วิพากษ์บทความ “มาตรการด้านการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไท”
วันที่ 31
ส.ค. – 2 ก.ย.48
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
และหน่วยงานพันธมิตรจัดการประชุมวิชาการ
การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน
และการแพทย์ทางเลือก ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ
ครั้งที่ 2 ที่เมืองทองธานี
เขาเชิญผมไปร่วมวิพากษ์บทความเรื่อง
“ระบบโครงสร้างและกลไกในการอนุรักษ์ พัฒนาและคุ้มครอง
ภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท :
มาตรการด้านการจัดการความรู้
วิจัยและพัฒนา” โดยสมภพ
ประธานธุรานุรักษ์, พร้อมจิต ศรลัมภ์,
นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และธีรเดช
อุทัยวิทยารัตน์ ในวันที่ 1 ก.ย.48
ผมได้เตรียม
ppt. ไปวิพากษ์แล้ว
เป็นการวิพากษ์แบบคนไม่รู้จริงแต่ก็มีใจ อยากให้เรื่อง
“ภูมิปัญญาไท
สุขภาพวิถีไท” เจริญก้าวหน้า
ก่อคุณประโยชน์แก่สังคมไทยอย่างแท้จริง ยิ่งมีการโยงสู่
KM ผมยิ่งมีใจ
ผมเตรียมไปให้ข้อเสนอแนะ 5 ประเด็น
ภายใต้แนวคิดว่าบทความชิ้นนี้เป็นการเริ่มต้นของ “การเดินทางไกล”
ของประเทศไทย ที่จะส่งเสริมภูมิปัญญาไท
สุขภาพวิถีไท ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเต็มศักยภาพ
คือ
1.
จะต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลด้าน KM
ของภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท
ซึ่งหมายถึงการใช้ความรู้ด้านนี้
แล้วใช้ซ้ำอีกหลังจากทราบผลการใช้ โดยที่ในกระบวนการใช้
& ใช้ซ้ำเกิดความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ข้อมูล/ความรู้ดังกล่าวจะต้องมองทั้งด้าน “ผู้ให้บริการ” และด้าน
“ผู้รับบริการ” หรือ “ผู้ใช้”
ตัวอย่างของผู้ให้บริการที่เป็นรูปธรรมเช่น
ร้านยาไทย ร้านยาจีน หมอนวดไทย
หมอนวดจีน การออกกำลังกายแบบไท้เก็ก และอื่น
ๆ
นี่คือข้อมูลด้าน “การสร้างความรู้จากการปฏิบัติ”
2. จะต้องมีการรวบรวม/ศึกษา
ข้อมูล/ความรู้ด้าน “ผู้ใช้”
(demand – side)
ทั้งแบบที่มีผู้ให้บริการและแบบไม่มีผู้ให้บริการ
นำมาเป็น feedback เพื่อพัฒนาบริการ
พัฒนามาตรฐานของบริการ/ผลิตภัณฑ์
โดยที่มาตรฐานนั้นยอมรับความหลากหลาย
3.
มีการศึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาไทย
เช่น ชื่อการค้าของยาแผนโบราณ
การจดทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ
การจดสิทธิบัตรของความรู้/วิธีการที่พัฒนาขึ้นจากการทดลองแบบลองผิดลองถูกของคนที่เป็นชาวบ้าน
แต่เกิดความรู้ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมเด่นชัด
4.
มีการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กึ่งสุขภาพ
เช่น สบู่สมุนไพร ยาสีฟันสมุนไพร
เครื่องสำอางสมุนไพร น้ำมันหอม ฯลฯ
รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในการประกอบอาชีพที่ช่วยการสร้างเสริมสุขภาพ
ลดปัจจัยเสี่ยงต่อความเจ็บป่วย เช่น
สมุนไพรไล่แมลง จุลินทรีย์ ฮอร์โมนบำรุงพืช
ฯลฯ ที่ใช้ทำการเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น
5.
จะต้องถกเถียงกันเรื่องความหมายของคำว่า
“ภูมิปัญญาไท”
ซึ่งผมมีความเห็นว่าจะต้องครอบคลุมทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิม
และภูมิปัญญาสมัยใหม่ที่เกิดจากการปฏิบัติในยุคปัจจุบัน
เสริมด้วยการทดลองทางวิทยาศาสตร์/วิชาการ
ครับ เอามาลงไว้เพื่อให้ “ผู้รู้”
ช่วยกันถกเถียงต่อ
เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งต่อ
บ้านเมืองของเรา
วิจารณ์ พานิช
29 ส.ค.48