มาบริจาคเกล็ดเลือดกันเถอะ


เกล็ดเลือด

มาบริจาคเกล็ดเลือดกันเถอะ

สำหรับท่านที่มีจิตอันเป็นกุศลที่มีสุขภาพแข็งแรง  อายุไม่เกิน 60 ปี ผมอยากจะเชิญชวนมาลองบริจาคเกล็ดเลือด โดยสามารถติดต่อบริจาคได้ทุกเดือน แตกต่างจากการบริจาคโลหิตทั่วไป  ที่สามารถบริจาคได้ทุก 3  เดือน เกล็ดเลือดมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยหนัก  การผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง  ไข้เลือดออก ฯลฯ   ตัวผู้เขียนเองบริจาคเลือดและเกล็ดเลือดรวมกัน มากกว่า 80 ครั้ง แล้ว ไม่ทำให้ร่างกายอ่อนแอแต่อย่างใด  ในทางกลับกันกลับมีความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์  และเป็นการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกเดือนฟรีอีกด้วย  ช่วงนี้ใกล้เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติ ซึ่งต้องใช้เลือดและเกล็ดเลือดมาก จึงอยากเชิญชวนผู้มีจิตอันเป็นกุศลมาร่วมบริจาคเกล็ดเลือดหรือเลือดเพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ หากท่านที่เคยป่วยหนักมาก่อนและได้รับโลหิตหรือเกล็ดเลือด ก็จะทราบดีว่ามีเลือดและเกล็ดเลือดมีคณค่าต่อร่างกายในยามฉุกเฉินมากน้อยเพียงใด  ถึงแม้การบริจาคเกล็ดเลือดในแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานประมาณ  1  ชม.  แต่ก็สามารถนัดหมายเวลาที่เหมาะสมในการบริจาคได้กับหน่วยรับบริจาค ได้แก่ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจังหวัด คลังเลือดกลาง  เป็นต้น  ก่อนอื่นผู้เขียนขอให้ข้อมูลของเลือดและเกล็ดเลือดพอสังเขป ดังนี้

         ส่วนประกอบของเลือดและประโยชน์ของเลือดต่อชีวิตมนุษย์ โดย แพทย์หญิงทัศน์ยานี จันทนยิ่งยง กล่าวว่าเลือดที่ไหลเวียนในกระแสโลหิตของร่างกายอาจเปรียบเสมือนขบวนรถไฟสินค้า ขนส่งสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตไปสู่สถานีต่างๆ ภายในกระแสโลหิตมีทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด มีก๊าซ เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ เกลือแร่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้แล้ว ยังมีสารจำพวกฮอร์โมน วิตามิน เอนไซม์และแอนติบอดี ซึ่งทั้งหมดนี้รวมตัวกันอยู่ในน้ำ ผู้โดยสารรถไฟขบวนพิเศษนี้ได้อาศัยการไหลเวียนของเลือดภายในร่างกายเดินทางไปสู่จุดหมายที่ต้องการ  เช่น มีการลำเลียงน้ำตาลกลูโคสจากที่เก็บไว้ในตับไปยังกล้ามเนื้อ เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดการเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงานส่วนอื่นๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ต่างก็มีหน้าที่พิเศษเฉพาะตัว

เกล็ดเลือด (Platelet)

          เชื่อว่ามีกำเนิดมาจากไซโตพสาสม์ของเมกาคาริโอไซต์ (megakaryocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ในไขกระดูก คือมีขนาดประมาณ ๓๕-๑๖๐ ไมโครเมตร ภายในไซโตพลาสม์มีเม็ดแกรนนูล นอกจากนั้นแล้ว ไซโตพลาสม์ยังมีขาเทียม (pseudopods) เล็กๆ ยื่นออกมาเป็นจำนวนมาก และต่อมาจะหลุดออกมาเป็นเกล็ดเลือด มีจำนวนประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ - ๔๕๐,๐๐๐ เซลล์  ในจำนวนเลือดหนึ่งมิลลิลิตร มีชีวิตอยู่ในกระแสโลหิตได้นานประมาณ ๘-๑๑ วัน มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับ การห้ามเลือดโดยตรง โดยจะรวมตัวเป็นกระจุก (Platelet plug)อุดตรงบริเวณที่มีหลอดเลือดฉีกขาด  นอกจากนี้แล้วยังมีบทบาทสำคัญในกลไกการแข็งตัวของเลือด โดยให้ปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด (platelet factors I, II, III และ IV) อีกด้วย หน้าที่อื่นที่นอกเหนือจากนี้คือการนำสารต่างๆ ไปกับตัวเกล็ดเลือดด้วย คือ สารซีโรโทนิน (serotonin) สารแอดรีนาลิน (adrenalin) และนอร์แอดรีนาลิน (noradrenalin) และยังพบอีกว่า เกล็ดเลือดสามารถจับมวลสารขนาดเล็ก เช่น ไวรัส ได้ด้วย ดังนั้น เกล็ดเลือดจึงมีความสำคัญในการต่อต้านเชื้อโรคด้วย

 

เกล็ดเลือด (ส่วนที่กระจายอยู่รอบนอก) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

 

คำสำคัญ (Tags): #เกล็ดเลือด
หมายเลขบันทึก: 318888เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2009 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณแพทย์หญิงทัศน์ยานี จันทนยิ่งยง ที่ผมขออนุญาตนำบทความเรื่องเลือดมาเผยแพร่ต่อด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท