ประกาย~natachoei ที่~natadee
นาง ประกาย ประกาย~natachoei ที่~natadee พิทักษ์

ข่าวจากกรมวิทย์ฯ แจงการพบเชื้อไวรัสดื้อยามาจากหลายปัจจัย


        อ่านข่าวติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลเฝ้าระวังโรค เจอข่าวนี้น่าสนใจดี ลงข่าววันที่ 4 ธันวาคม 2552 คงจะไม่ช้าเกินไปที่จะนำมาเผยแพร่นะคะ

กรมวิทย์ฯ แจงการพบเชื้อไวรัสดื้อยามาจากหลายปัจจัยhttp://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=29564

         กรมวิทย์ฯ แจงการพบเชื้อไวรัสดื้อยามาจากหลายปัจจัย

         กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แจงสาเหตุของการพบเชื้อไวรัสดื้อยามาจากหลายปัจจัย เช่น มีการใช้ยาต้านไวรัสจำนวนมากและไม่เป็นไปตามข้อแนะนำของแพทย์  รวมทั้งการติดต่อจากคนสู่คน ของประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงเฝ้าระวังการเกิดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดื้อยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีระบาดสูงและพื้นที่ที่มีการติดต่อกับ ชาวต่างประเทศ

         นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า  จากการติดตาม เฝ้าระวังการกลายพันธุ์และการเกิดเชื้อดื้อยาของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดิมที่ระบาดตามฤดูกาล ตั้งแต่ต้นปี 2551 ตามข้อตกลงกับองค์การอนามัยโลก โดยมีอัตราการพบเชื้อดื้อยาของไวรัสสายพันธุ์เดิมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันในปลายปี 2552 พบสูงถึงร้อยละ 95 สำหรับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) ได้เฝ้าติดตามการเกิดเชื้อดื้อยามาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 โดยคัดเลือกตัวอย่างจากผู้ป่วยตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือจากกลุ่มที่มีอาการรุนแรงและสุ่มตัวอย่างจากพื้นที่ที่ยังมีการระบาดสูงในหลายพื้นที่ พบว่ามีเพียง 3 ราย จากการตรวจทั้งหมด 219 ตัวอย่าง (ร้อยละ 1.37) ที่พบเป็นเชื้อดื้อยา Oseltamivir แต่ยังไม่ดื้อต่อยา Zanamivir เป็นผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร 1 ราย และ อ.เกาะสมุย 2 ราย ทั้งหมดไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสและไม่มีอาการรุนแรง

        สำหรับการตรวจพบไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อยาจะมี 2 ลักษณะ ดังนี้

        1. มีการใช้ยาต้านไวรัสจำนวนมากและไม่เป็นไปตามข้อแนะนำของแพทย์ จึงทำให้ไวรัส เกิดการกลายพันธุ์ในผู้ป่วย 
        2. การที่คนปกติได้รับเชื้อที่กลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาแล้ว

        ในประเทศไทยการพบเชื้อดื้อยาในลักษณะแรกคาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว เนื่องจากยังอยู่ในระยะ ที่เริ่มมีการใช้ยามากขึ้น แต่การแพร่เชื้อไวรัสดื้อยาที่เกิดขึ้นจากการได้รับเชื้อมาจากต่างประเทศที่มีการใช้ยาต้านไวรัสสูงแล้วนำมาแพร่จากคนสู่คนในประเทศไทย จะเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยมีอัตราการพบเชื้อดื้อยามากขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับต่างประเทศ เพราะมีการติดต่อเดินทางระหว่างประเทศของประชาชนจำนวนมากขึ้น

        จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อดื้อยา 3 รายในประเทศไทย ไม่มีประวัติของการได้รับยาต้านไวรัส แต่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีชาวต่างประเทศหรือมีการติดต่อกับต่างประเทศ ดังนั้นการเฝ้าระวังการเกิดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดื้อยา จึงควรทำอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดสูงและ พื้นที่ที่มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ เช่นเดียวกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มระบาดจากพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย


         ดร.วัฒนา อู่วาณิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านไวรัสวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า การตรวจพบสายพันธุ์ไวรัสที่ดื้อยาต้านไวรัสทางห้องปฏิบัติการมี 2 วิธี คือการตรวจเบื้องต้น โดยตรวจพบการกลายพันธุ์ของไวรัสที่มีลักษณะเชื้อดื้อยา (genotyping) อีกวิธีคือการตรวจทางชีววิทยา (phenotyping) ซึ่งใช้วิธีเลี้ยงเชื้อไวรัสในหลอดทดลองที่มียาต้านไวรัสอยู่ด้วย หากระดับไวรัสยังไม่ลดลง แสดงว่ามีเชื้อไวรัสที่ดื้อยาจำนวนมากในร่างกาย อย่างไรก็ตามการตรวจพบเชื้อดื้อยาไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยไม่สามารถรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ทุกราย แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อดื้อยาที่ปะปนในร่างกายยังมี ต่ำมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับเชื้อที่ยังมีความไวต่อยาอยู่และขึ้นอยู่กับองค์ประกอบพันธุกรรมส่วนอื่นๆ ของไวรัสด้วย 

        ในต่างประเทศมีรายงานการพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดื้อยา Oseltamivir สูงขึ้นเรื่อยๆ และมีหลักฐานว่ามีการถ่ายทอดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดื้อยาจากคนสู่คนครั้งแรกในผู้ป่วย 5 คน ในโรงพยาบาลแคว้นเวลส์ ประเทศอังกฤษ โดย 3 คนได้รับเชื้อระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลและ มีอาการรุนแรง แต่รักษาหายแล้ว สำหรับสาเหตุของการได้รับเชื้อดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่กลายพันธุ์ในประเทศนอร์เวย์ในผู้ป่วย 3 ราย ที่มีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิต

         องค์การอนามัยโลกได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่าเป็นการกลายพันธุ์ในส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาต้านไวรัสและการใช้วัคซีนพบว่าผู้ป่วย 3 ราย มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่มีผู้ป่วยรายเดียวที่ตำแหน่งของพันธุกรรม ที่เปลี่ยนแปลงอาจจะเกี่ยวข้องกับการการติดเชื้อของไวรัสในบริเวนชั้นเนื้อเยื้อที่ลึกลงไปในระบบ ทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตามไม่พบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในผู้ป่วยอีก 60 ราย ที่ทำการศึกษาจึงยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าเชื้อที่กลายพันธุ์นี้จะทำให้เกิดความรุนแรงของโรคสูงขึ้นในผู้ป่วยทุกราย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
3 ธันวาคม 2552


ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม
โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 99017 , 90081
โทรสาร 0-2591-1707 NIH/kai53

หมายเลขบันทึก: 318769เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2009 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ ขออนุญาตนำไปถ่ายทอดต่อนะคะ ขอบคุณค่ะ

P ยินดีมากคะอาจารย์ อ่านมาจากข่าวกระทรวงสาธารณสุขนะคะ

สว้สดีค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ที่มีข่าวสารมาให้ทราบ

ใช้น้ำมันมะพร้าวให้ร่างกายแข็งแรงไว้นะคะ กันหวัดได้ และทำลายเกราะไขมันไวรัสและฆ่ามันได้โดย สารโมโนลอริน  คือเจ้าพระเอกกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวหรือกะทิ

 

ขอบคุณคะคุณกานดา ข้อมูลที่ดี ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท