การประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร


ในช่วง 2-3 ปีนี้ มหาวิทยาลัยมีบุคลากรซึ่งเป็นน้องใหม่เข้าร่วมทีมจำนวนมาก ทำให้ไม่รู้ที่มาของการประกันคุณภาพภายในมหาลัยอย่างชัดเจนในฐานะพี่เก่าจึงขอเล่าประสบการณ์และวิธีการดำเนินงานประกันคุณภาพให้น้อง ๆ ฟังดังนี้

การประกันคุณภาพการศึกษา  มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร


  มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร  ได้ ดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง  มีการจัดระบบและมีกลไกที่ทำให้งานประกันคุณภาพสัมฤทธิผล  มหาวิทยาลัยของเราได้รับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกจาก  สมศ.  เป็นรุ่นแรกของรอบที่  1  เมื่อปีการศึกษา  2545 
และขณะนี้เราได้รับโอกาสที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกจาก  สมศ.  เป็นรุ่นแรกของรอบที่  2  ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2549  นี้ มหาวิทยาลัยมีการดำเนินการประกันคุณภาพภายในและมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับ การประเมินคุณภาพภายนอก แต่เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีนี้ มหาวิทยาลัยมีบุคลากรซึ่งเป็นน้องใหม่เข้าร่วมทีมจำนวนมาก ทำให้ไม่รู้ที่มาของการประกันคุณภาพภายในมหาลัยอย่างชัดเจนในฐานะพี่เก่า จึงขอเล่าประสบการณ์และวิธีการดำเนินงานประกันคุณภาพให้น้อง ๆ ฟังดังนี้ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31875เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แนวคิดที่มหาวิทยาลัยใช้ในการดำเนินงานประกันคุณภาพ  ได้แก่    

 

1.TQM (Total Quality Management)

   นั่นคือ  การจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร ทุกหน่วยงาน  บุคลากรทุกคน 
   ต้องมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา         

2. วงจรคุณภาพของเดมมิ่ง PDCA

ในวงรอบใหญ่เราใช้ PDCA ในงานประกันคุณภาพ    
ดังแผนภูมิ การดำเนินงานเพื่อเพิ่มคุณภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร 

 ในงานย่อยแต่ละงาน ซึ่งมีกระบวนการงานต่าง ๆ เช่น กระบวนการจัดการเรียนการสอน

กระบวนการพัฒนานักศึกษา กระบวนการพัฒนาหลักสูตร ฯลฯ เราก็ใช้   วงจรคุณภาพ

ซึ่งได้แก่ การวางแผน การดำเนินงาน การตรวจสอบและประเมิน การแก้ไขปรับปรุง

ดังนั้นการเขียนรายงานการประเมินตนเองเราจึงเขียนให้เห็นเป็นขั้นตอน P D C A ซึ่งจะทำ

ให้รู้ว่าการทำงานของเราขาดขั้นใดไป เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป

3. KPI (Key Performance Indicator) ตัวชี้วัด/ตัวบ่งชี้ / ดัชนีการดำเนินงานที่สำคัญและเกณฑ์ที่กำหนดจะเป็นกรอบหรือทิศทางการทำงานขององค์กร
KPI ที่มหาวิทยาลัยใช้เป็นกรอบการทำงานมาจาก 3 องค์กรหลัก ๆ
องค์กรแรก ได้แก่ KPI ที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษากำหนดไว้เป็นองค์ประกอบคุณภาพ 9 องค์ประกอบ และ KPI ภายใต้ 9 องค์ประกอบนี้ มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดให้ครอบคลุม Input Process Output Outcome ซึ่ง KPI ที่เรากำหนดจะแสดงให้เห็นถึง Process ในแต่ละองค์ประกอบอย่างชัดเจน ซึ่งทั้ง 9 องค์ประกอบเป็นเรื่องของการจัดการศึกษาดังนี้

องค์ประกอบที่ 1 ปรัชญา ปณิธาน วัตถุประสงค์และแผนการดำเนินงาน

องค์ประกอบที่ 2 การเรียนการสอน

องค์ประกอบที่ 3 กิจกรรมการพัฒนานักศึกษา

องค์ประกอบที่  4  การวิจัย

องค์ประกอบที่  5  การบริการทางวิชาการสู่ท้องถิ่นและสังคม

องค์ประกอบที่  6  การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม                   

องค์ประกอบที่  7 การบริหารและการจัดการ

องค์ประกอบที่  8 การเงินและงบประมาณ

องค์ประกอบที่  9 การประกันคุณภาพ 

องค์กรที่สอง  ได้แก่  สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการเป็นหน่วยงาน(ก.พ.ร.)ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยมีการปฏิรูประบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  การดำเนินงานมีขั้นตอน ดังนี้

     -  กพร.  กำหนด  KPI

     -  มหาวิทยาลัยต่อรอง  เลือก  KPI  ในบางมิติ  และกำหนดค่าน้ำหนัก

     -  มหาวิทยาลัยโดยอธิการบดีลงนามรับรองการปฏิบัติราชการตาม  KPI  ที่ได้ตกลงกับเจ้ากระทรวง

     -  หัวหน้าหน่วยงานในมหาวิทยาลัยลงนามรับรองการปฏิบัติราชการกับ  อธิการบดี

     -  มหาวิทยาลัยดำเนินงานและจัดทำรายงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการในรอบ 6 เดือน 9  เดือน  และ  12  เดือน

     -  มหาวิทยาลัยนำเสนอรายงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการต่อสภามหาวิทยาลัย

     -  คณะกรรมการจาก  กพร.  ตรวจเยี่ยมให้ข้อแนะนำ

     -  คณะกรรมการ  กพร.  ประเมินผลการดำเนินงาน

                   KPI  จาก  กพร.  นี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่จะทำให้การปฏิบัติราชการของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิผลมากขึ้น  เช่น

      * การลดรอบระยะเวลาการปฏิบัติงาน  เพื่อให้ใช้เวลาน้อยลงแต่ประสิทธิผลเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม  ผลของการดำเนินงานก็เห็นผลชัดเจน   เช่น การเบิกค่ารักษาพยาบาลของคณาจารย์  ข้าราชการ  และพนักงานราชการ  จากเดิมใช้เวลา  15-20  วัน  เป็น  3-5  นาที   การอนุมัติจบการศึกษาให้แก่นักศึกษา  สภามหาวิทยาลัยสามารถอนุมัติจบการศึกษาได้ทุกเดือน  และยังมีอีกหลายเรื่องที่มีผลการลดรอบระยะเวลาปฏิบัติงานแล้วได้ผลดีผู้รับบริการพึงพอใจ

      * การประหยัดพลังงาน  เมื่อดำเนินงานตามขั้นตอนแล้ว  ทำให้บุคลากรตระหนักช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า  และน้ำมัน  ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยได้ส่วนหนึ่ง


       * การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและตรวจสอบ  KPI  ซึ่งตรงกับคติพจน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรที่ว่าสร้างสรรค์ภูมิปัญญา  พัฒนาท้องถิ่น  เรามีบุคลากรจากภายนอกเข้ามา ร่วมให้ความคิดเห็นตั้งแต่สภามหาวิทยาลั   สภาวิชาการมหาวิทยาลัย  คณะกรรมการประจำคณะ  คณะกรรมการโปรแกรมวิชา  และคณะกรรมการศูนย์อุดมศึกษาแม่สอด   มีการสื่อสารถึงประชาชนมากกว่า  5  ช่องทาง  มีบุคลากรร่วมประชุมให้แนวคิด  นโยบาย แนวปฏิบัติ  ตัดสินและตรวจสอบเรื่องสำคัญ ๆ  และเป็นที่น่ายินดีว่าในหลาย ๆ  ครั้งที่ประชาชนชาวแม่สอดและอีก  4  อำเภอในซีกตะวันตกของจังหวัดตากบอกกับคณาจารย์ของเราว่า ศูนย์อุดมศึกษาแม่สอด เป็นของพวกเขา  ไม่ใช่ของคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร  พวกเราเข้ามาทำงาน  มารับใช้  เมื่อเกษียณอายุก็จากไป  แต่มหาวิทยาลัยยังคงอยู่เป็นของลูกหลานเขาตลอดไป  เพราะฉะนั้นพวกเขายินดีที่จะทำให้มหาวิทยาลัยก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืน  และขอขอบคุณพวกเราที่เข้าไปช่วยเหลือจัดการศึกษาให้

         * KM (Knowledge  Management)  การจัดการความรู้  ในมหาวิทยาลัยของเราเป็นแหล่งความรู้  เรามีการจัดประชุม  อบรม  สัมมนา  และส่งบุคลากรไปพัฒนากันบ่อย ๆ  แต่เราไม่ค่อยมีโอกาสที่จะคุยกันฉันท์พี่น้อง  เพื่อนร่วมปฏิบัติงาน  เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน  เมื่อมี  K.M  มาทำให้เราเห็นความสำคัญของ  Tacit  Knowledge (ความรู้ที่อยู่ในตัวคน  ซึ่งเป็นประสบการณ์การทำงานที่มีค่าซึ่งขอเรียกว่า  เคล็ดวิชา) 

         หลังจากที่มหาวิทยาลัย  และหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มดำเนินการ  เราก็มีการจัดเสวนาในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน   ตัวอย่างเช่น  เรื่องการนำการวิจัยไปใช้ในการเรียนการสอน  ซึ่ง สถาบันวิจัยฯ  เป็นคุณอำนวยให้เกิดการเสวนาขึ้น และมีอีกครั้งที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียน   การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ซึ่งคณะมนุษยศาสตร์ ฯ  เป็นคุณอำนวยให้เกิดการเสวนา  และมีคุณกิจ ซึ่งเป็นพี่ ๆ  ในคณะมนุษย์ศาสตร์ ฯ  เช่น  พี่จีรภา  พี่เยาวลักษณ์  พี่ประพิมพร  พี่อรุณลักษณ์   และพี่สุวิทย์ซึ่งเป็นคณบดี  มาพูดคุยกันกับน้อง ๆ ในที่สุดเราก็ได้ประโยคสำคัญจาก  พี่สุณี  (ผศ.สุณี  บุญพิทักษ์) ว่า  RBL  (Research  Base  Learning)  ไม่ยากอย่างที่คิด  ซึ่งเป็นกำลังใจให้น้องใหม่หลายคนฮึกเหิมที่จะนำ  การวิจัยไปบูรณาการกับการเรียนการสอน  การบริการวิชาการแก่ชุมชน  ในภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2549  นี้

                  

         ยังมี  KPI  อีกหลายตัวที่น่าสนใจ  เช่นเรื่อง การบริหารความเสี่ยง  การจัดทำบัญชีต้นทุน  การถ่ายทอดตัวชี้วัดจากองค์กรสู่ระดับหน่วยงานและระดับบุคคล

   ในปีนี้  กพร.  ได้ขอให้  สมศ.  ซึ่งเป็นผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ฯ  ได้เข้ามาประเมิน  KPI  ของ กพร.  ด้วย  จึงมี การพัฒนา KPI.  ให้เกิดการบูรณาการระหว่างการจัดการศึกษากับการปฏิรูประบบราชการ  อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

องค์กรที่สาม 

ได้แก่  KPI  จาก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ซึ่งมีหน้าที่ในการประเมิน  และรับรองมาตรฐานสถานศึกษา  วิธีการเป็นแบบกัลยาณมิตรประเมินเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ  สมศ.กำหนดมาตรฐานการศึกษาไว้  7  มาตรฐาน  ตัวบ่งชี้แบ่งเป็น  2  ลักษณะได้แก่    ตัวบ่งชี้ร่วม  ซึ่งทุกกลุ่มมหาวิทยาลัยจะถูกประเมินเหมือนกัน  และ ตัวบ่งชี้เฉพาะ  ซึ่งจะแตกต่างไปตามการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่เน้น การผลิตบัณฑิตและบริการวิชาการแก่สังคม    ซึ่ง KPI  ของสมศ.  นั้น มีจำนวนน้อยกว่า  KPI  ที่เป็นการประกันคุณภาพภายใน  เพราะเน้นการประเมินไปที่ผลผลิต  ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ (Process)

   
            

...และหน้าที่ของสำนักประกันคุณภาพ  ฯ  ก็คือ 

การบูรณาการ  KPI  จาก  3  องค์กรเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดการดำเนินที่งานครอบคลุมและผู้รายงานสามารถใช้เอกสารเล่มเดียว  ตอบคำถามจาก 3  องค์กรได้ 

จึงเกิดการพัฒนา  KPI  และเกณฑ์การประเมินของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรขึ้น

และได้ใช้ในการดำเนินงานและจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ระดับโปรแกรมวิชา คณะ สำนักงาน สถาบัน  และมหาวิทยาลัย

                  

       

       ในโอกาสนี้จะขอเล่าพัฒนาการของการประกันคุณภาพการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏ-กำแพงเพชรเพียงเท่านี้ก่อน  โอกาสต่อไปจะเล่าว่า เราเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ  2  จาก  สมศ.  อย่างไร

  

   สวัสดีค่ะ

  

อรอนงค์ แจ่มผล

KPRUQA Board Chairman

หมายเหตุ ข้อความข้างต้นสามารถอ่านในรูปแบบ Microsoft Word ได้ ที่นี่ ค่ะ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท