82. มุ่งสู่ภาคเหนือของอินเดีย : เดห์ราดูน (1)


เยือนเทือกเขาหิมาลัย

เดห์ราดูน

          เดห์ราดูนเป็นเมืองหลวงของรัฐอุตตรขัณฑ์ (Uttarakhand)  ห่างจากกรุงนิวเดลี 230 กิโลเมตรทางเหนือ ตั้งอยู่ในหุบเขาดูน ทางเหนือล้อมรอบด้วยเทือกเขาหิมาลัย อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคมประมาณ 6 องศา และสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ราว 36 องศาเซลเซียส ที่นี่มีชื่อเสียงในเรื่องข้าวบาสมาตี เดห์ราดูนซึ่งมีเมล็ดยาว

http://gov.ua.nic.in/health/images/Dehradun.gif 

          ราวตี 4 ดิฉันสะดุ้งตื่นเพราะบรรดา madam ชาวฝรั่งเศสส่งเสียงดังมาก ดิฉันต้องลุกขึ้นมาขอร้อง 3 ครั้ง เพื่อขอให้เงียบๆ เพราะแกปลุกทุกคนตื่นทั้งโบกี้เลย ดิฉันนอนต่อจนเกือบหกโมงเช้า รถไฟจอดแล้วดิฉันรีบเก็บกระเป๋าลงมาที่สถานีเดห์ราดูน ดิฉันมาเพื่อสำรวจพื้นที่วิจัยต่อไปในอนาคต

          ดูเหมือนฝนตกหนักไปก่อนหน้านี้แล้ว และยังลงเม็ดอยู่ ออกมาที่ห้องผู้โดยสารที่มีคนนอนเรียงรายราว 20 ชีวิต ที่นอนห่มผ้ากัน ดิฉันได้แง่คิดว่าคนเราจะเอาอะไรกันนักหนา คนที่นอนเหล่านี้อาจเป็นผู้โดยสารที่มาจากชุมชนไกลๆ มารอขึ้นรถยามดึกหรือเช้าตรู่ หรือมารอรับญาติ ถึงเวลานอนก็ยึดพื้นที่สถานีเป็นที่นอนเพราะเขาไม่มีที่นั่งให้ในสถานี ขอเพียงให้มีที่ซุกหัวนอนหน่อยก็พอแล้ว ไม่ต้องห่วงสมบัติอะไร เพราะเขาหลับกันอย่างมีความสุข หากมีกระเป๋าก็เพียงเอาหนุนหัวไว้เท่านั้น ไม่มีใครมาวิ่งราวเอาไป สังคมแม้จะมีคนจนเยอะ แต่ดูเขาไม่ได้อยู่กันแบบระแวดระวังภัยมากนัก

          ออกมานอกสถานีรถไฟ โทรหาเพื่อนชาวอินเดียเพื่อสอบถามคนที่จะมารับ เพื่อนบอกว่าได้ส่งรถแท็กซีมารับแล้ว สักพักแท็กซีก็มาถึง ขนของขึ้นรถ แล้วแวะไปรับเพื่อนและลูกซึ่งรออยู่หน้าบ้านซึ่งเป็นทางผ่าน ลูกสาวจะไปโรงเรียน เพื่อนคนนี้สอนอยู่ที่วิทยาลัยกันยา กุรุกุลซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีกุรุกุลที่เดห์ราดูน เพื่อนพาไปพบผู้อำนวยการวิทยาลัยนี้ซึ่งเป็นหัวหน้าเขา (ดิฉันขอเรียกอาจารย์ใหญ่)  ดิฉันก็งงๆ เพราะไม่รู้รายละเอียดมากนัก บ้านอาจารย์ท่านนี้อยู่นอกเมืองที่เป็นเหมือนบ้านจัดสรร แต่ละคนซื้อที่แล้วปลูกบ้านเอง บ้านอยู่บนเนินเตี้ยๆ สองชั้นครึ่ง เพิ่งปลูกได้ไม่กี่ปี มีผู้ชายมาเปิดประตูให้ เราก็นมัสเตกัน เข้าบ้านไป บ้านใหญ่มีหลายห้อง มีสุภาพสตรีลงมาจากชั้นสองมาต้อนรับ แนะนำทักทายกันเสร็จท่านบอกให้ดิฉันนำกระเป๋าเดินทางไปไว้อีกห้องหนึ่งและสามารถอาบน้ำ พักผ่อนได้

          ดิฉันลุยมาทั้งวันทั้งคืนไม่ได้ผ่านน้ำเลย ดีใจที่จะได้อาบน้ำในยามเช้า อาบน้ำชำระกายเสร็จเรียบร้อยเพื่อนมาบอกให้ขึ้นไปชั้นสอง ชั้นล่างเป็นห้องรับแขก ห้องนั่งดูทีวี ห้องนอนซึ่งมีหิ้งบูชาเทพเจ้าอยู่ (ที่ดิฉันไปใช้) ชั้นสองเป็นห้องรับแขก ระเบียงบ้านด้านหน้า ห้องนอน และห้องครัว บ้านนี้รายล้อมด้วยทิวเขาหิมาลัยเป็นฉากอยู่ เบื้องหน้าสวยมาก ท่านเจ้าของบ้านเป็นสตรีเบงกาลีแต่สมรสแล้วมาใช้ชีวิตที่นี่นานแล้ว เป็นหม้ายตั้งแต่อายุ 25 ปี ท่านก็หาเลี้ยงลูกชายสองคนจนสำเร็จการศึกษาด้านวิศวะ ทั้งสองไปทำงานที่อเมริกา คนที่เปิดประตูให้พวกเราเป็นลูกชายคนเล็กที่เพิ่งกลับมาเยี่ยมคุณแม่ เป็นแม่ลูกผูกพันเพราะแกช่วยเหลือคุณแม่รับแขกได้อย่างดี

    อาจารย์ใหญ่ชวนพวกเราไปนั่งที่ระเบียงหน้าบ้านฝนยังลงเม็ดปรอยๆ มองเห็นเทือกเขาหิมาลัยซ่อนตัวอยู่ในหมอกขาว อากาศเย็นเพราะฝนตก ดิฉันต้องขอตัวไปเอาผ้าคลุมมาห่มตัว พวกเรานั่งคุยกัน อาจารย์ใหญ่เล่าให้ฟังเรื่องวิทยาลัยสตรีของท่านซึ่งขณะนี้กำลังบูรณะ ปรับปรุง ดิฉันจึงไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชม ท่านเล่าประวัติความเป็นมาของท่าน รวมทั้งลูกๆ สองคน ท่านดูเป็นสตรีที่มีความแข็งแกร่ง เป็นผู้นำเพราะทั้งทำงานมีหน้าที่การงานรับ   ผิดชอบใหญ่โต และเลี้ยงลูกจนประกอบสัมมาชีพได้เป็นอย่างดี ท่านมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว ท่านเล่นดนตรีอินเดีย สอนให้ผู้สนใจฟรีๆ และร้องเพลงด้วย ลูกท่านก็สามารถเล่นดนตรีได้เป็นอย่างดี ปกติถ้าลูกชายไม่มาจากอเมริกาท่านอยู่คนเดียว แต่กลางวันมีสาวใช้มาช่วยทำงานบ้าน 3 คนกินอยู่กับท่านเสร็จ

   ลูกกับคุณแม่ช่วยกันเสิร์ฟชานมพร้อมบิสกิต พวกเรานั่งละเลียดชา คุยกันไป ชมวิวกันไป อาจารย์ใหญ่เป็นคนเปิดเผยดี พูดคุยแลกเปลี่ยนกันไปด้วย บรรยากาศสบายดีมากๆ สวยงาม เงียบสงบ สักครู่ฝนหยุดแสงแดดเริ่มแต้มสีของเทือกเขาหิมาลัยให้เป็นสีทองสว่างขึ้น ในแต่ละบรรยากาศหิมาลัยก็จะเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆเหมือนกับภาพวาดที่มีจิตรกรวาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นอาจารย์ใหญ่พาพวกเราเดินชมบ้านชั้นบน พาไปชมสวน และพาไปดูวิวโดยรอบบ้าน

   นี่เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวอินเดียไม่ว่าจะที่ไหนๆ เจ้าบ้านยินดีต้อนรับแขกเสมอ "แขกคือพระเจ้า" ในทัศนะของชาวฮินดู เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะไปบ้านใครทุกคนต้อนรับอย่างเต็มที่และเป็นกันเองมาก ชาวอินเดียจะไม่ค่อยมี "ระยะห่าง" กับแขกแปลกหน้ามากนัก ยิ่งกับชาวอินเดียด้วยกันเขายิ่งมีความคุ้นเคยกันเร็วเหมือนกับรู้จักกันมานาน (ทั้งๆ ที่เพิ่งรู้จักนั่นแหละ) บรรยากาศคล้ายชนบทไทย แต่คนไทยในเมืองจะมีระยะห่างกับแขกแปลกหน้ามาก เรามีความเป็นส่วนตัวสูงมากเหมือนคนตะวันตก     ดังนั้นการต้อนรับขับสู้ของคนไทยในเมืองใหญ่จะดูห่างเหิน ไม่ให้มาย่างกรายตวามเป็นส่วนตัวมากนัก

    จนสามโมงเช้า เราเริ่มทานอาหารเช้ากัน มือนี้มีโรตีทานกับมันฝรั่งผัด ปิดท้ายด้วยโยเกิร์ต อาหารสะอาดและอร่อยเพราะแม่บ้านทำโรตีร้อนๆมาเสิร์ฟกันที่โต๊ะอย่างต่อเนื่อง รับอาหารเช้าเสร็จ เราขอตัวเจ้าของบ้านไปชมวัดทิเบตชื่อ “มินโดรลิง” (Mindroling) สร้างในปี 1976  

 

ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของทิเบตอพยพมาอยู่ที่      เดห์ราดูน เป็นวัดพุทธทิเบตสายนยิงมา (Nyingma) ที่มีการสอนพระสงฆ์ด้วย วัดมีพระเจดีย์รูปทรงทิเบตสวยงาม เราต้องถอดรองเท้าฝากไว้ด้านหน้า คนรับฝากรองเท้า   ขี้งกมากบังคับให้ทุกคนต้องจ่ายเงินค่าฝากรองเท้าคู่ละ 2 รูปี ใครจะถอดรองเท้าทิ้งไว้ในรถและเดินเท้าเปล่ามาไม่ได้ ตาคนนี้จิกเรียกเสียงดังลั่นหาว่าจะประหยัดแค่สองรูปีหรือ บังคับให้มาจ่ายเงิน ทำเอาเสียอารมณ์หมดศรัทธา   ทีเดียว ทั้งๆ ที่บริเวณเจดีย์อันสวยงามนี้ติดคำสอนดีๆ ของดาไลลามะไว้เต็มไปหมด 

   นี่เป็นบทเรียนว่าแม้แต่คนรับฝากรองเท้าซึ่งถือว่าเป็นด่านหน้า หรือ PR ของสถานที่หากมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเช่นนี้ก็ยิ่งลดความศรัทธาของผู้มาเยือนลงไปมากทีเดียว และแสดงให้เห็นถึงความไม่มีมารยาทของคนๆ นั้นด้วย

  เราผ่านไปดูนาข้าวบัสมาตีแปลงไม่ใหญ่นัก แต่ต้นข้าวสูงใบเรียวเหมือนตะไคร้ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ข้าวกำลังออกรวงอ่อนๆ แล้ว เสร็จแล้วไปชมสถานที่ที่มีน้ำตกไหลรินลงมาจากเทือกเขาหิมาลัยเป็นสายๆ หลายสายมาก น้ำไหลลงมารวมกันกลายเป็นลำธารไหลไปเรื่อยๆ ผ่าน   โขดหินเย็นใส มีหนุ่มสาวมาเล่นน้ำกัน มีร้านขายอาหารเครื่องดื่ม เรียงรายอยู่หลายร้าน อีกฟากหนึ่งเป็นกระเช้าไฟฟ้านั่งขึ้นไปบนยอดเขาที่ไม่สูงมากนัก ที่นี่มีห้องน้ำสาธารณะใหญ่มีน้ำเต็มเปี่ยมค่าเข้า 3 รูปีสะอาดดี

คนขับรถพาไปแวะซื้อผลไม้เพื่อนำกลับไปฝากเจ้าของบ้านเพราะนัดกันว่ากลับไปทานอาหารกลางวันด้วยกัน อาจารย์ใหญ่เจ้าของบ้านยังไม่กลับมา ดิฉันของีบสักพักเพราะเมื่อคืนนอนบนรถไฟไม่กี่ชั่วโมง สักพักเจ้าของบ้านมา ดิฉันถูกปลุกให้มาทานอาหารร่วมกัน มีกับข้าวหลายอย่างทานร้อนๆ อร่อยมาก เสร็จแล้วเจ้าของบ้านให้คุกกี้ดิฉันหนึ่งกล่องให้เอาติดตัวไปทานข้างหน้า

 สักพักมีลูกศิษย์ท่านมาซ้อมเล่นดนตรีอินเดีย ท่านจึงให้ลูกศิษย์กับลุกชายท่านเล่นโชว์ให้พวกเราดู ลูกศิษย์ผู้หญิงทั้งเล่นซีตาร์ (Sitar) ทั้งร้องเพลงประกอบเสียงดีมาก อาจารย์เจ้าของบ้านสอนให้ผู้ที่สนใจฟรี ลูกศิษย์นำของขวัญมาคารวะครู สักพักเขาก็ลากลับ

ตอนบ่ายๆ หลังจากนั้น เราไป Mussoorie ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยห่างจาก  เดห์ราดูน 34 กิโลเมตร ตลอดทางมีรถวิ่งสวนไปมามากพอควร ทางขึ้นเขาตลอด อากาศเย็น ข้างบนฝนพรำๆ บ้านเมืองคล้ายๆ สิกขิมคือมีอาคารที่สร้างอยู่บนเนินเขา แปะอยู่กับภูเขาหรือหน้าผาบ้าง แต่ดูแข็งแรงดี ภูเขาที่นี่หัวไม่โล้นเลย เมืองนี้เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนที่ก่อตั้งในสมัยอาณานิคมอังกฤษหลายโรงเรียนที่มีอายุมากกว่าร้อยปี ในสมัยหนึ่งชาวไทยเชื้อสายอินเดียนิยมส่งลูกๆ มาเรียนที่นี่กัน นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของสถาบัน Lal Bahadur Shastri National Academy of Administration ซึ่งเป็นสถาบันอบรมข้าราชการพลเรือนอินเดีย และมีค่ายทหารตั้งอยู่ด้วย เนื่องจากเย็นแล้ว พวกเราจึงกลับลงมา ไม่ได้แวะลงไปชมที่ไหน ได้แต่นั่งรถชมเมืองคร่าวๆ เท่านั้น

กลับลงมาค่ำมืดพอดี เราแวะไปลาเจ้าของบ้านผู้เอื้ออารีกับแขกแปลกหน้าเช่นดิฉัน นี่คือมิตรภาพที่อบอุ่นจากชาวอินเดียซึ่งดิฉันพบตลอดเส้นทางการเดินทางเสมอ ท่านก็ชวนให้มาเที่ยวอีก ดิฉันก็เชิญให้ท่านมาเที่ยวเมืองไทยบ้าง

ค่ำนี้ดิฉันต้องเดินทางไปเมืองฮาริดวารซึ่งเป็นเป้าหมายคือพื้นที่วิจัย ใช้เวลาเดินทางราว หนึ่งชั่วโมงเศษ ค่ำแล้วรถเยอะมาก ดิฉันเดินทางโดยรถเช่าที่ใช้บริการกันมาทั้งวัน ถนนที่นี่ไม่มีเส้นแบ่งกลางถนน ไม่มีไฟตามทาง มีแสงสะท้อนจากหมุดกลางถนนในบางช่วง หรือแสงสะท้อนจากสีที่ทาต้นไม้ใหญ่ข้างทางสีขาวกับส้มสลับกันไป

รถมาส่งที่ University guest house ที่ Gurukul Kangri Vishvavidhalaya รอรปภ. ไปตามเจ้าหน้าที่เอากุญแจมาไขห้องพักให้ บริเวณที่พักนี้เป็นสี่เหลี่ยม ด้านหน้าเป็นสำนักงาน มีทางเดินเข้ามาที่ห้องพักซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียว ด้านซ้ายและขวาของทางเดินเป็นสนามหญ้า ด้านขวาสุดถัดจากสนามหญ้าเป็นห้องอาหาร มหาวิทยาลัยต่างๆ ของอินเดียมักมี guest house เพื่อรับรองแขกของมหาวิทยาลัยซึ่งนับว่าสะดวก ปลอดภัยมาก ดิฉันมีเครือข่ายที่ช่วยเหลือประสานงานให้อยู่ในฐานะแขกของภาควิชาจึงไม่ต้องเสียเงิน แม้ว่าจะพยายามขอชำระเงินก็ไม่มีใครยอมให้จ่าย นี่ก็เป็นน้ำใจจากชาวอินเดียที่มีให้กับแขกแปลกหน้าคนไทยอีกครั้ง ชาวอินเดียเวลาให้คือให้จริงๆ จนเรานึกไม่ถึงว่าทำไมเขามีน้ำใจกับเราเช่นนี้ ดิฉันนับว่าโชคดีที่ไปไหนก็พบแต่คนดี จะมีที่ทำให้รำคาญใจบ้างก็ไม่มาก

ห้องพักมีเตียง ผ้าห่ม หมอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะและเก้าอี้รับแขก มีทั้งแอร์และพัดลม พร้อมโทรศัพท์ มีห้องน้ำใหญ่อยู่ด้านใน ก็พออยู่ได้สบายๆ ดิฉันได้ห้องอยู่ติดห้องครัว เพื่อนใหม่ที่เป็นเจ้าภาพและเจ้าของสถานที่มารับ พ่อครัวนำชาร้อนใส่นมมาให้ ดิฉันทานมื้อเย็นเพียงเท่านั้นเพราะค่อนข้างเหนื่อย  ขอตัวลาไปนอน  ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

------------------

บอกกล่าว ข่าวแจ้ง

ท่านที่สนใจ "อินเดีย" และพร้อมที่จะเป็นผู้บุกเบิกสร้างองค์ความรู้ด้านอินเดียศึกษาให้กับสังคมไทย ขอเชิญท่านสมัครได้ในหลักสูตรปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา เอกอินเดียศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3309 หรือ www.lc.mahidol.ac.th

หมายเลขบันทึก: 321074เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท