7 ความเข้าใจผิดที่แม้แต่หมอยังเชื่อ !!


7 ความเข้าใจผิดที่แม้แต่หมอยังเชื่อ !!

ลฟ์ไซน์/บริติชเมดิคัลเจอร์นัล – จริงหรือเมื่อ ตายไปแล้วเล็บและผมยังยาวได้ รวมถึงคำแนะนำของแพทย์อย่าง ดื่มน้ำวันละ 8 แก้วแล้วจะดี อ่านหนังสือในที่แสงสลัวไม่ดีต่อสายตา รวมทั้งเราใช้สมองแค่ 10% เองเท่านั้นหรือ เหล่านี้งานวิจัยใหม่บอกว่าเป็น “มายาคติ” ที่แม้แต่คุณหมอเองก็ยังเชื่อ !!
       
       ดร.อารอน แคร์รอล (Dr. Aaron Carroll) และ ดร.ราเชล ฟรีแมน (Dr.Rachel Vreeman) 2 กุมารแพทย์ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University School of Medicine) สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อปฏิบัติและความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพ จนออกมาเป็นรายงาน “มายาคติทางการแพทย์” ผ่านวารสารบริติชเมดิคัลเจอร์นัล (British Medical Journal) ฉบับล่าสุด โดยแจกแจงออกมาเป็น 7 ข้อคือ
       
       1.มนุษย์ใช้สมองแค่ 10% เท่านั้น
       

       ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1900 เชื่อกันว่าสมองของคนเราทำงานเพียงแค่ 10% ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ใครคนหนึ่งกุขึ้น เพื่อที่จะต้องการครอบงำกลุ่มคนหมู่มาก กระทั่งวิทยาการก้าวหน้า นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสมองจากภาพสแกน ก็ไม่พบว่ามีสมองส่วนไหนที่อยู่นิ่งเฉย หรือว่ามีเซลล์สมองในบริเวณไหนไม่มีปฏิกิริยาใดๆ และจากการศึกษากระบวนการทางเคมีของเซลล์สมองบ่งชี้ว่าไม่มีสมองบริเวณไหนที่ ไม่ทำงาน และจากการศึกษาผู้ป่วยที่ได้รับความกระทบกระเทือนที่สมองยังบ่งชี้ว่าสมอง ที่ถูกทำลายเกือบทั้งหมดนั้นจะมีบริเวณจำเพาะที่เมื่อถูกทำลายแล้วจะมีผลต่อ การสมรรถภาพร่างกาย
       
       2.ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
       

       "ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าคนเราต้องการน้ำมากมายขนาดนั้น" ดร.ฟรีแมนระบุ ซึ่งเธอคาดว่าความเชื่อนี้มีที่มาจากสภาโภชนาการของสหรัฐฯ เมื่อปี 2548 ที่แนะนำให้ประชาชนบริโภคของเหลววันละ 8 แก้ว แต่ในปีต่อๆ มาหลังจากนั้น คำว่า "ของเหลว" จำกัดอยู่เฉพาะแค่ "น้ำเปล่า" ไม่ได้หมายรวมถึงน้ำผัก ผลไม้ กาแฟ หรือว่าของเหลวอื่นๆ เข้าไปด้วย
       
       อีกหนึ่งต้นตอของความเชื่อนี้น่าจะมาจากเฟรเดอริค สแทร์ (Frederick Stare) โภชนากรที่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มวันละ 6-8 แก้ว ซึ่งครอบคลุมทั้งน้ำเปล่า ชา กาแฟ นม เบียร์ และซอฟดิงก์อื่นๆ ต่อมาการแนะนำที่ปราศจากข้อมูลอ้างอิงของสแทร์ถูกหักล้างด้วยข้อมูลของไฮนซ์ วาลติน (Heinz Valtin) ที่รายงานไว้ในวารสารอเมริกันเจอร์นัลออฟฟิสิโอโลจี (American Journal of Physiology) ที่ว่าการบริโภคนม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มอื่นๆ เป็นประจำในแต่ละวันเท่านี้ร่างกายก็ได้รับของเหลวเพียงพอต่อความต้องการ แล้ว ในทางตรงกันข้าม การดื่มน้ำมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเมื่อเกิดภาวะสารน้ำในร่างกาย มากผิดปกติจนเกิดเป็นพิษ หรือที่เรียกว่า "น้ำเป็นพิษ" (water intoxication)
       
       3.ตายไปแล้วแต่เล็บและเส้นผมยังคงงอก
       
       ผู้แต่งหนังสือเรื่อง "แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง" (All Quiet On The Western Front) บรรยายไว้ว่าเล็บของเพื่อนคนหนึ่งยาวขึ้นหลังจากพิธีฝังศพผ่านไปแล้ว ส่วนจอห์นนี คาร์สัน (Johnny Carson) นำความเชื่อนี้มาเขียนเป็นเรื่องขำขันจนกลายเป็นความเชื่ออมตะว่า หลังจากตายไปแล้ว 3 วัน ผมและเล็บของเราจะงอกใหม่
       
       แพทย์ส่วนใหญ่คิดว่านี่เป็นเรื่องจริงในตอนแรก แต่เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่า ที่จริงแล้วขณะที่ศพกำลังแห้งลง เนื้อเยื่อส่วนที่นุ่มอย่างผิวหนังก็จะหดตัว ทำให้เผยชิ้นส่วนของเล็บมากขึ้น ทำให้ดูว่ายาวออกมา เช่นเดียวกันเส้นผม ซึ่งจะสังเกตเห็นผิวหนังหดตัวได้น้อยกว่า อย่างไรก็ดีฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้ผมและเล็บยาวนั้นไม่มีทางทำงาน หลังจากเจ้าของร่างสิ้นใจไปแล้วเป็นแน่
       
       4.ผมหรือขนงอกเร็วกว่าเก่าเมื่อโกน แถมหยาบและสีเข้มขึ้นด้วย
       

       ปี 2471 นักวิทยาศาสตร์ทดลองโกนผมแล้วเปรียบเทียบผมที่งอกใหม่กับผมที่ไม่ได้โกน ผลปรากฏว่าผมที่งอกขึ้นมาแทนผมที่ถูกโกนไปก่อนหน้านั้นไม่ได้มีสีเข้มหรือ เส้นหนา หรืองอกเร็วไปกว่าผมปกติเลย การทดลองครั้งหลังๆ ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน ที่จริงแล้วเมื่อผมถูกโกนและงอกใหม่เป็นครั้งแรก จะยังเป็นเส้นผมทื่อๆ ตรงส่วนปลาย แต่เมื่อผ่านไปนานวันเข้า ปลายผมที่เคยแข็งทื่อก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพและอ่อนนุ่มขึ้น ส่วนที่มองเห็นเป็นสีเข้มกว่าปกติ เนื่องจากว่าในตอนแรกผมเส้นนั้นยังไม่ถูกแดดเผาทำลายให้สีซีดจางลง
       
       5.อ่านหนังสือในที่แสงน้อยทำให้สายตาเสีย
       
       เรื่องนี้เป็นที่เชื่อถือกันอย่างแพร่หลาย และผู้ใหญ่ก็มักจะห้ามไม่ให้เด็กๆ อ่านหนังสือในที่มืดหรือที่ที่มีแสงน้อย มิฉะนั้นแล้วจะสายตาสั้นและต้องสวมแว่น เป็นต้น ความเชื่อนี้น่าจะมาจากจักษุแพทย์ที่บอกว่าหากใช้สายตาในที่แสงสว่างน้อย กว่าปกติจะมีผลต่อการรับภาพของประสาทตา ทำให้อัตราการกระพริบตาลดลง ตาแห้งและระคายเคือง
       
       อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนักวิจัยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตายังไม่พบหลักฐานชี้ชัดว่าการ อ่านหนังสือในที่มืดจะทำลายสุขภาพตาอย่างถาวร แต่สามารถทำให้ดวงตาย่ำแย่และการมองเห็นด้อยลงเป็นเวลาชั่วครั้งชั่วคราวได้
       
       6. รับประทานไก่งวงทำให้ง่วงนอน
       

       เดิมทีแพทย์และนักวิจัยต่างก็เชื่อว่าหากรับประทานไก่งวงแล้วจะ รู้สึกง่วงนอน แต่พบว่าสารทริปโตแฟน (tryptophan) ในไก่งวงนั่นเองที่เป็นสาเหตุให้ผู้ที่รับประทานไก่งวงรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน ทว่าในไก่งวงไม่ได้มีทริปโตแฟนมากไปกว่าไก่ทั่วไปหรือเนื้อวัวเลย มีเท่าๆ กันประมาณ 350 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 115 กรัม ขณะที่แหล่งโปรตีนอื่นๆ อย่างเนื้อหมูหรือชีสมีทริปโตแฟนมากกว่าไก่งวงเสียอีกเมื่อเทียบเป็นน้ำหนัก เพียงแต่ว่าผู้คนนิยมบริโภคไก่งวงกันมากเป็นพิเศษในช่วงวันหยุด และยังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย เหตุนี้จึงทำให้รู้สึกง่วงและหลับง่ายกว่าปกติ
       
       นอกจากนี้แพทย์ยังนำกลไกในร่างกายมาอธิบายได้ว่าอาการง่วงนอนมักเกิด ขึ้นหลังจากรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาหารมื้อนั้นเป็นเนื้อสัตว์เสียส่วนใหญ่ หรือมีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตมาก จะกระตุ้นให้รู้สึกง่วงนอนมากเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ลดลง
       
       7. ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในโรงพยาบาล เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
       

       ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้ป่วยในโรงพยาบาลเสียชีวิตเนื่องมาจาก โทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่พบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่รบกวนการทำงานของอุปกรณ์การแพทย์บางอย่างเพียง เล็กน้อยเท่านั้น เช่น เครื่องควบคุมการให้สารละลายในผู้ป่วย (infusion pump), เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของระบบหัวใจ (cardiac monitor)
       
       ทว่าขณะที่ยังไม่มีรายงานใดๆ ยืนยันถึงอันตรายของการใช้โทรศัพท์มือในโรงพยาบาล ในปี 2545 มีการเผยแพร่เรื่องที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือในสถานพยาบาลแห่งหนึ่งแล้ว ปรากฏว่าเครื่องควบคุมการให้สารอะดรีนาลีน (adrenaline) ทำงานผิดปกติ หลังจากนั้นวอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) ก็นำก็รายงานมากว่า 100 รายงานที่ระบุว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่รบกวนการทำงานของอุปกรณ์แพทย์ในช่วงก่อน ปี 2536 ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือในโรงพยาบาล
       
       เมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาวิจัยถึงเรื่องดังกล่าวในประเทศอังกฤษ พบว่าโทรศัพท์มือถือรบกวนการทำงานของอุปกรณ์แพทย์เพียง 4% เท่านั้น และต้องอยู่ห่างจากอุปกรณ์นั้นภายในระยะไม่เกิน 1 เมตร และจากการทดสอบการใช้โทรศัพท์มือถือ 300 ครั้งในห้องพักพื้น 75 ห้อง ไม่พบสิ่งใดผิดปกติเลย ในทางตรงกันข้ามพบว่าแพทย์ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนสามารถสื่อสารได้ชัดเจน และลดความผิดพลาดได้มากยิ่งขึ้น
       
       “เมื่อ พวกเราเอ่ยเรื่องนี้ขึ้นมาในตอนแรก แพทย์ส่วนใหญ่จะยังไม่เชื่อว่านี่เป็นเรื่องจริง กระทั่งพวกเขาได้ศึกษาหลักฐานต่างๆ อย่างละเอียดแล้ว เขาจึงยอมรับกันว่าที่พวกเขายึดถือมานั้นมันไม่ได้ถูกต้องไปทั้งหมด” ดร.ฟรีแมนกล่าว

ที่มา http://www.manager.co.th/Science

หมายเลขบันทึก: 318173เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2009 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท