เรื่องของสี...ที่ไม่ใช่แค่สีอีกต่อไป (ตอนที่ 2)


ประเด็นที่น่าสนใจของงานนี้ก็คือ เขาพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่าง Color กับ Design ว่าการเลือกซื้อของสักชิ้นของคนส่วนใหญ่นั้นเขาเลือกที่จะซื้อจาก “สีหรือดีไซน์” กันแน่

ถัดจากการบรรยายจากท่านอาจารย์ทั้งสองที่ได้บันทึกไปเมื่อวานนี้ อาจารย์ที่ขึ้นมาบรรยายต่อก็เป็นผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านสีที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง ก็คือ ดร.อรัญ   หาญสืบสาย ผลงานที่สำคัญของท่านที่อดพูดถึงไม่ได้คือ งานวิจัยเรื่องของการรับรู้สีของคนไทย ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นแบบให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอกอีกหลายคนได้ค้นคว้าและศึกษาวิจัยในเชิงลึกกันต่อไป

 

ในวันนี้ท่านอ.อรัญได้มาพูดถึงกลุ่มงานวิจัยเรื่องสีว่าแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นวิจัยเชิงกายภาพของสี ว่าด้วยเรื่องของการมองเห็นสี การรับรู้สี การสะท้อนแสงของสี ฯลฯ ส่วนมากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาวิจัยสีในด้านนี้ กลุ่มวิจัยด้านที่สองเป็นกลุ่มวิจัยสีในเชิงจิตวิทยา ซึ่งจะว่ากันในเรื่องของอิทธิพลของสีที่มีส่วนต่อการเลือกซื้อสินค้า เลือกรับรู้ หรืออื่นๆ ส่วนกลุ่มสุดท้ายจะเป็นกลุ่มที่ทำการศึกษาสีที่มีผลต่อสังคม เน้นศึกษาสีในมุมที่เกี่ยวข้องกับคน สังคม ชุมชน ความเชื่อ ฯลฯ (แนวสังคมศาสตร์) ซึ่งก่อนหน้านี้แนวการวิจัยมักจะเป็นสายตรง (Pure Science) เสียมากกว่า

 

แต่ในขณะนี้เริ่มเกิดความพยายามที่จะทำการวิจัยแบบผสมผสานศาสตร์ต่างๆ ที่เรียกว่า “สหวิทยาการ (Multidisciplinary Research)” กันให้มากขึ้น ซึ่งสหวิทยาการจะทำให้งานวิจัยเกิดการไขว้ศาสตร์กันและทำให้สามารถนำผลงานวิจัยนั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในสังคมได้อย่างจริงจังมากขึ้น (ประเด็นนี้ผู้เขียนเคยอ่านเจอในหนังสือรวมบทความการสัมมนาวิชาการเรื่อง เครือข่ายความรู้ข้ามศาสตร์จาก Transteam มาบ้าง และค่อนข้างเห็นด้วยกับวิธีคิดในแบบใหม่นี้)

 

เพราะเชื่อว่าหากเราใช้เพียงศาสตร์เดียวหรือศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งในการตอบคำถามนับล้านๆ คำถามที่เกิดขึ้นบนโลกนี้กันแต่เพียงอย่างเดียว ไม่นานมันก็จะถึงทางตัน เพราะศาสตร์เดียวไม่อาจตอบคำถามที่เกิดขึ้นได้ครบถ้วนแบบ 360 องศา แต่ถ้ามีการไขว้ศาสตร์ กันเกิดขึ้นในวงกว้าง ผู้เขียนเชื่อว่างานวิจัยที่ได้มานั้นจะมีประโยชน์อเนกอนันต์กว่าที่เป็นอยู่

 

อาจารย์อรัญเล่าให้ฟังว่าในปี 1999 ได้เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อศึกษาวิจัยงานด้านสีในระดับนานาชาติขึ้น โดยในช่วงแรกมีเพียง 10 ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไทย ไต้หวัน อังกฤษ สวีเดน สเปน ออสเตรเลีย และสาธารณรัฐเชค เป็นกลุ่มผู้ร่วมวิจัย 10 ประเทศแรก (แต่ในวันนี้มีมากกว่านั้นแล้ว) ซึ่งกลุ่มนักวิจัยนี้ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ International colour emotion research group และได้รับการสนับสนุนจาก JSPS.

 

งานวิจัยของกลุ่มนี้ที่น่าสนใจมีหลายเรื่อง เช่น งานวิจัย Cuisine Design เป็นงานที่ศึกษาเกี่ยวกับสีในอาหาร และสีจากอาหารของนักวิจัยจากไต้หวัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของ Sense stimulation งานวิจัยนี้ใช้วิธีจัดทำบัตรสีประกอบอาหารขึ้นเพื่อมาทำการทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผลที่ได้รับออกมาพบว่า สีที่พบในอาหารจีนมากที่สุดคือ กลุ่มสีแดง

 

งานวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมเช่น Pictograms Design ว่าด้วยการหาสีสัญลักษณ์ หรือสีมาตรฐานในกิจกรรมที่แตกต่างกัน เพราะเชื่อว่า สีในแต่ละกิจกรรมมีความสำคัญที่แตกต่างกันไปและอาจใช้ไม่เหมือนกัน  เช่น สีในทางการก่อสร้าง สีในการจราจร สีภายในอาคารหรือออฟฟิศ สีภายในอาคารสถานที่ต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากเรื่องของ Pictograms และสีของ Pictograms นั้นมีความหมายเป็นอย่างมากสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ หรือผู้ที่สายตาไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการทางสายตา หรืออื่นๆ ซึ่งในที่นี้ดร.อรัญยังได้ฝากประเด็นไว้ว่า ในเมืองไทยน่าจะมีผู้คิดทำงานวิจัยในเรื่องสีที่มีผลต่อผู้สูงอายุกันอีกเยอะๆ (เพื่อจัดทำ Pictograms ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในประเทศไทย)

 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ Japanese Product Design ศึกษาวิจัยในแง่ของการทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเห็นแล้วอยากซื้อของจากญี่ปุ่นชิ้นนั้นๆ ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องอิงพื้นฐานรสนิยมจากคนญี่ปุ่นขึ้นมาก่อน แล้วค่อยดำเนินการกับผู้คนจากมุมอื่นๆ ของโลก ประเด็นที่น่าสนใจของงานนี้ก็คือ เขาพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่าง Color กับ Design ว่าการเลือกซื้อของสักชิ้นของคนส่วนใหญ่นั้นเขาเลือกที่จะซื้อจาก “สีหรือดีไซน์” กันแน่

 

ถัดจากดร.อรัญก็เป็นทีมงานวิจัยจากพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายฯ จุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งกำลังศึกษาวิจัยเรื่อง “คำเรียกสีไทย (Thai Color Naming Research)” งานวิจัยชิ้นนี้ถือกำเนิดขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า คำเรียกสีของไทยกำลังจะหายไปจากสังคมไทย อีกทั้งการเรียกสีที่ไม่เหมือนกันในแต่ละภูมิภาคเป็นเรื่องที่น่าจะมีการบันทึกเก็บเอาไว้เป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสี เพื่อนำเสนอและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯต่อไป ซึ่งโครงการนี้มีระยะเวลาการศึกษาที่ค่อนข้างนาน (ประมาณปี 2552-2554) สิ่งที่ทีมงานนำมาเสนอในวันนี้จึงเป็นเรื่องของการเตรียมข้อมูลเบื้องต้นและผลการศึกษาที่มีบ้างแล้วในบางส่วนเท่านั้น อย่างเช่นการสำรวจคำเรียกสีของไทยนั้น ทางกลุ่มผู้ศึกษาได้ศึกษาคำต่างๆ ที่เรียกสีไทยออกมาได้ 362 คำ และได้ทำการจัดหมวดหมู่ออกเป็น 3 กลุ่มที่สำคัญคือ

กลุ่มคำเรียกสีที่ใช้ในงานจิตรกรรมไทย อาทิ แดงชาด / เสน / เขียวตังแซ / ม่วงชาด / เหลืองดิน / คราม / ขาบ / หมึก / หงส์ดิน

กลุ่มต่อมาคือกลุ่มคำเรียกสีที่ใช้ในงานโขน ซึ่งก็มักมีที่มาจากยี่ห้อของสีที่มีเข้ามาขายกันในสมัยนั้น

และกลุ่มที่สามคือ กลุ่มคำเรียกสีที่อ้างอิงมาจากวัตถุในธรรมชาติ เช่น สีแดงอิฐ / ชมพูบานเย็น / เขียวใบแค / เหลืองดอกราชพฤกษ์ / ม่วงดอกผักตบชวา / สีหมากสุก เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายงานที่ได้นำเสนอต่อในภาคบ่าย ซึ่งเป็นงานวิจัยในเรื่องของการรับรู้สีของผู้สูงอายุไทย ว่าสีใดที่ผู้สูงอายุไทยมีโอกาสเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้มากที่สุด การประยุกต์ใช้ผลจากงานวิจัยในลักษณะนี้ที่เห็นชัดเจนก็เช่น การดีไซน์รีโมททีวี ให้มีสีสันมากขึ้น จากเดิมมักจะมีโทนสีเพียงสีเดียว ในปัจจุบันจะพบว่า ทีวีรุ่นใหม่ๆ จะออกแบบรีโมทให้มีสีสันแตกต่างกันไปเพื่อให้การใช้งานง่ายขึ้น (ด้วยการจดจำเพียงแค่สี เช่นจะกดวีดีโอก็ปุ่มสีเหลือง เร่งเสียงปุ่มสีเขียว เป็นต้น) ส่วนงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่ไม่ได้หยิบยกมาบันทึกไว้ในที่นี้ก็เพราะผู้เขียนไม่สามารถเข้าถึงประเด็นเหล่านั้นได้จริงๆ เพราะหนักไปในเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จดจำนำกลับมาใช้ให้เข้ากับงานของตัวเองได้ดีจริงๆ ก็คือ เรื่องของการรับรู้การมองเห็น ที่คนมักเลือกที่จะจดจำ สี (Color) รูปร่าง (Shape) และ ขนาด (Size) กันมากที่สุด

หมายเลขบันทึก: 326309เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท