เกิดขึ้น แม้ในช่วงแรก จากบ้านถึงชุมสายโทรศัพท์ จะเป็นการเชื่อมต่อแบบ 1 : 1 แต่ช่วงที่ 2 จากชุมสายฯถึงเครือข่ายของผู้ให้บริการ ADSL จะมีการ “แชร์สปีด” กันตามอัตราส่วนที่ผู้ให้บริการกำหนด ซึ่งสรุปได้ว่า แพ็คเกจ ADSL ที่เราสมัคร ไม่ว่าจะเป็นแพ็คเกจไหน 256/128 (ดาวน์โหลด/อัพโหลด), 512/256 หรือ 1024/512 ตัวเลขดังกล่าวจะหมายถึงขนาดท่อที่ต่อเชื่อมจากบ้านถึงชุมสายฯ หาใช่ความเร็วของข้อมูลที่วิ่งอยู่ในท่อไม่ และถ้าอัตราการแชร์เท่ากันแล้ว ก็เป็นไปได้ที่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจะเท่ากันทุกแพ็คเกจ หรืออาจเท่ากับคนใช้โมเด็ม 56K!!!
       
       อีก 2 ช่วงที่เรายังไม่ได้พูดถึง คือช่วงจากเครือข่ายของผู้ให้บริการ ADSL ถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี และช่วงสุดท้ายคือจากไอเอสพีออกอินเทอร์เน็ต
       
       ADSL-ISP
       
       ช่วงจากเครือข่ายของผู้ให้บริการ ADSL ถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะถูกเชื่อมด้วยท่อไฮสปีดเช่นกัน ส่วนขนาดจะเป็นเท่าไหร่ ก็เป็นความลับอีกตามเคย อย่างไรก็ตามยังพอจะพิสูจน์ได้ว่ามี “แชร์สปีด” เกิดขึ้นในช่วงนี้
       
       จากข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทรูคอร์ปตั้งเป้าลูกค้า ADSL เอาไว้ 200,000 รายภายในสิ้นปีนี้ สมมุติว่าขนาดท่อที่เชื่อมระหว่าง ADSL ถึง ISP เป็น 256Mbps เท่ากับว่า ณ เวลาที่ลูกค้าทั้งหมดใช้งานอินเทอร์เน็ตพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นแพ็คเกจอะไร ก็จะได้ความเร็วเฉลี่ยไปคนละ 256Mbps/200,000 = 1.28kbps นั่นแสดงให้เห็นว่าที่นี่ก็มีการ “แชร์สปีด” เกิดขึ้น
       
       ถ้าจะถามว่าทำไมไม่ใช้ท่อที่มีขนาดใหญ่พอที่จะรับการใช้งานของลูกค้าทั้งหมดได้โดยไม่ต้องแชร์??? คำตอบก็เหมือนกับที่เคยได้อธิบายไปในคราวที่แล้วว่า “ท่อแพง” ถ้าไม่แชร์ ลูกค้าก็คงรับภาระค่าท่อกันไม่ไหว และถ้าจะให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวน้อยลง ก็ต้องแชร์ ยิ่งกำหนดให้ค่าบริการต่ำมากเท่าไหร่ อัตราการแชร์ก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้นเป็นเงาตามตัว
       
       ISP-Internet
       
       ช่วงสุดท้ายเป็นช่วงจากไอเอสพีออกสู่อินเทอร์เน็ต ช่วงนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือไอเอสพีเป็นจุดรวมของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกประเภท สองคือไอเอสพีเป็นที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์ในประเทศ และสุดท้ายคือท่อที่ต่อออกอินเทอร์เน็ตมี 2 ชุด ชุดแรกต่อผ่านเกตเวย์ของการสื่อสาร (CAT) และชุดที่ 2 ต่อออกต่างประเทศโดยตรง
       
       “ไอเอสพีเป็นที่รวมของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกประเภท” ข้อมูลนี้ทำให้เรารู้ว่า “แชร์สปีด” ตรงจุดนี้ ตัวหารไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ใช้ ADSL เท่านั้น แต่หมายถึงจำนวนลูกค้าผู้ใช้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมดของไอเอสพีเจ้านั้นๆ ทั้งไดอัลอัพโมเด็ม, เคเบิลโมเด็ม, ADSL ฯลฯ
       
       “ไอเอสพีเป็นที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์ในประเทศ” หมายความว่า ถ้าคุณเข้าเว็บในประเทศ คุณก็ไม่ต้องแชร์สปีดในช่วงสุดท้าย ซึ่งแน่นอนว่าความเร็วที่ได้ต้องสูงกว่าการเข้าเว็บต่างประเทศแน่นอน จุดนี้ทำให้เกิดคำใหม่บางคำขึ้นในประเทศไทย นั่นคือ “โลคอลเน็ต”
       
       โดยส่วนตัวแล้ว รู้สึกไม่ค่อยชอบคำ “โลคอลเน็ต” นัก เพราะเหมือนถูกหลอกและถูกเอาเปรียบ เพราะโดยสามัญสำนึกของคนทั่วไปแล้ว การต่อ “เน็ต” ควรต้องสามารถเข้าเว็บไซต์ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะฝากหรือโฮสต์ไว้กับเซิร์ฟเวอร์ในหรือนอกประเทศก็ตาม แต่ “โลคอลเน็ต” เข้าได้เฉพาะเว็บไซต์ที่โฮสต์ไว้ในประเทศเท่านั้น ในอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า “อินเทอร์เน็ต” ไม่มากนัก
       
        ถ้า “ความคุ้มค่า” จะหมายถึงจำนวนเว็บไซต์ที่ผู้ใช
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32706เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ไรจะอธิบายขนาดนั้นวะขี้เกียจอ่านมากวะมัยไม่บอกว่าต้องปรับตรงนั้นตรงนี้แค่นี้ก้อรู้โชร์อ๊อฟปะเนีย
ว่างๆช่วยเล่ารายละเอียดของGPRS ของมือถือหน่อยครับ ว่ามันทำไมสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ไวกว่า สายโทรศัพท์ทั่วไป ส่วนเรื่องเน็ตช้าอธิบายได้ละเอียดดีครับ

ตอนนี้ ที่สำนักงาน ใช้อินเตอร์เน็ต ความเร็ว 2 เม็ก  แต่แชร์ กันโดยต่อเล้าท์เตอร์ และ สายแลน มีจำนวนผู้ใช้ประมาณ 10 เครื่อง จะเช็คได้อย่างไร ว่า เครื่องไหน ใช้สปีดเท่าไร ขอบคุณค่ะ

ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจอ่าน blog ของผม แต่จากที่กล่าวไว้แต่ต้นว่า blog นี้จะนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับชุมชนประกายบรังสี โดยคัดเลือก และคัดลอกมาจากแหล่งที่น่าสนใจ ดังนั้นจึงต้องขออภัยด้วยที่ผมไม่สามารถตอบคำถามบางข้อได้ เพราะผมไม่ได้เป็นเจ้าของบทความนั้นเอง เพียงแต่อาจจะช่วยเสนอแนวทางในการตอบคำถามเท่านั้น เพียงหวังให้ทุกท่านร่วมช่วยกันพัฒนาให้ชุมชนแห่งนี้ก้าวหน้าต่อไป ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท