Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แนวคิดและแนวปฏิบัติในการยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นแรงงานในสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานไทยขาดแคลน


จะเห็นว่า คำสำคัญที่ HRC ใช้ในประเด็นคำถามนี้ ก็คือ (๑) แรงงานอพยพ ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า (๒) สถานการณ์และการปฏิบัติ ละ (๓) หลักการและเงื่อนไขในการส่งออกไปจากประเทศไทย ผู้ศึกษาจึงมีความเห็นว่า รายงานประเทศฯ จึงควรจะให้ข้อมูลแก่ HRC ใน ๔ ประเด็น กล่าวคือ (๑) แนวคิดของรัฐไทยเกี่ยวกับการส่งบุคคลออกไปจากประเทศไทยโดยทั่วไป และ (๒) แนวคิดและแนวปฏิบัติในการยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นคนหนีภัยความตาย (๓) แนวคิดและแนวปฏิบัติในการยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นแรงงานในสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานไทยขาดแคลน และ (๔) แนวคิดและแนวปฏิบัติในการส่งคนจากพม่าที่มีปัญหาสถานะบุคคลออกไปจากประเทศไทย

                ปกติประเพณีลักษณะที่สองที่รัฐไทยใช้ในการจัดการประชากรชายขอบเพราะไร้รัฐ  ก็คือ การยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นแรงงานในสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานไทยขาดแคลน  ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มต้นประเพณีการจัดการดังกล่าวนี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ สำหรับแรงงานไร้รัฐย้ายถิ่นที่ยอมแสดงตนเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานเมื่อมีนโยบายของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมไทย จะเห็นว่า นโยบายในปกติประเพณีที่สองนี้มิใช่เรื่องเพื่อมนุษยธรรมดังเช่นในกรณีแรก แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเอง แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการแรงงานไร้รัฐย้ายถิ่นในลักษณะนี้จะส่งผลดีทั้งต่อประเทศไทยซึ่งมีปัญหาความขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ และต่อตัวแรงงานไร้รัฐย้ายถิ่นเองที่จะได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาความไร้สถานะทางกฎหมายที่เผชิญอยู่ ซึ่งแนวคิดและแนวปฏิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ ยุทธศาสตร์ย่อยของยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗ และได้รับการขยายผลต่อมาในอีกหลายมติคณะรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน[1]

             เพื่อปรับสถานภาพแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย จุดเริ่มต้นก็คือ “การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว” โดยมีขั้นตอนปฏิบัติการสำคัญ ๔ ประการ กล่าวคือ (๑) การแสดงตนต่อนายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเพื่อการบันทึกตัวตนของแรงงานอพยพไร้รัฐตามขั้นตอนที่กำหนดตามกฎหมายไทยว่าด้วยทะเบียนราษฎร อันทำให้แรงงานอพยพดังกล่าวได้รับสถานะราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราว สภาวะความไร้รัฐจึงสิ้นสุด เหลืออยู่เพียงสภาวะความไร้สถานะตามกฎหมายสัญชาติ และความไร้สถานะที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง ให้ต้องแก้ปัญหาต่อไป (๒) การร้องขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามที่กำหนดในกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว อันทำให้แรงงานไร้รัฐย้ายถิ่นมีสถานะเป็นคนทำงานถูกกฎหมาย (๓) การเข้าสู่สิทธิในหลักประกันสุขภาพ อันทำให้แรงงานไร้รัฐย้ายถิ่นมีสถานะเป็นคนที่มีหลักประกันสุขภาพ และ (๔) การไปพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางตามขั้นตอนที่กำหนดในบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและประเทศต้นทางของแรงงานไร้รัฐย้ายถิ่น อันทำให้บุคคลดังกล่าวได้รับการยอมรับว่า มีสถานะเป็นคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของประเทศต้นทาง

                  ขอให้ตระหนักว่า หากแรงงานไร้รัฐย้ายถิ่นผ่านกระบวนการทั้ง ๔ ขั้นตอนดังกล่าว บุคคลดังกล่าวก็จะได้รับการขจัดปัญหาทั้งความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายทั้ง ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) พ้นจากความไร้รัฐ เพราะได้รับการบันทึกตัวตนในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะแรงงานต่างด้าว และในทะเบียนราษฎรของรัฐต้นทางในสถานะคนสัญชาติ (๒) พ้นจากความไร้สัญชาติ เพราะได้รับการยอมรับสิทธิในสัญชาติจากรัฐต้นทาง และ (๓) พ้นจากความเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองไทยผิดกฎหมาย เพราะได้รับอนุญาตให้สิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ตราบเท่าที่ยังทำงานในประเทศไทย

                      เราพบว่า ส่วนใหญ่ของแรงงานไร้รัฐย้ายถิ่นในประเทศไทย ก็คือ คนชายขอบในความห่วงใยของ HRC อันได้แก่ บุคคลที่ HRC เรียกว่า “แรงงานอพยพจากพม่า (migrant workers from Myanmar)” นั่นเอง บุคคลที่ยอมรับขึ้นทะเบียนแรงงานตามกฎหมายไทย ก็จะได้รับการยอมรับในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย โดยรัฐนี้จะออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (Identification Paper) ให้ และเอกสารนี้ย่อมหมายว่า บุคคลดังกล่าวมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย หรือกล่าวโดยง่ายว่า มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราว บัตรประจำตัวบุคคลที่ออกให้มีชื่อว่า “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” แม้จะยังไม่ยอมรับในสถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐต้นทาง อันทำให้ตกเป็นคนไร้สัญชาติ แต่ก็ไม่ไร้รัฐ เพราะประเทศไทยซึ่งรัฐเจ้าของดินแดนที่ทำงาน ยอมรับให้สถานะคนอาศัยอยู่ถูกกฎหมาย

                      โดยมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดระบบแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน เราสังเกตเห็นแนวคิดและแนวปฏิบัติที่จะยอมรับให้สิทธิอาศัยชั่วคราวแก่แรงงานต่างด้าวย้ายถิ่นไร้รัฐจากประเทศเพื่อนบ้านมาตลอด แม้จะมีความระมัดระวังอย่างมากที่จะผูกพันให้สิทธิเข้าเมืองแก่บุคคลดังกล่าว ผลของตรรกวิทยาดังกล่าวนี้จึงทำให้แรงงานนี้จึงมีสถานะเป็น “แรงงานต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว แต่ไม่มีสิทธิเข้าเมือง” อันทำให้ไม่มีเสรีภาพที่จะเดินทางไปทั่วประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นคราวๆ ไป

                        แต่อย่างไรก็ตาม  ใน พ.ศ.๒๕๕๒ นี้ คณะรัฐมนตรียืนยันที่จะผลักดันแรงงานย้ายถิ่นไร้รัฐที่ปฏิเสธที่จะไปพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ แต่ในกรณีของแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วกับประเทศต้นทาง คณะรัฐมนตรีก็ยอมรับสิทธิอาศัยในประเทศไทยเพื่อทำงานได้ต่อไปอีกอย่างน้อย ๔ ปี และมีเสรีภาพที่จะเดินทางได้ในประเทศไทยโดยไม่ต้องขออนุญาต ความเป็นไปได้ที่คนเหล่านี้จะอาศัยและทำงานในประเทศไทยในวาระต่อไปก็เป็นไปตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศในเรื่องคนเข้าเมือง ซึ่งจะต้องไม่ลืมว่า ภายหลังกระบวนการจัดการปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่แรงงานไร้รัฐย้ายถิ่นเหล่านี้แล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมจะมีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐต้นทางในทะเบียนราษฎรของรัฐต้นทาง มิใช่เพียงแค่สถานะบุคคลตามกฎหมายที่เป็นนามธรรมเท่านั้น หรือแม้ในกรณีที่การพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางไม่ผ่าน บุคคลดังกล่าวก็ย่อมจะได้รับการกำหนดและพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่เหมาะสมกับสัมพันธภาพกับประเทศไทยที่แต่ละบุคคลมีอยู่ ดังนั้น ในท้ายที่สุดของกระบวนการจัดการปัญหาความไร้สถานะทางกฎหมาย แรงงานย้ายถิ่นไร้รัฐย่อมจะได้รับการเยียวยาปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ เพียงแต่ระยะเวลาของการจัดการปัญหาของแต่ละบุคคลอาจใช้เวลาที่ไม่เท่ากัน หากยุทธศาสตร์การจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ไม่อาจนำแรงงานต่างด้าวย้ายถิ่นไร้รัฐกลับสู่ความเป็นคนสัญชาติของประเทศต้นทางได้ บุคคลดังกล่าวก็จะตกเป็นคนไร้สัญชาติที่ไม่อาจได้รับการยอมรับจากรัฐใดเลย นอกจากรัฐไทย ยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ จึงต้องถูกนำมาจัดการปัญหาสถานะบุคคลให้แก่แรงงานย้ายถิ่นที่ประสบความล้มเหลวในการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง

 


[1] ซึ่งยุทธศาสตร์นี้มีมาตรการย่อย ๗ ประการ กล่าวคือ (๑.) ยุทธศาสตร์การจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว หลักการคือ ปรับสถานภาพแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยเปิดโอกาสให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวมารายงานตัวเพื่อจะส่งรายชื่อให้ประเทศต้นทางพิสูจน์และรับรองสถานะเพื่อปรับเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป (๒.) ยุทธศาสตร์การกำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานต่างด้าว หลักการคือ คุ้มครองตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานแรงงานต่างด้าวเช่นเดียวกับแรงงานไทย (๓.) ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำงาน ใช้กองกำลังป้องกันชายแดนเป็นหลักเพิ่มเติมด้วยกำลังไม่เกินกองร้อยทหารราบ/ทหารม้าเฉพาะกิจ สำหรับพื้นที่ชุมชนชั้นในเสนอให้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจประกอบด้วยหน่วยที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด (๔.) ยุทธศาสตร์การปราบปราม จับกุม ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง หลักการคือ เพิ่มความเข้มข้นด้านการข่าว มุ่งเน้นการปราบปรามจับกุมนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมาย (๕.) ยุทธศาสตร์การผลักดันและส่งกลับแรงงานต่างด้าว มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติ ๒ ส่วน ส่วนแรกคือ เสนอจัดตั้งศูนย์พักรอการส่งกลับเพื่อรองรับศูนย์ละ ๕,๐๐๐ คน ในพื้นที่ ๓ แห่ง คือ จังหวัดตาก เชียงรายและระนอง ทั้งนี้ เนื่องจากห้องกักเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการจับกุมที่จะต้องมีมากขึ้นในอนาคต  และส่วนที่สองคือ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวเพื่อจัดเก็บประวัติแรงงานที่ถูกจับกุมอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบควบคุมที่มีประสิทธิภาพ (๖.) ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์การจัดระบบแรงงานต่างด้าว สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาร่วมกัน (๗.) ยุทธศาสตร์การติดตามและประเมินผล กำหนดแผนและตัวชี้วัดอย่างเป็นระบบ โดยจะติดตามประเมินผลใน ๑ ปี

หมายเลขบันทึก: 324638เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2010 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมคิดเหมือนอาจารย์เลยครับ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็เท่าเทียมกัน เวลากินโรตีทีไรก็สงสารเขาเหมือนกันนะ (ต้องอยู่อย่างอยากๆ หลบๆซ่อนๆ)

ในมุมมอง Productivity Concept ถ้ารัฐมีกระบวนการจัดการที่ดี ยังจะมีรายได้เพิ่มจากการเก็บภาษีเงินได้จากคนกลุ่มนี้ด้วยครับ

เพียงแต่ต้องหากระบวนการจัดการดีๆ เพราะอาจมีบางส่วนอาจเป็นปัญหาต่อด้านความมั่นคง ทางฝ่ายการเมืองคงคิดมุมนี้หนักอยู่เหมือนกันครับ

ย้อนภาพกลับไปสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก มีเชลยศึกไทยถูกกวาดต้อนไปเป็นตัวสร้าง Productivity ให้พม่าตั้งเยอะ แต่เดี๋ยวนี้กลับคิดกลับมุมกัน ก็แปลกไปอีกแบบนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท