BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

กุกกัก มิใช่กุบกับ


กุกกัก มิใช่กุบกับ

วิถีชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป บางคนนั้นดำเนินชีวิตไปอย่างสะดวกราบรื่นสดใส บางคนอาจแปรจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือบางคนก็อาจลุ่มๆ ดอนๆ เป็นต้น

สำหรับผู้เขียนนั้น เริ่มสำเนียกด้วยตนเองตั้งแต่เป็นวัยรุ่นว่าทำไมมันจึงกุกกักอยู่เรื่อยๆ จนกระทั้งได้ศึกษาโหราศาสตร์ในประเด็นที่ว่า ถ้ามีดาวพระเคราะห์มารวมตัวกันในภพทุสถาน คือภพอริ มรณะ และวินาศแล้ว จะทำให้วิถีชีวิตเจ้าของดวงชาตาติดขัด ไม่ราบรื่น หรือไม่ได้ดังใจ ซึ่งผู้เขียนก็มีดวงชาตาเป็นอย่างนี้ และต่อมาเมื่อเจอดวงใดมีดาวมารวมอยู่ในภพทุสถานทำนองนี้ ผู้เขียนมักจะเรียกง่ายๆ ว่า "ดวงกุกกัก"

กุกกัก เป็นคำปักษ์ใต้บ้านเรา มีความหมายว่า ไม่ได้ดังใจ ติดขัด ไม่ราบรื่น ไม่สะดวก อะไรทำนองนี้ เมื่อเป็นดวงกุกกัก นั่นก็คือ จะเป็นคนดีก็ไม่ได้ดังใจ จะเป็นคนชั่วก็ไม่อาจจะชั่วได้ จะขยันก็มีเหตุให้ต้องชะงัก หรือจะขี้คร้านเหลวไหลบ้างก็มีสาเหตุให้ต้องฝืนทำจนได้...

ผู้เขียนไม่ได้บิณฑบาตประจำเกือบปีแล้ว พอเริ่มออกไปได้ ๒-๓ เช้าก็ต้องมีเหตุให้หยุด ก่อนหน้านี้ก็ญาติเสียบ้าง มีงานวัดคุ้นเคยบ้าง... หลังสุดก็ก่อนเข้าพรรษา พอออกไปได้ ๒-๓ เช้า หน้าอกกระแทกกับอ่างน้ำ ทำให้จำเป็นต้องหยุดพักฟื้น จึงไม่บิณฑบาตเลยทั้งภายในพรรษา ออกพรรษามาฝนก็ตกไม่เลิก วันก่อนจึงฝืนชาตาโดยออกไปบิณฑบาต แต่ออกได้เพียง ๒-๓ เช้า ก็เป็นไข้หวัด ค่อยๆ แรงขึ้นจนต้องหยุดบิณฑบาตอีกแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ยังไข้อยู่...

คราวใดก็ตามที่ไม่ได้ดังใจ ผู้เขียนมักจะมาคิดซ้ำเรื่องดวงกุกกัก ว่าจะเขียนบ่นเล่นๆ เมื่อคืนก่อนก็ไข้ขึ้นสูงเกินไป จึงไม่ได้เขียน เพียงแต่นั่งทบทวนจึงเห็นว่า กุกกัก คำนี้ผู้เขียนไม่เคยได้ยินจากใครหลายปีแล้ว ทำท่าจะเป็นคำปักษ์ใต้ที่กำลังจะเลือนหายไป บังเอิญอีกคำหนึ่งผุดขึ้นมาสู่คลองความคิดคือ กุบกับ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่เคยได้ยินหลายปีแล้วเหมือนกัน จึงได้ตั้งชื่อบันทึกนี้ว่า กุกกัก มิใช่กุบกับ

 

กุบกับ หมายถึง รีบเร่ง ด่วน เร่งร้อน... ดังเช่น "เมื่อเช้าตื่นสาย กุบกับมาทำงาน ลืมมือถือไว้ที่บ้านเหลย"

เฉพาะกุบกับ นึกได้ว่ามีคำว่า แขบ เป็นไวพจน์ที่ใช้แทนกันได้ในภาษาปักษ์ใต้ ดังเช่น "เมื่อเช้าตื่นสาย แขบมาทำงาน ลืมมือถือไว้ที่บ้านเหลย"

 

สรุปว่า กุกกัก กับ กุบกับ แม้จะออกเสียงคล้ายกัน แต่ความหมายก็ไม่ใกล้เคียงกัน ซึ่งทั้งกุกกักและกุบกับสองคำนี้ กำลังเลือนหายไปจากสำนวนปักษ์ใต้บ้านเราด้วยอิทธิพลของสื่อโทรทัศน์เป็นต้น 

อนึ่ง แขบ ซึ่งเป็นไวพจน์ของกุบกับนี้ ในสำนวนปักษ์ใต้ยังมีความหมายงอกขึ้นไปจากเดิม นั่นคือ ไฟแขบ แปลว่า ไฟฉาย และเมื่อพิจารณาตามศัพท์ ไฟแขบกับไฟฉาย แม้จะเป็นสิ่งเดียวกันแต่อาจแปลออกมาต่างกัน กล่าวคือ

  • ไฟฉาย คือ ไฟที่ส่องแสงออกมา (ฉาย = ส่องแสง)
  • ไฟแขบ คือ ไฟที่ต้องการใช้อย่างเร่งรีบ (แขบ = เร่งรีบ)

เมื่อมาถึงตอนนี้ ก็นึกขึ้นได้ว่า สำนวนปักษ์ใต้ที่เรียกไฟฉายว่า ไฟกุบกับ ก็เคยได้ยิน เพียงแต่ไม่ทั่วไปเหมือนกับคำว่าไฟแขบเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 318786เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2009 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นมัสการพระคุณเจ้ายามดึกขอรับ

  • มารับธรรม ข้อคิดดีๆ ก่อนนอนขอรับ
  • ผมก็คิดว่า ชีวิตผมเองก็ทั้ง กุบกับ และ กึกกัก เหมือนกัน เพราะทั้งรีบเร่งด้วย รีบร้อน ไม่ได้ดั่งใจเลยขอรับ
  • แต่ต้องนี้เลยต้องเพิ่มความรอบคอบยิ้งมาเพื่อลด กุบกับ จะได้ไม่ กึกกัก ครับ
  • ขอบคุณข้อคิดดีๆ นมัสการด้วยความเคารพครับ

นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาชัยวุธ

ไฟแขบไม่ไครค่อยพูดถึงกันแล้ว ยังนึกถึงสำนวนของหนังจวนแม่นาง(ซึ่งใช้ตัวเจ้าเมืองเป็นตัวหลก) ...

พระราชีนี พูดกับพระราชา "พระองค์คร่าวน้องด้วย อย่าแฉ็งไฟแขบมาทางนี้น้อง หว๋องแหว๋ง"

โดยคำว่าแฉ็งไฟแบคือรุนไปข้างหน้า

แต่บางอย่างแฉ็งคืรุหลบหลัง.....

โดยคำว่าแขบ มีนิทานประกอบ ......เรื่องเกิดที่ภูเก็ต คนขับรถตุ๊กตุ๊ก เห็นผู้หญิงคนหนึ่งนุ่งกระโปรงสั้นยืนโบกรถอยู่ ก็จอดเข้าไปถามว่าไปใหน ผู้โดยสารตอบเป็นภาษษกลางถึงจุดหมายที่จะไป

โชเฟอร์ ถามว่า...แขบหม้าย

ผู้โดยสารก้มมองกระโปรงตัวเองแล้วตอบว่า...ไม่แคบ

จนกระทั่งโชเฟอร์ขับรถเวียนส่งผู้โดยสารคนอื่นไปหมด ถึงมาส่งคุณคนนี้

เธอลงจากรถก็ต่อว่าโชเฟอร์ ที่มาส่งเธอเป็นคนสุดท้าย

โชเฟอร์ให้เหตุผลว่า....เมร่อผมถามคุณแล้วว่าแขบหม้าย คุณบอกว่าไม่แขบ ผมก็ไปส่งคนที่เขาแขบก่อนแล้ครับ 555555555

โดยคำว่าแฉ็งไฟแขบคือรุนไปข้างหน้า .....

แต่บางอย่างแฉ็งคืรุนหลบหลัง.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท