ครูกับการรู้คอมพิวเตอร์


ครูกับการรู้คอมพิวเตอร์

ครูกับการรู้คอมพิวเตอร์

บทนำ

                      นักการศึกษาโดยทั่วไปยอมรับว่า อาชีพต่างๆ ที่ผู้เรียนจะไปประกอบการนั้น จะเป็นลักษณะอาชีพที่ต้องใช้สารสนเทศหรือความรู้ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยแต่ประการใดที่เราจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และมีทักษะเกี่ยวกับการจัดการสารสนเทศ และสำหรับครูผู้สอนแล้ว เราได้พิจารณาระดับการรู้เกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์ อยู่ในระดับใด

                      สำหรับครูบางคนที่เพียงแต่คอยเฝ้ามอง (Passive-experience) ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ใช้และฝึกประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาไม่นานจะพบว่า ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ครูเป็นได้เพียงผู้สังเกตการณ์ สำหรับผู้เรียนที่เรียนดีอาจไม่มีปัญหานัก ถึงแม้ครูจะไม่ได้ช่วยอะไรในการเรียนการใช้คอมพิวเตอร์ แต่สำหรับผู้เรียนที่เรียนช้าจะประสบปัญหามาก เมื่อครูไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะผู้เรียนลักษณะนี้จะต้องการความช่วยเหลือจากครูมาก ครูจึงควรเป็นบุคคลที่รู้จักคอมพิวเตอร์และสามารถสาธิตการใช้ นอกจากนั้น ครูควรพร้อมจะให้ความช่วยเหลือผู้เรียนได้ เมื่อผู้เรียนประสบปัญหาในการเรียนจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ครูคงจะเป็นเพียงผู้เฝ้านั่งมองผู้เรียนในห้องเรียนคอมพิวเตอร์เฉยๆ ไม่ได้

                      ครูที่เข้าไปชี้แนะหรือมีส่วนร่วม (Active Experience) ในกิจกรรมการเรียนของผู้เรียนจะต้องเป็นบุคคลที่สามารถแสดงเจตคติต่อคอมพิวเตอร์ในด้านเกี่ยวกับตนเอง(Personal) ได้ ครูที่มีลักษณะเช่นนี้ จะเป็นต้นแบบในการประยุกต์ศักยภาพของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการจัดการสารสนเทศได้เป็นอย่างดี ส่วนครูที่มีลักษณะเป็นเพียงผู้เฝ้ามองคอมพิวเตอร์จะมองไม่เห็นคุณค่าของการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยสอน (CAI) แต่ครูที่มีกิจกรรมร่วมกับผู้เรียนในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ นอกจากจะเห็นความสำคัญของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแล้ว ยังจะนั่งทำงานด้วยการใช้คอมพิวเตอร์เพื่องานการจัดการเรียนการสอน (CMI) ด้วย นอกจากนั้น ครูลักษณะนี้ยังจะมีความรู้เกี่ยวกับภาษาและหน้าที่ของคอมพิวเตอร์ จนสามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยภารกิจการจัดการเรียนการสอนและการศึกษาได้เป็นอย่างดี

ผู้เชี่ยวชาญ

                      มีแนวโน้มในทางการศึกษาและสาขาอื่นๆ ว่าบุคลากรในหน่วยงานต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เช่นเดียวกับที่เราพบว่า ครูมีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือภาษาอังกฤษ ในกรณีอย่างนี้ เราควรจะมีครูคอมพิวเตอร์ที่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์จริงๆ ในโรงเรียนกันหรือยัง คำตอบที่ไม่ต้องอธิบายก็คือ ในโลกยุคสารสนเทศเช่นนี้แน่นอนเราจำเป็นต้องมีครูคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงจะมีความรู้ความสามารถในการสอนวิชาคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ควรมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ในการศึกษาและการเรียนการสอนด้วย นั่นคืออย่างน้อยเราควรมีครูที่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) เป็นอย่างดีพอสมควรไว้ในโรงเรียนซึ่งในเรื่องนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคอมพิวเตอร์มีบทบาทในสังคมมากขึ้น โรงเรียนในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งในสังคม มีหน้าที่จัดการศึกษาแก่เยาวชนเพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ ควรตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ นั่นหมายความว่า ครูโดยทั่วไปควรมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) และควรมีครูคอมพิวเตอร์โดยตรงในโรงเรียนด้วยเช่นกัน

ครูกับโปรแกรมการรู้คอมพิวเตอร์

                      การจัดโปรแกรมการรู้คอมพิวเตอร์สำหรับครูด้วยการจัดอบรมระยะสั้น จะช่วยพัฒนาครูให้รู้คอมพิวเตอร์ได้บ้างแต่ไม่นากนัก เพราะการรู้คอมพิวเตอร์การศึกษา หรือคอมพิวเตอร์ในห้องเรียน มีลักษณะพิเศษแตกต่างออกไปจากการรู้คอมพิวเตอร์เพื่องานสาขาอื่นอยู่บ้าง ทางที่ดีที่สุดควรจะมีโปรแกรม หรือหลักสูตรการศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์การศึกษาโดยเฉพาะ โปรแกรมหรือหลักสูตรลักษณะนี้อย่างน้อยที่สุดควรจะประกอบด้วย 2 เรื่องต่อไปนี้ 1) ทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และ 2) กิจกรรมการเรียนที่จะสนับสนุนและพัฒนาทักษะพื้นฐานเหล่านั้น

                      1. ทักษะพื้นฐานที่ครูควรรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย

                             1) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และระบบปฏิบัติการ

                             2) การใช้โปรแกรมเวิร์ดโปรเซสเซอร์ หรือโปรแกรมประมวลผลคำ เพื่อการติดต่อสื่อสารกับครู ผู้เรียนและผู้ปกครอง และกิจกรรมการศึกษาและการเรียนการสอน

                             3) การใช้โปรแกรมสำเร็จที่จำเป็น สำหรับใช้ในห้องเรียน เช่น โปรแกรมการจัดการฐานข้อมูล (Data-base Management System)

                             4) การเลือก การใช้และการประเมินซอฟต์แวร์

                             5) ภาษาคอมพิวเตอร์

                      2. ส่วนกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาทักษะการรู้คอมพิวเตอร์ ควรประกอบด้วย

                             1) เข้าศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรการอบรมประจำการ หรือศึกษาต่อเกี่ยวกับสาขาคอมพิวเตอร์การศึกษา

                             2) เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์

                             3) แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครูที่รู้และใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา

                             4) จัดกลุ่มผู้เรียน (ชมรม) ที่สนใจพิเศษเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนด้วยกัน และช่วยสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนของครู

                             5) สนใจติดตามอ่านวารสาร หรือนิตยสารต่างๆ ที่มีเรื่องเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวด้านคอมพิวเตอร์การศึกษาและการเรียนการสอน ตลอดจนสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

 ครูเป็นผู้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่

                      การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่เป็นโปรแกรมบทเรียน (Computer Courseware) หรือคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) และคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการเรียนการสอน (CMI) เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความชำนาญมาก แต่สำหรับครูบางคนที่จะใช้เวลาว่างเพื่อพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นงานอดิเรก ย่อมสามารถทำได้ และแน่นอนทีเดียวที่ครูผู้นั้นย่อมต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเป็นนักสร้างโปรแกรมบทเรียนนั้น จะมีอยู่

 2 ประเภท คือ

                      1) เป็นนักเขียนโปรแกรมประยุกต์ (Applications Programmer) และ

                      2) เป็นนักเขียนโปรแกรมที่ให้ความรู้แก่ผู้ใช้ (Informed User) ซึ่งครูควรเป็นนักเขียนโปรแกรมประเภทหลังนี้ เพราะโปรแกรมให้ความรู้แก่ผู้ใช้ จะเป็นโปรแกรมที่นักเขียนมีมโนทัศน์เป็นอย่างดีเกี่ยวกับวิธีการและสามารถออกแบบเนื้อหาสาระหรือปัญหาต่างๆไปสู่ภาษาคอมพิวเตอร์ได้ด้วยการเขียนโปรแกรมเล็กๆ ที่ช่วยอธิบายการใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ การใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ต่างๆ และการทำสำเนาแผ่นดิสค์ เป็นต้น ซึ่งเหมาะสมที่จะเป็นภารกิจของครูในเรื่องเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

                      โดยทั่วไปแล้วไม่น่าจำเป็นที่ครูจะต้องเป็นผู้พัฒนาโปรแกรมบทเรียน และโปรแกรมจัดการเรียนการสอนด้วยตนเอง โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของครูโดยตรง หน้าที่ของครูควรจะเป็นเพียงการพิจารณาเลือกและใช้ซอฟต์แวร์ที่ดีและที่มีอยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมากกว่า ถึงแม้ครูผู้นั้นจะมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดีก็ตาม ทั้งนี้เพราะการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต้องใช้เวลามาก ทำให้ครูซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หลักนี้ได้อย่างเต็มที่ ถ้าต้องไปทำหน้าที่ในการพัฒนาโปรแกรมบทเรียนและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง

ระดับการพัฒนา

                      เช่นเดียวกับการพัฒนาแนวคิดในการยอมรับเทคโนโลยีเครื่องมือทั้งหลาย ที่นำเข้ามาสู่วงการทางการศึกษาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ เครื่องสอน และอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เวลาและ  ขั้นตอนต่างๆ ในการบ่มตัว เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนและการศึกษาตามหลักสูตรและสถาบันการศึกษา ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้เวลาเพื่อให้ชุมชนหรือสังคมที่แวดล้อมการศึกษาอยู่ มีความเข้าใจและยอมรับในเรื่องนี้ด้วย บทเรียนในประวัติการจัดการศึกษา โดยเฉพาะในด้านการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ในการศึกษา ทำให้ได้ข้อคิดว่าขั้นหรือระดับการพัฒนาในการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นข้อคิดในการบูรณาการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เข้ามาสู่ห้องเรียนและการจัดการศึกษาให้สถาบันกรศึกษาต่างๆ ได้พิจารณา

                      1. ระดับที่ 1 ความชื่นชอบเทคโนโลยี

                             ระดับนี้เป็นขั้นแรกเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น บุคคลมักสนใจและชื่นชอบในด้านความแปลกใหม่ ทั้งที่ยังมีความรู้จำกัดถึงประโยชน์ที่พึงจะได้จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนั้น เข้ามาสู่สภาพแวดล้อมหรือการแก้ปัญหาการศึกษา เราจะเห็นตัวอย่างนี้ที่เกิดขึ้นในอดีต คือโรงเรียนจัดซื้อเครื่องฉายภาพยนตร์ หรืออุปกรณ์โทรทัศน์เข้ามาใช้ในโรงเรียน โดยไม่ได้คิดหรือคิดแต่เพียงน้อยนิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่จัดหามาเพื่อการศึกษา และการเรียนการสอน ซึ่งในปัจจุบัน เราก็พบเช่นกันว่า มีโรงเรียนจำนวนไม่น้อยซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้คำนึงถึงซอฟต์แวร์ที่จะนำมาใช้ รวมทั้งการจัดเตรียมหรือการจัดอบรมบุคลากรหรือครูเฉพาะทาง เพื่อใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ไปพร้อมๆ กัน

                      2. ระดับที่ 2 การเน้นเทคโนโลยีเฉพาะอย่าง

                             ระดับนี้เป็นการก้าวเข้าสู่ความสนใจที่ซับซ้อนเกี่ยวกับตัวเครื่อง บุคลากรต่างๆ ในวงการมักถามกันว่า "คุณใช้คอมพิวเตอร์ยี่ห้ออะไร ? แบบไหน ? ความเร็วเท่าไหร่ ? ฯลฯ แทนที่จะถามกันว่า คุณใช้ซอฟต์แวร์ระบบไหนหรือซอฟต์แวร์ใดบ้างที่คุณกำลังใช้และได้ประโยชน์ต่อการสอนเพียงใด และในลักษณะใด” ฯลฯ คำถามในลักษณะแรกได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเมื่อ 20 ปีมาแล้ว เมื่อเราทำความรู้จักกับวิธีสอนแบบโปรแกรม รวมทั้งบทเรียนโปรแกรมทั้งหลาย ซึ่งในช่วงนั้นมีการซักถามหรือถกเถียงกันถึงทางเลือกว่า ควรจะใช้โปรแกรมแบบเส้นตรงหรือแบบสาขาดี และเราได้ผ่านวิกฤตการณ์นั้นไปแล้ว เมื่อเราพบว่า บทเรียนโปรแกรมทั้ง 2 ชนิดต่างก็มีข้อดีและข้อจำกัดต่างกัน จึงได้คำตอบว่า การถกเถียงกันในเรื่องดังกล่าวเป็นการสูญเวลาเปล่า เพราะเทคนิควิธีการต่างๆ จะเหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน เนื้อหาวิชา ภารกิจ และปัญหาทางการศึกษาแตกต่างกัน ไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียว ดังนั้น ผู้บริหาร และหรือนักเทคโนโลยีการศึกษาจึงควรพิจารณาในเรื่องนี้ และตัดสินใจเลือกนำคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์มาใช้อย่างเป็นระบบ และเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการ บนพื้นฐานของหลักสูตรและความพร้อมด้านอื่นๆ ประกอบกัน

                      3. ระดับที่ 3 การเน้นการใช้ในการศึกษาแบบวงแคบ

                             ระดับที่ 3 เป็นขั้นของการนำปัญหา หรือสภาพในการจัดการศึกษามาเป็นแนวทางในการใช้เทคโนโลยี คำตอบไม่ได้อยู่ที่การเปรียบเทียบคอมพิวเตอร์กับคอมพิวเตอร์ แต่ควรจะเริ่มต้นพิจารณาในเรื่องสภาพความจำเป็นในการใช้คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ในระบบงานและการจัดการเรียนการสอนและการศึกษาตามหลักสูตรในสถาบันการศึกษา รวมทั้งพิจารณากลุ่มผู้เรียนเป้าหมายและการเตรียมบุคลากร เมื่อใดที่เราตอบข้อคิดนี้ได้ เราก็จะบรรลุมาถึงขั้นที่ 3 นี้ ซึ่งเป็นขั้นที่เราสามารถจัดนำคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน และการจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องมีความวิตกกังวลใดๆ

                      4. ระดับที่ 4 การเน้นการใช้ในการศึกษาแบบวงกว้าง

                             ในขั้นที่ 3 เป็นการคิดถึงประโยชน์และประสิทธิภาพในการใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดการศึกษา ความวิตกกังวลเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ในการนำเทคโนโลยีใหม่นี้มาใช้จะลดลง แต่เราจะมาคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนและระบบงาน จะไม่มีความสงสัยใดๆ เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ต่อไป แต่จะเริ่มถึงพิจารณาสภาพปัจจุบันปัญหาภายในระบบการศึกษา และสถาบันการศึกษาต่างๆ และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถแก้ปัญหาหรือเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาได้ รวมทั้งการคิดหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษาให้สูงยิ่งขึ้นต่อไป ในระดับนี้จะไม่มีการศึกษาว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ควรเป็นแบบใดดี แต่จะเป็นการศึกษาค้นคว้าวิจัยว่า ควรจะใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์อย่างไร วิธีใด หรือศึกษาค้นคว้าวิจัยว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์แบบต่างๆ เหมาะสมกับการเรียนการสอนในลักษณะใด เช่น พิจารณาความเหมาะสมกับเนื้อหาวิช าและหรือกับลักษณะของผู้เรียน (Learner Characteristics) เป็นต้น การใช้เทคโนโลยีจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราเริ่มต้นจากสภาพปัจจุบัน และปัญหา ตลอดจนความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีนั้นๆ ในการจัดการศึกษา และนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ให้เหมาะสมตามความจำเป็น

ความรู้สึกเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีใหม่

                      การนำเทคโนโลยีใหม่หรือนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาการศึกษานั้น ครู ผู้เรียนผู้บริหาร และผู้ปกครองนักเรียน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหลาย ต่างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ด้วยการที่บุคคลเหล่านี้ต่างก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง (Concern) กับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการศึกษา ความรู้สึกหลากหลายที่มีต่อเทคโนโลยีใหม่ของบุคคล จึงมีแตกต่างกัน และต่างระดับในด้านต่างๆ ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการศึกษาและการเรียนการสอนก็คือ ต้องทำให้บุคคลเหล่านั้น มีความรู้ความเข้าใจเป็นอันดับแรก (Self-Oriented Concerns)ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องในลักษณะของการรับรู้ การมีความรู้และการเข้าใจตนเอง จากนั้นบุคคลก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการ (Management) ซึ่งเป็นการดำเนินงานและการใช้นวัตกรรมนั้นให้เกิดประโยชน์ และสุดท้ายก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องผลกระทบ (Impact) ที่เกิดจากนวัตกรรม ซึ่งเป็นการพิจารณาในลักษณะของผลการใช้ความร่วมมือ และการปรับปรุงนวัตกรรมนั้นๆ ต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับความรู้สึกเกี่ยวข้อง หรือเจตคติของบุคคลที่มีต่อนวัตกรรมนั้นๆ

                      ซิลแคลร์และแมคคินนอน (Sinclair and McKinnon. 1986 : 2-4) ได้กล่าวถึงประเภทของความรู้สึกเกี่ยวข้องหรือเจตคติในการยอมรับนวัตกรรมโดยอาศัยกรอบแนวคิดของ CBAM

(Concerns Based Adoption Model) ของ ฮอลล์วอลเลช และดอสเส็ต (Hall, Wallace and Dosset)

จำแนกออกได้ 7 ด้าน คือ

                             1) ด้านการรับรู้ (Awareness) เป็นระดับที่บุคคลได้รับการชี้แนะเกี่ยวกับนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่เพียงเล็กน้อย บุคคลต่างๆ ยังไม่มีความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้มากนัก

                             2) ด้านการมีความรู้ (Information) เป็นการที่บุคคล เริ่มมีความรู้ทั่วๆ ไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่และมีความสนใจรายละเอียดต่างๆ ของนวัตกรรมที่ได้รับการชี้แนะ ไม่มีความกังวลใจในการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้หรือดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ สนใจลักษณะสำคัญของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เช่น คุณลักษณะทั่วๆ ไป ผลการเรียนรู้ที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ และสิ่งที่ต้องเตรียมการใช้ และการจัดการระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาและการเรียนการสอนในสถานศึกษา

                      3) ด้านเกี่ยวกับตนเอง (Personal) หมายถึงความรู้สึกของการที่ตนเองมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับความพร้อมของตนเองในการใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ เช่น ความรู้ความสามารถของตนเอง การจัดโครงสร้างหรือระบบการดำเนินงาน การตัดสินใจ และการพิจารณาเกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้ง ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ภายใต้โครงสร้างที่มีอยู่ หรือภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละบุคคล ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานตามความต้องการของการใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ เป็นต้น

                      4) ด้านการจัดการ (Management) เป็นระดับที่บุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินงาน และการใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างแท้จริง ได้สัมผัสและใช้สารสนเทศตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดผลดีที่สุด นอกจากนั้น ยังสนใจเป็นพิเศษในเรื่องปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการบริหาร การจัดการ และการพัฒนาโปรแกรมด้วย

                      5) ด้านผลกรใช้ (Consequence) เป็นด้านการมีความสนใจ ในเรื่องผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่มีต่อการเรียนของผู้เรียน รวมถึงการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ในด้านการปฏิบัติจริง และสมรรถภาพต่างๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาซอฟต์แวร์ และเครื่องมือต่างๆเพื่อให้ผลการเรียนของผู้เรียนดีขึ้น

                      6) ด้านความร่วมมือ (Collaboration) ด้านนี้จะเกี่ยวข้องในเรื่องการประสานงาน และการร่วมมือกับผู้อื่นในการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาการเรียน

การสอน

                      7) ด้านการปรับปรุงพัฒนา (Refocusing) บุคคลที่เกี่ยวข้องจะเริ่มพัฒนาแนวคิด จากผลที่มีการศึกษาสำรวจข้อดีต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ละคนต่างก็มีแนวความคิดในการหาวิธีการใหม่ๆหรือนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนต่อไป

สรุป

                      การเรียนการสอนที่ดี ครูและนักการศึกษาต้องคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียนซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนประสิทธิภาพการเรียนการสอน ดังนั้น สำหรับครูส่วนใหญ่ที่พัฒนาทักษะการรู้คอมพิวเตอร์ของตนเอง จะทำให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดีกว่า และนั่นย่อมหมายถึงการเตรียมเยาวชนในยุคหน้าได้ก้าวเข้าสู่ความสำเร็จ ด้วยความเข้าใจกันและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกันระหว่างผู้เรียนกับครู

 

แหล่งอ้างอิง  ครูกับการรู้คอมพิวเตอร์ รองศาสตราจารย์ ดร. ไชยยศ  เรืองสุวรรณ

 

http://www.drchaiyot.com/view.php?article_id=26

หมายเลขบันทึก: 319254เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2009 02:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มีประโยชน์ครับ รู้ลึก รู้จริง

เห็นด้วย เห็นด้วย  ขอบคุณมากค่ะ

สอนให้ใช้ ควรสอนให้ดูแลรักษาด้วยนะครับ อีกปัญหาส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น

ขอบคุณที่นำเสนอเรื่องดี ๆ ให้ได้อ่านนะครับ

คอมพิวเตอร์มีบทมากอย่างมากในชีวิตประจำวัน

ยิ่งครู เป็นผู้ถ่านทอดประสบการณ์ให้กับเด็ก ยิ่งต้องมีความรู้คอมพิวเตอร์

สื่อต่างๆที่่ใช้ร่วมกับคอมฯก็มีมากมาย

เพียงครูทั้งหลายมีเครือข่ายฬึ่งกันและกันก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันได้

ประหยัดในทุกๆเรื่อง หรือเรียกอย่างหนึ่งว่า การจัดการความรู้

ขอบคุณพี่พนมไพรมากครับ ที่ได้เสนอบทความดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท