From Tuesdays with Morrie to One Day with Pamela


When we know how we want to die, we know how we want to live

                ประโยคเด็ดประโยคหนึ่งจากหนังและหนังสือชื่อดังเรื่อง Tuesdays with Morrie ฉันเห็นด้วยกับประโยคนี้แบบเต็มหัวใจ

            หนังสือเรื่อง Tuesdays with Morrie เขียนขึ้นจากเรื่องจริง เริ่มตีพิมพ์ในปี 1997 เป็นหนึ่งในหนังสือที่ขายดีจากการจัดอันดับของ the USA Today’s Best Sellers List เป็นระยะเวลา 6 ปี และได้ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในปี 1999

            หนังสือเรื่องนี้ มีสองตัวละครหลักคือ Morrie Schwartz ซึ่งเป็นอาจารย์สาขาสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัย Brandeis กับลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาที่ชื่อ Mitch Albom หนังสือจะบอกเล่าถึงบทเรียนชีวิตต่างๆที่ Mitch ได้เรียนรู้จากอาจารย์ของเขาซึ่งกำลังป่วยเป็นโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS – หรือเรียกอีกชื่อว่า Lou Gehrig’s Disease) ซึ่งโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยค่อยๆเป็นอัมพาตขึ้นมาเรื่อยๆจากขาไล่มาแขนจนถึงกระบังลม ทำให้การหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

            Morrie เกิดในครอบครัวที่ยากจน มีน้องชายหนึ่งคน ทั้งสองอาศัยอยู่กับพ่อซึ่งไม่ค่อยเอาใจใส่เลี้ยงดู ขณะที่เขาอายุได้แปดขวบ เขาได้รับโทรเลขข่าวร้ายเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแม่ เนื่องจากเขาเป็นคนเดียวในครอบครัวที่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ ทำให้เขาต้องเป็นคนทำหน้าที่บอกข่าวร้ายนี้กับครอบครัว พ่อของเขาซึ่งแต่งงานใหม่และต้องการให้น้องชายของ Morrie เข้าใจว่าแม่เลี้ยงคือแม่ที่แท้จริง จึงได้ขอให้ Morrie ปกปิดการตายของแม่เขาไม่ให้น้องรู้ การกระทำของพ่อได้สร้างความกดดันทางอารมณ์ให้กับเด็กอายุแปดขวบอย่างรุนแรง Morrie ได้เก็บรักษาโทรเลขซึ่งเสมือนเป็นหลักฐานการเสียชีวิตของแม่เอาไว้ตลอดเวลา

                Mitch ตัวละครหลักอีกคน เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของ Morrie ขณะที่เขาทำงานเป็นอาจารย์ในสาขาสังคมวิทยา Mitch จบการศึกษาในฤดูใบไม้ผลิปี 1979

สิบหกปีหลักจากจบการศึกษาไป Mitch รู้สึกสับสนกับการดำเนินชีวิตของตัวเองเป็นอย่างมาก เขาทิ้งความฝันที่ต้องการเป็นนักเปียโน ไปประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ใน Detroit ซึ่งมีรายได้มากกว่า เขาได้เห็นอาจารย์ของเขาโดยบังเอิญในรายการโทรทัศน์ซึ่งขณะนั้นเริ่มป่วยเป็นโรค ALS แล้ว เขาจึงได้กลับไปหาอาจารย์ที่บ้านที่ West Newton, Massachusetts อีกครั้ง แต่แล้วหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ต้องไปทำรายงานข่าวเกี่ยวกับการแข่งขันเทนนิส Wimbledon ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งที่นั่นเองทำให้เขามีเวลาคิดเกี่ยวกับเรื่องราวของ Morrie และได้เริ่มเข้าใจชีวิตของตัวเอง หลังจากกลับจากประเทศอังกฤษเขาได้เดินทางไปพบ Morrie ที่บ้านทุกวันอังคารเพื่อเรียนรู้บทเรียนชีวิตที่ Morrie ได้ถ่ายทอดให้

            บทเรียนชีวิตที่ได้รับจาก Morrie มีส่วนสำคัญที่ทำให้ Mitch ตัดสินใจที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพี่ชายของเขาซึ่งได้แยกไปอาศัยที่สเปนและกำลังป่วยเป็นโรงมะเร็ง

                หลังจากได้ถ่ายทอดบทเรียนชีวิตอันมีค่าสิบสี่บท Morrie ก็สิ้นลมหายใจ

 

            ฉันเองยอมรับว่าสนใจงานด้าน Palliative care มากขึ้นหลังจากได้อ่านหนังสือและดูหนังเรื่องนี้

ยิ่งเมื่อได้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้มากขึ้นก็เห็นด้วยว่าเป็นความจริง เพียงแต่เราอาจจะไม่ต้องรอจนถึงวันที่เรารู้ว่าจะตายอย่างไรแล้วค่อยทำอย่าง Morrie แต่ทุกๆคนมีสิทธิ์ที่จะเริ่มใช้ชีวิตอย่างมีความหมายได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

 

 “When we know how we want to die, we know how we want to live” ฉันแอบเติมคำว่า “want” ให้กับประโยคนี้เพราะคิดว่าแม้เราจะเลือกสาเหตุการตายหรือโรคที่จะต้องตายไม่ได้ แต่เราเลือกเส้นทางการตายได้ ว่าจะตายอย่างเสียดายชีวิตที่ผ่านมา หรือตายอย่างเป็นสุขว่าได้ทำสิ่งที่อยากทำเพียงพอแล้ว

 

            Pamela เป็นคนไข้ชาวตรินิแดดที่ฉันได้เจอตอนที่มาเรียนต่อด้าน Palliative care ที่โทรอนโต Pamela อายุเพียง 40 ต้นๆ ยังไม่เคยแต่งงาน วันที่เจอ Pamela ครั้งแรกฉันแทบไม่เชื่อสายตาว่านี่คือผู้ป่วยที่เพิ่งได้อ่านประวัติไป ตามประวัติบอกว่า Pamela เป็นมะเร็งรังไข่กระจายไปท่อไตและลำไส้ใหญ่ ทำให้มีทั้งถุง Colostomy ติดอยู่ที่หน้าท้องและ ท่อ Nephrostomy ติดอยู่ที่หลังด้านขวา นอกจากนั้นอาการปวดบริเวณรูทวารหนักยังเล่นงานเธอซะจนนั่งไม่ได้และต้องได้ยา Morphine ระงับปวดมากถึง 240 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับยาอื่นๆอีกมากมาย แต่ Pamela ที่เราได้เจอกลับมีสีหน้ายิ้มแย้ม ดูยอมรับกับภาวะที่เป็นได้ดี พูดคุยกับหมอเหมือนไม่ได้พูดถึงร่างกายของตัวเอง  ฉันประทับใจกับความเข้มแข็งของ Pamela มาก แม้นั่นจะเป็นครั้งเดียวที่ได้พูดคุยกับเธอ

            Pamela มีพี่สาวเป็นพยาบาล 2 คน ที่ช่วยกันผลัดเวรดูแลเธอที่บ้าน ทั้งฉีดยาแก้ปวด ทำแผล เช็ดตัว ซึ่งเป็นคำขอร้องของ Pamela ที่มีต่อพี่สาว และพี่สาวตั้งใจทำให้ด้วยความเต็มใจ คนในครอบครัวนี้รักกันเหนียวแน่นมากซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉันคิดว่าทำให้ Pamela ยอมรับความตายได้อย่างสงบและน่าทึ่ง ตอนที่ฉันถามพี่สาวของ Pamela ว่ามีโอกาสได้พักผ่อนบ้างไหม เธอตอบว่า ไม่มีคำว่าพักผ่อนในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงเดียวที่จะได้ใช้เวลาทำเพื่อน้องสาวมากที่สุด

           

            1 สัปดาห์หลังจากนั้น เธออาการทรุดลงอย่างมากเมื่อฉันได้ไปเยี่ยมเธออีกครั้งนั้น เธอไม่สามารถพูดคุยตอบโต้ได้แล้ว  แต่สีหน้าของ Pamela กลับดูยิ้มแย้ม สดใส ไม่เหมือนคนไข้ Last hours ที่เคยได้ดูแลมา พี่สาวของ Pamela บอกว่า Pamela กำลังใช้ตัวเธอเองเป็นครูสอนให้ทุกคนรู้ว่าความตายไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดและจะตายอย่างมีความหมายได้อย่างไร ทุกคนรู้ดีว่าสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามาเกิดขึ้นกับตัวเองในวันหนึ่ง ฉันยังไม่มั่นใจว่าจะยอมรับสภาพได้มากแค่ไหน แม้จะเห็นและดูแลคนไข้ด้านนี้มาพอสมควรก็ตาม

 

                ฉันถามว่าอะไรทำให้ Pamela เข้มแข็งได้อย่างนี้ พี่สาวของ Pamela จึงวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะ Pamela เป็นคนที่มีทัศนคติต่อชีวิตดี คิดในทางบวกเสมอ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบๆตัว และทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ในการใช้ชีวิตที่ผ่านมา พ่อและแม่ของเราเลี้ยงดูพวกเรามาอย่างดี ซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้พวกเรารักและสนิทกันมาก แม้ท่านทั้งสองจะจากไปแล้ว แต่ความรักและความอบอุ่นในครอบครัวของเราไม่เคยหายไป” ฉันคิดว่าอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Pamela มีความสุขในช่วงสุดท้ายก็เพราะรู้ว่าคนที่รักในครอบครัวทุกคนมาอยู่รายล้อม และ ช่วยดูแลเธออย่างดีที่สุด แม้พี่สาวจะไม่ได้มาอยู่ข้างเตียงตลอด 24 ชั่วโมงแต่การเดินไปเดินมาในบ้าน พูดคุยกันด้วยเสียงที่ผู้ป่วยคุ้นเคยก็ทำให้ผู้ป่วยอุ่นใจได้มาก

                แม้เรื่องของ Morrie และ Pamela จะมีจุดเริ่มเรื่องที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงสำหรับชีวิตวัยเด็ก และการเลี้ยงดูจากครอบครัว แต่ทั้งสองคนเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและตายอย่างมีความสุขไม่ต่างกัน เรื่องของ Morrie และ Pamela ทำให้ฉันมาคิดทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองแล้วก็รู้สึกว่าทั้งสองคนเป็นตัวอย่างที่ดีว่า เมื่อเราใช้ชีวิตอย่างเต็มที่มีความสุขที่สุดอย่างที่ต้องการ เมื่อถึงเวลาตายก็ทำให้เรายอมรับได้ตามความเป็นจริง และเรานั่นเองที่เป็นผู้เลือกว่าจะมีชีวิตแบบไหน

คำสำคัญ (Tags): #goal of life, acheiving your childhood dream
หมายเลขบันทึก: 317507เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2009 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สัวสดีครับดาริน

ดีใจที่เห็นดารินเขียน blog เขียนบ่อย ๆ นะครับ

ขอบคุณค่ะพี่โรจน์ อยากเขียนบ่อยๆเช่นกันค่ะ

พี่โรจน์ชวนมาคะ

“When we know how we want to die, we know how we want to live”

หากเรารู้ว่าต้องการเป็นเช่นไรในวันตาย เราก็จะรู้ว่าต้องการเป็นเช่นไรในวันนี้

เป็นประโยค ที่เตือนไม่ให้ตกในความประมาท และมีสติกับปัจจุบันได้เป็นอย่างดีคะ

สวัสดีค่ะ พล็อตหนังเรื่องนี้ น่าสนใจและได้แง่คิดมากเลยนะคะ

 “When we know how we want to die, we know how we want to live” ฉันแอบเติมคำว่า “want” ให้กับประโยคนี้เพราะคิดว่าแม้เราจะเลือกสาเหตุการตายหรือโรคที่จะต้องตายไม่ได้ แต่เราเลือกเส้นทางการตายได้ ว่าจะตายอย่างเสียดายชีวิตที่ผ่านมา หรือตายอย่างเป็นสุขว่าได้ทำสิ่งที่อยากทำเพียงพอแล้ว

ขอบคุณต่ะ ...

นอกจากได้แง่คิดดีๆแล้ว ยังเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตของคนที่เข้าใจประโยคนี้ไปอย่างมากมายเลยนะคะ

  • อ่านเรื่องของน้องดารินแล้ว คิดถึงคนไข้ของผมคนหนึ่ง คุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ พี่พรบอกว่า "ฉันกำลังแสดงนิทรรศการการตายให้พวกเธอดูกัน"
  • บางครั้ง คนที่กำลังจะเสียชีวิตเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตดีกว่าเราอีกนะครับ ผมรู้สึกอย่างนั้นในช่วงเวลาที่ได้ดูแลพี่คนนี้
  • อ่านเรื่องของน้องดารินแล้ว คิดถึงคนไข้ของผมคนหนึ่ง พี่เขาบอกว่า "ฉันกำลังแสดงนิทรรศการการตายให้พวกเธอดูกัน"
  • บางครั้ง คนที่กำลังจะเสียชีวิตเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตดีกว่าเราอีกนะครับ ผมรู้สึกอย่างนั้นในช่วงเวลาที่ได้ดูแลพี่คนนี้

คนไข้ที่เข้มแข็งแม้จะอยู่ในช่วง

ที่อ่อนแอที่สุดสอนเราได้ดีที่สุดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท