ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

พระพุทธเจ้าในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพระภิกษุเมืองโกสัมพี


                                     

                      การทำหน้าที่ในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางของพระพุทธเจ้าในกรณี “โกสัมพีศึกษา”[1] เป็นกรณีที่มี “ตัวแปร” มากกว่ากรณีสงครามน้ำ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรืออุณหภูมิของการทะเลาะวิวาทได้ขยายตัวจนไม่สามารถควบคุมได้ด้วยบุคคลอื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลอื่นที่กล่าวถึงคือ “พระพุทธเจ้า”

                      ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ประเด็นของการทะเลาะวิวาทได้ก่อตัวขึ้นจากพระธรรมกถึกและพระวินัยธรที่มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่อง “การเหลือน้ำชำระเอาไว้ในกระบวย” ว่า “เป็นอาบัติ หรือไม่เป็นอาบัติ” และการทะเลาะวิวาทได้ขยายตัวออกไปอีกเมื่อพระวินัยธรรม และสานุศิษย์ได้รวมตัวกันลง “อุปเขปนียกรรม” แก่พระธรรมกถึก 

                      จะเห็นว่าความขัดแย้งในประเด็นแรกยังไม่ยุติ ความขัดแย้งประเด็นที่สองก็เกิดขึ้นอีก กรณีนี้เป็นความขัดแย้งในประเด็นที่มองต่างกันว่า “นี้เป็นวินัย นี้ไม่ใช่วินัย” ที่สงฆ์ควรกระทำต่อกัน  จากความเห็นที่ขัดแย้งกันใน ๒ กรณีใหญ่จึงทำให้เกิดการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มของพระวินัยธร และพระธรรมกถึก อีกทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ขยายก็เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย

                      ในขณะที่บรรยากาศของความคิดเห็นที่คลุมเครืออยู่เช่นนี้ พระพุทธเจ้ามิได้เข้ามา “ชี้ถูกชี้ผิด” ตั้งแต่เริ่มเกิดความขัดแย้ง แต่หลังจากที่การทะเลาะวิวาทได้เริ่มก่อตัวมากขึ้นแล้ว พระองค์จึงได้เข้ามาทำหน้าที่ของการเป็นนักไกล่เกลี่ยอย่างเต็มรูปแบบ  กรณีนี้ผู้วิจัยคิดว่าคล้ายคลึงกับการตัดสินปัญหาตามที่ปรากฏในกรณีอื่น ๆ การที่พระองค์นำเสนอประเด็นข้อเสนอแนะต้องมีพระภิกษุได้เข้าไปทูลถามข้อขัดข้อง หลังจากนั้นพระองค์จึงให้ความเห็นเพื่อนำเสนอทางออก หรือตัดสินปัญหา แต่ในกรณีนี้กลับมิได้ปรากฏร่องรอยของการเข้าไปถามประเด็นดังกล่าวกับพระพุทธเจ้า

                      ประเด็นที่น่าวิเคราะห์สำหรับการทำหน้าที่ของนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางของพระองค์ก็คือ เมื่อทรงทราบเรื่องราวต่าง ๆ จากพระภิกษุที่เข้ามาทูลรายงานนั้น ทรงเริ่มต้นที่จะเข้าไปหาพระวินัยธร และลูกศิษย์ก่อน  หลังจากนั้นจึงได้เข้าไปหาลูกศิษย์ของพระธรรมกถึก  ซึ่งประเด็นนี้มีข้อที่น่าสังเกตดังนี้คือ

                      (๑) การเข้าไปหาพระวินัยธรและลูกศิษย์นั้น นอกจากจะตำหนิการลงอุปเขปนิยกรรมที่อาจทำให้เรื่องราวบานปลายจนทำให้สงฆ์แตกกันแล้ว ผู้วิจัยมองว่า น่าจะเป็นการ “ป้องปราม” พระวินัยธร และลูกศิษย์มากกว่า  เพราะทั้งพระองค์และพระวินัยธรก็ตระหนักดีกว่า “ต้นเหตุ” สำคัญนั้นเกิดขึ้นจากพระวินัยธรเป็นผู้จุดประเด็นก่อน

                      (๒) การเข้าไปหาลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกก่อน แทนที่จะเข้าไปหาพระธรรมกถึกโดยตรงก็เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาเช่นกัน ว่า เพราะเหตุไร จึงต้องทำเช่นนั้น  จากการศึกษาพบประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า พระองค์ได้ทรงแนะนำภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งควรเข้าไปหาพระภิกษุที่ตักเตือนได้ง่ายกว่า[2] โดยเหตุนี้จึงทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเข้าไปหาลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกก่อน ในขณะเดียวกันก็จะน่าจะเป็นการหวังผลโดยอ้อมที่จะให้ลูกศิษย์นั้นได้นำข้อเท็จจริงดังกล่าวไปบอกว่าอาจารย์ของตัวเองว่า “ท่านต้องอาบัติจริง” ตามที่พระพุทธเจ้าได้วินิจฉัยผ่านลูกศิษย์

                      อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระองค์จะใช้วิธีการ “โน้มน้าว” ในประเด็นดังกล่าว แต่หาได้เกิดผลในทางปฏิบัติไม่ เพราะพระภิกษุทั้งสองฝ่ายได้ทะเลาะวิวาทกันในโรงครัวจนนำไปสู่ความรุนแรงด้วยการตบตีกัน  พระพุทธเจ้าก็ได้เข้าไประงับเหตุดังกล่าว และสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในขณะนั้นก็คือ “การตำหนิ” การกระทำของพระภิกษุเหล่านั้น

                      ถึงกระนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จเข้าไปห้ามปรามอีก ๒ ครั้งว่า “อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย”  แต่พระภิกษุฝ่ายพระธรรมกถึกก็ได้ทูลพระพุทธเจ้าขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ว่า “ขอให้พระองค์โปรดรอไปก่อน ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิด...” อันเป็นการแสดงให้พระพุทธเจ้าได้ประจักษ์ว่า “พวกเราจะบาดหมาง ทะเลาะวิวาทกันต่อไป”

                      แต่ในครั้งที่ ๓ พระองค์ก็ยังไม่ทรงละความพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้แก่พระสงฆ์สองฝ่าย  ในครั้งนี้พระองค์ทรงนำเสนอข้อคิดโดยยกตัวอย่างของพระเจ้าทีฆาวุกุมารที่ไม่ผูกใจโกรธพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชที่ปลงพระชนม์พระราชบิดาของพระองค์ โดยได้ทรงสรุปในประเด็นนี้ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” และย้ำเน้นเพิ่มเติมว่า “การที่เธอบวชในพระธรรมวินัยนี้ ควรที่จะมีความอดทนและความสงบเสงี่ยมประดุจพระราชา”

                      อย่างไรก็ตาม พระภิกษุฝ่ายพระธรรมกถึกก็ยืนยันในเจตนารมณ์เดิมของตัวเองว่าจะทะเลาะวิวาทกันต่อไป  จนทำให้พระองค์ต้องดำริว่า “พวกโมฆบุรุษเหล่านี้ดื้อรั้นนัก จะทำให้สามัคคีกันไม่ใช่ง่าย”

                      จากกรณีดังกล่าวนี้ทำให้ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีของพระพุทธเจ้าว่า “เพราะเหตุไร  วิธีการโน้มน้าวจึงไม่บรรลุผล” ในขณะที่วิธีเดียวกันนี้เคยใช้ได้ผลในกรณีสงครามน้ำ  ผู้วิจัยคิดว่า น่าจะมาจาก “ตัวแปร” ต่อไปนี้

                      (๑) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีจำนวนมาก จึงทำให้ยากต่อการโน้มน้าวให้ทุกกลุ่มยอมรับให้เห็นคล้อยตามกันได้  เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้ เริ่มจากพระธรรมกถึก และพระวินัยธร ลูกศิษย์  เพื่อนสหธรรมิกในเมือง และชนบท ญาติโยมของแต่ละกลุ่ม ซึ่งบางคัมภีร์บอกว่ามีเทวดาเข้าไปร่วมด้วย ฉะนั้น จึงเป็นการยากที่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ไกล่เกลี่ยรูปเดียวจักสามารถจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาดังกล่าว

                      (๒) “ฐานรากของการของข้อพิพาท” นั้น ผู้วิจัยมองว่า “หยั่งรากลึก” จนกลายเป็นประเด็นเรื่อง “ทิฏฐิ” ที่ยากต่อการแก้ไข และนอกจากนั้น “มานะ” ซึ่งเป็นประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของ “หน้าตา”  “เกียรติ” และ “ศักดิ์ศรี” นั้นก็เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำงานอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งดังกล่าว  ฉะนั้น การแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ยั้งยืนต่อกรณีนี้ก็คือ การถอนรากเหง้าของความขัดแย้งภายใน” ออกไปจึงจะสามารถแก้ไขได้

                      จะเห็นว่า จุดเริ่มต้นของการใช้สันติวิธีในรูปของการ “เผชิญหน้า” เพื่อดำเนินการ “ประนีประนอม”พระภิกษุทั้งสองฝ่าย จนนำไปสู่การใช้วิธีการ “โน้มน้าว” ประสบ “ความล้มเหลว” พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงลดความพากเพียรในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเลือกใช้สันติวิธีในรูปของการ “การหลีกหนี” หรือ “หลีกเลี่ยง” ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่นักสันติวิธีมักนำมาใช้ในกรณีที่สถานการณ์กำลังสันสนวุ่นวายจนยากที่จะควบคุม  ฉะนั้น “การควบคุมที่ดีที่สุดก็คือการไม่ควบคุม”

                      เมื่อตัดสินพระทัยที่ใช้วิธีการดังกล่าว พระองค์จึงเก็บบาตรและจีวรเสด็จไปท่ามกลางสงฆ์แล้วประกาศว่า

“ภิกษุมีเสียงดังเป็นเสียงเดียวกัน  ที่จะรู้สึกว่าตนเป็นพาลนั้นไม่มีเลยสักรูปเดียว ยิ่งเมื่อสงฆ์แตกกันก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่น พวกเธอขาดสติ  แสดงตนว่าเป็นบัณฑิต เจ้าคารม พูดได้ตามที่ปรารถนา  จะยื่นปากพูดก็ไม่รู้สึกถึงการทะเลาะ... การเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า เพราะคุณเครื่องความเป็นสหายไม่มีในคนพาล  บุคคลนั้นพึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่ทำบาป...”

                      การตรัสในเชิงตำหนิในลักษณะนี้ย่อมเป็นการบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า พระองค์ได้ทรงตระเตรียมใช้กลยุทธ์ “หลีกเลี่ยง”  สอดรับกับพระดำรัสที่ตรัสว่าการเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า  ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ดูประหนึ่งว่า “ยอมแพ้”  ในความเป็นจริงแล้ว  หากกล่าวถึงยุทธวิธีในทางการทหารพบว่า “เป็นการแสดงออกให้ดูประหนึ่งว่าพ่ายแพ้เชิงกลยุทธ์ แต่ในความเป็นจริงเป็นการชนะในเชิงยุทธศาสตร์”

                      หลังจากนั้นพระองค์ทรงเสด็จไปเยี่ยมพระภคุที่พาลกโลณกคาม และพระอนุรุทธ พระนันทิยะ และพระกิมพิละที่ปาจีนวังสทายวัน และเสด็จเข้าไปปฏิบัติธรรมในป่าปาลิเลยยกะ โดยมีพญาช้าง และลิงคอยให้การอุปัฏฐาก  การแสดงออกในลักษณะนี้ทำให้ดูประหนึ่งว่าพระองค์เสด็จไปเยี่ยมพระภิกษุอันเป็นสิ่งที่พระองค์จะพึงทำเท่านั้น จนถึงการเข้าไปอยู่ในป่า  แต่กรณีนี้ผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่า นี่คือที่มาของคำว่า “แพ้ในเชิงกลยุทธ์ แต่ชนะเชิงยุทธศาสตร์”

                      สิ่งที่ต้องตระหนักคือ การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมเยียนพระภิกษุในที่ต่างๆ รวมไปถึงการเสด็จเข้าไปในป่านั้น เพียงเพราะต้องการ “รอเวลา” และ “รอโอกาส” ที่จะเอาชนะในทางยุทธศาสตร์  สิ่งที่สามารถตอกย้ำข้อสมมติฐานดังกล่าวก็คือ การที่พระองค์เลือกเสด็จไปกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล แทนที่จะย้อนกลับไปที่เมืองโกสัมพีอีกครั้ง

                      คำถามมีว่า พระองค์หวังผลเลิศในประเด็นใดจึงต้องเสด็จไปที่เมืองสาวัตถี และประทับอยู่ที่พระเชตวัน ซึ่งเป็นอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  คำตอบก็ปรากฏชัดยิ่งขึ้นเมื่อสถานการณ์ในกรุงโกสัมพีได้เกิดความปั่นป่วนขึ้น  เนื่องจากอุบาสกและอุบาสิกาได้ปรึกษาหารือกันว่าพระภิกษุเมืองโกสัมพีเป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องเสด็จหลีกหนีไปประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี  การแสดงออกของพระพุทธเจ้าในลักษณะดังกล่าวนับได้ว่ามีผลในทาง “จิตวิทยามวลชน” อย่างสูง จนทำให้ประชาชนไม่เคารพ กราบไหว้ และถวายอาหารบิณฑบาตแก่ภิกษุเมืองโกสัมพี

                      เมื่อสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้ พระภิกษุเมืองโกสัมพีก็พบกับ “ทางตัน” ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไม่สามารถจะพบทางออกได้ หากพระภิกษุทั้งสองฝ่ายไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในสถานการณ์เช่นนี้  บทสรุปที่ได้ก็คือ “เอาเถิด  พวกเราพึงเดินทางไปกรุงสาวัตถี แล้วระงับอธิกรณ์นี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า”

                      พระพุทธเจ้าทรงตระหนักถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแก่พระภิกษุเมืองโกสัมพีทั้งสองฝ่าย จึงได้ให้ย้ำเตือนให้สาวกทั้งหลาย เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ  และพระราหุล เป็นต้น ได้ “วางตนอยู่อย่างชอบธรรมเถิด” นอกจากนั้นก็ได้ตรัสให้อนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขาถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุทั้งสองฝ่ายตามปรกติ และสั่งให้พระสารีบุตรตระเตรียมที่พักอาศัย และวัตถุสิ่งของเครื่องใช้เอาไว้ให้พร้อม

                      การดำเนินการตระเตรียมสิ่งต่างๆ ดังกล่าวสอดรับการสมมติฐานที่ผู้วิจัยได้กล่าวในเบื้องต้นว่า “เป็นการหวังผลในเชิงยุทธศาสตร์”  ซึ่งพระองค์ไม่ได้ทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากแต่ทรงมุ่งหวังให้สังคมสงฆ์เป็น “สังคมแห่งสันติ” จะเห็นว่า เมื่อกล่าวถึงกระบวนการในเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางนั้น ไม่ได้หมายความว่า ต้องมุ่งเน้นวิธีการเพื่อ “ประนีประนอม” หรือ “โน้มน้าว” เท่านั้น หากแต่เป็นการดำรงสถานะของความเป็นคนกลางที่พร้อมจะเอื้อเฟื้อ สนับสนุน และเปิดเวทีให้คู่กรณีสามารถพบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันแบบ “ทวิภาคี” จนนำไปสู่การได้ข้อตกลงร่วมกันในที่สุด

                      การแสดงออกของพระพุทธเจ้าในบริบทต่าง ๆ ดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน จะเห็นว่า เมื่อพระภิกษุทั้งสองฝ่ายมาถึงนั้น แทนที่จะพบกับฝันร้ายดังที่เคยเกิดขึ้นในกรุงโกสัมพี  แต่กลับได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประชาชนและพระภิกษุในกรุงสาวัตถี  ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวนั้น จึงทำให้พระสงฆ์ในฝ่ายของพระธรรมกถึกต้องเริ่มต้นในการที่สร้างกระบวนการในการเจรจาไกล่เกลี่ยกันเองกับฝ่ายของพระวินัยธร จนเป็นที่มาของประกาศปฏิญญาที่มีชื่อว่า “สังฆสามัคคี” ร่วมกันท่ามกลางสงฆ์หมู่ใหญ่ อันทำให้ข้อพิพาทยุติลงในที่สุด

                      จากการทำหน้าที่ในการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางของพระพุทธเจ้าในกรณีนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า “อะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้บรรลุความสำเร็จ”  ผู้วิจัยมองว่าเกิดจากปัจจัย ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ

                      (๑) ปัจจัยทางสังคมวิทยา  ประเด็นนี้มีผล และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการตัดสินใจเข้าไปพบพระพุทธเจ้าของพระภิกษุทั้งสองฝ่าย เพราะถูกแรงกดดันจากประชาชนในกรุงโกสัมพีที่พากันตำหนิ และไม่เคารพ กราบไหว้ และบูชา พร้อมทั้งถวายอาหารบิณฑบาต  ซึ่งจัดได้ว่าเป็นมาตรการในการลงโทษทางสังคมที่รุนแรงมากประการหนึ่ง

                      (๒) ปัจจัยทางจิตวิทยา  การตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองโกสัมพี เพื่อไปในสถานที่ต่าง ๆ ก่อนที่จะไปประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีเป็นจุดสุดท้ายนั้น นับได้ว่าเป็นการสร้าง “จิตวิทยามวลชน” เพื่อโหมโรงให้เกิดกระแสย้อนกลับไปลงโทษพระภิกษุเมืองโกสัมพีทางอ้อม  เพราะประชาชนก็จะมองว่า สาเหตุที่พระพุทธเจ้าอยู่ในกรุงโกสัมพีไม่ได้จนต้องหนีไปอยู่ที่อื่นเพราะมีสาเหตุมาจากพระภิกษุในเมืองโกสัมพีทะเลาะวิวาทกัน

                      (๓) ปัจจัยทางจริยศาสตร์  ปัจจัยด้านนี้เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าพยายามกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้พระภิกษุที่ทะเลาะบาดหมางกันเกิดความสมานฉันท์  อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  และเป็นสังคมแห่งสังฆสามัคคี  ฉะนั้น การสร้างเวทีเพื่อพบปะ พูดคุย และแสวงหาทางออกเชิงสมานฉันท์จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับพระภิกษุทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้  กระบวนการสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “สังฆเสวนา” (Shangha’s Dialogue) ในเมืองสาวัตถีจนสามารถได้ข้อตกลงร่วมกันของพระภิกษุทั้งสองฝ่าย

 


     [1] ดูเพิ่มเติมใน โกสัมพิยสูตรในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทิฏฐิ  ม.มู. (ไทย) ๑๒/๕๙๓-๕๙๙/๕๓๓-๕๓๖. ม.มู.อ. ๒/๔๙๓-๕๐๐/๓๐๘-๓๑๒.

     [2] ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๓๕/๔๕.

 

ผู้สนใจดูเนื้อหาเพิ่มเติมจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน
http://www.mcu.ac.th/site/thesisdetails.php?thesis=254818

หมายเลขบันทึก: 326307เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีที่นำมาแสดงในเชิงความรู้ในกรอบวิชาการสมัยใหม่ แต่การที่ทรงทำหรือจะทำอะไรนั้นน่าจะเกินกว่าที่ปุถุชนจะคาดการณ์ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท