การคิดหน้าไม้ตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดแพร่


การคิดหน้าตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดแพร่

ไม้แปรรูปหรือไม้กระดานประเภทต่าง ๆ

       ไม้แปรรูปที่ชาวบ้านหรือช่างไม้ได้นำไม้ท่อนหรือไม้ซุงมาแปรรูปจะมีหลายขนาดตามความต้องการในการใช้งาน  ถ้านำไปปลูกสร้างบ้านจะมีขนาดต่าง ๆ กัน  ดังนี้

      1.  ประเภทไม้เครื่อง  เพื่อนำไปประกอบเป็นโครงสร้าง  เช่น 

ไม้ขื่อ  ไม้แปหรือภูมิปัญญาเรียกว่าไม้แป๋  จะมีขนาดของหน้าไม้ มีความกว้าง 7 - 9 นิ้ว   ความหนา 2 นิ้ว   ความยาว  6 - 12  ศอก 

ไม้อกไก่หรือภูมิปัญญาเรียกว่าไม้แป๋จ๋อง จะมีขนาดของหน้าไม้ มีความกว้าง 7 - 9 นิ้ว   ความหนา 2 นิ้ว   ความยาว  6 - 12  ศอก 

ไม้ดั้ง  สำหรับรองรับไม้อกไก่(ไม้แป๋จ๋อง)   จะมีขนาดของหน้าไม้  มีความกว้าง 7 - 9 นิ้ว   ความหนา 2 นิ้ว   ความยาว  3 - 5  ศอก 

ไม้อะเสหรือภูมิปัญญาเรียกว่าไม้ก๋อน จะมีขนาดของหน้าไม้  มีความกว้าง 4 - 5 นิ้ว  ความหนา   1.5 - 2 นิ้ว   ความยาว 6 - 8  ศอก 

ไม้กลอนหรือภูมิปัญญาเรียกว่าไม้กั้นฝ้า จะมีขนาดของหน้าไม้  มีความกว้าง 3 นิ้ว  ความหนา  0.5 นิ้ว ความยาว 6 - 8  ศอก 

ไม้รอดหรือภูมิปัญญาเรียกว่าไม้ตง จะมีขนาดของหน้าไม้  มีความกว้าง 5 - 7 นิ้ว  ความหนา   1.5  - 2 นิ้ว   ความยาว  6 - 8  ศอก 

ไม้วงกบประตูและหน้าต่าง   จะมีขนาดของหน้าไม้  มีความกว้าง 4 - 5 นิ้ว  ความหนา 2 นิ้ว   ความยาว  4 - 6  ศอก 

      2.  ประเภทไม้ฝา  เพื่อนำไปประกอบเป็นฝาบ้าน  เช่น 

ไม้ฝา จะมีขนาดของหน้าไม้  มีความกว้าง  4 - 7 นิ้ว  ความหนา    นิ้ว  หรือ  1  นิ้ว   ความยาว  4 - 6  ศอก 

      3.  ประเภทไม้พื้น  เพื่อนำไปประกอบเป็นพื้นบ้าน  เช่น 

ไม้พื้น จะมีขนาดของหน้าไม้  มีความกว้าง 6 - 8 นิ้ว ความหนา  1 นิ้ว  ความยาว 4 - 8 ศอก 

ไม้แปรรูปเหล่านี้  นอกจากนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้านแล้ว  ยังมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ๆ อีก  เช่น  ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ   สะพาน  อาคาร  โรงเรือน  ทำป้าย  และผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์  เครื่องใช้ในครัวเรือน 

 

เรียนรู้   ส่วนต่าง ๆ ของไม้กระดาน

 

       ไม้กระดานที่ผ่านการแปรรูปจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก  มีความกว้าง ความหนา และความยาว     มีขนาดตามความต้องการที่จะนำมาใช้ประโยชน์  และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดแพร่ได้มีการเรียกชื่อส่วนประกอบของไม้แปรรูปหรือไม้กระดานมีส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้

            ความกว้าง  เรียกชื่อว่า  เหลี่ยมหลวง

            ความหนา   เรียกชื่อว่า  เหลี่ยมน้อย

            ความยาว   เรียกชื่อว่า  ยาว  (ใช้เหมือนภาษากลาง)

 

หลักการคิดหน้าไม้แบบภูมิปัญญาชาวจังหวัดแพร่

                      20  นิ้ว(ฟุต) เท่ากับ  1  ศอก (มาตราวัดแบบไทย  24  นิ้ว  เท่ากับ  1  ศอก)

                       4  ศอก      เท่ากับ  1  วา

       เนื่องจากระยะที่วัดโดยใช้อวัยวะของร่างกาย (นิ้ว  ศอก  วา)  ของแต่ละคนไม่เท่ากันทำให้เกิดปัญหาไม่ได้ความยาวที่เป็นมาตรฐาน   ต่อมาภูมิปัญญาจึงได้มีการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดเป็นไม้บรรทัด  สายวัด และมีการประยุกต์โดยใช้มาตราวัดแบบมาตราอังกฤษ (นิ้ว) โดยมีการเทียบดังนี้ 

       1.  ความกว้างและความหนาของไม้กระดานหรือไม้แปรรูป  ใช้หน่วยวัดแบบอังกฤษ โดยใช้หน่วยวัดเป็นนิ้ว

       2.  ความยาวของไม้กระดานหรือไม้แปรรูป  ใช้หน่วยวัดแบบอังกฤษ โดยใช้หน่วยวัดเป็นนิ้ว  โดยเทียบกับมาตราวัดแบบภูมิปัญญา ดังนี้

               1  ศอก   เท่ากับ  20  นิ้วฟุต 

               1  วา      เท่ากับ  80  นิ้วฟุต  (เนื่องจาก  1  วา  เท่ากับ  4  ศอก)

 

ตัวอย่าง   ไม้กระดานแผ่นหนึ่งมีขนาดความกว้าง 6 นิ้ว  ความหนา  1  นิ้ว  ความยาว  4  ศอก 

คิดเป็นหน้าไม้กี่นิ้ว

 

ประโยคสัญลักษณ์    (6 + 1)  x  4  =  ?

วิธีทำ        นำความกว้าง(หน่วยวัดเป็นนิ้ว)รวมกับความหนา(หน่วยวัดเป็นนิ้ว)แล้วคูณด้วยความยาว(หน่วยวัดเป็นศอก)  จะได้หน้าไม้ของไม้กระดาน  1  แผ่น  และมีหน่วยวัดของหน้าไม้เป็นนิ้ว 

ไม้กระดาน  มีขนาดความกว้าง  6  นิ้ว  หนา  1  นิ้ว  ยาว  4  ศอก 

            หน้าไม้ของไม้กระดาน  1  แผ่น  เท่ากับ   (6 + 1)  x  4  =  28  นิ้ว

ตอบ   คิดเป็นหน้าไม้  ๒๘  นิ้ว

 

การดำเนินการ

       1. วัดขนาดของไม้กระดาน  ความกว้างและความหนา  โดยใช้ไม้บรรทัดหรือสายวัด ใช้หน่วยวัดเป็นนิ้ว 

       2.  วัดความยาวของไม้กระดาน  โดยใช้ไม้บรรทัดหรือสายวัด ในมาตราวัดแบบอังกฤษใช้หน่วยวัดเป็นนิ้วแล้วหารด้วย  20  จะได้ความยาวของไม้กระดานมีหน่วยวัดเป็นศอก  (เพราะ  1  ศอก  คิดเป็น 20 นิ้วฟุต)  ถ้าใช้มาตราวัดแบบเมตริกใช้หน่วยวัดเป็นเซนติเมตรแล้วหารด้วย  50  จะได้ความยาวของไม้กระดานมีหน่วยวัดเป็นศอก  (เพราะ  1  ศอก  คิดเป็น 50  เซนติเมตร)  ถ้าวัดความกว้างหรือความยาว  ถ้ามีเศษเกินกึ่งหนึ่งให้ปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็ม หรือปัดทิ้งถ้ามีเศษไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

         3.  นำความกว้าง(หน่วยวัดเป็นนิ้ว)รวมกับความหนา(หน่วยวัดเป็นนิ้ว  แล้วคูณด้วยความยาว(หน่วยวัดเป็นศอก)  จะได้ขนาดหน้าไม้ของไม้กระดาน  1  แผ่น  และมีหน่วยวัดเป็นนิ้ว 

 

แนวคิดของภูมิปัญญาของชาวจังหวัดแพร่ได้คิดหน้าไม้ว่า    ไม้   1  ยก  คิดเป็น  16  วา 

ความยาว   1  วา  เท่ากับ  4  ศอก  

และ  16  วา   เท่ากับ   64  ศอก   (16 x 4 =  64  ศอก)

ดังนั้น   ไม้   1  ยก  คิดเป็น  64  ศอก  

ความยาว   1  ศอก   เท่ากับ  20  นิ้ว (นิ้วฟุต)

และ   64  ศอก   เท่ากับ   1,280  นิ้ว  ( 64 x 20 =  1,280  นิ้ว) 

ดังนั้น  ไม้   1  ยก   คิดเป็น   1,280  นิ้ว 

       ถ้าต้องการทราบว่าจำนวนของไม้  1  ยก  ของไม้แต่ละประเภทจะมีจำนวนกี่แผ่น  ให้นำ  1,280  หารด้วยขนาดหน้าไม้ของไม้กระดาน จำนวน  1  แผ่น  จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนแผ่นของ ไม้  1 ยก  ถ้ามีเศษเกินกึ่งหนึ่งให้ปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็ม หรือปัดทิ้ง ถ้ามีเศษไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แล้วแต่กรณี

 

สรุป  การคิดหน้าไม้   1  ยก  คิดเป็น   16  วา   หรือ  64  ศอก  หรือ  1,280  นิ้ว

 

หมายเลขบันทึก: 316535เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2009 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสาระเรื่องไม้ดีๆครับ

ไม้ 1 ยก คิดเป็น 16 วา

เริ่มจาก ไม้กว้าง 1 ศอก นำมาเรียงกันให้ยาว 16 วาจากนั้น ก็นำ 1 ศอก x 16 วา ได้ตัวเลขคือ 16 ศอก-วา (แต่เรียกสั้นๆ ว่า 16 วา)
………………………………………………………………………………………จากนั้น นำระยะความยาว 16 วา มาเปลี่ยนเป็นหน่วยศอก ได้ 64 ศอก แต่ด้านกว้างยังคงกว้าง 1 ศอกตามเดิมได้ตัวเลขเชิงคณิตศาสตร์ คือ 1 ศอก x 64 ศอกผลลัพท์คือ 64 ศอก-ศอกดังนั้น ไม้ 1 ยก คิดเป็น 64 ศอก-ศอก
……………………………………………………………………………….ความยาว 1 ศอก เท่ากับ 20 นิ้ว (นิ้วฟุต)ให้ความกว้างของไม้คงเดิมคือ 1 ศอกนำความยาว 64 ศอกมาเปลี่ยนเป็นนิ้ว ได้ 1,280 นิ้ว ( 64 x 20 = 1,280 นิ้ว) ดังนั้น ไม้ 1 ยก คิดเป็น 1,280 ศอก-นิ้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท