SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

บันทึกเส้นทาง ตาม‘ลูกพ่อไทย’ กลับเข้าทะเบียนราษฎร (ตอน 2)-ม.7 วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551


เราหวังว่า ทุกความพยายามในกรณีของ ‘น้อย บะไห’ จะสามารถนำไปสู่ ‘ต้นแบบ’ หรือสิ่งที่ใกล้เคียงกับต้นแบบของการพาลูก พ่อ(สัญชาติ)ไทย กลับเข้าทะเบียนบ้าน-(ม.7 วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551)

บันทึกเส้นทาง ตาม‘ลูกพ่อไทย’ กลับเข้าทะเบียนราษฎร(ตอน 2)

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT)[i]

7 สิงหาคม 2552 เพิ่มเติม 8 มกราคม 2553

 

ตามหาพยาน

ก่อนเราจะเดินทางไปบ้านบะไห เราได้นัดหมายเพื่อขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร รศ.ดร.โกสุม จันทร์ศิริ หลังจากที่อาจารย์โกสุม ดูผลการตรวจดีเอ็นเอของน้อยแล้วให้ความเห็นยืนยันว่า น้อยและสมคิดเกิดจากพ่อและแม่เดียวกัน และเห็นว่าผลการตรวจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือโรงเรียนแหทย์ทุกแห่งนั้นมีความน่าเชื่อถือ

 

“โดยหลักแล้ว วิทยาศาสตร์ มันมีแค่ขาวกับดำ กรณีการตรวจดีเอ็นเอพ่อ-แม่-ลูกเพื่อพิสูจน์นั้น มันมีแค่ว่า ถ้าไม่ 100% ก็ 0% ถ้าไม่ใช่ขาวก็ดำ กรณีของน้อย ความน่าเชื่อถืออยู่ที่กว่า 93% (คำนวณจากผลการตรวจดีเอ็นเอ โดยภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) เชื่อได้แล้วว่าเขาเป็นพ่อ-ลูกกันจริง”

รศ.ดร.โกสุม จันทร์ศิริ,  ผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2552

 

ในวันที่เราไปลงหมู่บ้าน ก่อนเราจะนั่งคุยกับน้อย เราได้พบและพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านและเพื่อนบ้านของน้อย สมาชิกชุมชนแห่งนี้บอกว่าพวกเขารู้จักไสว เพราะก่อนหน้านี้ไสวก็ไป-มา ระหว่างฝั่งลาวและบ้านบะไห เพื่อมาเยี่ยมฉลอง และบอกว่าน้อยเป็นลูกของไสวและสายสมร ที่ย้ายครอบครัวมาจากประเทศลาว

ฉลอง ยืนยันว่า น้อยเป็นลูกของไสว เพราะทุกครั้งที่มาเยี่ยม ไสวก็มักเล่าถึงครอบครัวที่ฝั่งลาวให้ฟัง และในวันที่พี่ชายพาครอบครัวย้ายมาจากลาว ต่อให้เขาไม่เคยเห็นน้อย, ลูกคนอื่นๆ รวมถึงแม่ของน้อยมาก่อน แต่ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างอื่น

เราใช้เวลาไม่นานเลยกับการตรวจพยานเอกสารของน้อย เพราะมันไม่ปรากฏว่ามีอย่างอื่นอีก มีเพียงท.ร.38/1, ผลการตรวจดีเอ็นเอระหว่างน้อยกับสมคิด, เอกสารของสมคิดและฉลอง ซึ่งเชื่อมโยงถึงน้อย ผ่าน“นามสกุล”เดียวกัน

เราเดินไปที่โรงเรียนบ้านบะไห ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านน้อย น้อยเคยเรียนที่นี่ เราเจอครูที่เคยสอนน้อยและผู้อำนวยการโรงเรียน ครูจำน้อยได้ และยืนยันว่าน้อยเป็นลูกของไสว

ดูเหมือนเราจะมีพยานบุคคลจำนวนหนึ่ง คือสมาชิกชุมชนบ้านบะไหแห่งนี้ พวกเขาเชื่อว่าน้อยเป็นลูกของไสว เพราะไสวบอกไว้เช่นนั้น และจากพฤติกรรมของไสวตลอดระยะเวลาที่เขามีชีวิตอยู่

 

พื้นที่เล็กๆ ของลูกพ่อไทย แต่ไร้สัญชาติ-แบบน้อย

“ผมอยากรู้ว่า พ่อผมเป็นคนไทย แต่ทำไมผมยังไร้สัญชาติ ..ผมมีผลดีเอ็นเอที่ตรวจพิสูจน์กับน้องชายผม ซึ่งอำเภอเป็นคนสั่งให้ไปตรวจด้วยซ้ำ ผลก็บอกว่าเราสองคนเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน แล้วทำไมอำเภอยังไม่ยอมให้ผมเป็นคนไทย”

ประสิทธิ์ จำปาขาว, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ที่บ้านบะไห ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

 

ในวันที่เราได้เจอกับน้อย เขาเล่าว่าถึงความพยายามที่จะไปตรวจดีเอ็นเอ เขาต้องกู้ยืมเงินจากเพื่อนบ้านและคนที่รู้จัก รวบรวมจนได้เงิน 8,000 บาทสำหรับค่าเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานี ไปยังจังหวัดขอนแก่น และค่าตรวจดีเอ็นเอ ทุกวันนี้น้อยยังไม่ได้คืนเงินให้กับเจ้าหนี้คนไหน ..แม้แต่บาทเดียว

บ้านของน้อย ดูทรุดโทรมและรูปทรงออกจะเอียงๆ มันตั้งอยู่ใกล้บ้านของอาฉลอง ด้วยความช่วยเหลือของฉลองและเพื่อนบ้าน น้อยและสมคิดจึงมีเสื้อผ้า อาหารพอปะทังชีวิต น้อยทำหน้าที่เปิด-ปิดน้ำให้กับวัดใกล้บ้าน เขายังออกรับจ้างทำงานทุกอย่างในบริเวณหมู่บ้านบะไห รวมๆ กันแล้ว ค่าตอบแทนที่ได้รับต่อเดือนนั้นไม่กี่ร้อยบาท สำหรับเขาและน้องชาย

น้อยอยากไปทำงานนอกหมู่บ้าน ในตัวเมืองหรือเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ น่าจะมีงานที่ตอบแทนค่าแรงเขาได้สูงกว่านี้ แต่น้อยออกไป“ข้างนอก” ไม่ได้ เพราะน้อยกลัวถูกจับ ท.ร.38/1 นั้นหมดอายุไปนานแล้ว ถ้าถูกจับมันคงวุ่นวายไม่น้อย เพราะตำรวจอาจส่งตัวน้อยให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อส่งตัวน้อยออกนอกประเทศไทย ด้วยข้อสันนิษฐานทางกฎหมายที่ว่าเขาเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย (มาตรา 54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522) น้อยเลยไม่เคยไปไหนไกลกว่าบ้านบะไห เว้นแต่มีใครจัดการพาเขาออกไป

น้อยเคยอยากเรียนหนังสือ แต่ด้วยข้อจำกัดของการดำรงชีวิต เขาเกือบจะลืมความฝันนี้ไปแล้ว อนาคตไกลๆ เป็นไปได้ว่า สมคิดที่เติบโตขึ้น อาจต้องเป็นฝ่ายดูแลชีวิตของน้อย-ผู้เป็นพี่ชาย แต่ใครเล่าจะรู้ว่า ชีวิตมันจะลงตัวแบบนั้นง่ายๆ ได้จริง?

บัตรประชาชน(คนไทย) หรือทะเบียนบ้านประเภทคนไทย (ท.ร.14) อาจเป็นแค่เอกสารประกอบการสมัครเรียน สมัครงาน หรือทำนิติกรรมฯลฯ สำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนไร้สัญชาติอย่างน้อยแล้ว การมีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.14, มีประชาชน มันหมายถึงประตูบานใหม่ที่จะเปิดออกไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม ทั้งสำหรับเขาและน้องชาย

 

ความพยายาม ‘บังคับใช้กฎหมายที่เป็นอยู่’

“เด็กเป็นมนุษย์ผู้อ่อนแอ จะต้องปฏิบัติต่อเขาอย่างมนุษย์และเด็ก ส่วนจะเป็นลูกพ่อไทยหรือไม่ บางกรณีอาจยังไม่ทราบ ไม่รู้ ก็ต้องรอการพิสูจน์ แต่ในกรณีที่รู้ชัดเจนว่าเขาเป็นพ่อ-ลูก การรอที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการรอการรับรองผลการพิสูจน์ ซึ่งต้องมองเขาอย่าง ‘คนสัญชาติไทย’เพราะเขาได้รับการพิสูจน์แล้ว”

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่ปรึกษาของ SWIT, ความเห็นผ่าน MSN, วันที่ 7 สิงหาคม 2552

 

แม้ผลตรวจดีเอ็นเอของน้อยและสมคิดจะทำให้เชื่อได้ว่าเขาเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกันจริง แต่มันยังไม่มีผลใดๆ ในทางกฎหมาย เพราะพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ระบุว่า เด็กสามารถมีสัญชาติไทยตามพ่อ แม้ว่าพ่อจะไม่ใช่พ่อโดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่วิธีการพิสูจน์ความสัมพันธ์ว่าเป็นพ่อ-ลูกกันจริงนั้น จะต้องรอหลักเกณฑ์จากกฎกระทรวงกำหนด (มาตรา 7 วรรคสอง) แต่กฎกระทรวงก็ยังไม่ถูกประกาศบังคับใช้ แม้ว่าจะเป็นเวลาร่วม 1 ปี 6 เดือนแล้วนับแต่วันที่กฎหมายสัญชาติฉบับที่ 4 บังคับใช้

แต่มากไปกว่าการนั่งรอให้กฎกระทรวงออกมา ความพยายามของเราก็คือ เราทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อัยการจังหวัดอุบลราชธานี สถานีตำรวจภูธรโขงเจียม ด่านตรวจคนเข้าเมืองโขงเจียม และสำเนาถึงองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง อธิบายและสร้างความเข้าใจถึงสถานะบุคคลตามกฎหมายของน้อย และเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์ว่าเป็นคนไทย อันเนื่องมาจากเป็นลูกของพ่อไทยตามกฎหมายใหม่ เด็กหญิงหรือเด็กชาย, เขาหรือเธอจะต้องไม่ถูกตำรวจจับ จะต้องไม่ถูกดำเนินคดีฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย และจะต้องไม่ถูกส่งออกไปนอกประเทศไทย เพียงเพราะกฎกระทรวงยังไม่ออกมาบังคับใช้ (สฝร.ที่ 12/2552 ลว 30 กรกฎาคม 2552) พร้อมๆ กันไป เราพยายามติดตามเนื้อหาของร่างกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 7 วรรค 2 ฯลฯ

 

ความพยายามของเล็กๆ น้อยๆ ข้างต้น มันย่อมเทียบไม่ได้เลยกับความพยายามที่จะอดทนและก้าวให้พ้นจากผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นกับเด็กหรือลูกของพ่อ(ผู้มีสัญชาติ)ไทย ที่ยังไม่ได้การรับรองว่าเป็นคนไทย วันเดือนปีของเด็กเหล่านี้ยาวนานกว่าเด็กทั่วไป เพราะมันเจือปนไปด้วยความสงสัย ความสิ้นหวัง สลับกับความหวังและการพยายามหาทางออก

เราหวังว่า ทุกความพยายามในกรณีของ ‘น้อย บะไห’ จะสามารถนำไปสู่ ‘ต้นแบบ’ หรือสิ่งที่ใกล้เคียงกับต้นแบบของการพาลูก พ่อ(สัญชาติ)ไทย กลับเข้าทะเบียนบ้าน

 

 

ฉบับภาษาอังกฤษ

 http://www.ethicsinaction.asia/archive/2009-ethics-in-action/vol.-3-no.-4-august-2009


[i] การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในกรณี ‘น้อย บะไห’นี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง SWIT กับโครงการบางกอกคลีนิคเพื่อการให้คำปรึกษาด้านสถานะและสิทธิของบุคคล และขอบคุณรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กรุณาช่วยอ่านอย่างละเอียดและให้คำแนะนำ

หมายเลขบันทึก: 325924เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท