หากนึกย้อนกลับไปมองตอนเราเป็นเด็ก ในโลกของเด็กนั้นไม่ได้สนใจความถูกผิด ทุกอย่างถือเป็นโอกาสที่จะได้เห็น ได้ลองสิ่งใหม่ๆ ยิ่งเป็นสิ่งที่ตื่นเต้น ยิ่งลองก็ยิ่งเรียนรู้ มีแต่เด็กเท่านั้นที่สนุกและหัวเราะเมื่อทำอะไรผิด แต่พออายุมากขึ้น เรามักจะกลัวความล้มเหลว กลัวคำว่าไม่รู้ กลัวจนไม่กล้าที่จะลองคิด หรือลองทำอะไรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากปกติ นอกจากสิ่งที่เราคุ้นเคยและรู้แน่ว่าจะสำเร็จ สุดท้ายเราก็ไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
อาจารย์เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เขียนไว้ในหนังสือ "การคิดเป็นระบบ" ว่ากระบวนการกำหนดการแสดงออกของมนุษย์ (Human-manifestation process) นั้น เริ่มต้นจากการคิด (Thinking) เป็นตัวกำหนดสิ่งที่เรารู้ (Knowing) ความรู้ที่เราได้จากการคิดนั้น จะเป็นตัวกำหนดความเป็นตัวเรา (Being) และความเป็นตัวเราจะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของเรา (Living) วิถีชีวิตนำไปสู่การแสดงออก (Manifesting) ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเขียน การพูด หรือการกระทำ
การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเริ่มจากการคิดในสิ่งใหม่ๆ และกล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง เปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนแนวคิด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อย่าเป็นกบในกะลาหรือน้ำชาล้นแก้ว ที่ไม่มีโอกาสได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ และจมอยู่กับความคิดเดิมๆ เมื่อคิดแล้วก็ต้องพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจ หลังจากที่เกิดความรู้อย่างถ่องแท้ (Breakthrough) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว การก้าวข้ามหุบเหวหรืออุปสรรค เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง (follow-through) ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ถ้าคุณกล้ามองความผิดพลาด และรู้จักหัวเราะกับความโง่ของตัวเอง คุณจะกล้าเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แล้วจะรู้สึกว่าพลาดด้วยหัวใจที่ไม่ล้ม
ไม่มีความเห็น