Open will: วัดร่ำเปิง กับ Experiential learning


การฝึกสติไม่ใช่้การฝึกให้เป็นคนทำอะไรช้าๆ แต่การฝึกสติ เปรียบเสมือนการฝึกถ่ายรูป คนที่ยังถ่ายรูปไม่ค่อยเป็นจะถ่ายรถขณะวิ่งเร็วๆ ได้ไหม แต่ถ้ารถยิ่งเคลื่อนช้า ก็ยิ่งฝึกถ่ายรูปได้หลายครั้ง

เหตุนำ  
     ความโชคดีประการหนึ่งที่อยู่ในเชียงใหม่ คือสามารถหาที่่ปฎิบัติธรรมได้ไม่ยากจนเกินไป แต่ตามประสาใกล้เกลือกินด่างจึงผลัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา.. ปีใหม่มีวันหยุดยาวปีนี้ ฉันมีจิตใจเป็นกลาง ค่อนไปทางสบายใจด้วยเรื่องต่างๆ ค่อยข้างจะเข้าที่เข้าทาง น่าจะเป็นโอกาสดีรีบเข้าเริ่มต้นศึกษา จะได้เป็น Primary prevention  หากรอให้จิตใจเศร้าหมองเป็นทุกข์แล้วก่อนเข้าวัด ฉันไม่แน่ใจว่าตัวเองจะทำ Secondary prevention ได้สำเร็จหรือเปล่า..
   เป้าหมายของฉันยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลับมาทำงานทางโลกอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม และอยากรู้ว่าคนที่แทบไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะอย่างฉัน จะเรียนรู้จากการปฎิบัติ ได้บ้างหรือไม่..
   เหตุที่ฉันเลือกวัดร่ำเปิง เป็นสถานที่เริ่มต้น ในการปฎิบัตินั้น ก็ด้วยเหตุผลสองประการ
1. มีคนแนะนำ  แต่บอกตามจริง ตอนนั้น ฉันไม่รู้หรอกว่า หลักสติปัฎฐาน 4 คืออะไร
2. อยู่ไม่ไกลจากบ้านเกินไปนัก เผื่อไว้ว่าหากแนวปฎิบัติถูกจริต ก็จะได้ไปได้บ่อยๆ ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์
  
ประทับใจแรก
   เช้าวันแรก ไปถึงตั้งแต่ 6.45 ได้เข้าร่วมรับประทานอาหารเช้าด้วย ที่นี่เริ่มอาหารเช้าประมาณ 6.30 น. สิ่งแรกที่ผิดคาดคือ ในช่วงปีใหม่อย่างนี้ มีคนเข้าวัดปฎิบัติจำนวนมาก จนล้นหอฉันออกมาข้างนอก  จำนวนห้องพักซึ่งปกติจะให้พักเดี่ยว ก็ต้องพักคู่...สิ่งนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี โดยเฉพาะส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว 20-35 ปี ( ผู้หญิง: ผู้ชาย น่าจะประมาณ 6:1)
   ตามระเบียบปฎิบัติ ผู้เข้ามาปฎิบัติใหม่ จะต้องรับกรรมฐาน สมาธานศีล 8 ก่อน ตอนประมาณ 8 โมง..แล้วฉันก็ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่จะได้เจอกันอีกหลายครั้ง นั่นคือ "ปวดขา" จากการนั้งท่าเทพธิดา..
   สุขแรกที่สัมผัสได้ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มปฎิบัติ คือการได้ปิดมือถือ ไม่ต้องพูดกับใคร.. ไม่ใช่ฉันรังเกียจการอยู่ในสังคม เพียงแต่เพิ่งรู้ว่าการไม่ต้องพะวงในการโต้ตอบกับใครนั้นสบายเพียงไร มีเวลาได้ใช้สติในการมองตนเองอย่างแท้จริง...นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การปฎิบัติที่วัดดีกว่าที่บ้าน..

อยู่อย่างปัจเจกชนในชุมชนที่รู้หน้าที่ :
     วัดร่ำเปิง มีการจัดระเบียบในการฝึกฝนให้อย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน  หลังจาก "ปฐมนิเทศ" แล้ว ก็ยังมอบหมายใบบันทึกและให้ไปสอบอารมณ์กับพระวิปัสนาจารย์ทุกวัน ครั้งละสั้นๆ ไม่เกิน 10 นาที การสอบอารมณ์เป็นการ reflect ว่า ในขณะปฎิบัติรู้สึกอย่างไร ประสบปัญหาอย่างไร แล้ววิปัสนาจารย์ท่านก็จะแนะนำ รวมทั้งให้"การบ้าน" เป็นจำนวนชั่วโมงเดินจงกรมและนั่งสมาธิที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น..ส่วนนี้ทำให้ฉันอดฟุ้งนึกไปถึงการค่อยๆปรับ dose ยาไม่ได้..
     สิ่งที่ฉันนิยมอย่างหนึ่ง คือ การอยู่แบบปัจเจกชนอย่างเป็นชุมชนผู้รู้หน้าที่...แม้แต่ละคนที่มาปฎิบัติจะไม่จับกลุ่มพูดคุยกัน..สื่อสารกันได้เฉพาะเท่าที่จำเป็น..แต่พบว่า ไม่เคยมีการแซงคิวหรือแก่งแย่ง..ห้องน้ำรวมทุกห้องของวัดจะสะอาดอยู่เสมอ ลานปฎิบัติธรรมจะได้รับการเก็บกวาดทั้งก่อนและหลังปฎิบัติ  ห้องพักนั้นผู้อยู่มาก่อนจะเก็บกวาดล้างห้องน้ำอย่างดี ไม่ให้ต้องเดือนร้อนแม่ชีและสามเณร..สังคมอุดมคติ คงเกิดได้หากทุกคนมีสติในการดำรงชีวิต
     กิจกรรมที่รวมกลุ่ม ได้แก่ทำวัตรเช้าและรับประทานอาหารเช้า (4.30- 7.30)  ฉันเพล (10.30-11.30) และำทำวัตรเย็นและปฎิบัติธรรมรวม ( 6.00-22.00)..อาหารมีทั้งอาหารมังสวิรัติและอาหารคาวปกติ สำหรับฉันแล้วแถวไหนสั้นกว่าก็เอาอันนั้น..ท่านพระีีครูเขียนในหนังสือว่า..การบริโำำภคเนื้อหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับการลดนิวรณ์และมีสติ
     แต่ละคนสามารถแยกไปตามอัธยาศัย..ไม่มีใครคุม ต้องมีวินัยในตนเอง..แม้แต่กิจกรรมกลุ่ม ใครไม่มาร่วมก็ไม่มีใครตามไปบังคับให้มา...บทสวดมนต์หนึ่งที่ยังติดตราตรึงใจฉันอยู่ไม่เลือน..." คนเราเกิดมาต่างก็มีทุกข์กันคนละมากแล้ว ข้าพเจ้าขอไม่เพิ่มทุกข์ใดๆ ให้เขาอีกเลย "..จริงสิ เรามักจะกลัวทุกข์เกิดกับตนเอง แต่กลับไม่ระวังในการสร้างทุกข์ให้กับผู้อื่น.. 

สติปัฎฐาน 4
    ในส่วนหลักการปฎิบัติ ตามการรับรู้เท่าที่สติปัญญาฉันมีในขณะนี้ พอสรุปได้ว่า         การปฎิบัติหลักมีสามอย่าง ได้แก่การกราบสติปัฎฐาน การเดินจงกรม และการนั้งสมาธิ  กับการปฎิบัติในอิริยาบถย่อย ได้แก่ ขณะใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เดินเข้าออกที่พัก การรับประทานอาหาร เป็นต้น
     โดยให้ตั้งสติพิจารณา "ตาม" สิ่งที่เกิดขึ้นตามจริง ในน 4 ฐาน ได้แก่
     กาย : เป็นการกำหนดรู้อิริยาบถต่างๆ  ในขณะนั้งสมาธิก็กำหนดดูการเคลื่อนไหวของหน้าท้อง- พองหนอยุบหนอ - ตอนแรกฉันรู้สึกว่ายากมาก..จับไม่ได้เลย..ซึ่งท่านพระวิปัสนาจารย์ท่านก็บอกว่าเป็นธรรมดาของคนฝึกใหม่ๆ อันเป็นความจริง พอในวันที่สองที่สาม ฉันก็ค่อยๆ เห็นชัดขึ้นๆ แม้การหายใจจะเบาและยาวกว่าเดิม
    เวทนา, จิต และธรรม : เหล่านี้ฉันยังไม่ค่อยกระจ่างว่าจะแยกแต่ละประเภทจากกันอย่างไร  แต่เข้าใจว่าเป็นการกำหนดรู้ความรู้สึกต่างๆ..พอเริ่มปวดก็ภาวนาว่า "ปวดหนอๆ" พอได้ยินเสียงคุยก็ภาวนาว่า "ได้ยินหนอๆ" พอเริ่มคิดถึงงาน หรือจินตนาการ ก็ภาวนาว่า "คิดหนอๆ" กำหนดรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตามจริง โดยพยายามไม่ปรุงแต่ง หรือถ้ามันเกิดความรู้สึกชอบไม่ชอบอย่างไรซะแล้ว ก็ให้ตามรู้มัน เช่น นั่งในที่เย็นๆ แล้วรู้สึกสบายอยากหลับ ก็ภาวนา "สบายหนอๆ" ตามด้วย"ง่วงหนอๆ"..
   สิ่งที่พบ พอกำหนดรู้แล้ว จึงรู้ว่า อาการปวด..แม้ไม่ต้องขยับ..ตามมันไปสักพักก็หายไปเองได้...อาการง่วง หากตามรู้ทันไม่งีบไปซะก่อน กลับหายง่วงไปเลย..จริงๆแล้ว หากการกำหนดอย่างว่องไว จะพบว่ามีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น (ไม่ใช่นิมิต แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจนี่เอง) ก็ไม่น่าจะหลับได้เลย..ยิ่งนั่งยิ่งพบว่าใจเบา สบาย สดชื่น
   ฉันเคยเรียนถามพระอาจารย์เจ้าอาวาสว่า..หากเราต้องการฝึกสติให้ว่องไว การเดินช้าๆ ทำอะไรช้าๆ จะฝึกได้อย่างไร..ท่านก็กรุณายกตัวอย่างอันแยบคายว่า...การฝึกสติไม่ใช่้การฝึกให้เป็นคนทำอะไรช้าๆ แต่การฝึกสติ เปรียบเสมือนการฝึกถ่ายรูป คนที่ยังถ่ายรูปไม่ค่อยเป็นจะถ่ายรถขณะวิ่งเร็วๆ ได้ไหม แต่ถ้ารถยิ่งเคลื่อนช้า ก็ยิ่งฝึกถ่ายรูปได้หลายครั้ง....    

บทสรุป
  ฉันตั้งใจว่า ต่อไป อาจขอสัก 1-2 วันอาทิตย์ของเดือนในการขออยู่กับตัวเอง ถือว่า เป็นวัน "ล้างทำความสะอาดใจ" ก็แล้วกัน ..เปรียบเหมือนการวิ่งในทางที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันอันวุ่นวายในโลกนี้  ก็เห็นแต่ความเปื้อนของคนอื่น ทั้งที่รถเรานี้เองก็เปื้อนและอาจเปื้อนเยอะกว่าด้วย แต่ไ่ม่เคยได้หยุดสังเกตเลย
  การเรียนรู้บางอย่าง ไม่สามารถเรียนได้ด้วยการอ่าน การฟัง การคิด หากแต่ต้องลงมือปฎิบัติและสัมผัสด้วยตนเอง..

   http://www.watrampoeng.com/

หมายเลขบันทึก: 324718เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2010 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มาสวัสดีปีใหม่คุณหมอปัทมาเเละอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วยค่ะ เริ่มต้นปีใหม่ด้วยการปฏิบัติธรรมถือว่าที่สุดเเล้วนะคะ ขอให้ปีนี้คุณหมอพบเจอเเต่สิ่งดีดีตลอดปีเเละตลอดไปค่ะ...พี่กุ้ง

สวัสดีปีใหม่คะ พี่กุ้งนาง และขอบคุณสำหรับ สคส รูปครอบครัวน่ารัำกๆ

..." คนเราเกิดมาต่างก็มีทุกข์กันคนละมากแล้ว ข้าพเจ้าขอไม่เพิ่มทุกข์ใดๆ ให้เขาอีกเลย "..จริงสิ เรามักจะกลัวทุกข์เกิดกับตนเอง แต่กลับไม่ระวังในการสร้างทุกข์ให้กับผู้อื่น..

ชอบมากครับ

เราสามารถที่จะฝึกปฏิบัติได้ตลอดเวลาและโดยเฉพาะสถานการณืที่พึงใจ-ไม่พึงใจ ขอให้เจริญในธรรมครับ

หนูจะไปวัดวัดร่ำเปิงในช่วงปิดเทอมประมาณ 4-5วัน แต่ว่าหนูจะไปบวชคนเดียวค่ะ เพราะว่าเพื่อนๆกลับบ้านกันหมด ไม่รู้ว่าดีมั๊ยอะค่ะ ช่วยให้คำแนะนำหน่อยนะค่ะ ว่าควรทำอย่างไรบ้างในการไปบวช ขอบคุณค่ะ

ถึงน้องไม่แสดงตน (เอ๋ยังไง) การเข้าไปปฎิบัติคนเดียว ดีที่มีสมาธิมากขึ้น อยู่กับตัวเองมากขึ้น

ที่วัดจะเปิดรับผู้เข้าปฎิบัติใหม่ ทุกเช้า ก่อน 7.45 น.ควรไปถึงวัดแล้ว เตรียมดอกบัว 11 ดอก กับธุป เทียน (สำหรับเราไว้ไหว้พระเอง)

โชคดีนะคะ

การไปปฏิบัติธรรม ขอแนะนำว่าให้ไปคนเดียว ถ้าไปกับเพื่อน จะได้น้อย เพราะเราจะมีจิตพะวงอยู่กับเพื่อน

แล้วการกำหนดอิริยาบทย่อย แทบจะทำไม่ได้ เพราะเราจะมีความสงสัยอยากรู้อยากเห็นว่าเพื่อนปฏิบัติเป็นยังไง

แล้วเราจะมานั่งคุยกับเพื่อนแทนการกำหนดสติ แล้วตอนเข้าห้องก็จะมานั่งคุยกันแทนที่จะไปพักผ่อน หรือปฏิบัติต่อ

สรุปสั้นๆ ไปคนเดียวดีที่สุด

จาก... ไปมาเหมือนกัน

รบกวนสอบถามหน่อยค่ะ ถ้าจะไปบวชสักสามเดือน ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ค่ะ ถ้าเสีย เสียอย่างไรค่ะ แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท