ชื่นชมคณาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มช. ลุกขึ้นมาโต้แย้ง (๘) มุมมองต่อ TQF (๕ – จบ)


 

ตอนที่ ๑           ตอนที่ ๒            ตอนที่ ๓


ตอนที่ ๔          ตอนที่ ๕             ตอนที่ ๖

 

ตอนที่ ๗

 

ข้อจำกัดที่กำลังเกิดขึ้นจากกรอบ TQF ของประเทศไทย (๔ – จบ)

สรุป


          การปฏิรูประบบการอุดมศึกษาตามกรอบ TQF เกิดขึ้นในบริบทสถานการณ์ที่ต้องการปรับตัวต่อการแข่งขันทางด้านการศึกษากับต่างประเทศ ต้องการจะทำให้ระบบการศึกษาของประเทศแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในตลาดเสรีได้ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่กรอบมาตรฐาน TQF จำวิ่งตามสถานการณ์ที่โลกถูกครอบงำไปด้วยการสร้างแรงจูงใจแห่งการแสวงหากำไร มองการศึกษาบนพื้นฐานการตลาด การทำให้การศึกษาเป็นสินค้าของกลุ่มประเทศตะวันตก การสร้าง“ชุดความคิด”ใหม่ว่าด้วยความต้องการ “เรียนรู้ตลอดชีวิต” และการทำให้อุดมศึกษาเป็นสากล ในฐานะ “สินค้าส่งออก” (export commodity) ประเภทหนึ่ง

          อย่างไรก็ตาม การกำหนดกรอบ TQF ของประเทศไทยนั้น แม้ว่าจำต้องปรับตัวตามกระแสโลกและอาจช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยได้ในบางส่วน แต่เราก็ไม่ควรเดินตามหุบเหวแห่งปัญหาที่ก็กำลังมองเห็นจากกรณีตัวอย่างของต่างประเทศหลายประเทศทรากำลังอยู่ในภาวะตีบตันกันอยู่มาก ขณะที่เราควรจะนำปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาปรับปรุง มองเห็นข้อจำกัดต่างๆ และแสวงหา “ทางเลือก” ที่เหมาะสมต่อการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการพัฒนาพลเมืองที่ดีของประเทศและเป้าหมายที่ควรเป็นไปเพื่อสังคมส่วนรวมด้วย 

          บทความนี้ได้เสนอว่า กรอบ TQF ปัจจุบันมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ คือ1) ข้อจำกัดในเรื่อง ความลักลั่นขัดแย้งในเป้าหมายของ TQF ระหว่างความต้องการให้เกิดการเทียบเคียงคุณวุฒิในระดับสากล กับเป้าหมายการสร้างระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ที่จากเดิมจะพัฒนาการอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นสากล กลับกลายเป็นว่า TQF คือ “เครื่องมือในการควบคุมคนทำงาน” ควบคุมคุณภาพการศึกษาอีกชั้นหนึ่งนอกเหนือจากระบบการประกันคุณภาพอื่นๆ ที่กำลังมีอยู่ 2) ข้อจำกัดต่อการทำความเข้าใจในปรัชญาและลักษณะการเรียนการสอน โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ที่ไม่ให้ “คุณค่า” ต่อศาสตร์สาระที่มุ่งหมายให้ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองคุณประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม 3) ข้อจำกัดในการกำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ (Domain of learning outcome) ที่นำเอาความเฉพาะเจาะจงของบางศาสตร์สาขา เช่น การวิเคราะห์เชิงตัวเลขและสารสนเทศ และระบบคุณค่าที่มีความเป็นนามธรรมและสัมพัทธนิยมสูง (คุณธรรม จริยธรรม) มาเป็นหลักสากลบังคับใช้กับทุกศาสตร์สาขา 4) ข้อจำกัด เรื่อง ขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา ที่ทำให้เกิดคำถามว่า มาตรฐานผลการเรียนรู้กับวิธีการประเมินคุณภาพสอดคล้องกันหรือไม่และสามารถทำให้เกิดการประเมินคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพและตอบรับกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่อย่างไร เพราะการกรอกเอกสารมคอ.ทั้งหลายกลับกลายเป็นการกรอกโดยผู้สอน เน้นแต่การบันทึกการทำงานของผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งหมายถึง เป็นการประเมินทางเดียว และเป็นการประเมิน “การสอน”มากกว่า “การเรียนรู้”  ขณะที่การประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินการเรียนการสอนควรออกแบบเพื่อตอบสนองต่อมาตรฐานผลการเรียนรู้ ที่จะเปลี่ยนวิธีเรียนรู้จากการสอนไปเน้นการเรียนรู้มากขึ้น และมีเป้าหมายอยู่ที่ “ผู้เรียนรู้” เพื่อที่จะวัดผลผู้เรียนรู้มากขึ้น และ 5) ข้อจำกัดต่อการประกันคุณภาพหลักสูตรโดยใช้เกณฑ์บ่งชี้ผลการทำงานที่เป็นการสร้างเกณฑ์ที่มองแบบผิวเผินเกินไปหรือไม่ และไม่ได้สะท้อนสาระสำคัญเชิงความคิด และสดุท้ายอาจไม่ได้ตอบคำถามเลยว่าเป้าหมายของมหาวิทยาลัยต้องการผลิตบัณฑิตออกไปเพื่ออะไรกันแน่ 

          ข้อจำกัดดังกล่าว กำลังกลายเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอาจกลายเป็น “ดาบสองคม” ที่บั่นทอนการพัฒนาระบบการอุดมศึกษาของเราเองก็เป็นได้ ในสภาวะที่สถาบันอุดมศึกษากำลังถูกกัดกร่อนด้วยบริบทสถานการณ์การแปลงการศึกษาให้เป็นสินค้า ตลาดการศึกษาเพื่อการค้า และนำเอาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาขึ้นมาใช้ โดยเชื่อว่า จะทำให้ระบบการศึกษาของเราแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในตลาดเสรีได้  ในกระแสเช่นนี้ เราอาจจะเรียก นักวิชาการ คณาจารย์ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยปัจจุบันว่า เป็นพวก “ชนชั้นแรงงานขายความรู้” (a new class of ‘knowledge workers’ ดังที่ Peter Scott 1  จากมหาวิทยาลัย Kingston แห่งประเทศอังกฤษ กำลังมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักวิชาการและวงการการศึกษาของประเทศอังกฤษที่ต้องตอบสนองต่อสังคมการตลาด ความต้องการของตลาดและสังคมแห่งความรู้ที่กำลังถูกลดทอนคุณค่าของความรู้และความเป็นมนุษย์ในยุคตลาดเสรี 

          ในแง่นี้ หากเราตระหนักถึงดาบสองคมที่กำลังเกิดขึ้นจากบทเรียนในต่างประเทศที่กำลังประสบในตะวันตก ในยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เราจะยอมปล่อยให้พลเมืองของชาติตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการสูญเสียศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์เช่นนั้นหรือ ศักยภาพที่จะรังสรรค์วัฒนธรรม ความคิดในเชิงวิพากษ์ ความเป็นมนุษย์ที่อ่อนไหวต่อจิตใจ ในการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน เรียนรู้ทำความเข้าใจต่อผู้คนทางสังคม มหาวิทยาลัยไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบผลประโยชน์ของตัวเอง หรือเพื่อผลประโยชน์ของคนทำงานในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ผลประโยชน์ที่จำกัดอยู่แค่ตัวนักศึกษาที่มีโอกาสได้เข้าเรียนเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยควรต้องทำหน้าที่เตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนในการสร้างจิตสำนึกเรื่องส่วนร่วม และมหาวิทยาลัยควรเป็น “ประภาคารทางปัญญา” 2 เป็นที่สถิตย์ขององค์ความรู้ที่สังคมจะพึ่งพาอาศัยไปสร้างประโยชน์อย่างต่อเนื่องได้ ไม่ว่า การให้การพึ่งพิงโดยตรง หรือผลิตบัณฑิตออกไปให้เป็นที่พึ่งแก่สังคมได้ด้วยเช่นกัน  
 


 

1 Peter Scott เขียนบทความ เรื่อง The academic profession in a knowledge society โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.portlandpress.com/pp/books/online/fyos/083/0019/0830019.pdf


2 เสกสรรค์ ประเสิรฐกุล จิตสำนึกอาจารย์กับจิตวิญญาณมหาวิทยาลัย ใน วารสารธรรมศาสตร์ปีที่ 28 ฉบับที่ 1, 2552: 5-18


 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ธ.ค. ๕๒

                                      

 

หมายเลขบันทึก: 322818เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2009 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท