วชช. ตาก (18): หลักสูตรระยะสั้น "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน"


ในการประชุมพิจารณางบส่งเสริมป้องกันโรคที่จังหวัดพิษณุโลกเมื่อปีก่อน ผมได้รับมอบหมายจากนายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ให้เป็นแกนนำในการจัดทำหลักสูตรที่จะช่วยให้ "อสม." สามารถพัฒนาตนเองต่อยอดให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพได้ จนเกิดเป็นหลักสูตรนี้ขึ้นมา หลายคนเรียกหลักสูตรนี้ว่า "ซูเปอร์ อสม."

หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  

ชื่อหลักสูตร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (Health Leadership for Community health Volunteer)

หลักการและเหตุผล

จากกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และได้เกิดแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ตามกฎบัตรออตตาวา ที่มองสุขภาพอย่างกว้างขวาง สนใจสุขภาพแบบองค์รวมที่ไม่ใช่แค่สภาวะไร้โรคเท่านั้น สุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้แม้จะมีโรคร้ายหรือความพิการอยู่ในร่างกาย รวมทั้งการให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนโดยมองที่ปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมืองที่มีผลต่อสุขภาพโดยให้ความสำคัญต่อพลังของการเคลื่อนไหวทางสังคม แสวงหาการมีส่วนร่วมอย่างมากจากภาคส่วนต่างๆของสังคมเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจและเพิ่มพูนศักยภาพด้านสุขภาพให้กับสังคม ชุมชนและปัจเจกบุคคลโดยกำหนดแนวทางสำคัญ 5 ประการคือกำหนดนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ (Build healthy public policy) สร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน (Create supportive environments) เสริมความเข้มแข็งและกิจกรรมของชุมชน (Strengthen community action) พัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Develop personal skills) และปรับรูปแบบและการจัดการระบบบริการสุขภาพ (Reorient health services)

จากการประชุมการส่งเสริมสุขภาพโลกครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯได้มีการประกาศกฎบัตรกรุงเทพฯขึ้นมาอีกพร้อมทั้งกำหนดแนวทางสำคัญคือการก่อกระแสสังคมเพื่อสุขภาพบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การลงทุนด้านการกำหนดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติและโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อปัจจัยที่กำหนดสภาวะสุขภาพอย่างยั่งยืน การสร้างศักยภาพในด้านต่างๆอันได้แก่ การพัฒนานโยบายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ, ภาวะผู้นำ, การปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ, การส่งผ่านองค์ความรู้และการค้นคว้าวิจัยและความรอบรู้ทางด้านสุขภาพและการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและเกื้อกูลให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงสุขภาวะอย่างเท่าเทียม

    จากแนวคิดดังกล่าวมาผนวกกับแนวคิดการสาธารณสุขมูลฐานที่ได้มีการเชิญชวนประชาชนที่ยินดีสละเวลาของตนเองมาบริการเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการรักษาพยาบาลอย่างง่ายๆเบื้องต้น ให้สมัครเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง คนในครอบครัวและเพื่อนบ้าน ที่เรียกว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)และกำหนดบทบาทสำคัญของ อสม.ในการแก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน และทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี  ซึ่งการที่จะทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีด้านสุขภาพได้นั้นจะต้องมีความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงตนเองและกระตุ้นให้บุคคลอื่นๆในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีสุขภาพดีด้วยการเป็นผู้นำการสร้างสุขภาพ

ปรัชญาของหลักสูตร

พัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้เป็นผู้นำการสร้างสุขภาพและป้องกันโรค เป็นผู้ที่มีสุขภาวะและช่วยกระตุ้นให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ อันจะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีของประชาชน

คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการอบรม

                    5.1 มีประสบการณ์ในการทำงานเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอย่างน้อย 2 ปี

                        5.2 มีผลการปฏิบัติงานดี เป็นที่ยอมรับของชุมชน

                        5.3 เป็นผู้มีความประพฤติดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความเป็นผู้นำ

                        5.4 ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการที่ชุมชนมีส่วนร่วมและสมัครใจเข้ารับการฝึกอบรม

วัตถุประสงค์

                        6.1 เพื่อพัฒนาศักยภาพให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

                        6.2 เพื่อส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขให้ปฏิบัติงานเชิงรุก ในการส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่น/ชุมชน การดูแลเด็กผู้สูงอายุ คนพิการ และการเฝ้าระวังโรคในชุมชนได้ดียิ่งขึ้น

                        6.3 สามารถปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรทางสาขาอื่นๆ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

                        6.4 สามารถช่วยปฏิบัติงานและสนับสนุนกิจกรรมด้านสุขภาพของโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล

กรอบแนวคิดการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ อสม.

M1:

ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง

M2:

บทบาทผู้นำด้านสุขภาพในชุมชน

M3:

การทำงานพัฒนาสุขภาพในชุมชน

M4:

การป้องกันควบคุมโรคในชุมชน

M5:

การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน

R1:

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ

 

 

 

 

 

 

M=Module หน่วยการเรียนรู้

R=Result ผลลัพธ์ที่ต้องการ

2.   โครงสร้างหลักสูตร  หลักสูตร 3 เดือน (ไม่น้อยกว่า 375 ชั่วโมง) ทฤษฏี 75 ชั่วโมง  ปฏิบัติ 300 ชั่วโมง

ก.       หมวดวิชาทั่วไป                            15 ชั่วโมง

ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง                           15 ชั่วโมง

ข.      หมวดวิชาเฉพาะ

  1. 1. กลุ่มพื้นฐานวิชาชีพ                      25 ชั่วโมง

1.1      บทบาทผู้นำด้านสุขภาพในชุมชน                     10 ชั่วโมง

1.2      การทำงานพัฒนาสุขภาพในชน                        15 ชั่วโมง

  1. 2. กลุ่มวิชาชีพ                                35 ชั่วโมง

2.1 การป้องกันควบคุมโรคในชุมชน                             15 ชั่วโมง

2.2 การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน                                 20 ชั่วโมง

ค.      หมวดวิชาฝึกงาน

การฝึกปฏิบัติงาน                            300 ชั่วโมง

ระยะเวลาการฝึกอบรม                      3 เดือน (12สัปดาห์)

         ภาคทฤษฎี                                        2 สัปดาห์ (75 ชั่วโมง)

        การฝึกปฏิบัติ                                    10 สัปดาห์ (300ชั่วโมง)

เกณฑ์การประเมินผล

                        ผู้เข้าอบรมต้องมีเวลาศึกษาอบรม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะมีสิทธิเข้ารับการประเมินผล

                        ผู้เข้ารับการอบรมต้องได้คะแนนประเมินการฝึกอบรมภาคทฤษฎีไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 และภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60

รายละเอียดรายวิชา

1.  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (15 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์ ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องภาษาอังกฤษในงานสาธารณสุข ภาษาเพื่อการสื่อสารงานสาธารณสุข ภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลง จิตวิทยาการจูงใจคนและความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงบวก พร้อมทั้งนำแนวคิดต่างๆเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติจริงได้

คำอธิบายรายวิชา ศึกษาเกี่ยวกับภาษาอังกฤษในงานสาธารณสุข ภาษาเพื่อการสื่อสารงานสาธารณสุข ภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลง จิตวิทยาการจูงใจคนและความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงบวก

2.  บทบาทผู้นำด้านสุขภาพในชุมชน (10 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและจิตอาสา บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน การดำรงตนอย่างมีสุขภาวะเป็นตัวอย่างที่ดีต่อชุมชนและการเยี่ยมบ้านเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ตามหน้าที่ความรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น

คำอธิบายรายวิชา ศึกษาเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมและจิตอาสา บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน การดำรงตนอย่างมีสุขภาวะเป็นตัวอย่างที่ดีต่อชุมชนและการเยี่ยมบ้าน

3.  การทำงานพัฒนาสุขภาพในชุมชน (15 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์ให้มีความรู้ความเข้าใจการสร้างเครือข่ายและการทำงานเป็นทีม การใช้เครื่องมือชุมชนและแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ชุมชนและเข้าใจในเรื่องสุขภาพและระบบสุขภาพชุมชนเพื่อที่จะได้นำเอาแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในพื้นที่

คำอธิบายรายวิชา ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายและการทำงานเป็นทีม การใช้เครื่องมือชุมชนและแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ชุมชนและเข้าใจในเรื่องสุขภาพและระบบสุขภาพชุมชน

4.  การป้องกันควบคุมโรคในชุมชน (15 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการควบคุมป้องกันโรคในชุมชน การเฝ้าระวังโรคในชุมชน การฟื้นฟูสุขภาพในชุมชนเพื่อที่จะได้นำแนวคิดหลักการที่ได้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในพื้นที่

คำอธิบายรายวิชา ศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมป้องกันโรคในชุมชน การเฝ้าระวังโรคในชุมชน การฟื้นฟูสุขภาพในชุมชน

 การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน (20 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพในชุมชน  การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการในชุมชน    การให้คำปรึกษาสุขภาพ   สายสัมพันธ์แม่ลูกและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการให้สุขศึกษาและกระบวนการถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนเพื่อที่จะได้นำแนวคิดหลักการที่ได้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในพื้นที่

คำอธิบายรายวิชา ศึกษาเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพในชุมชน  การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการในชุมชน    การให้คำปรึกษาสุขภาพ   สายสัมพันธ์แม่ลูกและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการให้สุขศึกษาและกระบวนการถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชน

6.  การฝึกปฏิบัติงาน (300 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์เพื่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านได้มีทักษะในการพัฒนาตนเองและชุมชนด้านสุขภาพได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

คำอธิบายรายวิชา ฝึกปฏิบัติงานในหมู่บ้านโดยมีการมอบหมายงานต่างๆโดยการนำความรู้ที่ได้จากภาคทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ในชุมชนในการวางแผนปฏิบัติงานในหมู่บ้าน การสร้างทีมงานในชุมชน การให้การดูแลกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการ การติดตามดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคเช่นวัณโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การวิเคราะห์ปัญหาสาธารณสุขของหมู่บ้านเช่นไข้เลือดออก การฆ่าตัวตาย การใช้สารเคมีเกษตร เด็กอ้วนหรือปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆในพื้นที่ รวมทั้งการร่วมส่งเสริมกิจกรรมชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาพเช่น งานประเพณีปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ อาหารปลอดภัย เป็นต้น รวมทั้งสามารถประสานความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ของตนเองได้

หมายเลขบันทึก: 327017เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2010 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน คุณหมอ ที่เคารพ

ผมทำงานเป็นผู้รับผิดชอบงาน อสม.ของ จ.ชัยนาท ได้อ่านหลักสูตรนี้ของคุณหมอแล้ว นับว่าเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจเนื่องจาก หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ อสม.ส่วนใหญ่จะเน้นให้ อสม.เป็นหมอชาวบ้าน แต่ยังขาดการเสริมสร้างคุณลักษณะด้านภาวะผู้นำให้แก่ อสม. จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาหลักสูตรเสริมสร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่ อสม. โดยใช้แนวคิดทฤษฎีผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ Bass&Avolio มาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรนะครับ ขอความกรุณาต้องการได้รายละเอียดของหลักสูตรที่คุณหมอสร้างขึ้นมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรนะครับ ขอบคุณล่วงหน้านะครับ

ติดต่อคุณกิตติพัทธ์ ฝ่ายพัฒนาบุคคลากรฯ สสจ.ตาก ได้เลยครับ ที่ 055 518139 มีคู่มือการฝึกอบรมที่พิมพ์ไว้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะหมดหรือยัง แต่อาจขอเป็นไฟล์ต้นฉบับก็ได้ครับ

ขอบคุณมากนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท