โพสต์ถ่มถุย


เพียงมุมมอง ถึงการโพสต์เรื่องราวในโลกออนไลน์ ในสังคมชุมชนเครือข่าย Social Network ที่ใครต่อใคร ต่างอาศัย ใช้ชีวิต ใช้ความรู้สึก และ อยู่ร่วมกันในชุมชนเสมือนจริงแห่งนี้ ที่หลายครั้งคือชุมชนจริงๆ ที่สามารถรับรู้ ตรวจสอบตรวจทานกันและกันได้

โพสต์ถ่มถุย

 

อ้างอิง - ภาพ Kati1789

นับเป็นคำถาม

ที่เป็นหนึ่งในบทเริ่มต้น

ของเรื่องราวบนชุมชนออนไลน์

 

ยามที่พื้นที่การเขียนพัฒนาจากเวปไซต์ จากขีดจำกัดของคนเขียนโปรแกรม ผู้ดูแลและตรวจสอบระบบ สู่ใครก็ได้บนโลกใบนี้ ที่เข้าถึงทักษะ อธิบาย และ รู้วิธีการสื่อสารของเวปบล็อค ไมโครบล็อค หรือ ชุมชนออนไลน์ต่างๆ นับเป็นคำถามง่ายๆ แต่ถามแรง และ ถามตรง

ซึ่งถามว่า ใครก็ได้เช่นนั้นหรือ

ที่จะสามารถกำหนดวาระ

กำหนดเรื่องราว

 

ในการเขียน หรือ ไม่เขียนในบล็อค ใครก็ได้อย่างนั้นหรือ ที่สามารถกำหนดวาระข้อมูลข่าวสาร กระทำตนเป็นทวารบาลแห่งข้อมูลข่าวสารในสังคมสาธารณะ สำหรับคำถามที่เป็นความเข้าใจใหม่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ทฤษฎีสื่อสารมวลชน ต้องตั้งคำถาม และปรับตัว พร้อมรับสภาพความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ และ ครั้งใหญ่

หากเราเข้าใจ

บทบาทในการตรวจสอบ

การให้ข่าว หรือ การพูดจาของดารา

 

โดยเฉพาะดาราชายท่านหนึ่ง ที่ประกาศตัวว่ารับเล่นหนังฮอลลีวูด หรือ ข่าวผู้กำกับหญิงหน้าใหม่ ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ว่าผลงานภาพยนตร์สั้นของตน ได้รับรางวัลที่เมืองคานส์ ข่าวคราวของดาราสาวที่เข้ารับปริญญา แต่ดันทำทรงผมไม่เข้าตาคนไทย ในฐานของจริต ความเหมาะสม และวุฒิภาวะทางสังคม เหล่านี้ของข่าวสาร ล้วนเริ่มต้นจากในชุมชนออนไลน์

เมื่อมีการจุดประเด็นกระแสความสนใจ

จนสื่อหลักอย่างเช่นโทรทัศน์

วิทยุหนังสือพิมพ์เล่นตาม 

 

นำประเด็นจากความคิดเห็น สู่การนำเสนอเนื้อข่าว หรือใช้มุมมองทางวิชาชีพสื่อ กำกับเนื้อหา จุดประเด็นเชื่อมโยง หาข้อมูลเพิ่มเติม กระทั่งสัมภาษณ์โดยตรงต่อเจ้าของเรื่องราวข่าวสาร จนหลายครั้งจากประเด็นคำถามเพียงเล็กน้อยในชุมชนออนไลน์ ได้กลายเป็นประเด็นหลักในสังคม

วาระข้อมูลข่าวสาร

ที่พัฒนาจากชุมชนออนไลน์

และ Network Society คือ เรื่องจริงในวันนี้

 

สำหรับบทบาท และ หน้าที่ของผู้คนในสังคม ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เข้าถึงเรื่องราวที่น่าสนใจ แม้เป็นเพียงข่าวสารกรอบเล็กกรอบน้อย กระทั่งเป็นข่าวสารที่อาจธรรมดา แต่หลายครั้งที่ส่งผลสะเทือน และ สร้างการมีส่วนร่วมในการรับรู้ ต่อผู้คนและสังคมในวงกว้าง ทั้งหมดคือคำตอบที่ยืนยันว่า โลกแห่งการสื่อสารสมัยใหม่ ล้วนเปลี่ยนไป

ในความจริงวันนี้ ที่ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าว

เป็นพลเมืองข่าวสารได้เสมอ

หากคิดจะเป็นและจะทำ

 

โดยทักษะการสื่อสาร และ ความสามารถในการเรียบเรียงเนื้อหาสาระ เรียบเรียงประเด็นข่าวสาร ล้วนเป็นทักษะที่ติดตามมา หลักจากที่เห็นว่า มีผู้คนสนใจในเรื่องราวข่าวสาร หรือ ใครหลายคนช่วยเข้ามาปะติดปะต่อเรื่องราว เสริมแต่งข้อมูล ล้อมกรอบประเด็นที่น่าสนใจ เชื่อมโยงข้อมูลนั้นสู่ข้อมูลนี้ กระทั่งหยิบยกประเด็น เพื่อต่อยอดไปสู่คำตอบที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น

 

ดังนั้นประเด็น

สำคัญที่ถามกันอยู่เสมอ

ว่าใครก็ได้เช่นนั้นหรือที่จะโพสต์

 

ซึ่งหากตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือ ใช่ หากใครที่สามารถเข้าถึงชุมชนออนไลน์ เป็นสมาชิก หรือ สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสาร เขาก็สามารถกำหนดวาระการสื่อสารได้เช่นกัน แต่จะได้มากได้น้อย ก็ล้วนเป็นคำตอบที่ผู้คนในชุมชนออนไลน์ จะเป็นผู้ตอบหรือผู้มอบนิยามให้

เพราะสิ่งที่โพสต์ สิ่งที่เขียน สิ่งที่สื่อนั้น

ล้วนได้รับการพิสูจน์จากการชม

จากการอ่านของผู้คน

 

ประเด็นใดจุดกระแส เร่งเร้าความน่าสนใจ หรือสร้างการมีส่วนร่วมต่อผู้คนได้มาก สิ่งเหล่านั้นก็จะได้รับการบรรจุ ได้รับการจัดวาระให้เป็นวาระร่วมกัน นอกเหนือจากการระดมความคิดเห็น ช่วยเพิ่มเติมประเด็นรายละเอียด กระทั่งร่วมกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเหล่านั้นร่วมกัน ทั้งหมดคือคำตอบที่ว่า การโพสต์มีกลไกการทำหน้าที่เช่นไร

การตรวจสอบ

การถ่วงดุลย์ความถูกต้อง

หรือการเสริมแต่งวาระข้อมูลข่าวสาร

 

ล้วนเป็นการทำงาน ภายใต้ธรรมชาติการสื่อสารแบบใหม่ เมื่อข่าวสารนั้นมีคุณค่าต่อผู้อื่น มีความนิยมในการเพิ่มเติม หรือ อยากเข้ามามีส่วนร่วมกัน ในประเด็นถกเถียงพูดคุยเหล่านั้น วาระข้อมูลข่าวสารนั้น ก็จะเริ่มต้นการทำหน้าที่ ดังนั้นไม่น่าแปลกใหม่ หากบางประเด็นที่ผู้คนเห็นว่าดี อยากไม่ได้รับความนิยม เพราะไม่มีเสียงตอบรับหรือความสนใจร่วมกัน

ดังนั้น การโพสต์ที่ไร้สาระหรือมีสาระ

เป็นการโพสต์ถ่มถุยหรือจริงจัง

จึงเป็นเรื่องรวมหมู่

 

ที่ผู้คนในชุมชนออนไลน์ และ สังคมเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร จะเป็นผู้กำหนดวาระเหล่านั้น หรือให้คุณค่าและคำตอบกับการโพสต์เหล่านั้น ในเมื่อผู้คนในชุมชนออนไลน์ ต่างมีสถานะเท่าเทียมกัน ที่จะให้คุณค่า เห็นด้วย สนับสนุน คัดค้าน ด่าทอ ร่วมแลกเปลี่ยน เมินเฉย หรือคิดเพียงเบื้องต้น ว่าต้องการจะคลิกเข้าไปอ่าน หรือ ต้องการจะคลิกข้ามผ่านเลย

คำตอบของการตัดสินใจ

ที่อยู่กับความคิดและปลายนิ้ว

จึงเป็นทิศทางของวาระข้อมูลข่าวสารวันนี้

 

วันนี้ เรามีโอกาสเห็นประเด็นเล็กน้อย จากความไม่พึงพอใจของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน นำเสนอ ถกเถียง หรือร่วมกันกำหนดทิศทาง ว่าต้องการให้ข้อมูลข่าวสาร สนใจเรื่องราวใดบ้าง บางครั้งอาจเป็นเสียงข้างมาก บางครั้งอาจเป็นเรื่องจริงจัง บางครั้งอาจเป็นเรื่องงดงาม เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องหยอกล้อ หรืออีกมากมาย ล้วนขึ้นกับการตัดสินใจของคนทั้งสิ้น

ในเมื่อทุกวันนี้ มีผู้คนในโลกชุมชนออนไลน์

สามารถเลือกจะรับ และ ไม่รับข่าว

ดังนั้น เขาก็คือผู้กำหนดวาระข่าวสารบนโลกทุกวันนี้

เช่น ที่ยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อโลก ยกย่องให้ทุกคนเป็นบุคคลแห่งปี

 

หมายเลขบันทึก: 322552เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2009 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 01:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีวันพระค่ะคุณคติ kati

... โลกออนไลน์ ไร้พรมแดน  เลือกรับ เลือกเสพ ด้วยไตร่ตรอง...

ติดตามงานเขียนกันมานานแล้ว ชื่อที่อยากจะให้เรียกนี้ออกเสียงว่าอย่างไรเอ่ยคะ

สุขสันต์วันดีๆ วันนี้และสุขสันต์วันคริสต์มาส  รำลึกวันสึนามิ ล่วงหน้านะคะ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท