การบริหาร (Administration)


การบริหาร (Administration)

การบริหาร (Administration)

         “การบริหาร” ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Administration” คำนี้นิยมใช้กับองค์การทางรัฐกิจ หรือราชการ มีหัวหน้าที่เรียกว่า “ผู้บริหาร” (Administrator) รับผิดชอบ ส่วนอีกด้านหนึ่งมีการใช้คำว่า “การจัดการ” ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Management” คำนี้นิยมใช้กับองค์การทางธุรกิจ มีหัวหน้าที่เรียกว่า “ผู้จัดการ” (Manager) ทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกันแต่นิยมใช้ต่างกัน ในที่นี้เรื่องของการบริหารสถานศึกษา ส่วนใหญ่จะเน้นโรงเรียนที่เป็นของรัฐบาล จึงขอใช้คำว่าการบริหารตลอดไป คำนี้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายทัศนะด้วยกัน ดังนี้

         1. ชุบ กาญจนประกร กล่าวว่า “การบริหารหมายถึง การทำงานของคณะบุคคลตั้งแต่  2 คนขึ้นไป ที่ร่วมกันปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ฉะนั้นคำว่าการบริหารงานนี้ จึงใช้กำกับแสดงให้เห็นลักษณะการบริหารงานแต่ละประเภทได้เสมอแล้วแต่กรณีไป แต่ถ้าเป็นการทำงานโดยบุคคลคนเดียว เราเรียกการทำงานเฉย ๆ เท่านั้น”

         2. สมพงศ์ เกษมสิน กล่าวว่า “การบริหารคือการใช้ศาสตร์และศิลปะ นำเอาทรัพยากรการบริหารมาประกอบการตามกระบวนการบริหาร ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ”

          3. จุมพล สวัสดิยากร กล่าวว่า “การบริหารคือการที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันทำงานเพื่อจุดประสงค์อย่างเดียวกัน”

          4. พนัส หันนาคินทร์ กล่าวว่า “การบริหารหมายถึงกระบวนการที่ผู้บริหารให้อำนาจตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ เช่น คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ ที่มีอยู่หรือคาดว่าจะมี จัดการดำเนินงานของสถาบันหรือหน่วยงานนั้น ๆ ให้ดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ” (หวน พินธุพันธุ์, 2528 : 2 – 3)

จากความหมายที่กล่าวแล้ว พอสรุปได้ว่า การบริหารเป็นเรื่องของ
           (1) คณะบุคคล มิใช่คนใดคนหนึ่ง
           (2) มีเป้าหมายที่คณะบุคคลกำหนดร่วมกัน เห็นพ้องต้องกัน
           (3) มีกิจกรรม การงาน หรือการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งทุกคนต้องร่วมกันทำร่วมกันรับผิดชอบ โดยมีผู้บริหารเป็นผู้นำซึ่งต้องอาศัยหลักวิชาความรู้ที่ว่าด้วยศาสตร์และศิลป์   จึงจะทำให้การบริหารประสบความสำเร็จ 

        คำว่า “การบริหาร”(Administration) ใช้ในความหมายกว้าง ๆ เช่น การบริหารราชการ อีกคำหนึ่ง คือ “ การจัดการ” (Management) ใช้แทนกันได้กับคำว่า การบริหาร ส่วนมากหมายถึง การจัดการทางธุรกิจมากกว่าโดยมีหลายท่านได้ระบุดังนี้


        Peter F Drucker : คือ ศิลปะในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกับผู้อื่น (ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ, 2542: 2)


        Herbert A. Simon :กล่าวว่าคือ กิจกรรมที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมมือกันดำเนินการให้บรรลุวัถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน (ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ, 2542: 2)


        การบริหาร หมายถึง ศิลปะในการทำให้สิ่งต่าง ๆ ได้รับการกระทำจนเป็น ผลสำเร็จ กล่าวคือ ผู้บริหารไม่ใช้เป็นผู้ปฏิบัติ แต่เป็นผู้ใช้ศิลปะทำให้ผู้ปฏิบัติทำงานจนสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ผู้บริหารตัดสินใจเลือกแล้ว (Simon)


        การบริหาร คือ กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ (Sergiovanni)


        การบริหาร คือ การทำงานของคณะบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่รวมปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน (Barnard)


        การบริหาร หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายๆอย่างที่บุคคลร่วมกันกำหนดโดยใช้กระบวนอย่างมีระบบและให้ทรัพยากรตลอดจนเทคนิคต่างๆ อย่างเหมาะสม (สมศักดิ์ คงเที่ยง , 2542 : 1)

      “การบริหาร” (Administration) จะใช้ในการบริหารระดับสูง โดยเน้นที่การกำหนดนโยบายที่สำคัญและการกำหนดแผนของผู้บริหารระดับสูง เป็นคำนิยมใช้ในการบริหารรัฐกิจ (Public Administration) หรือใช้ในหน่วยงานราชการ และคำว่า “ผู้บริหาร” (Administrator) จะหมาถึง ผู้บริหารที่ทำงานอยู่ในองค์กรของรัฐ หรือองค์กรที่ไม่มุ่งหวังกำไร (Schermerhorn, 1999, p.G-2)

      การบริหาร คือกลุ่มของกิจกรรม ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การจัดองค์กร (Organizing) การสั่งการ (Leading/Directing) หรือการอำนวย และการควบคุม (Controlling) ซึ่งจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับทรัพยากรขององค์กร (6 M’s) เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญในการบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลครบถ้วน

       การบริหาร (administration) มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน “administatrae” หมายถึง ช่วยเหลือ (assist) หรืออำนวยการ (direct) การบริหารมีความสัมพันธ์หรือมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “minister” ซึ่งหมายถึง การรับใช้หรือผู้รับใช้ หรือผู้รับใช้รัฐ คือ รัฐมนตรี สำหรับความหมายดั้งเดิมของคำว่า administer หมายถึง การติดตามดูแลสิ่งต่าง ๆ

        จากความหมายดังกล่าวพอสรุปได้ว่า การบริหารการศึกษาเป็นการดำเนินการของคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา จัดให้กับทุกคนที่เป็นสมาชิกของสังคมหรือชุมชน โดยมุ่งหวังที่จะให้เจริญงอกงามและเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของชุมชน

 

ที่มา : http://www.kmitnbxmie8.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5354328&Ntype=3

http://www.wiruch.com/articles%20for%20article/article

http://www.kru-itth.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=420816&Ntype=6

http://www.lanna.mbu.ac.th/artilces/admin01.asp

คำสำคัญ (Tags): #การบริหาร (administration)
หมายเลขบันทึก: 322601เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2009 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท