ชุมชนแนวปฏิบัติ (Community of Practice : CoP)


ชุมชนแนวปฏิบัติ เป็นเครื่องมือจัดการความรู้ที่ง่ายและมีพลังชิ้นหนึ่ง ใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนในองค์กร ก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยจากการรวมกลุ่ม อาทิ “คนที่ถูกคอกัน” จัดการความรู้เพื่อให้บรรลุ วิสัยทัศน์ความรู้ ที่พัฒนามาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม

                ชุมชนแนวปฏิบัติ เป็นเครื่องมือจัดการความรู้ที่ง่ายและมีพลังชิ้นหนึ่ง  ใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนในองค์กร ก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยจากการรวมกลุ่ม อาทิ “คนที่ถูกคอกัน” จัดการความรู้เพื่อให้บรรลุ วิสัยทัศน์ความรู้ ที่พัฒนามาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม

                ยุทธศาสตร์ของการจัดการความรู้ชนิดนี้ เชื่อว่า มีสิ่งดีๆ อยู่แล้วทั้งในและนอกองค์กร คุณอำนวยหรือผู้เสริมพลังความรู้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคุณเอื้อหรือผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ดำเนินการแสวงหา “ชุมชน” ในองค์กรว่า มีใครเป็นสมาชิก มีอะไรเป็นสาระหรือเด่น (Domain) หรือความสนใจร่วมที่ยึดเหนี่ยวชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน  และตรงกับวิสัยทัศน์ความรู้ของการจัดการความรู้เพียงใด  จะเข้าไปส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมได้อย่างไรบ้าง เช่น อาจจัด  “ตลาดนัดชุมชนแนวปฏิบัติ”  เพื่อเพิ่มคุณค่า (Value) ของชุมชน ที่ถือเป็นทุนปัญญา “Intellectual Capital) โดยชวนสมาชิกชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาเล่าเรื่องความสำเร็จของแต่ละชุมชน ที่คิดว่ามีผลต่อวิสัยทัศน์ขององค์กร  คุณลิขิตช่วยสกัดความรู้จากเรื่องเล่า  อาจเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาให้ความรู้เกี่ยวกับชุมชนแนวปฏิบัติ ต่อด้วยทำการทบทวนหลังการปฏิบัติ (After Action Review : AAR) เพื่อหาทางสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้ชุมชน  คุณเอื้อและคุณอำนวย นำผลการประชุมมาคิดยุทธศาสตร์หนุนให้เกิด ชุมชนแนวปฏิบัติต่อไป

                ข้อควรคำนึง อย่าจัดตั้งชุมชนแนวปฏิบัติจากคำสั่งของผู้บริหาร ควรให้เกิดชุมชนแนวปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติเอง ที่แกนนำและสมาชิกเข้าไปจัดการเพราะเห็นคุณค่าต่อองค์กร ชี้ทางพัฒนาชุมชนเข้มแข็งตามปณิธานของกลุ่มสมาชิกที่มีความสุข สนุก และภูมิใจกับผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกชุมชน  ที่มีการสื่อสาร เรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ หรืออาจจัดตลาดนัดความรู้เฉพาะเรื่อง โดยเชิญผู้ที่มีผลสำเร็จน่าชื่นชมมาเล่าเรื่องความสำเร็จของตน บันทึกขุมความรู้ ทำ AAR สรุปประเด็นจาก AAR แล้วถามความสมัครใจกันที่จะร่วมก่อตั้งชุมชนแนวปฏิบัติเพื่อดำเนินกิจกรรมของชมรมร่วมกันต่อไป* เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 316533เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2009 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)

อาหารสุขภาพ 

คุณฐิติรัฐ เดชพรม ได้แนะร้านอาหารที่ความประทับใจและมีคุณค่าต่อชีวิตสุขภาพ ซึ่งเรียกว่าเป็น "อาหารสุขภาพ" ไว้ดังนี้

1. ชื่อร้านอาหาร   : ร้านเบิกมาน (เพื่อสุขภาวะ)

2. รายการอาหาร : เทียนแจ้งประจักษ์ธรรมอาหารธรรมชาติ (เจ + ชีวจิต) ราคา 20 -35 บาท มีทั้งหมด 22 รายการ :

(1) ข้าวผัดทุ่งธัญพืช

(2) ข้าวต้ม

(3) ขนมจีนน้ำยา

(4) ผัดผักราดข้าว

(5) ผัดผักรวม

(6) ผัดเผ็ดกระเพรา

(7) ผัดแขนงปลาเค็ม(เส้นใย)

(8) ผัดปลาโซบะ(เส้นใย)

(9) ผัดเห็ดเป๋าฮื้อน้ำมันงา

(10) ต้มจืดวุ้นเส้นไม่ฟอกสี

(11) ต้มจืดดอกขจร

(12) ต้มยำเห็ด

(13) ปลาเค็มทอด(เส้นใย)

(14) เต้าหู้ทอด

(15) ลาบเห็ด-เต้าหู้

(16) ลาบไก่-เป็ด

(17) ยำวุ้นเส้นไม่ฟอกสี

(18) ยำปลาเค็ม

(19) ยำปลากระป๋อง

(20) แกงส้ม

(21) แกงเลียง

(22) แกงป่า

3. คุณฐิติรัฐ บอกว่า ที่นำร้านอาหารสุขภาพมานำเสนอนี้ เพราะมีความประทับใจ คือ

ปกติตัวเอง จะไปทานที่ร้านเป็นประจำในช่วงมื้อเที่ยงของวันธรรมดา เพื่อความแน่นอนคุยกับคุณลุงปรีชา หรือป้าอ้วนก็ได้ค่ะ เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ ไม่เหมาะกับคนขี้ร้อน และใจร้อน เนื่องจาก concept ของร้านจะเน้นความเป็นธรรมชาติ ทั้งการตกแต่ง และอาหาร ใครไปที่ร้านจะเห็นว่าไม่ติดแอร์ และเนื่องจากแม่ครัวที่ร้านนี้มีความประณีตในการทำอาหารมาก ถ้าไม่อยากรอนาน ควรโทรสั่งก่อนล่วงหน้า คุณลุงปรีชา ก้อนทอง เจ้าของร้าน เป็นอดีตอาจารย์สถาบัน AIT ต่อมาผันตัวเองมาทำร้านอาหารแนวชีวจิต และสอนโยคะเป็นวิทยาทาน จากการศึกษาด้วยตัวเองหลังค้นพบแนวทางการรักษาสุขภาพหลังจากที่ต้องเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มาหลายต่อหลายครั้ง อาหารดีมีคุณภาพเยี่ยม ด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ราคาก็ไม่แพงจนเกินไป นอกจากอาหารประจำเมนูของร้านทั้งหมด 22 รายการแล้ว ยังมีผักสดปลอดสารพิษจากโครงการหลวง อาหารเจสำเร็จรูปแช่แข็ง ซาลาเปา - ขนมปังโฮลวีทเจ ธัญพืชปลอดสารพิษและ GMO ขนม - ของว่างเพื่อสุขภาพ และน้ำผัก-ผลไม้สดบรรจุขวดจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีบริการน้ำ R.C. ให้ดื่มฟรีอีกด้วย

4. สถานที่ : ร้านอยู่ในซอยเป็ดพะโล้พุทธรักษา 2 หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ด้านถนนพุทธมณฑลสาย 4 (สะพานลอยที่ 2) เข้าซอยไปประมาณ 180 เมตร

5.เปิดบริการ : ช่วงหลังๆ ลุงปรีชา ไปเปิดสำนักปฏิบัติธรรม "เบิกฟ้าธรรมาศรม" ที่เลขที่ 258 หมู่ 9 บ้านเขาธง ต.องค์พระ อ.ด่านช่าง จ.สุพรรณบุรี เวลาส่วนใหญ่จึงจะอยู่ที่นั้น ถ้าท่านใดสนใจเรื่องอาหาร ก็ขอให้โทรไปที่ลุงปรีชา ที่เบอร์โทร. 083-276-0179 ก่อนจะแน่นอนกว่าครับ

การรับประทาน อาหารสุขภาพ เป็นการ "ร่วมสรรค์สร้างสุขภาวะสาธารณะ" ตามแนวทางของสถาบันชีวเกษมอย่างหนึ่งครับ

วิสัยทัศน์ประชาธิปไตย (ที่ถูกที่ควร ไม่ใช่ที่ชอบๆ ของคนใส่เสื้อสีใดสีหนึ่ง)

ในท่ามกลางการปล่อยข่าว การข่มขู่ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ที่ว่ากันว่า ไม่ได้ด้วยเล่ห์ (กล) ก็ต้องเอาด้วยกล (ล่อ ลับ ลวงพลาง) ไม่ได้ด้วยเวทมนต์ ก็ต้องเอาด้วยยา (ทฤษฎีต้นไม้พิษ) บ้างก็ให้แก้รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 94 คือ ให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งใดมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทน และมาตรา 190 

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

     หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย

เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป

ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด

 

 

หรือบ้างก็ให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 บ้างก็ให้ยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ถ้าไม่อย่างนั้น ขู่ว่า จะเกิดความรุนแรงลุกลามไปตามจังหวัดต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คือ ทุกฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย เหมือนกัน จึงเป็นที่น่าสงสัยจังเลยว่า ในเมื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนกัน แล้วทำไมต้อง

1. มีความเห็นไม่ตรงกันหรือมีความขัดแย้งกันจนถึงขั้นจะเข่นฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง

2. มีการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ไปตามที่ต่างๆ และบ้านพักบุคคลสำคัญ

3. มีการจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ขึ้นเวทีปราศัยโจมตีกันอย่างรุนแรง

4. มีการยิงระเบิด เอ็ม 79 ใส่เวทีปราศัย ยิงกองบัญชาการกองทัพบก ปาอึบ้านนายกอภิสิทธิ์และบ้านคณะกรรมการตุลาการ ฯลฯ

เมื่อมาดูเหตุการณ์อย่างนี้ ก็น่าจะลองทบทวนดูกันอีกทีว่า สาเหตุความขัดแย้งที่แท้จริงคืออะไร และมีสาเหตุมาจากอะไร พฤติกรรมที่แต่ละฝ่ายแสดงออกกันอยู่ในขณะนี้ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยที่ถูกที่ควรตามวิสัยทัศน์ประชาธิปไตยที่ได้รับการพัฒนาและยอมรับมาใช้เป็นรูปแบบการปกครองกันมากที่สุดในโลกปัจจุบันฯ แล้วหรือยัง เอาละครับ ลองมาดูกันเลยว่า วิสัยทัศน์ประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ อะไร

1. คำถามสำคัญเกี่ยวกับประชาธิปไตยมีอยู่ 3 คำถาม คือ

(1) อะไรคือ โฉมหน้าที่แท้จริงของ รัฐบาล (รัฐบาลควรเป็นอย่างไร) ในระบอบประชาธิปไตย?

(2) ทำไม ประชาชนจึงต้องมีหน้าที่หรือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนระดับต่างๆ การเสียภาษีอากร ?

(3) อะไรคือ ความเป็นธรรมทางสังคมหรือความยุติธรรม หรือความมีมาตรฐานเดียวของรัฐบาลที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย?

2. คำตอบ ที่เป็นที่ยอมรับของผู้รู้ทั่วโลก ก็น่าจะอยู่ในแนวทางเดียวกัน คือ

(1) (โฉมหน้าของ) รัฐบาลที่มีสิทธิในการบริหารประเทศในประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ก็คือ รัฐบาลที่ปกครองเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน คือ ให้ความเป็นธรรมทางสังคมต่อประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้นเอง

(2) ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ตามหลักศีลธรรมที่จะต้องเสียภาษีหรือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่บริหารประเทศตามหลักกฎหมายที่เรียกกันว่า "นิติรัฐ"ภายใต้หลักศีลธรรม แต่ถ้ารัฐบาลใดบริหารประเทศผิดหลักกฎหมายภายใต้ประเพณีวัฒนธรรมหรือจารีตประเพณีอันดีงามแล้วละก็ ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลนั้นหรือแสดงความไม่เห็นหรือแสดงการขัดค้านโดยการไม่เสียภาษีก็ได้

(3) รัฐบาลที่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ต้องเป็นรัฐบาลที่สามารถรักษาหรือให้ความเป็นธรรมทางสังคมแก่ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกันเท่านั้น จึงจะมีสิทธิโดยชอบธรรมในการบริหารประเทศโดยเงินภาษีอากรของประชาชน

นอกจากนั้น รัฐบาลใดไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายเสียเอง หรือไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเทียมและเป็นธรรม เช่น การไม่รีบเร่งลงโทษ ข้าราชการประจำที่ทุจริตคอรับชั่นอย่างเด็ดขาย ไม่รักษาความเป็นในสังคม เล่นพรรคเล่นพวก ทุจริตคอรับชั่น ซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง ออกกฎหมายที่เอื้อให้ตัวเอง หรือพวกพ้องของตนเองให้ได้รับประโยชน์ หรือใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกง (ลับ ลวง พลาง) ทำลายคู่แข่งทางการเมือง ทำลายคู่แข่งทางธุรกิจที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ประชาชนก็มีสิทธิที่จะไม่ให้รัฐบาลนั้นบริหารประเทศต่อไป หรือไม่ก็ไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

3. ปัญหา ตราบใดที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีการศึกษาไม่ดีพอ หรือไม่เข้าใจวิสัยทัศน์ประชาธิปไตยดีอย่างเพียงพอ ก็ยากที่จะให้ประชาชนมีความคิดเป็นของตนเอง สามารถตัดสินไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามหลักการที่เป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยก็จะยังคงมีสถานการณ์วุ่ยวายทางการเมืองต่อไปอีกนาน ถ้าการศึกษายังไม่ได้รับการพัฒนายกระดับให้ดีกว่านี้ และประชาชนได้เรียนหลักการปกครองของบ้านเมืองผ่านทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์อย่างเพียงพอ ปัจจุบันในปัจจุบัน เช่น ทีวีของรัฐถูกผู้บริหารสถานีขายเวลาให้กับเอกชนไปจนหมด แล้วอ้างว่า ไม่สามารถจัดสรรเวลาให้รัฐบาลออกรายการที่เป็นการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ รายการทีวีที่มีอยู่และเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็มีแต่ละครและรายการน้ำเน่า เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ก็อย่าหวังเลยว่า ประชาชนที่มีทางเลือกบริโภคข่าวสารทางฟรีทีวี จะมีโอกาสเข้าใจวิสัยทัศน์ที่แท้จริงของประชาธิไตย ประเทศไทยหรือประชาชนคนไทยก็ต้องรับกรรมและถูกนักการเมืองขี้โกงๆๆๆๆ โกงกันต่อไปเรื่อยๆ

 

 

         ได้ดูข่าวทีวีและอ่านข่าวหนังสือพิมพ์คนขับรถแท็กซี่ ชื่อคุณไสว อินทะนา ชาวศรีษะเกษ นำเงิน 190,000 บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นบาท) ที่ผู้โดยสารชื่อคุณประสิทธิ์ มงคลรัตนวงศ์ ลืมไว้ที่เบาะหลังของรถ ไปคืนให้เจ้าของเดิมเป็นที่เรียบร้อย เจ้าของเงินก็ช่างมีนำใจที่งดงามเหลือเกิน โดยได้มอบเงินจำนวน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ให้คุณไสว อินทะนา เพื่อเป็นการขอบคุณที่นำเงินที่ลืมไว้มาคืนให้ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่น่าจะบันทึกเอาไว้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเตือนสติให้แก่คนในสังคมไทยว่า การอยู่ด้วยกันอย่างเอื้ออาทร นำความสุขมาให้มากกว่าที่คนเราจะคบหาสมาคมกันเพียงเพื่อความต้องการทางด้านวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น จึงขอแต่งเพลงบันทึกคุณความดีของ คุณไสว อินทะนา ไว้ 1 เพลง ในจังหวะ ชะ ชะ ช่า ใครจะนำเอาไปตีกลองร้องรำกันอย่างไร ก็จะไม่ว่ากัน แต่ถ้าบอกสักหน่อยว่าเอามาจากไหน ก็จะบำรุงจิตใจของผู้ (พยายาม) แต่งได้มากทีเดียว ดังนี้ครับ

 

ชื่อเพลง แท็กซี่คืนเงิน (ไสว อินทะนา)

        ข่าวคราวครึกโครมปล้นจี้

คนขับแท็กซี่ลวงสาวขืนใจ

เหยื่อสาวสะอื้นแจ้งความ

สุดแสนบอบชำแท็กซี่ขืนใจ

 

        คนขับแท็กซี่โดนฆ่า

ยังไม่รู้ว่าสาเหตุอะไร

คนขับหวาดกลัวคนนั่ง

คนนั่งระวังขาดความมั่นใจ

ขอให้ปลอดภัยทีเถอะ

ขอให้ปลอดภัยทีเถอะ

ขออย่าให้เจอแท็กซี่มหาภัย

 

     ข่าวดีแท็กซี่คืนเงิน

ช่างดีเหลือเกินต่อสังคมไทย

เพราะคุณไสว อินทะนา

สร้างเสริมคุณค่าให้แท็กซี่ไทย

คืนเงินไปหนึ่งแสนเก้า

เจ้าของเงินเขาก็มีนำใจ

มอบให้คุณไสวห้าหมื่น

มอบให้คุณไสวห้าหมื่น

บรรยากาศชื่นมื่นอีกแล้วเมืองไทย

 

        พวกเราได้ยินข่าวคราว

คนไทยได้ยินข่าวคราว

ถ้าเป็นตัวเรา เราจะทำอย่างไร

ฝากกันคิดสักนิดเถิดหนา

ฝากกันคิดสักนิดเถิดหนา

จะเอาเงินตรา หรือคุณค่าทางใจ

 

        ขอบคุณไสว  อินทะนา 

ที่เสริมคุณค่าให้สังคมไทย

 

        ขอบคุณประสิทธิ์  มงคลรัตนวงศ์ 

ขอบอกตามตรงคุณช่างมีนำใจ

 

       กระซิบบอกสภาสังคมสงเคราะห์

โปรดอย่ารีรอมอบรางวัลเร็วไว

แก่คนดีประจำปีสองห้าห้าสาม

เสริมความดีงามแบบอย่างของคนไทยฯ

 

       

 

 

เนื่องจากวันที่ 23 ตุลาคม 2553 ตรงกับปิยมหาราช ผมจึงขออนุญาตเขียนบทกวี ในรูปของอินทรวิเชียรฉันท์ เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกรไทยทุกคน ในฐานะที่ผมเกิดมาเป็นคนไทยคนหนึ่งในสยามประเทศไทยนี้ และได้ใช้ชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุขตามอัตภาพ ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตราธิราชเจ้าทุกพระองค์ ดังนี้ 

ปิยมหาราช รำลึก
....................
อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
       
         จัดระเบียบการปกครอง             ให้ไทยผองทันสมัย

ตั้งกระทรวง กรมรถไฟ                       รถรางในพระนคร

     ไปรษณีย์ การประปา                   โรงไฟฟ้าอนุสรณ์
ธนบัตรในนาคร                               องค์บิดรศาลแขวงไทย
        ตราระเบียบหัวเมือง                  อันนับเนื่องเป็นงานใหญ่
รากฐานปกครองไทย                        พระเนตรไกลการทหาร
        ไทยพ้นอาณานิคม                   ไทยชื่นชมศึกษาการ
ศิริราชพยาบาล                               บำรุงการศาสนา
        เลิกทาสให้เป็นไท                   ซาบซึ้งในพระกรุณา
สยามทั่วแหล่งหล้า                          น้อมบูชารำลึกคุณ

                       ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
                       ข้าพระพุทธเจ้า นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                       สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล 
                       ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓                                          

          วันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา 13.30 น. ขอเรียนเชิญชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ทุกท่าน และผู้ที่สนใจจะร่วมทำบุญถวายผ้าพระกฐินพระราชทานทุกท่าน ไปร่วมถวายผ้ากฐินฯ ณ วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยบทประพันธ์แจ้งข่าวบุญกุศล ดังกล่าวดังนี้ครับ      

           กฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยมหิดล ๒๕๕๓
                         ................................
      กาพย์ยานี ๑๑

             มหิดลสนอง                       พระราชศรัทธา


     รับพระราชทานมา                      ผ้ากฐินพระราชทาน


     ถวายวัดคูหา                             สวรรคะวรวิหาร


     วันที่ห้าพฤศวาร                         สองห้าห้าสามยามดี


           เวลาสิบสามสามสูญ             ได้เพิ่มพูนบุญราศี


     ทำบุญในวันนี้                            ติดต่อที่ ผ.อ. กองคลัง

 

     มหิดลศาลายา                           ตามศรัทธาและกำลัง


     ร่วมบุญกันอีกครั้ง                       ตราบกระทั่งสู่นิพพาน
                                 
                         นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                         สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล 
 
  

                  ลอยกระทง เทศกาลงานรื่นเริงแห่งสายน้ำ
                            ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓


         เทศกาลงานรื่นเริงแห่งสายน้ำ     เย็นชุ่มฉ่ำคืนเพ็ญเดือนสิบสอง       
บ้างประดิษฐ์กระทงด้วยใบตอง            ความกว้างต้องหนึ่งนิ้วครึ่งโดยประมาณ
ส่วนความยาวหกนิ้วตัดไว้ก่อน             พับวางซ้อนเป็นตับสลับผสาน
นำไปติดขอบต้นกล้วยที่เตรียมการ       หนาประมาณสองนิ้วจะพอดี
         กลีบกระทงมากน้อยขึ้นกับฐาน   แต่งด้วยการนำธูปเทียนไม้หลากสี
มาประดับเพิ่มเติมให้ดูดี                     ลอยวารีบูชาพุทธองค์
ขอขมาสายน้ำแม่คงคา                      ปีผ่านมาดื่มใช้เอนกประสงค์
ส่งท้ายด้วยรื่นเริงเพลงรำวง                บุญจะส่งเราสุขใจไปทั้งปี


                   นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                   สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

เฉลิมพระชนมพรราษา ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระภูมิพลมหาราช

 

                                 วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓

 

        สมเด็จพระภูมิพลมหาราช                ขัตติยชาติเชื้อไทยหนึ่งในหล้า

ทรงหลั่งน้ำพระทัยสู่ประชา                      ชนทั่วหน้ายากดีมีหรือจน

แปดแสนกิโลเมตรเสด็จผ่าน                    ทรงประทานความสุขทุกแห่งหน

โครงการพระดำริเพื่อปวงชน                     ช่วยให้พ้นทุกข์โศกวิโยคภัย

พระปฐมบรมราชโองการ                          ปณิธานผู้นำที่ยิงใหญ่

พิธีราชาภิเษกแก่คนไทย                          ตรัสไว้ในวันที่ห้าพฤษภาคม

พุทธศักราชสองสี่เก้าสาม                         ประกาศความหทัยราชชาติสุขสม

“เราจะคลองแผ่นกินโดยธรรม” เป็นบรม       พระปฐมราชโองการ

“เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม”       ทรงนำความก้าวไกลไทยรอบด้าน

พระราชดำริสี่พันกว่าโครงการ                    ดำเนินงานทั่วหล้าฟ้าเมืองไทย

แปดสิบสี่พระพรรษามาบรรจบ                   สิ่งเคารพในสากลโปรดดลให้

ขอพระองค์ทรงพระเจริญตลอดไป              รวมดวงใจถวายชัย ไทยชโย

 

                                            ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า

                                      นายสนั่น ไชยเสน และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

                                สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                   สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓

 

        สวัสดีปีใหม่สองห้าห้าสาม           ขอคุณงามความดีที่ทำไว้

ส่งผลให้สุขสมหวังดั่งฤทัย                  หวังสิ่งใดก็สมหวังดั่งเจตนา

มีอายุยืนยาวถึงร้อยปี                          วรรณะดีเลิศกว่าใครในแหล่งหล้า

มีความสุขสดชื่นรื่นอุรา                       มีพลานามัยกายแข็งแรง

        ถึงพร้อมด้วยปฏิภาณปัญญาเลิศ    ทรัพย์บังเกิดแก่ท่านทุกหนแห่ง

พัฒนะมงคลดลแสดง                         ที่รวมแหล่งผลสำเร็จทุกประการ

ที่มีรักขอให้สมอารมณ์ปอง                   มีคู่ครองให้โชคดีมีลูกหลาน

ประสบความสำเร็จในการงาน                ตลอดกาลเป็นนิตย์นิรันดร

 

                           นายสนั่น ไชยเสน และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

                     สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                  วันเด็กแห่งชาติ ๒๕๕๓


      เด็กแห่งชาติต้องมุ่งมั่นการศึกษา   เป็นปัญญาของแผ่นดินไทยให้ได้
เป็นกัลยาณมิตรคนทั่วไป                   มั่นฝึกใช้โยนิโสมนสิการ
ใช้ความรู้เป็นแสงทองส่องชีวิต            เสริมความคิดด้วยปัญญาใจกล้าหาญ
เลือกคบหาแต่ผู้รู้ปรีชาชาญ                ฟังคำท่านด้วยใจใฝ่รู้จริง
      รู้จักคิดพิจารณาหาเหตุผล            แล้วทำตนให้ถูกต้องครองธรรมยิ่ง
เรียนอะไรให้พากเพียรเรียนรู้จริง         จดจำสิ่งที่เรียนไว้ได้ขึ้นใจ
มั่นทบทวนท่องบ่นจนคล่องปาก           ถึงยามยากใช้ปัญญามาแก้ไข
รู้เหตุผลขบปัญหาได้เร็วไว                  เด็กรุ่นใหม่ของชาติองอาจครัน
      ให้เกียรติครูอาจารย์ในฐานศิษย์     ด้วยดวงจิตซื่อตรงดำรงมั่น
ลุกต้อนรับเข้าไปหาปรึกษากัน              กิจสำคัญพร้อมรับใช้ให้บริการ
ขอให้เด็กของชาติในปีนี้                     จงโชคดีมีความสุขสนุกสนาน
เป็นที่รักของพ่อแม่ครูอาจารย์             ชาติต้องการเด็กดีวันนี้เอยฯ 

            
                     นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                 สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                   วันครู ๒๕๕๓


        สิบหกมกราเป็นวันครู              วันของผู้ทำหน้าที่ในการสอน
ครูเป็นกัลยาณมิตรศิษย์แน่นอน        ถ้าครูสอนด้วยเมตตาเกื้อการุณ
ครูน่ารักหนักแน่นแสนอบอุ่น             ครูทรงคุณความดีมิเคืองขุ่น
ครูชี้แจงให้ความรู้ไว้เป็นทุน              จิตการุณแม้ล่วงเกินวิพากษ์วิจารณ์
        ครูชี้แจงเรื่องลึกล้ำได้ล้ำลึก      จิตสำนึกครูไม่นำในอฐาน
ครูตั้งใจประสาทวิชาการ                  ดำเนินงานสอนได้ผลด้วยกลวิธี
จับจุดมาขยายให้เหตุผล                  ศิษย์ทุกคนดำเนินตามบาทวิถี
จิตไม่มุ่งสินจ้างเพื่อมั่งมี                   ทฤษฎีสู่ปฏิบัติอรรถธรรม
        ไม่สอนกระทบตนและคนอื่น      ยิ้มระรื่นสะท้อนจิตคิดเลิศล้ำ
ใช้ลีลานักสอนสี่เป็นประจำ                ครูแนะนำเห็นได้ชัดถนัดตา
สอนสร้างแรงจูงไปปฏิบัติ                  เพราะเห็นชัดความสำเร็จอยู่ข้างหน้า
จึงร่าเริงแช่มชื่นรื่นวิญญา                 น้อมบูชาครูทุกท่านในวันครู

                                                                                                                       
                           นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                      สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                             วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

                                    ๑๗ มกราคม ๒๕๕๓


        สิบเจ็ดมกราคมของทุกปี              เป็นวันดีเพราะเป็นวันของพ่อขุน
รามคำแห่งมหาราชมีพระคุณ                ทรงการุณประดิษฐ์อักษรไทย
ศิลาจารึกร้อยยี่สิบสี่บรรทัด                  เป็นสมบัติประวัติศาสตร์ชาติยิ่งใหญ่
บอกประวัติความเป็นมาเผ่าพงศ์ไทย      มาจากไหนอยู่ที่ไหนนัยสำคัญ
        เราเป็นชาติที่เจริญพัฒนา            มีภาษาไทยใช้แต่บัดนั้น
เป็นมรดกตกทอดปัจจุบัน                     จุดสำคัญบอกที่มาอารยชน
มีหลักนิติศาสตร์รัฐศาสตร์                    เศรษฐกิจชาติสังคมมาแต่ต้น
ศาสนาประเพณีมีค่าล้น                        เราทุกคนรู้จักกันวันลอยกระทง
        ยูเนสโกจดทะเบียนศิลาจารึก        สร้างสำนึกคนในชาติดั่งประสงค์
หน้าที่เราอนุรักษ์ให้ยืนยง                     เจตจำนงบรรพชนของคนไทย
มรดกความทรงจำทางปัญญา               โลกรู้ว่าเราเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่
เป็นมรดกตกทอดลูกหลานไทย             เราภูมิใจร่วมสืบสานนิรันดร


                             นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                        สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                        มาฆบูชา ๒๕๕๓

                                           
     จตุรงคสันนิบาตครบองค์สี่                  เป็นดิถีเพ็ญเดือนสามพุทธสมัย

   
สงฆ์หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบรูปพร้อมใจ       พบกันในมหาวิหารเวฬุวัน

เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระศาสดา                  สงฆ์ที่มาล้วนเป็นพระอรหันต์


บรรลุอภิญญาหกเหมือนเหมือนกัน            พร้อมกันนั้นเป็นเอหิภิกขุมา


     หลังจากได้ตรัสรู้แล้วเก้าเดือน             โอวาทเหมือนย่อหัวใจศาสนา

        
ไม่ทำชั่วทั้งปวงชั่วชีวา                            ทุกเวลากอบกรรมทำสิ่งดี


มั่นทำจิตต์ให้ผ่องใสสะอาดขาว                 พุทธเจ้าทุกพระองค์สอนอย่างนี้

 

มีตบะอดกลั้นนั้นแหละดี                           พระองค์ชี้นิพพานบรมธรรม

 


     ผู้ทำร้ายมิใช่บรรพชิต                         ผู้ใดคิดเบียดเบียนมีจิตต่ำ


มิใช่สมณะเว้นบาปกรรม                           ไม่กล่าวคำไม่ทำร้ายให้ทุกข์ใคร


สำรวมในพระโอวาทปาฏิโมกข์                   บริโภคอาหารพอดีไว้


นั่งนอนที่สงัดดัดจิตใจ                              เพียรอยู่ในอธิจิตต์ภาวนา


     นี้คำสอนพระพุทธเจ้าทั้งหลาย              อยู่สบายด้วยขันติอหิงสา


มีเมตตาสดชื่นกรุณา                               สุขอุราเบิกบานสำราญใจ


จิตจึงเหมาะแก่การใช้ความคิด                  เพราะดวงจิตสะอาดและผ่องใส่


มนุษย์โลกมีจิตเช่นนี้ได้                            โลกทั้งใบเป็นสวรรค์ในพริบตา

 


                                   นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                              สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                   วันสตรีสากล ๒๕๕๓

 

        วันที่แปดมีนาคมของทุกปี            วันสตรีสากลหญิงทั่วหล้า
ได้เรียกร้องสิทธิสตรีมา                       โดยคลาร่าแซทคินเป็นผู้นำ
ด้วยแรงงานสตรีเยอรมันนี                    ถูกกดขี่ขูดรีดทารุณซ้ำ
จากโรงงานทอผ้าค่าแรงต่ำ                   เป็นผู้นำเดินขบวนแปดมีนา
        สตรีอเมริกาชิคาโก                      ทาสนิโกรก็มิปานงานหนักหนา
ทำงานวันละสิบสองถึงสิบห้า                  ชั่วโมงค่าแรงต่ำช้ำฤดี
ส่วนสตรีตั้งครรภ์ถูกใล่ออก                   สุดช้ำชอกเหมือนผู้หญิงไร้ศักดิ์ศรี
นัดหยุดงานประท้วงได้ผลดี                   สิทธิ์สตรีทำงานแปดชั่วโมง
        กำหนดให้ได้ค่าแรงเท่ากับชาย      ออกกฎหมายแรงงานเป็นโขยง
ไทยเรามี ก.ส.ส. มาเชื่อมโยง                กันฉ้อโกงเรียกร้องความเป็นธรรม
เรียกร้องความเสมอภาคพัฒนา              เรียกร้องค่าแรงงานในขั้นต่ำ
สังคมโลกรับสตรีเป็นผู้นำ                      เพื่อตอกย้ำคุณค่าของสตรี

                                 
                                    นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                               สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                         วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ


     อสม. คือผู้นำการเปลี่ยนแปลง           คอยจัดแจงงานสุขภาพอนามัย
คุณภาพชีวิตประชาชน                          แก่ทุกคนในหมู่บ้านงานยิ่งใหญ่
แก้ข่าวร้ายกระจายข่าวดีมีน้ำใจ              คอยช่วยให้บริการประชาชน
บำบัดทุกข์ดำรงตนเป็นตัวอย่าง               สื่อข่าวสร้างความเข้าใจหายสับสน
     ระหว่างเจ้าหน้าที่ประชาชน                ให้ทุกคนป้องกันคุมโรคภัย
เป็นผู้ให้บริการสุขภาพ                           ผู้ป่วยทราบข่าวพลันทันแก้ไข
คุมกำเนิดใช้ถุงยางอนามัย                     เจ็บป่วยไข้ปฐมพยาบาล
หมุนเวียนกันทำงาน ศสมช.                    จัดทำข้อมูลข่าวสารของหมู่บ้าน
     ถ่ายทอดภูมิปัญญาบริการ                 ขั้นพื้นฐานสุขภาพของชุมชน
เฝ้าระวังปัญหาโภชนาการ                      ดำเนินงานฝากครรภ์งานมากล้น
อนามัยแม่และเด็กทุกคน                       ให้รอดพ้นโรคติดต่อและยุงลาย
เป็นผู้นำทำแผนแก้ปัญหา                      ทันเวลาต่อสู้กับโรคร้าย
     นำกระบวน จปฐ. เข้ามาใช้                หลอมรวมใจพัฒนาประชาคม
ดูแลสิทธิ์สุขภาพในหมู่บ้าน                     คอยประสานผู้นำตามเหมาะสม
อบต. เทศบาลมาระดม                           ประชาคมทำเมืองไทยให้แข็งแรง
อสม. คือผู้นำการเปลี่ยแปลง                   ขอแสดงความขอบคุณ อสม.


                             นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                        สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                       วันจักรี


     องค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์           ทรงจำนงฟื้นฟูชาติศาสนา
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ     ธ หาญกล้าใช้ราชธรรมนำชาติไทย
เถลิงถวัลยราชสมบัติ                      เป็นกษัตรืย์มีปณิธานทำงานใหญ่
ย้ายเมืองหลวงไปสร้างที่แห่งใหม่      ด้านฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา
     ขนานนามกรุงเทพมหานคร        เมืองอมรดุจสวรรค์ในชั้นฟ้า
ไทยจึงได้มั่นคงดำรงมา                  เป็นเวลาสองร้อยยี่สิบแปดปี
ได้มีการสืบพระราชสันตติวงศ์          นับเป็นองค์ที่เก้าในวันนี้
ทรงครองราชนานที่สุดในปฐพี         หกสิบสี่ปีนานกว่าใครในโลกา
     มีบรมรูปทั้งแปดรัชกาล             ประดิษฐานให้รำลึกพระกรุณา
ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา           รวมวงศานุวงศ์ข้าราชการ
ประชาชนรำลึกมหาธิคุณ                ที่การุณพสกไทยมหาศาล
วันที่หกเมษายนมาเนิ่นนาน             พระราชทานเรียกวันนั้น
วันจักรี

 
                          นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                     สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                   วันสงกรานต์


     เป็นประเพณีไทยแต่โบราณ              วันสงกรานต์ย้ายสุริยราศี 
อาทิตย์ย้ายเข้าราสีเมษพอดี                   นับเป็นปีใหม่อย่างเก่าเนานานมา
นักขัตฤกษ์ตามสุริยคติ                           ตกวันที่สิบสามถึงสิบห้า
นับเป็นปีใหม่ไทยลาวกัมพูชา                  และพม่าชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติไต
     ชาวเวียดนามและมณฑลในยูนนาน    ได้สืบสานประเพณีสู่รุ่นใหม่
ศรีลังกาอินเดียตะวันออกไซร้                 ก็ยังใช้ประเพณีวันสงกรานต์
ประเพณีตรุษสงกรานต์ปัจจุบัน               ชาวตะวันตกเรียกวอเตอร์เฟสติวาล
ช่วงสงกรานต์นักท่องเที่ยวมหาศาล         เล่นสงกรานต์สาดน้ำฉ่ำทั่วไทย
     วันสงกรานต์เป็นวัดหยุดราชการ        ให้ลูกหลานอยู่ห่างไกลกลับบ้านได้
เพราะสงกรานต์ถือเป็นวันครอบครัวไทย  อยู่ห่างไกลก็ต้องกลับบ้านทำบุญ
กราบพ่อแม่ร่วมทำบุญตักบาตร              รวมเครือญาติปีละครั้งอย่างอบอุ่น
สรงน้ำพระดำหัวผู้มีคุณ                         บังสุกุลอัฐิปู่ย่าตายาย


                                   นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                              สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                             วันผู้สูงอายุ


     รัฐบาลพลเอกเปรมติณสูลานนท์     ตระหนักคนสูงอายุมีคุณค่า
มีมติรัฐมนตรีสิบสี่ธันวา                      ปีสองห้าสองห้าเมษายน
วันที่สิบสามเมษาของทุกปี                  เป็นวันที่สำคัญอย่างเหลือล้น
เป็นวันผู้สูงอายุแก่ทุกคน                    ลำดวนดลสัญลักษณ์จากหอมนาน
      สูงอายุนับหกสิบปีขึ้นไป               แบ่งออกได้เป็นต้นปลายวัยล่วงผ่าน
หกสิบถึงหกสิบเก้าอายุท่าน                อยู่ในกาลผู้สูงวัยในตอนต้น
ส่วนตอนปลายเจ็ดสิบปีขึ้นไป              เลยนั้นไซร้วัยชราเข้ามายล
อายุไขถึงร้อยปีกว่าต้นต้น                  มีหลายคนสุขภาพแข็งแรงดี
      จอมพล ป. สร้างบ้านพักคนชรา    แก้ปัญหาผู้สูงวัยไร้ถิ่นที่
อาศัยอยู่กับครอบครัวได้ไม่ดี              ก็มีที่สงเคราะห์คนชรา
สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค      ช่วยดูแลคนชราที่มีปัญหา
ให้ความรักพิทักษ์อนามัยคนชรา         เสริมคุณค่าผู้สูงวัยให้อายุยืน


                               นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                          สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                       วันครอบครัว


     ครอบครัวคือสถาบันอันโดดเด่น   ซึ่งจำเป็นต่อชีวิตคนทั่วหล้า
ครอบครัวอีกนัยคือสามีภรรยา           บุตรธิดาร่วมอาศัยในครัวเรือน
สมาชิกมีลักษณะเฉพาะตัว               ในครอบครัวแต่ละครอบครัวมิได้หมือน
สามีภรรยาสำคัญในครัวเรือน            เปรียบเสมือนเรือแพถ่อไม้พาย
    หน้าที่ของสามีภรรยา                 เกิดลูกมาเลี้ยงดูลูกอย่าดูดาย
ให้อยู่ในสังคมกับเขาได้                  หญิงและชายมีหน้าที่เพื่อครอบครัว
กำหนดสถานภาพและหน้าที่            ทั้งสิทธิสมาชิกให้รู้ทั่ว
ถ่ายทอดวัฒนธรรมในครอบครัว         เพื่อส่วนตัวและส่วนรวมร่วมกันไป
     คุณหญิงสุพัตรามาศดิตถ์            เป็นต้นคิดวันครอบครัวขึ้นมาใช้
วันที่สิบสี่เมษายนทุกปีไป                กำหนดให้เป็นวันแห่งครอบครัว
ปัญหายาเสพติดอาชญากรรม           ครอบครัวทำให้ลดลงกันได้ทั่ว
เพิ่มความรักความอบอุ่นในครอบครัว   ลดทำตัวไปขัดแย้งกับใครใคร
     แม้วิถีชีวิตจะเปลี่ยนผัน              คนพากันจากชนบทเข้าเมืองใหญ่
ต้องไม่ทิ้งพ่อแม่คนแก่ไว้                อย่าปล่อยให้เลี้ยงหลานเหลนตามลำพัง
บรรพชนคนไทยแต่ไรมา                ไม่ทำให้คนชราต้องผิดหวัง
กตัญญูกตเวทีมีพลัง                      ร่วมปลูกฝังความเข้มแข็งครอบครัวไทย               
                               นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                          สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                         วันฉัตรมงคล


     พระราชพิธีบรมราชาภิเษก             แห่งองค์เอกมหาราชของชาติไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ    ประชาชนปลื้มปีติพิสมัย
ทรงทศพิธราชธรรมนำชาติไทย           พระเกียรติไกลประชาชาติสดุดี
พระราชดำริกว่าสี่พันโครงการ             ดำเนินงานพัฒนาชีววิถี
    ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงในวันนี้       ทฤษฎีใช้ในการพัฒนา
หลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้              ส่งผลให้มีความสุขกันทั่วหน้า
วันที่ห้าพฤษภาคมบรรจบมา                ปวงประชาปรีย์เปรมเกษมศรี
ฉัตรมงคลถวายราชสดุดี                     ขอทรงมีพระเกษมสุขสำราญ


                                    นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                               สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                           วันพืชมงคล


     พืชมงคลวันสำคัญการเกษตร           ของประเทศไทยเรามหาศาล
ไทยทำการเกษตรมายาวนาน                ภูมิสถานแผ่นดินไทยใหญ่อุดม
พระราชพิธีจรดพระนังคัล                     แรกนาขวัญเป็นพิธีที่เหมาะสม
โบราณราชประเพณีที่นิยม                   ราษฎร์ชื่นชมจากกรุงศรีอยุธยา
     แรกนาขวัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์     ทั่วแผ่นดินเกษตรกรสุขหรรษา
ทั่วกรุงเทพปริมณฑลชวนกันมา            มารอท่าร่วมพระราชพิธี
บริเวณพิธีท้องสนามหลวง                    เสร็จลุล่วงเก็บเม็ดข้าวกันถ้วนถี่
เป็นพันธุ์ข้าวมงคลแต่ละปี                    จนบัดนี้เรียกว่าวันเกษตรกร
     พระราชพิธีพืชมงคล                      ราชกุศลทำขวัญข้าวเริ่มขึ้นก่อน
เจริญพระพุทธมนต์ตามขั้นตอน            ทำขวัญก่อนเป็นพุทธพิธี
การจรดพระนังคัลขั้นต่อมา                  ศาสนาพราหมณ์ทำนำวิถี
เป็นอาณัติการเพาะปลูกประจำปี           เป็นสิ่งดีต่อประเทศเกษตรกรรม
 

      
                                นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                           สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                         วันวิสาขบูชา


       การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ              รำลึกพระพุทธเจ้าของเรานั้น
ชาวพุทธโลกนับถือว่าสำคัญ                 เนื่องเป็นวันพระพุทธเจ้ามายาวนาน
เพราะเป็นวันประสูติตรัสรู้                     เสด็จสู่ปรินิพพานดับสังขาร
แม้ปรินิพพานไปแล้วนาน                      ทรงประทานคำสอนไว้ให้ปวงชน
       นับเป็นเรื่องอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง    ที่สามสิ่งเกิดตรงกันเพียงหนึ่งหน
ในพระชนมชีพพระทศพล                     เราทุกคนน้อมรำลึกและบูชา
ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต                 มอบชีวิตฝากไว้ในพระศาสนา
น้อมรำลึกพุทธคุณพระปัญญา               กรุณาบริสุทธิคุณ
       บ้างทำบุญตักบาตรปล่อยนกปลา     ภาวนาสร้างกุศลผลเกื้อหนุน
บ้างเวียนเทียนฟังธรรมทำเพ็ญบุญ         สะสมทุนความดีไว้สบายใจ
ได้ความรู้เพิ่มเติมเสริมปัญญา                ภาวนาทำจิตให้ผ่องใส
เป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งพึงตั้งใจ               จวบจนได้บรรลุสู่นิพพาน


                                      นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                                 สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                       วันงดสูบบุหรี่โลก

 
      ความสำคัญวันงดสูบบุหรี่โลก          เพื่อหยุดโรคจากการสูบบุหรี่นั้น
ที่เกิดโรคมะเร็งปอดเพิ่มทุกวัน              เพื่อป้องกันโรคถุงลมโป่งพอง
โรคระบบทางเดินการหายใจ                 ป้องกันได้โรคหลอดเลือดในสมอง
โรคหัวใจขาดเลือดสามารถป้อง             เลิกแตะต้องบุหรี่ห่างไกลควัน
      อันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ           ทุกคนทราบถึงพิษภัยกันทั้งนั้น
ทั้งผู้สูบบุหรี่และผู้ที่รับควัน                   ไปทุกวันทั้งชีวิตและเงินตรา
ผู้หญิงไทยกำลังตกเป็นเหยื่อบุหรี่          เพิ่มทุกทีเลิกสูบได้จะดีกว่า
งดสูบบุหรี่สามสิบเอ็ดพฤษภา                คืนชีวาคนที่รักกันเถิดเอย

         
                               นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                          สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                        วันต่อต้านยาเสพติด


       ยาเสพติดมีพิษร้ายทำลายตน          ทำลายคนอื่นและชาติศาสนา
เมื่อติดแล้วก็ตกเป็นทาสของยา              หมดคุณค่าของการเกิดมาเป็นคน
จิตวิญญาณถูกทำลายไร้ปัญญา             เกิดชาติหน้าเป็นบ้าใบ้ไม่เห็นหน
ผู้ติดยามีชีวิตอย่างทุกข์ทน                   เพราะเป็นผลของพิษร้ายจากในยา
      คนเสพตายส่วนคนขายก็ติดคุก        เสวยทุกข์ยาให้ผลอย่างแรงกล้า
ไม่มีใครไม่เดือดร้อนถ้ายุ่งยา                 เห็นกับตามากมายในสังคม
ครอบครัวแตกแยกไปเพราะขายยา        บ้างเข่นฆ่ากันตายไม่เหมาะสม
ทิ้งครอบครัวเป็นปัญหาแก่สังคม            ชาติละล่มคนในชาติเป็นทาสยา
       ยี่สิบหกมกราคมของทุกปี              เป็นวันที่ร่วมต่อต้านแก้ปัญหา
วันต่อต้านยาเสพติดทั่วโลกา                 เริ่มต้นมาปีสามหนึ่งถึงปัจจุบัน
เดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด                 สื่อความคิดผ่านสื่อช่วยอีกชั้น
เชิญคนไทยทั้งชาติมาช่วยกัน               ทำให้วันต่อต้านยามีค่าจริง


                                 นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                            สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                             วันอาสาฬหบูชา


      การบูชาในวันเพ็ญอาสาฬหะ              เป็นวันพระรัตนะองค์ที่สอง
คือพระธรรมคำสอนพุทธองค์                    ที่ได้ทรงแผ่พระกรุณา
โลกรู้เด่นเห็นชัดตรัสรู้                             เพราะมีผู้ฟังธรรมเทศนา
โกณฑัญญะฟังแล้วเปล่งวาจา                  ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพยาน
      จึงขอบวชเป็นภิกษุในศาสนา              ศาสดาอนุญาตตรัสบันหาร
ด้วยเอหิภิกขุทรงประทาน                        สำเร็จการมีครบพระรัตนตรัย
คือพระพุทธพระธรรมและพระสงฆ์            สมประสงค์ตถาคตกำหนดไว้
ศาสนธรรมคำสอนกำจรไป                      เริ่มต้นในวันอาสาฬหบูชา
      พุทธบริษัทศรัทธายิ่ง                        ร่วมทำสิ่งเกื้อกูลพระศาสนา
โดยทำบุญให้ทานตามศรัทธา                  เข้าวัดวาฟังธรรมกันตามกาล
ถวายเทียนพรรษาผ้าอาบน้ำฝน               บ้างฝึกตนวิปัสสนากัมมัฏฐาน
สืบอายุพระศาสนาให้ยืนนาน                   เชิญทุกท่านสร้างกุศลแก่ตนเอย

               
                               นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                          สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                           วันเข้าพรรษา


      การอยู่จำพรรษาในหน้าฝน               ทศพลทรงบัญญัติเป็นมาตรฐาน
ให้ภิกษุกำหนดใจพรรษากาล                   อยู่สถานที่แห่งหนึ่งถึงสามเดือน
หยุดจาริกขบวนธรรมยาตรา                    เหยียบข้าวกล้าชาวบ้านได้ทูลเตือน
แรมหนึ่งค่ำเดือนแปดแต่ให้เลื่อน              ไปเข้าเดือนแปดหลังได้ไม่เป็นไร
     ชาวพุทธอุปสมบทบรรพชา                 เข้าศึกษาปฏิบัติธรรมได้บุญใหญ่
ข้าราชการที่จะบวชให้ลาได้                     นิยมใช้ราชภัฏเรียกขานนาม
คนทั่วไปก็ตั้งใจใส่บาตรพระ                    ฟังธรรมะสามเดือนกันล้นหลาม
หยุดเหล้าเข้าพรรษาสง่างาม                    ร่วมสร้างความดีกันไว้ทั่วไทยเอย


                                      นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                                 สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                               วันแม่ ๑๒ สิงหาคม  ๒๕๕๓

      แม่ได้ให้กำเนิดเกิดลูกน้อย            แม่เฝ้าคอยเลี้ยงดูเอาใจใส่
แม่แนะนำให้ลูกรู้และเข้าใจ                  เรื่องทั้งในนอกบ้านปานเป็นครู
แม่ให้การศึกษาลูกทุกคน                    ได้เลี้ยงตนด้วยการใช้ความรู้
ถ้าลูกเป็นดนดีให้แม่ดู                         ลูกคงรู้นั้นสุขแท้ของแม่เลย


                              นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                         สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

                                   วันเยาวชนแห่งชาติ

      เยาวชนของไทยในยุดนี้             เข้ามามีบทบาทช่วยชาติได้
พัฒนาตนเองให้สมวัย                      มีวินัยค่านิยมที่สมควร
อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม                     ไทยเลิศล้ำค่าไว้ได้ทุกส่วน
รู้ประหยัดอดออมถนอมนวล              ทุกคนล้วนอนาคตของชาติไทย
               
 
                            นายสนั่น ไชยเสน  และคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                       สถาบันพัฒนาพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

     เมื่อวันที่ 17 -19 พ.ค.2553 สภาวัฒนธรรม อ.พุทธมณฑล นำโดย นพ.วัฒนา เทียมปฐม ประธานสภาฯ ได้ร่วมกับนายปริญญา โพธิสัตย์ นาย อ.พุทธมณฑล และหน่วยงานในอำเภอจัดงานเฉลิมฉลองการขุคลองมหาสวัสดิ์ครบ 150 ปี ผมในฐานะผู้ช่วยกรรมการเลขานุการสภาฯ และกรรมการจัดงาน ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน เช่น การประกวดคำขวัญ, การประกวดเรียงความ, การประกวดวาดภาพระบายสี 150 ปี คลองมหาสวัสดิ์ และได้เขียนกลอนตามรอยมหาฤกษ์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านทั้งหลายที่สนใจ ถึงแม้ว่าจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช้าไปหน่อย ก็คงไม่ว่ากันนะครับ  

                     ตามรอยมหาฤกษ์ ครบรอบ 150 ปี คลองมหาสวัสดิ์

                     โดย สนั่น ไชยเสน

                     ประธานคณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน  

                     มหาวิทยาลัยมหิดล

                     ผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอพุทธมณฑล

                     ปี 2552 - 53

 

                                       การขุดคลองมหาสวัสดิ์ 

        ปีมะเส็ง  สองพัน  สี่ร้อยสาม              ได้ฤกษ์งาม  ปวงประชา  พาสุขสันต์

พระจอมเกล้า  เจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าพลัน      มอบให้ท่าน  เจ้าพระยา  รวิวงศ์

พระมหา  โกษา  ธิบดี                               ที่พระศรี  สมบัติ  ดั่งประสงค์

 

จ้างจีนขุด  คลองตาม  เจตจำนงค์                ราชประสงค์  บูชา  มหาเจดีย์

องค์พระปฐม  เจดีย์  นครปฐม                      เพื่อสะสม  เพิ่มพูน  บุญราศี

ในเทศกาล  ทำบุญ  ประจำปี                       เมื่อวันที่  สิบสาม  กันยายน

 

ขุดจากวัด  ไชยพฤกษ  มาลา                      กว้างเจ็ดวา  ลึกหกศอก  ออกกลางหน  

ยาวยี่สิบ  เจ็ดกิโลเมตร  เศษต้น                   ถึงตำบล  ที่ริมศาล  เจ้าสุบิน

เริ่มต้นจาก  ปากคลอง  บางกอกน้อย             ล่องเรือลอย  ธารา  กระแสสินธุ์

 

ไปแม่น้ำ  ท่าจีน  ศาลเจ้าสุบิน                     กระแสสินธุ์  เชื่อมคลอง  เจดีย์บูชา

ใช้ทรัพย์ท้าว  เทพอากร  (ยายเงิน) เจ้าตลาด  ตามพระราช  บัณฑูร  ใจความว่า

 

เทพอากร  มั่งมีจาก  ตลาดมา                       ลูกหลานพา  แก่งแย่ง  อลวล

ยึดเข้าคลัง  หนึ่งพันชั่ง  เป็นราชบาตร             เหลือแบ่งญาติ  น้อยใหญ่  ใช้เหตุผล

หนึ่งร้อยชั่ง  เพิ่มขุดคลอง  จากเริ่มต้น             ค่าขุดล้น  สมทบเงิน  ท้องพระคลัง

 

เป็นจำนวน  หนึ่งพันชั่ง  สิบตำลึง                   คลองนี้จึง  ขุดเสร็จ  สมใจหวัง

แก้คลองเก่า  แปดเส้น  อีกหนึ่งครั้ง                 สำเร็จดัง  ราชดำริ  ที่ประทาน

พระราชทาน  ชื่อคลองว่า  “มหาสวัสดิ์”            เป็นสมบัติ  ตกทอด  สู่ลูกหลาน

ครบหนึ่งร้อย  ห้าสิบปี  ที่ประทาน                   ช่วยสืบสาน  คุณความดี  นี้ต่อไปฯ

 

               ตามรอยมหาฤกษ์ นิราศพระประฐม 17 พฤษภาคม 2553  

 

        เดินตามรอย  มหาฤกษ์  เบิกนิราศ  ป่าวประกาศ  วัฒนธรรม  นำเสกสรรค์

นิราศ  พระประฐม  คมจำนรรจ์               กวีสรรค์  พรรณนา  ภาษางาม

“.... ถึงคลอง  มหาสวัสดิ์นี  มีใหม่          แต่ตามใน  ลำคลอง  ได้ร้องถาม

 

ไม่มีใคร  ร้องเรียก  สำเนียงนาม             จะหาความ  ที่ประกอบ  ไม่ชอบกล

จนเลย  ศาลาสอง  ยิ่งหมองไม้              ระกำใจ  อ้างว้าง  อยู่กลางหน

กับบ่าวไพร่  ศิษย์หา  สี่ห้าคน                มันซุกซน  สารพัด  จะขัดเชิง

ที่สองฝั่ง  ข้างคลอง  ล้วนท้องทุ่ง           แลเป็นวุ้ง  ดูเวิ้ง  ละเลิงเหลิง

เห็นทิวไผ่  ไม้พุ่ม  เป็นซุ้มเซิง                ที่สูงเทิง  ลมโยน  ดูโกร๋นกริว

 

เห็นเมฆหมอก  ออกรอบ  ตามขอบป่า       เหมือนขอบฟ้า  ตกไกล  ใจหวิวหวิว

ลมพระพาย  ชายพา  พฤกษาปลิว            เห็นแต่ทิว  เขาไม้  ร่ำไรราย

ดูทุ่งกว้าง  ทางเปลี่ยว  ให้เสียวจิตต์         ทั้งจากมิตร  มาไกล  ยิ่งใจหาย

เห็นวิหก  นกเอี้ยง  มันเลี้ยงควาย             จับสบาย  บนคอ  ดูคลอเคลีย

  ......................................                .....................................

ดูคลองตรง  โล่งลิ่ว  เห็นทิวบ้าน              ระยะย่าน  ห่างไกล  กระไรหนา

 

ไม่มีเรือน  โอ่โถง  ล้วนโรงนา                  มุงแฝกคา  เขียวขำ  ดูรำไร

บ้างปลูกผัก  ดักแร้ว  แพ้วจังหัน               ลมพัดผัน  หมุนติ้ว  หวิวหวิวไหว

ครั้งลมหวน  ทวนทับ  ก็กลับไป               เปรียบเหมือนใจ  คนเรา  เท่าทุกวัน

 

 .......................................                   ......................................

พอสายแสง  สุริยัน  ตะวันแผ้ว                 พวกคนแจว  หิวกระหาย  ทั้งท้ายหัว

เห็นอ้อยขาย  รายวาง  ตามข้างรั้ว             เหมือนกับวัว  เห็นหญ้า  ทำตาปรือ

จึงจอดเข้า  ซื้อให้  สองไพกึ่ง                  พอยื่นถึง  กัดพลาง  ไม่วางถือ

 

เรือก็หนัก  ราวกับหิน  สิ้นฝีมือ                  คนก็ดื้อ  คร้านใจ  มิใคร่แจว

เรือกับคน  สมกัน  ขยันเหลือ                   จนเพื่อนเรือ  เลยไกล  ไปเป็นแถว

ทั้งไทยมอญ  หนุ่มสาว  และลาวแกว         ที่ไปแล้ว  อยู่หลัง  ก็ยังมา

    ..................................                       .....................................

ถูกลมหวน  ทวนซ้ำ  น้ำก็เชี่ยว                 คนแจวเหนี่ยว  สามเล่ม  จนเต็มเมื่อย

 

ดูอิเหละ  เปะปะ  สวะเฟื้อย                     น่าเหน็ดเหนื่อย  หนักเหลือ  เรือโป้งโล้ง

ถึงตลิ่ง  เตียนโล่ง  พอโยงได้                  เด็กดีใจ  แลเห็น  ออกเต้นโหยง

ผูกเชือกแล้ว  ขึ้นตลิ่ง  วิ่งตะโพง              พอเชือกโยง  ตึงเรื่อย  แล่นเฉื่อยไป

ถึงที่รก  วกลัด  ฉวัดเฉวียน                     ถึงที่เลี่ยน  ก็ชะโลง  โยงไปใหม่

ประเดี๋ยวรก  ประเดี๋ยวบ้าน  รำคาญใจ        มันพิไร  บ่นร่ำ  ไม่สำรวม

  ...................................                     ....................................

จนล่วงเลย  ศาลา  ที่ห้าแล้ว                   ให้เร่งแจว  รีบไกล  ยังไกลถม

ดูสาวสาว  ชาวนา  ไม่น่าชม                    ตรำแดดลม  เหลือดำ  ด้วยทำนา ..” *

มหาฤกษ์  บันทึกไว้  ให้เราทราบ              จึงขอกราบ  ขอบพระคุณ  เป็นนักหนา

 

หนึ่งร้อยห้า  สิบปี  ที่ผ่านมา                    วันเวลา  หมุนเวียน  แปรเปลี่ยนไป

สรรพสัตว์  ทั้งหลาย  ตายแล้วเกิด            ถือกำเนิด  วนเวียน  เปลี่ยนมาใหม่

ไม่จีรัง  ยั่งยืน  คนหนึ่งไซร้                     ที่เหลือไว้  คือความดี  ที่มั่นทำ

 

เป็นประโยชน์  ต่อสังคม  โลกมนุษย์         ไม่เสื่อมทรุด  เพราะธรรมะ  อุปถัมภ์

ตราบใดที่  มีธรรมะ  มาช่วยนำ                 คนชื่นฉ่ำ  โลกอยู่รอด  ตลอดไป

ลงเรือหาง  หน้าวัด  ชัยพฤกษมาลา           ราชวร  วิหาร  วันสดใส

 

จิตริสา  อารียา  ล่องเรือไป                      ท่องเที่ยวใน  คลองมหา  สวัสดี

วันที่หนึ่ง  พฤษภา (คม) สองห้าห้าสาม      ย้อนรอยตาม  มหาฤกษ์  กวีศรี

กรุงรัตน  โกสินทร์  กันอีกที                    เพราะปีนี้  เป็นวาระ  มหามงคล

  

ขุดคลอง  มหาสวัสดิ์  ร้อยห้าสิบปี            สิบเจ็ด (พ.ค. 2553) นี้  ร่วมสร้าง  ทางกุศล

ที่ ร.4 มีต่อ  พุทธมณฑล                         เพื่อทุกคน  น้อมรำลึก  พระกรุณา

คลองทิศเหนือ  มีเรือพ่วง  ผูกหน้าบ้าน       เพราะเป็นย่าน  ชุมชน  คนแน่นหนา

สะพานปูน  ข้ามคลอง  ล่องไปมา              มีฝูงปลา  สวาย  ว่ายชุกชุม

แลเห็นเรือ  นำเที่ยว  พาฝรั่ง                    ชมสองฝั่ง  แก่เฒ่า  สาวและหนุ่ม

เด็กที่อยู่  หน้าวัด  มาจัดกลุ่ม                   มากลุ้มรุม  ร้องทักทาย  โบกไม้โบกมือ

 

คนหาปลา  ลงเรือ  เพื่อจับปลา                 นำอวนมา  ช้อนริมฝั่ง  ได้ปลาอื้อ

จับปลาได้  ขายริมฝั่ง  มีคนซื้อ                 ที่เหลือถือ  กลับบ้านไป  ไว้ทำกิน

วัยรุ่นเล่น  เรือบังคับ  อยู่กับฝั่ง                  เรือวิ่งห่าง  เลยไปนิด  ติดก้อนหิน

 

ไปอีกฝั่ง  กว้างไกล  สายวาริน                  เจ้าหนุ่มสิ้น  ปัญญา  คว้าเรือคืน

ตัดสินใจ  ว่ายน้ำ  ข้ามอีกฝั่ง                     มองเห็นหลัง  แวกว่าย  กระแสคลื่น

เก่งจริงนะ  กล้าว่ายน้ำ นำเรือคืน                แม้มีคลื่น  คว้าเรือหมับ  กลับที่เดิม

 

เห็นศาลา  ท่าน้ำ  ตามริมฝั่ง                     เป็นที่นั่ง  ที่ลงเรือ  ขึ้นลงเพิ่ม

ทั้งสร้างใหม่  ไม้เก่า  เนาแต่เดิม                สร้างเพิ่มเติม  ด้วยซิเมนต์  เห็นดาดตา

มองเห็นจาน  ดาวเทียม  อยู่หน้าบ้าน          รับสัญญาณ  ดาวเทียม  เริ่มแน่นหนา 

 

นกพิราบ  ฝูงใหญ่  บินไปมา                     เพื่อมองหา  อาหาร  ตามบ้านกิน

เรือวิ่งลอด  สะพาน  สรรค์สร้างใหม่            รถวิ่งไป  วิ่งมา  หาสองถิ่น

ผ่านท่าเรือ  วัดโตนด  โจษได้ยิน               เห็นปลากิน  อาหาร  หน้าบ้านราย

ถึงชุมชน  ต้นโพธิ์  ดูโอ่โถง                      เพราะมีโรง  เจอยู่  รู้แพร่หลาย

แพผักบุ้ง  ปลูกกิน  สะดวกดาย                 บ้างเก็บขาย  แต่บางแห่ง  แบ่งกันกิน

บ้านริมน้ำ  แม้ไม่งาม  แต่น่าอยู่                 เพราะแลดู  สงบ  นิจสิน

 

เว้นตอนเรือ  วิ่งไปมา  จะได้ยิน                แต่พอสิ้น  เสียงเรือ  เงียบเหลือดี

เรือหางยาว  แม่ค้า  มาขายของ                ตามลำคลอง  จับจ่าย  ได้เต็มที่

สถานี  รถไฟ  บ้านฉิมพลี                       ดูท่าที  ซบเซา  เก่าซอมซอ

สมัยเก่า  เล่าขาน  บ้านฉิมพลี                 สถานที่  คนอาศัย  มากมายหนอ

 

พอถนน  ตัดผ่าน  เริ่มซอมซ่อ                 ไม่นานก็  ซบเซา  ดั่งเล่ามา

คนแก่เฒ่า  เล่าขาน  บ้านฉิมพลี              ย่านบ้านนี้  ชุมชนใหญ่  คนมากหน้า

มีพ่อค้า  แม่ขาย  ผ่านไปมา                    นำสิ้นค้า  มาขาย  ได้ทั้งปี  

 

มีต้นงิ้ว  เป็นแนว  แถวริมฝั่ง                    จึงได้ตั้ง  เป็นชื่อบ้าน  ของย่านนี้

มีโรงเจ  ต้นโพธิ์  คนรู้ดี                          สถานที่  ที่ช่วยเหลือ  เอื้อเฟื้อกัน

ต่อรถไฟ  วิ่งไป  บางกอกน้อย                  วันเป็นร้อย  เจรจา  พาสุขสันต์

 

มีวันหนึ่ง  รถไฟ  วิ่งชนกัน                       คนอาสัญ  ล้มตาย  หลายสิบคน

แต่ก่อนบ้าน  หันหน้า  ไปหาคลอง             เดี๋ยวนี้ต้อง  หันหน้า  หาถนน

บ้านริมคลอง  มากมาย  ไร้ผู้คน                 เพราะถนน  สะดวกกว่า  น่าเศร้าใจ

 

คนแก่เฒ่า  เล่าไว้  ให้ประจักษ์                 ว่าลูกรัก  มอบที่  ริมคลองให้

ส่วนลูกเกลียด  ได้ไกลคลอง  หมองฤทัย    เดี๋ยวนี้ไซร้  กลับกัน  มันแปลกดี

พวกไกลคลอง  กลับได้  ใกล้ถนน              ที่ทุกคน  มีราคา   เวลานี้

 

ซื้อก็ง่าย  ขายก็คล่อง  ราคาดี                   เป็นเศรษฐี  เพราะซื้อขาย  ไปหลายคน

เลยนิดหนึ่ง  ก็มาถึง  ศรีประวัติ                 เป็นชื่อวัด  ชื่อบ้าน  มาแต่ต้น

ด้านทิศเหนือ  บ้านหนาแน่น  มากเหลือทน  ฝั่งใต้คน  เบาบาง  ช่างกระไร

 

ฝั่งทิศเหนือ  มากมาย  หลายร้อยหลัง         บ้านริมฝั่ง  เก่ารายทาง  สร้างด้วยไม้

ลึกเข้าไป  บ้านจัดสรร  สร้างกันใหม่           ทั้งน้อยใหญ่  เรียงราย  อยู่ใกล้กัน

มีเรือหาง  วิ่งผ่าน  ย่านแถวนี้                    เพราะเขามี  นักท่องเที่ยว  มาที่นั่น

 

แวะมากิน  ก๋วยเตี๋ยว  มื้อกลางวัน              สนุกกัน  เพราะคนขาย  เขาใจดี

เรียกลูกค้า  เสียงลั่น  กันทุกร้าน               เชิญรับทาน  ก๋วยเตี๋ยว  สั่งเลยพี่

ทั้งเส้นเล็ก  เส้นใหญ่  อร่อยดี                  เส้นบะหมี่  อร่อยแน่  ไม่แพ้กัน

 

มีกาแฟ  โกโก้  โอวัลติน                         รสถูกลิ้น  ติดใจ  ไปทั้งนั้น

นั่งกินไป  ดูปลาไป  เพลินใจครัน              เด็กช่วยกัน  เลี้ยงปลา  สบายใจ

มีสถาน  ฟื้นฟู  ผู้พิการ                           รัฐบาล  ให้งบ  มาสร้างใหม่

 

มีห้องน้ำ  ห้องท่า  สบายใจ                     ผู้สูงวัย  มาใช้  บริการ

อนามัย  ปลายบาง  อยู่ทางนี้                   เจ็บป่วยมี  หมอเยียวยา  รักษาประสาน

 

ใครป่วยมาก  ส่งต่อ  โรงพยาบาล              ให้ชาวบ้าน  สุขกาย  สบายใจ

แม้นถึงคราว  ดับดิ้น  สิ้นชีวิต                   ไม่ต้องคิด  ว่าจะทำ  ศพที่ไหน

เพราะวัด  ศรีประวัติ   จัดการให้                ไม่เป็นไร  จนหรือรวย  ช่วยเหลือกัน

 

ชุมชน  ศรีประวัติ  ในวันนี้                        คนหลายที่  อาศัย  ได้ทั้งนั้น

คนอีสาน  เหนือใต้  อยู่ร่วมกัน                  สายสัมพันธ์  ชุมชนนี้  ดีพอควร

มีศูนย์  (ศิลป) วัฒนธรรม  ศรีประวัติ           ที่ฝึกหัด  เด็กไทย  หลายภาคส่วน

ครูชาตรี  สกุล  อบนวล                           จัดกระบวน  ฝึกสอนให้  ได้อย่างดี

มีนักเรียน  หญิงชาย  จากหลายแห่ง           มาเสริมแต่ง  เรื่องราว  เป่าดีดสี

เรียนรำไทย  ได้สวยงาม  ตามประเพณี        จบจากนี้  ไปไม่น้อย  หลายร้อยคน

 

เห็นคุณยาย  พายเรือ  เก่งเหลือใจ             ทวนน้ำไหล  จ้ำพาย  ไม่ระย่น 

นำอาหาร  ถวายพระ  มานะอดทน            สร้างกุศล  บุญทาน  ก่อการดี

เห็นรถขุด  อยู่บนเรือ  เพื่อรับงาน             ใครต้องการ  ติดต่อได้  ณ ที่นี่

มองต่อไป  เห็นกลุ่มเรือ  เอื้ออารีย์            สวยงามดี  เรียงราย  อยู่หลายลำ

 

แลเห็นป้าย  ขายบ้าน  ที่ดินด่วน              สภาพล้วน  ยวนใจ  ได้ลึกล้ำ

เห็นแม่บ้าน  นุ่งกระโจม  อกอาบน้ำ           เย็นชื่นฉ่ำ  ไม่ต้องง้อ  ขอประปา

 

มาหยุดที่  ประตู  น้ำฉิมพลี                      หยุดตรงนี้  เพราะผักตบ  พบแน่นหนา

มีผักตบ  ลอยมาติด  เหลืออัตรา                เรือวิ่งผ่า  ไปไม่ได้  ไม่เตรียมการ

ถ้าจะนำ  เรือผ่าน  ประตูน้ำ                     จะต้องทำ  หนังสือ  โทรประสาน

 

เจ้าหน้าที่  เฝ้าประตู  จะเตรียมการ           ให้เรือผ่าน  เข้าออกง่าย  ได้ทั้งปี

ที่ฉิมพลี  ประตูน้ำ  ในยามเย็น                 คนนั่งเล่น  ที่ศาลา ท่าสุขขี

พร้อมตายาย  พ่อแม่ลูก  สุขฤดี                บางคนมี  อาหาร  มาทานกัน

มีเกาะน้อย  อยู่กลาง  ระหว่างน้ำ              เป็นที่ทำ  การของ  ประตูนั้น

 

ในประตู  ดูผักตบ  ติดเป็นตัน                  ไม่ช่วยกัน  เก็บเสียบ้าง  ช่างกระไร

เห็นเรือเก่า  สองลำ  ล่ามตลิ่ง                  ถูกทอดทิ้ง  ขาดคน  เอาใจใส่

 

เป็นของรัฐ  เอกชน  ฉงนใจ                    ถ้าซ่อมใหม่  จะงามหรู  ยังดูดี

ฝั่งคลองใต้  สร้างกำแพง  ไว้สูงชัน           ทำไว้กั้น  น้ำท่วม  ร่วมแนวนี้

กันน้ำท่วม  กรุงเทพฯ  มาหลายปี              เพราะพื้นที่  ต่ำกว่า  น้ำทะเล

มีถนน  สองเลน  ฝั่งคลองเหนือ                คนใช้เรือ  ใช้รถ  กันถมเถ

มีกลุ่มรถ  จักรยาน  ผ่านฮาเฮ                   แต่งตัวเก๋  เป็นแถวยาว  เร้าอารมณ์                             

 

มีบ้านเรือน  ริมคลอง  ทั้งสองข้าง              ทั้งเบาบาง  หนาแน่น  ผสานผสม

คนขายปลา  ดักอวน  ชวนให้ชม               ลุกยืนก้ม  ไล่ตีปลา  มาติดอวน

 

เลยมาถึง  วัดใหม่  ผดุงเขต                     น่าสังเกต  วัดดู  อยู่กลางสวน

มีศาลา  หน้าวัด  เป็นไม้ล้วน                    เป็นจำนวน สิบกว่าหลัง  ยังดูดี

 

อยู่ตำบล  ศาลากลาง  เขตบางกรวย          วัดดูสวย  โบสถ์ศาลา  มีราศี

ชาวบ้านที่  ร่ำรวย  ช่วยวัดดี                    เสียงดนตรี  แว่วมายัง  ริมฝั่งคลอง

 

ถึงอาราม  นามว่า  ปุรณาวาส                   งามวิลาศ  ฮวงจุ้ยดี  ไม่มีสอง

ด้านทิศเหนือ  มีสายน้ำ  เป็นลำคลอง        ฝั่งวัดมอง  เห็นเณรเดิน  เพลินอุรา

วัดแห่งนี้  สถานที่  ปฏิบัติ                      ท่านเจ้าวัด  สอนคนไว้  ได้มากหน้า

สอนคนไทย  ยุโรป  อเมริกา                   เพราะเป็นพระ  วิปัส  สนาจารย์

ชื่อพระครู  สุธรรม  มานุศาสก์                 แต่โยมญาติ  เรียกทรงธรรม  นามไขขาน

สร้างศาลา  หลังใหญ่  ไว้บริการ              เป็นสถาน  ปฏิบัติ  วิปัสสนา

ชื่อเดิมวัด  ปุรณาวาส  วัดกลางคลอง        จุดกลางของ  คลองนี้  มีเกล็ดว่า

 

วัดเส้นทาง  จากวัด  ชัยพฤกษมาลา          เลยไปหา  ปลายธาร  ศาลเจ้าสุบิน

อีกชื่อหนึ่ง  กล่าวคือ  ชื่อวัดนก                 มีวิหค  อาศัย  ประจำถิ่น

มีนกยาง  ขนพู่  มาอยู่กิน                        จึงเป็นถิ่น  ล่านก  จนสูญพันธ์

เพื่อนำพู่  ไปประดับ  หมวกทหาร              ใช้ในการ  สวนสนาม  งามเฉิดฉันท์

 

บางครั้งถูก  ลูกหลง  ยิงใส่กัน                 จนชีวัน  วอดวาย  ไปหลายครา       

เลยมาถึง  คลองขวาง  ดูกว้างดี               เป็นจุดที่  สามคลอง  ล่องไปหา

 

คลองมหา  สวัสดิ์  ทวีวัฒนา                   คลองนรา  ภิรมย์  สมฤทัย

เป็นรอยต่อ  ตำบล  ศาลายา                   แขวงศาลา  ธรรมสพน์  พบเห็นได้

เชื่อมตำบล  ศาลากลาง บางกรวยไว้         มีคนใช้  เรือพาย  ไปหากัน

นครปฐม  กรุงเทพฯ  นนบุรี                     สามพื้นที่  คนมาไป  ใจสุขสันต์

 

สมัยก่อน  ใช้เป็นที่  หนีภัยกัน                 มีโทษทันฑ์  หนีกฎหมาย  ได้ง่ายดี

เจ้าหน้าที่  ตำรวจ  จับไม่ได้                    เพราะไม่ใช่  อำนาจ  ของท้องที่

ไอ้เสือโจร  หนีไป  ได้ทุกที                    มาเดี๋ยวนี้  หมดสมัย  ไอ้เสือโจร

ศาลายา  ตลาดเก่า  คนเล่าขาน               เป็นตำนาน  เล่าไว้  ในกาลโน้น

จารึกยา  ไว้ให้คน  วิ่งกระโจน                  ถึงคราวโดน  โรคภัย  ไข้โจมตี

 

ไปจดจำ  เครื่องยา  มาต้มกิน                  ช่วยชีวิน  คนป่วยไข้  ได้สุขขี

ที่ริมคลอง  มีมะขาม 

        นำบทกลอน 150 ปี คลองมหาสวัสดิ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในคราวที่แล้ว แต่มีบางส่วนขาดหายไปตอนบันทึก จึงนำมาต่อเติมให้สมบูรณ์ ดังต่อไปนี้ คือ

 

            ตามรอยมหาฤกษ์ เฉลิมฉลองการขุดคลองมหาสวัสดิ์ครบ 150 ปี

 

     ศาลายา  ตลาดเก่า  คนเล่าขาน           เป็นตำนาน  เล่าไว้  ในกาลโน้น

จารึกยา  ไว้ให้คน  วิ่งกระโจน                  ถึงคราวโดน  โรคภัย  ไข้โจมตี

 

ไปจดจำ  เครื่องยา  มาต้มกิน                   ช่วยชีวิน  คนป่วยไข้  ได้สุขขี

ที่ริมคลอง  มีมะขาม  สวยงามดี                บ้านเรือนมี  ไม่กี่หลัง  อยู่ห่างกัน                                

ถัดจากวัด  อีกที่  มีโรงฝิ่น                       ใครสูบสิ้น  กังวล  ดลสุขสันต์

 

สูบแล้วนอน  สบาย  ไม่ตีกัน                    ดั่งกล่าวขวัญ  คนกินเหล้า  เขาชอบตี

คนสูบฝิ่น กลิ่นตัวแย่  แลท้องผูก               แต่กระดูก  แข็งไม่  กลายเป็นผี

โรคท้องร่วง  อหิวา  ไม่ราวี                       แต่ไม่ดี  ดอกหนา  อย่าริลอง

ปัจจุบัน  ศาลายา  ชุมชนใหญ่                   มีรถไฟ  ตลาดสด  ซื้อขายคล่

มีวัด  สาลวัน  อยู่ริมคลอง                         หน้าวัดมอง  เห็นสายน้ำ  ฉ่ำฤดี

โรงหมูเก่า  สูญสลาย  หายไปสิ้น               กลายเป็นถิ่น  อาศัย  ในพื้นที่

 

เป็นชุมชน  แออัด  ไม่ค่อยดี                     คนจองที่  ชลประทาน  ตั้งบ้านเรือน

มีโรงเรียน  สาลวัน  สรรค์ศึกษา                 พัฒนา  สังคม  สมใจเหมือน

สอพอฐอ  ดำเนินการ  ผ่านปีเดือน              วัดคอยเตือน  ให้กระทำ  แต่กรรมดี                              

เป็นที่ตั้ง  อำเภอ  พุทธมณฑล                   มีผู้คน  เรือนแสน  อยู่ที่นี่

 

ทั้งอยู่จริง  อยู่แขวง  ก็มากมี                      สถานที่  ทำงาน  นั้นครบครัน

มีโรงเรียน  มหิดล  วิทยานุสรณ์                  เป็นขั้นตอน  วิทยา  ศาสตร์สร้างสรรค์

 

ปูพื้นฐาน  เรียนต่อได้  หลายสถาบัน           แหล่งสำคัญ  วิทยาศาสตร์  ของชาติไทย

มีโรงเรียน  กาญจ- นาภิเษก                      นับเป็นเอก  สถาบัน  สร้างสรรค์ไว้

เทิดพระเกียรติ  ล้นเกล้า  เผ่าพงศ์ไทย         ต่างภูมิใจ  พัฒนา  ความเจริญ

พระบาทสมเด็จฯ  ภูมิพล  มหาราช              ประชาชาติ  ทั้งมวล  ล้วนสรรเสริญ

 

ให้พ่อหลวง  พระองค์  ทรงพระเจริญ            ทรงเพลิดเพลิน  สุขเกษม  ยิ่งยืนนาน

มีโรงเรียน  รัตน  โกสินทร์                          สมโภชถิ่น  ศึกษา  มหาศาล

สมเด็จพระ  สังฆราช ประสาทการ                สมเด็จญาณ  สังวร  สอนปวงชน

มีมหา  วิทยาลัย  แพทยศาสตร์                    ที่สามารถ  ผลิตแพทย์  มาแต่ต้น

ชื่อมหา  วิทยาลัย  มหิดล                           ประชาชน  น้อมรำลึก  พระกรุณา

มีมหา  วิทยาลัย  ราชมงคล                         ที่ฝึกฝน  อาชีพ  อุดมศึกษา

วิทยาลัย  นาฏศิลป์  ศาลายา                       เสริมคุณค่า  ความเป็นไทย  ให้ยืนนาน

สถาบัน  ทหาร  เรือชั้นสูง                            ฝึกฝนฝูง  ลูกประดู่  รู้แตกฉาน

การปกป้อง  น่านน้ำไทย  ปราศภัยพาล           ใครรุกราน  พ่ายแพ้  แก่ชาติไทย

ศาลายา  อยู่ในเขต   เทศบาล                       บริหาร  พื้นที่  ทันสมัย

พัฒนา  โครงสร้าง   ได้เร็วไว                        ก้าวหน้าไกล  คล้ายกับว่า  พลิกฝ่ามือ

แต่หลายด้าน  ยังต้องการ  พัฒนา                   ภูมิปัญญา  การเมืองให้  น่าเชื่อถือ

วิทยาลัย  ในวัง  คลังฝีมือ                             ช่วยสร้างชื่อ  พุทธมณฑล  คนรู้กัน

ลงเรือที่   ท่าวัด  สุวรรณาราม                        เพื่อเดินตาม  มหาฤกษ์  เบิกทอฝัน

ที่ท่าน้ำ  ปลาสวาย  ว่ายเป็นพัน                     ว่ายน้ำกัน  กินขนม  สมฤดี

นักท่องเที่ยว  ฝรั่ง  ทั้งจีนไทย                       ญี่ปุ่นไฮ่  ทักทาย  ใจสุขขี

มีหลายคน  ได้เที่ยวชม  สมฤดี                       บอกคุ้มที่  สนใจ  ใคร่อยากมา

ด้านทิศเหนือ  เรือผ่าน  คลองตาหลี                 ประวัติมี  เล่าไว้  ให้ศึกษา

กำนันฮวด  เทียมปฐม  ขุดขึ้นมา                      ใช้ปัญญา  เงินทอง  ส่วนของตน

กับนายทอง  นางจาง   นิ่มนวล                       ได้ชักชวน  ขุดคลอง  สำเร็จผล

 

โดยขุดใน  ที่ดิน  นาของตน                  จุดเริ่มต้น  (คลอง) มหาสวัสดิ์  ตัดคลองโยง

ระยะทาง  ยาวเจ็ด  สิบสามเส้น               ส่วนกว้างเป็น  หกศอก  ออกโอ่โถง

ลึกสามศอก  ฐานสามศอก  แถมแจกโอ่ง   เพื่อยึดโยง  น้ำใจชน  คนขุดคลอง

ใช้เงินไป  เจ็ดร้อย  สามสิบบาท              จึงสามารถ  ขุดเสร็จปี  สองสี่แปดสอง

ใช้เวลา  เดือนหนึ่ง  ซึ่งขุดคลอง              ความดีต้อง  จารึกไว้  ในแผ่นดิน

แหล่งท่องเที่ยว  ชมคลอง  มหาสวัสดิ์       ลงเรือวัด  สุวรรณ  ล่องธารสินธุ์

 

ไปชมสวน  กล้วยไม้งาม  นามระบิล          ไปต่างถิ่น  ยุโรป  อเมริกา

คุณวิชิต  (มหาเจษฎา) นักธุระ  กิจไทย     ท่องเที่ยวไป  ยุโรป  สะท้อนว่า

กล้วยไม้ไทย  ชื่อดัง  อเมริกา                  ขายราคา  แพงมาก  จากเมืองไทย

 

น่าภูมิใจ  ที่เมืองไทย  มีกล้วยไม้              ส่งไปให้  ได้ชมชิด  พิสมัย

สร้างรายได้  ให้แก่  ประเทศไทย              คนอยู่ใน  ท้องถิ่น  ควรยินดี

จุดที่สอง  ชมสวน  ผลไม้                       สวนของนาย  สมบุญ  อีกหนึ่งที่

 

บริการ  ผลไม้  ให้ชิมฟรี                         รสชาติดี  มีน้ำใจ  ให้บริการ

มีส้มโอ  ทองดี ขาวน้ำผึ้ง                        เทศไทยจึง  ชื่นชม  ส้มโอหวาน

ในคำขวัญ  จังหวัด  มายาวนาน                ส้มโอหวาน  ข้าวสารขาว  ลูกสาวงาม

 

ใครได้ลิ้ม  ชิมข้าวหลาม  นครปฐม            ต่างชื่นชม  หวานมัน  กันล้นหลาม

พระราชวัง  สนามจันทร์  นั้นงดงาม           สมยานาม  พุทธมณฑล  คู่ธานี

จุดที่สาม  ล่องนาวา ไปนาบัว                  เกือบลืมตัว  ว่าอยู่แดน  แสนสุขขี

เหมือนกำลัง  ท่องเที่ยว  สุขาวดี              ลงมาที่  นาบัว  ลืมตัวไป

 

ดอกบัวบาน  รับอรุณ  อุ่นยามเช้า              ดอกสีขาว  ชมพู  ชูไสว

มีแมลง  ภู่ผึ้ง  หึ่งตอมไต่                        เลาะชอนไช  ดูดน้ำหวาน  บานอุรา

เห็นนักเที่ยว  ผิวขาว  ชาวญี่ปุ่น               เป็นวัยรุ่น  กลุ่มใหญ่  ใจหรรษา

 

ผู้รับรางวัล  มหิดล  ก็เคยมา                    ต่างชมว่า  ดีใจ  ได้เที่ยวชม

ทานอาหาร  ห่อใบบัว  ที่ศาลา                 พี่ปรีชา  (ก้อนทอง)  จัดให้  ได้เหมาะสม   

ลงเรือพาย  ชมบัวไป  ใจรื่นรม                 เห็นคนชม  จดจ้อง  มองดอกบัว

 

หยิบกล้องถ่าย  รูปไว้  ตั้งหลายภาพ          เพื่อซึมซาบ  บรรยากาศ  ฟ้าสลัว

เก็บภาพ  ความทรงจำ  ในนาบัว               ในใจตัว  แล้วเร่งรุด  จุดต่อไป

 

จุดที่สี่  ดีใจ  ไปโอท๊อบ                         ได้ไปพบ  กลุ่มแม่บ้าน  ทำงานใหญ่

ทำข้าวตัง  หยีผลไม้  รสถูกใจ                  พร้อมทั้งไข่  เค็มน้อย  อร่อยดี

 

ทำกล้วยตาก  มะม่วงกวน  ล้วนรสเด็ด        กลเม็ด  เคล็ดลับ  คนที่นี้

ประธานกลุ่ม  แม่บ้าน  ชื่อปราณี (สวัสดิ์แดง)     เป็นคนมี  ฝีมือ  เชื่อถือกัน

รับรางวัล  ภูมิปัญญา  ด้านอาหาร              จนลูกหลาน  ภูมิใจ  ไปทั้งนั้น

 

ชวนแม่บ้าน  ยี่สิบราย  มาร่วมกัน              ได้สร้างสรรค์  ข้าวตัง  ดังไปไกล

แวะไปดู  สถานี (รถไฟ) มหาสวัสดิ์            เงียบสงัด  คนเบาบาง  ยังอาศัย

 

มีร้านค้า  หลังสถา-  นีรถไฟ                    คนผ่านไป  มาบ้าง  ห่างห่างกัน     

สถานี  ถูกทิ้งร้าง  อย่างโดดเดี่ยว              รถบางเที่ยว  หยุดส่ง  คนที่นั้น

 

มีสะพาน  ไม้เก่า  เขาเล่ากัน                    เหลือเท่านั้น  สะพานไม้  ในแนวคลอง

เดิมที่นี้  มีศาลา  นกกระจอก                   หมอวัฒน์บอก  ไว้ให้รู้  ผู้เกี่ยวข้อง

เป็นศาลา  ที่เจ็ด  ตามแนวคลอง              อยากรู้ต้อง  ถามคุณหมอ  กันต่อไป

 

อ่านหนังสือ  นายถาวร  เทียมปฐม            ที่สะสม  ความรู้  เรื่องคลองไว้

ที่หลักสูตร  ท้องถิ่น  นำไปใช้                 เด็กไทยได้  รักถิ่นเกิด  กำเนิดตน

เชื่อมความรู้  สู่ชาติ  ศาสน์กษัตริย์           นิติรัฐ  นิติธรรม  นำสู่ผล

พัฒนา  ก้าวหน้า  ทันสากล                    บรรพชน  สร้างสรรค์ไว้  ให้ชาติไทย

 

เรือมาถึง  ประตูน้ำ  พระพิมล                  มีผู้คน  สูบน้ำ  เป็นการใหญ่

เพื่อซ่อม  ประตูน้ำ  ชำรุดไป                  จึงปิดใช้  ชั่วคราว  ราวสามเดือน

ระดับน้ำ  ในประตู  ลดลงต่ำ                   คนจึงนำ  แหมาทอด  ในบานเลื่อน

 

จับปลาได้  กินใช้  ในครัวเรือน                แบ่งกลุ่มเพื่อน  ประตูน้ำ  ไว้ทำกิน

เดินทางไป  ประตูน้ำ  ซ้ำอีกครั้ง              เพื่อมุ่งหวัง  ถ่ายดีวี  ให้เสร็จสิ้น

อยากนั่งเรือ  ไปที่ศาล  เจ้าสุบิน              แต่ก็สิ้น  ปัญญา  จะหาเรือ

หมอวัฒนา  ขับรถลัด  วัดงิ้วราย              เพื่อไปถ่าย  รูปศาลเจ้า  ที่หลงเหลือ

ได้ข่าวว่า  เขาจะย้าย  ไม่น่าเชื่อ             ย้ายไปเพื่อ  อะไร  ใครตอบที

 

คนสมัย  นี้นา  บ้าวัตถุ                         ไม่เรียนรู้  ประวัติศาสตร์  ขาดศักดิ์ศรี

ไม่ให้ความ  สำคัญ  สิ่งดีดี                    ขอสักที  เถิดอย่าย้าย  ได้ไหมคุณ

เก็บศาลไว้  เป็นประวัติ  ศาสตร์ชุมชน      สร้างกุศล  กันบ้างหนา  อย่าเคืองขุ่น

เก็บศาลไว้  ให้ลูกหลาน  กันเถิดคุณ        เพื่อเป็นบุญ  ประชาชน  คนริมคลอง

จะย้ายศาล  ไปทิศเหนือ  รางรถไฟ          ระวังใจ  ผู้ศรัทธา  จะเศร้าหมอง

เก็บศาลไว้  ให้คนไหว้  ที่ชายคลอง         คนทั้งผอง  จะสรรเสริญ  เจริญพร

 

เขียนลำนำ  ลำคลอง  มหาสวัสดิ์            เพื่อร่วมจัด  กิจกรรม  อนุสรณ์

ร่วมรำลึก  การขุดคลอง  เป็นคำกลอน      อนุสรณ์  ครบหนึ่งร้อย  ห้าสิบปี

 

ที่พระบาท  สมเด็จ  พระจอมเกล้า            ทรงโปรดเกล้า  ให้ขุด  คลองสายนี้

เป็นเส้นทาง  นมัสการ  ปฐมเจดีย์             สมควรที่  น้อมรำลึก  พระกรุณา

สภาวัฒ-  นธรรม  พุทธมณฑล                 สร้างกุศล  ครั้งนี้  ดีนักหนา

 

เชิญองค์กร  ในท้องถิ่น  ที่สภาฯ               ร่วมปรึกษา  เป็นเจ้าภาพ  ทาบจัดงาน

สภาวัฒน-  ธรรม  จังหวัด                       มาช่วยจัด  กิจกรรม  นำประสาน

ให้การ  สนับสนุน  งบประมาณ                 จึงเตรียมการ  ได้พร้อม  ย่อมสมควร

นายอำเภอ  ปริญญา  โพธิสัตย์                 มาช่วยจัด  ความพร้อม  ได้หลายส่วน

ระดม  ความร่วมใจ  ได้พอควร                  ทั้งในส่วน  ภาครัฐ  เอกชน

อ.บ.ต.  ศาลายา  ช่วยเต็มที่                    จัดเวที  บริเวณงาน  มาแต่ต้น

เทศบาล  ศาลายา  ส่งบุคคล                   ตั้งแต่ต้น  ทุกคราว  เข้าประชุม

อ.บ.ต.  ต่อมา  มหาสวัสดิ์                      ให้งบจัด  โครงการ  ประสานกลุ่ม

กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  มาประชุม                 มารวมกลุ่ม  ทำเสื้อร้อย  ห้าสิบปี

เตรียมเหรียญ  หลวงพ่อดี  ให้บูชา           จัดเตรียมมา  สองพันองค์  ลงเต็มที่

ระดมทุน  จัดโครงการ  งานได้ดี              ทำเต็มที่  นำโดยท่าน  กำนันยุพา

สถาบัน  อาเซียน  มหิดล                       ส่งบุคคล  มาช่วยกอง  งานเลขา

คณะศิลป  - ศาสตร์  ก็ส่งมา                   เต็มอัตรา  ศิลป  วัฒนธรรม

 

มาแสดง  เพลงเรือ  เพื่อเปิดงาน              จะเล่าขาน  ตำนานคลอง  ให้ดื่มด่ำ

สถาบันฯ  โภชนาการ  ก็ได้นำ                 เด็กมาทำ  การแสดง  บนเวที

ร่วมร้องเพลง  พุทธมณฑล  บ้านเรา          ช่วยเร่งเร้า  จิตสำนึก  คนที่นี่

สถาบัน  วิจัยภาษาฯ  ทำสูจิ-                  บัตรชุดที่  ใช้งาน  กันสามวัน

นำศิลป  วัฒนธรรม  มาเรียนรู้                  ที่มีอยู่  ในชุมชน  คนเสกสรรค์

ร่วมรำลึก  พระกรุณา  องค์ราชันย์             ทรงเสกสรรค์  สิ่งดี  ที่พุทธมณฑล

ใครร่วมทำ  โครงการ  งานครั้งนี้               จงเปรมปรีย์  มีสุข  ทุกแห่งหน

เพราะเป็นประ-  วัติศาสตร์  พุทธมณฑล     เราทุกคน  ร่วมภูมิใจ  ในตนเอยฯ  

      ฮู้ซื่อๆ หรือรู้ซื่อๆ หมายถึง การรู้สึกตัว เป็นคำที่บรรดาศิษยานุศิษย์ของพระภิกษุพันธุ์ อินทผิว  หรือที่สังคมไทยและพุทธศาสนิกชนทั่วโลก    รู้จักกันดีในนามหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ต่างรู้จักคุ้นเคยกับคำๆ นี้ และต่างได้น้อมนำมาปฏิบัติตามโอวาทที่หลวงเทียนได้ให้ไว้แก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย ซึ่งนับว่า เป็นมรดกธรรมปฏิบัติตามแนวของหลวงพ่อเทียน

     บรรดาศิษยานุศิษย์ กัลยาณมิตรและพุทธศาสนิกชน ได้ร่วมจิตจัดกิจกรรม อาจริยบูชา 100 ปี ชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ปรมาจารย์แห่งการเจริญสติ ขึ้นระหว่าง วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 - 27 ธันวาคม 2554 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมเจริญสติ ไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท กับการมีสติ ซึ่งจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนจากความทุกข์เป็นความสุข โดยไม่ต้องเสียเงิน เนื่องจากการตื่นอยู่เสมอเป็นปาฏิหาริย์ ที่อยู่กับปัจจุบันขณะ ในมหาสติปัฏฐาน 4 คือ การรู้ 4 อย่าง รู้กาย.... รู้เวทนา.... รู้จิต.... และรู้ธรรม.... จึงขอนำข่าวดีนี้มาแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน ใครสะดวกอย่างไร ก็ขอเชิญเข้าร่วมเจริญสติตามกำหนดการของ โครงการอาจริยบูชา 100 ปี ชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ดังต่อไปนี้ได้ ครับ

 

วันที่ 26 - 28 พฤศจิกายน 2553

ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินฺทปญฺโญ สวนรถไฟ จตุจักร กรุงเทพฯ มีกิจกรรม

  • ปาฐกถาธรรม ธรรมเสวนา และปฏิบัติบูชาการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ตามแนวหลวงพ่อเทียน
  • หนังสือธรรมะ ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ, ดั่งสายน้ำไหล, ตามรอยหลวงพ่อเทียน, สติพลิกชีวิต, ฮู้ซื่อๆ, คู่มือรู้สึกตัว, ของที่ระลึก, และวีซีดีธรรมเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน
  • แถลงข่าว งานอาจริยบูชา 100 ปี ชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
  • นิทรรศการศิลปะเพื่อการเจริญสติ, ประวัติ, วีดิทัศน์คำสอน, และแนวทางการปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

กิจกรรมอาจริยบูชา 4 ภาค 100 ปี ชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ดังนี้

  • ภาคกลาง ปี 2554

"เปิดประตูใจ เทียนธรรม นำสติ"  วันที่ 11 - 19 กุมภาพันธ์ 2554 ณ สวนปฏิบัติธรรม "เบิกฟ้าธรรมาศรม" บ้านเขาธง ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ติดต่อคุณปรีชา ก้อนทอง โทร.08-3276-0179 

  • ภาคเหนือ  ปี 2553

"รู้สึกตัว" วิถีแห่งสติ วันที่ 11 - 12 ธันวาคม 2553 ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่

  • ภาคอีสาน ปี 2553

"จิตตปัญญาศึกษา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันที่ 16 - 17 ธันวาคม 2553 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จ.สกลนคร

  • ภาคอีสาน ปี 2554 -5

"เทียนธรรม รำลึก 1" วันที่ 17 - 24 กุมภาพันธ์ 2554 และ "เทียนธรรม รำลึก 2" วันที่ 17 - 24 กุมภาพันธ์ 2555 ณ วัดทับมิ่งขวัญ จ.เลย  

  • ภาคใต้ ปี 2554

"เทียนธรรม นำสากล" วันที่ 28 - 30 มกราคม 2554 ณ สวนธรรมะสากล จ.สงขลา

 

      

ตารางการฝึกอบรมเจริญสติ อาจริยบูชา 100 ปี ชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ มีรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อสะดวกแก่การเข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้

 

วันที่ 10 - 15 ธันวาคม 2553

วัดป่าโพธิ์ทอง บ้านหนองไผ่ใต้ ต.หนองไผ่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 40130

เดินทาง โดยรถโดยสารประจำทาง ลงรถที่ บขส.ชุมแพ ขึ้นสามล้อเครื่อง ค่ารถ 40 บาท ไปทางถนนสายอุดร 3 กม. วัดอยู่ซ้ายมือ

ติดต่อ พระศักดิ์ชาย ธมฺมทินฺโน โทร.08-7613-2482 รองรับนักปฏิบัติธรรมได้อีก 20 คน ให้เตรียมเสื้อผ้า เครื่องใช้ส่วนตัวให้พร้อม ส่วนเครื่องนอนทางวัดมีให้แล้ว

 

วันที่ 13 -18 ธันวาคม 2553

วัดคอกม้า  บ้านโพนสวรร ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย

ติดต่อ หลวงพ่อชม โทร. 08-9521-0781

 

วันที่ 15 - 22 ธันวาคม 2553

วัดแสงทอง  บ้านภูดิน ต.หลุบคา อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

ติดต่อ พระครูสุทธิ โทร. 08-9946-9681

 

วันที่ 20 - 27 ธันวาคม 2553

วัดป่าโคกดินแดง บ้านเหล่าอีหมัน ต.หนองเม็ก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม 44170 วัดป่าโคกดินแดงเป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณมีเนื้อที่ 300 ไร่ มีกุฏิพระ 10 หลัง กุฏิอุบาสิกา 15 หลัง น้ำไฟฟ้าพร้อม มีลานธรรมรองรับการจัดงานเนื้อที่ 2 ไร่ ร่มรื่นเป็นธรรมชาติ

เดินทาง  รถโดยสารประจำทางจากอำเภอนาเชือกไปทางทิศตะวันตกระยะทางประมาณ 3 กม. นั่งสามล้อ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง 50 บาท รถทัวร์สาย กรุงเทพฯ - ร้อยเอ็ด ดอนตาล ผ่านหน้าวัดวันละ 3 เที่ยว

ติดต่อ พระดวงศิลป์ ปิยสีโล โทร.08-6450-3908 รองรับนักปฏิบัติได้อีก 300 คน ให้เตรียมไฟฉาย-เต๊นท์-เครื่องกันหนาว ยารักษาโรคไปด้วย

 

วันที่ 20 - 29 ธันวาคม 2553

วัดแสงเทียน  บ้านชำมูลนาก ต.หนองไผ่ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

ติดต่อ หลวงพ่อบุญถม โทร.08-9227-3723

 

วันที่ 27 ธันวาคม 2553 - 3 มกราคม 2554

วัดโมกขวนาราม  บ้านหัวทุ่งคำไฮ ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ติดต่อ พระอาจารย์เอนก โทร.08-6450-2890

 

วันที่ 4 - 11 มกราคม 2554

วัดโมกขวนาราม บ้านหนองคู ต.หนองกุง อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม

ติดต่อ พระศรีวรญาณ โทร.08-1051-0945

 

วันที่ 4 - 11 มกราคม 2554

วัดป่าปอภาร  บ้านปอภาร ต.ปอภาร อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

ติดต่อ พระอาจารย์มานะ โทร.08-1260-4882

 

วันที่ 4 - 11 มกราคม 2554

วัดธาตุโข่ง  บ้านหนองหาน ต.หนองหาน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี

ติดต่อ  พระอาจารย์มรกต โทร.0-4226-1027

 

วันที่ 11 - 18 มกราคม 2554

วัดโพธิ์ศรี บ้านเดื่อโพธิ์ ต.กุดนำใส อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ

ติดต่อ  พระอาจารย์สมพร โทร.08-5633-1588

 

วันที่ 20 - 27 มกราคม 2554

วัดป่าเขาคงคา  บ้านโนนระเวียง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา 30250

เดินทาง รถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ต่อด้วยรถโดยสารนครราชสีมา-ครบุรี ลงที่ครบุรี ต่อรถสามล้อ หรือรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างไปลงที่วัดป่าเขาคงคา

ติดต่อ พระอธิการดุรงค์ฤทธิ์ มหาวีโร โทร.08-7252-2986 รองรับนักปฏิบัติธรรมได้อีก 300 คน

 

วันที่ 22 - 28 มกราคม 2554

วัดระฆังทอง  บ้านบ่อศิลา ต.บ้านจันทร์ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

ติดต่อ พระอาจารย์สุภาพ โทร.08-6061-5525

 

25 -30 มกราคม 2554

วัดป่าศิลาทอง  บ้านนางแดด ต.นางแดด อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

ติดต่อ หลวงพ่อทอง โทร.08-4496-7570

 

วันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ 2554

วัดซับใหญ่ สังฆาราช  บ้านซับใหญ่ ต.ซับใหญ่ อ.ซับใหญ่ จ.ชัยภูมิ

เดินทาง  รถไฟ รถโดยสารประจำทาง ขึ้นรถไฟจากกรุงเทพฯ สายแก่งคอย บัวใหญ่ ลงที่สถานีบำเหน็จณรงค์ มีรถสองแถวจากสถานีฯ ไปลง อ.บำเหน็จณรงค์ ขึ้นรถสองแถวบำเหน็จณรงค์ ซับใหญ่ ถ้าขึ้นรถจากชัยภูมิมาลงที่ซับใหญ่ ถ้าขึ้นจากลำนารายณ์ เทพสถิต ซับใหญ่

ติดต่อ  หลวงสฤษดิ์ ตปสีโล  โทร. 08-9252-3735 รองรับนักปฏิบัติได้อีก 100 คน ให้เตรียมุ้ง กลด เครื่องสัมภารระ

 

วันที่ 3 - 10 กุมภาพันธ์ 2554

วัดศิลาดาด ต. ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ 36110

เดินทาง รถโดยสารประจำทาง ขึ้นรถสายกรุงเทพฯ เมืองเลย ชัยภูมิ แก้งคร้อ ลงรถบ้านหนองคัน แยกเข้าไปบ้านธาตุ 4 กม. มีรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

ติดต่อ พระครูวิศิษฎ์ชัยวัฒน์ โทร. 08-1547-8824 รองรับนักปฏิบัติธรรมได้อีก 300 คน ให้เตรียมกลด บาตร เต๊นท์ ยารักษาโรคส่วนตัว ของใช้ส่วนตัว

 

วันที่ 11 - 19 กุมภาพันธ์ 2554

สวนปฏิบัติธรรม "เบิกฟ้าธรรมาศรม" บ้านเขาธง ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

เดินทาง รถตู้ประจำทางจาก อ.พุทธมณฑล ไปม่วงเฒ่า เฉพาะในช่วงปฏิบัติธรรมจะมีรถตู้โดยสารวิ่งไปส่งที่ เบิกฟ้าธรรมาศรม

ติดต่อ คุณปรีชา ก้อนทอง โทร.08-3276-0179 รองรับนักปฏิบัติธรรมได้อีก 30 คน ให้เตรียมกลดหรือเต๊นท์ เครื่องกันหนาว เครื่องใช้ส่วนตัวและยารักษาโรคส่วนตัวไปด้วย

 

วันที่ 17 - 24 กุมภาพันธ์ 2554

วัดทับมิ่งขวัญ  บ้านติ้ว ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย 42000

เดินทาง  รถโดยสารประจำทาง ลงรถที่ บขส.อ.เมืองเลย แล้วต่อรถสามล้อเข้าวัดประมาณ 1 กม.  

ติดต่อ  พระคำไม ฐิตสีโล โทร.08-7220-8999 รองรับนักปฏิบัติธรรมได้อีก 500 คน

 

27 - 3 กุมภาพันธ์ 2554

วัดอุทัยธรรมฯ  บ้านกุดโง้ง ต.ท่ามะไฟ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

ติดต่อ  พระอาจารย์ประจัก โทร. 08-5763-0434

 

วันที่ 2 - 6 มีนาคม 2554

วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม หมู่ที่ 9 ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย 42110

เดินทาง รถโดยสารประจำทาง พอถึงเชียงคาน ก็เหมารถไปวัดบรรพตคีรี ค่าเหมารถ 120 บาท

ติดต่อ พระอธิการองอาจ อาสโร โทร.08-2853-9547 รองรับนักปฏิบัติธรรมได้อีก 100 คน ให้ผู้ปฏิบัติธรรมตั้งใจไปปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง  

 

วันที่ 11 มถุนายน 2554

ร.ร.อนุบาลบ้านพลอยภูมิ จ.นครปฐม

ติดต่อ อ.สโลพร โทร.08-5152-3000

 

วันที่ 29 สิงหาคม - 6 กันยายน 2554

วัดพระนอนจักรสีห์  (ท่านเจ้าคุณพระราชกิตติเมธี) บ้านจักรสีห์ ต.จักรสีห์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี 16000

ติดต่อ  พระมหาสุวิทย์ โทร. 08-6709-7099

 

วันที่ 20 - 27 ธันวาคม 2554

วัดป่าโคกดินแดง  บ้านเหล่าอีหมัน ต.หนองเม็ก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม

ติดต่อ พระดวงศิลป์ ปิยสีโล โทร. 08-6450-3908

                         

                          

        สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม นำโดย แพทย์หญิง สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันฯ จะร่วมกันทำบุญตักบาตรส่งท้ายปีเก่า 2553 และต้อนรับปีใหม่ 2554 ในวันอังคาร ที่ 28 ธันวาคม 2553 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป จึงขอเชิญชวนอาจารย์และบุคลากรของสถาบันฯ ทุกท่าน ตลอดถึงชาวมหิดลทุกท่าน ไปร่วมทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัวและอุทิศส่วนบุญกุศลแด่ผู้มีพระคุณทั้งหลาย โดยพร้อมเพรียงกัน

แบ่งปันโดย คณะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมฯ  

โครงการวิจัยพัฒนาสุขภาพจิตวิญญาณบุคลากรในสถาบันสร้างเสริมสุขภาพ : สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
Spiritual health development for personnel in health promotion institution
ASEAN Institute for health development, Mahidol University
 …................
การดำเนินโครงการวิจัย         
        การวิจัยพัฒนาสุขภาพจิตวิญญาณบุคลากรในองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมพลังสุขภาพจิตวิญญาณให้แก่ปัจเจกและกลุ่มบุคคลเป้าหมาย วิธีวิทยาการวิจัย  ใช้วิธีการถอดบทเรียนเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มได้แก่ 
1) กลุ่มบุคลากรสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน 2) กลุ่มเครือข่ายชมรมชีวเกษม
3) กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ หลักสูตรการบริหารสาธารณสุขมูลฐาน (MPHM) รวมทั้งสิ้น 53 ราย

ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ทำการศึกษาวิจัย
         ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาซึ่งเป็น  ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น มีจำนวน 53 ราย  มีเพศหญิง ร้อยละ 82.2  ส่วนที่เหลือเป็นเพศชาย อายุระหว่าง 30-39 ปี และ 40-49 ปี ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 37.7 และร้อยละ 33.9 ตามลำดับ) นับถือศาสนาพุทธสูงถึงร้อยละ 92.4 เกินครึ่งหนึ่งสมรสแล้ว (ร้อยละ 62.2)  ระดับการศึกษา ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี (ร้อยละ 52.8 ) รองลงมาคือ ปริญญาโท (ร้อยละ 33.9) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการ  (ร้อยละ 86.7)  และในประเด็นสุขภาพ  พบว่า เกินครึ่งหนึ่งประเมินว่า ตนเองมีสุขภาพดี (ร้อยละ 62.2) ส่วนที่ประเมินว่าสุขภาพไม่ดี มีเพียงร้อยละ 37.7

ผลการศึกษาวิจัย
        ผลการศึกษาวิจัย จากการถ่ายทอดประสบการณ์ พบว่า การนิยามคำว่า “สุขภาพจิตวิญญาณ”  มีความหมายถึง สุขภาพจิตวิญญาณ ตามการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 6  มิติ  ได้แก่  1) มิติด้านสติปัญญา  2) มิติด้านคุณธรรม/จริยธรรม   3) มิติด้านสภาพแวดล้อม/สังคม วัฒนธรรม  4) มิติด้านอารมณ์  5) มิติด้านจิตใจ  และ 6)มิติด้านพฤติกรรม   ในอีกด้านการนิยามคำว่า สุขภาพจิตวิญญาณ  ตามความหมายของผู้เชี่ยวชาญหมายถึงการพัฒนาจิตใจ  ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่  1) ความสงบ  2) ความรัก   3) ความสุข  4) ความมีพลัง  5) ความบริสุทธิ์  6) ความปิติ  และ 7) ความมีสัจจะ   ประเด็นสำคัญเป็นการชี้วัดของสุขภาพจิตวิญญาณ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ตัวชี้วัด  ได้แก่  1)  การมีสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิต  ซึ่งยังแบ่งออกเป็น  5  ด้าน ได้แก่  การยึดมั่น/ศรัทธาต่อศาสนา   ความเชื่อ บูชาพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ   ความเชื่อในธรรมชาติและโลกธาตุ  ความศรัทธาต่อตัวบุคคล  และสิ่งยึดเหนี่ยวอื่นๆ   2) การมีความสุขในชีวิต  แบ่งออกเป็น 3 มิติได้แก่  มิติของปัจเจก  มิติของครอบครัว   และมิติของสังคม  3) การมีพลังที่จะมีชีวิตอยู่   ได้แก่  กิจกรรมทางศาสนา/การพัฒนาจิตใจและอารมณ์  กิจกรรมนันทนาการ  ประเด็นที่ 3   การถอดบทเรียนจากประสบการณ์ปฏิบัติจริง   วิธีการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ปฏิบัติจริง เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมพลังการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ปฏิบัติของกลุ่มเป้าหมาย  จากผู้ร่วมกระบวนการจำนวน 53 คน โดยมีการจัดกิจกรรมถอดบทเรียนจำนวน 6 ครั้ง  

การอภิปรายผล
        อภิปรายผล   ด้านนิยามของสุขภาพจิตวิญญาณ    เป็นมิติที่มีความสลับซับซ้อนและเป็นปัญหาในเรื่องความเป็นสากล ส่วนใหญ่มีลักษณะที่เป็นนามธรรม  ส่วนด้านตัวชี้วัดสุขภาพจิตวิญญาณนั้น   พบว่า  “มิติสุขภาพจิตวิญญาณยังมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับสุขภาพแบบองค์รวมในมิติอื่นๆ  หากจะประเมินสุขภาพจิตวิญญาณแล้ว  จะต้องประเมินสุขภาพกาย  สุขภาพจิต  และสุขภาพสังคมควบคู่กันไปด้วย  เพื่อความครอบคลุมมีสุขภาพดีแบบองค์รวม”   ด้านถอดบทเรียนจากประสบการณ์ปฏิบัติจริง  ข้อมูลได้จากการรับรู้ความรู้สึกจากการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมในระยะเวลาอันสั้น  ไม่สามารถนำมาประเมินสุขภาพจิตวิญญาณของบุคคลได้ชัดเจน
    
ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาวิจัยต่อไป
        ข้อเสนอแนะ การประเมินสุขภาพจิตวิญญาณ ควรมีตัวชี้วัดที่ครอบคลุมด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต  และทักษะชีวิต   ส่วนข้อเสนอแนะด้านการจัดการเรียนรู้สุขภาพจิตวิญญาณ   ผู้ร่วมกระบวนการ ต้องเตรียมความพร้อม  มีความมุ่งมั่นและมีศรัทธาในสิ่งที่จะเรียนรู้  พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

ที่ปรึกษาโครงการ : พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ศ.ดร.สันทัด เสริมศรี  ผศ.พิเศษ ดร.เนตร หงษ์ไกรเลิศ  ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  นายเกรียงศักดิ์ ซื่อเลื่อม
หัวหน้าโครงการวิจัย :  นายสนั่น ไชยเสน
นักวิจัยหลัก : นางสาวดุษณี ดำมี  นางนวลน้อย บุญชูส่ง นางพิชญ์สินี เพียรอนุกูลบุตร นางจิตริสา ไชยเสน   นายวินัย เสาองค์
ผู้ออกแบบและจัดทำเอกสารเผยแพร่  : นายไพฑูรย์  กลั่นไพฑูรย์ 

                                              

  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ พี่สนั่น วันนี้พาน้องเมย์จากบันทึกนี้ [คลิ๊ก] มามอบของขวัญปีใหม่ ๒๕๕๔ ให้พี่สนั่น พี่เล็ก และเด็กๆ ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสุขอย่างมากมายตลอดไปนะค่ะ =)

เชิญฟังการบรรยายธรรมเฉลิมพระเกียรติในหลวง เรื่อง คนสร้างงาน งานสร้างคน : สุขภาวะปัจเจก องค์กร ชุมชน สู่ปัญญาของแผ่นดิน โดย พระอาจารย์ มิตซูโอะ คเวสโก วัดป่าสุนันทวนาราม จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ครบ 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 และครบปีที่ 29 ของการก่อตั้ง สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล ในวันศุกร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2554 เวลา 13.00 -15.00 น. ณ ห้องประชุมบุญศิริ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล ศาลายา


การวิจัยสารวจภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ


โดย สนั่น ไชยเสน สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

...................................................


บทคัดย่อ


การวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ดาเนินการวิจัยที่อาเภอพุทธมณฑล สารวจภูมิปัญญาที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งยังใช้สร้างเสริมสุขภาพอยู่ในเวลาที่ทาการวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัย 2 ประการ คือ วัตถุประสงค์หลัก เพื่อสารวจภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพที่ใช้สร้างเสริมสุขภาพที่มีอยู่ในอาเภอพุทธมณฑล ในเวลาที่ทาการวิจัย วัตถุประสงค์รอง เพื่อใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนาภูมิปัญญาไปใช้ประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพในวงการสุขภาพ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายไม่แพง กลุ่มเป้าหมายที่ทาการศึกษาได้แก่ ปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคล ชมรมหรือสมาคมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านสุขภาพในพื้นที่อาเภอพุทธมณฑลทั้ง 3 ตาบล คือ ตาบลศาลายา ตาบลมหาสวัสดิ์ และตาบลคลองโยง โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ให้สัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามแบบปลายเปิด

ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ทาการศึกษาเป็นผู้ให้สัมภาษณ์มีทั้งสิ้น 32 ราย เป็นเพศชาย ร้อยละ 56.25 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 43.75 มีสถานภาพ โสต ร้อยละ 6.25 แต่งงาน ร้อยละ 90.63 หย่าร้าง ร้อยละ 3.13 ผู้ให้สัมภาษณ์มีอายุระหว่าง 45 -49 ปี ร้อยละ 3.13 อายุ 50 – 59 ปี ร้อยละ 21.88 อายุ 60 – 69 ปี ร้อยละ 18.75 อายุ 70 – 79 ปี ร้อยละ 31.25 อายุ 80 ปีขึ้นไป ร้อยละ 9.38 ส่วนระดับการศึกษา มีบางรายไม่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน ร้อยละ 9.38 จบประถมศึกษา ร้อยละ 75 จบมัธยมศึกษาต้อนต้น ร้อยละ 6.25 จบมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 6.25 และจบปริญญาตรี ร้อยละ 3.13 ในด้านการประกอบอาชีพ มีอาชีพเกษตรกรรม (ทานา ทาไร่ ทาสวน และเลี้ยงสัตว์) ร้อยละ 59.38 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 6.25 รับราชการและรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.5 รับจ้าง บริษัทเอกชน และกรรมกร ร้อยละ 3.13 ประกอบอาชีพนวยคลายเส้น ร้อยละ 3.13 เสริมสวยและนวด ร้อยละ 3.13 รับเหมาก่อสร้าง ร้อยละ 3.13 เป็นหมอตาแยทาคลอดและนวดหลังคลอด ร้อยละ 3.13 นวดเพื่อบาบัด ร้อยละ 3.13 และเป็นพระภิกษุสงฆ์ ร้อยละ 3.13

ผลการศึกษา จากการสัมภาษณ์พบว่า ลักษณะของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพที่นามาสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่อาเภอพุทธมณฑลนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ประเภท คือ การนวด 13 ราย คิดเป็นร้อยละ 40.63 การกวาดยาเด็ก 5 ราย ร้อยละ 15.65 การทาขวัญแต่งงาน 4 ราย ร้อยละ 12.4 การพ่นยาและพอกยา 4 ราย ร้อยละ 12.5 การทายาสมุนไพร 3 ราย ร้อยละ 9.38 การทาคลอดและการดูแลหลังคลอด 1 ราย ร้อยละ 3.13 การทาขวัญนาค 1 ราย ร้อยละ 3.13 และการสร้างเสริมสุขภาพทางปัญญาหรือสุขภาพทางจิตวิญญาณ 1 ราย ร้อยละ 3.13 ตามลาดับ


การวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ ในอาเภอพุทธมณฑล ครั้งนี้ ได้ดาเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กาหนดไว้ 2 ประการ คือ ได้ดาเนินการสารวจภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพของอาเภอพุทธมณฑล และได้ใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพในวงการสุขภาพ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนาภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ประโยชน์ใน วงการสุขภาพ มากขึ้น ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับประโยชน์จานวนมาก โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเป้าหมาย ตลอดถึง ชมรมและสมาคม ซึ่งเป็นเครือข่ายสุขภาพที่เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ สาธิตการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพในเวทีต่างๆ อาทิ การาจัดนิทรรศการ ประชุม สัมมนา และพัฒนา เช่น การสัมมนาวิชาการของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล ปี 2555 และงานมหิดลวันแม่ เป็นต้น 2



บทนา


ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพและการแพทย์พื้นบ้านไทยปัจจุบัน นับวันจะมีความสาคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (holistic health) การมีสุขภาพดีทั้ง กาย จิต สังคมและปัญญาหรือจิตวิญญาณ เพราะภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเป็นทางเลือกที่ช่วยเสริมให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้มากขึ้น เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายไม่แพง เมื่อบูรณาการสิ่งที่มีความเหมาะสมให้เข้ากับยุคสมัยก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การแพทย์แผนไทย การดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน การแพทย์พื้นบ้าน ยิ่งหมอพื้นบ้านมีความรู้เชิงทฤษฎีการแพทย์แผนไทยอย่างเป็นระบบด้วยแล้ว ก็จะสามารถดูแลสุขภาพได้ครอบคลุมกลุ่มอาการทั่วไป เช่น กระดูกหัก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก สัตว์มีพิษกัดต่อย บาดแผล ไข้ ผื่นคัด การคลอด คางทูม และท้องเสีย เป็นต้น โรคเรื้อรัง ได้แก่โรคเบาหวาน โรคกระเพาะ ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก มะเร็ง อัมพาต และเป็นแผลเรื้อรัง ฯลฯ กลุ่มโรคพื้นบ้าน มีอาการและโรคแตกต่างกันมากมาย ยากต่อการเปรียบเทียบให้เข้าใจกับโรคสมัยใหม่ เช่น ลมผิดเดือน ผิดสาแดง ตาน ซาง ไข้หมากไหม้ ประดงฯ หรืออาการเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ได้แก่สาเหตุอาการที่มีสาเหตุมาจากผี พลังอานาจที่มองไม่เห็น เช่น เด็กร้อง ผีเข้า และถูกคุณไสย เป็นต้น

ปัจจุบัน องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นทักษะ (skills) และประสบการณ์ (experience) ที่สะสมอยู่กับหมอยาแต่ละคน (tacit knowledge) ส่วนหมอพื้นบ้านสะสมความรู้ไว้ในตารา แต่น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีผู้สืบทอดความรู้ จึงต้องสร้างค่านิยมและแรงจูงใจที่คนที่จะมาช่วยกันสืบทอดความรู้ หาผู้สืบทอดความรู้หมอพื้นบ้าน ส่งเสริมแหล่งวัตถุดิบสมุนไพร จัดตั้งกลุ่มและชมรมตามชุมชน เช่น กลุ่มสมุนไพร ชมรมหมอพื้นบ้าน สถานภาพ บทบาท และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพในสังคมไทย ที่จะนามาเป็นเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพ มีการวิจัยเรื่อง “ศักยภาพหมอพื้นบ้านกับการสาธารณสุขมูลฐาน” โดยศึกษาในพื้นที่ 6 จังหวัดทั่วประเทศ คือ เชียงราย พิจิตร ปราจวบคีรีขันธ์ ยโสธร นครพนม และสุรินทร์ โดยใช้เป็นข้อมูลจากการวิจัยผลักดันให้เกิด “นโยบายการพัฒนาแพทย์แผนไทย” ชัดเจนและจริงจัง ภาพของหมอพื้นบ้านชัดเจนขึ้นระดับหนึ่ง โดยมีข้อสังเกต การใช้ประโยชน์จากหมอพื้นบ้านในงานสร้างเสริมสุขภาพในวงการสาธารณสุขมูลฐานว่า "การคัดเลือกวิถีการปฏิบัติของการรักษาความเจ็บป่วยแบบพื้นบ้านที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เมื่อนาเข้าสู่นโยบายและโครงการปฏิบัติ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบและอาศัยมุมมองแบบหลายสาขา ความสาเร็จของวิถีการปฏิบัติของการเจ็บป่วยแบบพื้นบ้านมีมิติทางสังคม วัฒนธรรม และจิตใจเป็นมิติที่สาคัญ หากพิจารณาเพียงด้านประสิทธิภาพทางกายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น การประเมินคุณค่าวิถีการปฏิบัติของการรักษาความเจ็บป่วยแบบพื้นบ้านอย่างรอบด้านจึงเป็นเรื่องสาคัญ นอกจากนี้ การเข้าถึงหมอพื้นบ้านเพื่อนาไปใช้ประโยชน์ควรคานึงถึงการเพิ่มศักยภาพด้านวิชาการ ที่เกี่ยวกับการแพทย์ดั้งเดิม และการทาความเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของหมอพื้นบ้าน ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนตามลักษณะสังคม มิฉะนั้น การใช้ประโยชน์จากหมอพื้นบ้าน อาจเป็นแผนงานและโครงการที่มีลักษณะฉาบฉวย และมิได้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับหมอพื้นบ้านหรือชุมชนก็เป็นได้”


การแพทย์พื้นบ้านได้รับความนิยมจากประชาชน เนื่องจากมีปัจจัยหลักที่ทาให้การแพทย์พื้นบ้านดารงอยู่ในชุมชนอย่างเหนียวแน่น ได้แก่ ความสอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชน ลักษณะของความเจ็บป่วยและประสิทธิภาพในการรักษา ความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค ลักษณะทางสังคมที่เอื้ออานวย และปัจจัยเสริม ได้แก่ ระยะทางระหว่างหมู่บ้านและสถานพยาบาลของรัฐ ค่ารักษาพยาบาล ความพึงพอใจในรูปแบบของการให้บริการ คุณสมบัติของหมอพื้นบ้าน และปริมาณของสมุนไพร เป็นต้น 3



แนวทางในการส่งเสริมพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การดูแลสุขภาพของชาวบ้านเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มุ่งไปที่คนที่เป็นตัวแทนของภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีสติปัญญาแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ละเอียดอ่อนที่ผสมผสานรูปแบบหลายๆ รูปแบบ เช่น การผสมผสานการแพทย์แผนโบราณในระบบการให้บริการสาธารณสุขสมัยใหม่ เช่น การพัฒนาและประยุกต์ใช้การรักษากระดูกหักเข้ากับการใช้บริการทางเลือก คือ การเลือกเอาส่วนที่ชาวบ้านมีจุดเด่นหรือพื้นฐานอยู่แล้วมาใช้ ก็จะได้ประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น การดึงกระดูกให้เข้าที่ร่วมกับโรงพยาบาลโดยวิธีการเอ็กซเรย์ ช่วยวินิจฉัยให้เห็นตาแหน่งที่กระดูกหัก เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมมากที่สุดกับการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย สาหรับหมอแผนปัจจุบัน ต้องลงไปสัมผัสกับหมอพื้นบ้านหรือยอมรับข้อจากัดของตนเอง และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจเลือกใช้บริการ

การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย ควรมีบทบาทส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขในระดับปฏิบัติงาน เน้นให้มีการวิจัยเชิงสหวิทยาการ คือ ให้มีการร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการและนักปฏิบัติ ซึ่งจะทาให้ระดับนโยบายเห็นรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในท้องถิ่นได้ดีมากยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้สามารถใช้วิธีการพัฒนาที่หลากหลายดีกว่าคิดเป็นสูตรสาเร็จจากส่วนกลางเท่านั้น แล้วก่อให้เกิดความขัดแย้งแก่เจ้าหน้าที่ในระดับที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน และการส่งเสริมให้มีการวิจัยต่อยอดจากฐานความรู้เดิม (renovation) เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพ จะดีกว่าการลอกเลียนแบบแนวคิดการพัฒนาจากชาติตะวันตกเพียงอย่างเดียว เพราะมิฉะนั้น ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพ จะถูกกลืนหายไปเหมือนภูมิปัญญาด้านผดุงครรภ์โบราณไทย เป็นต้น


วัตถุประสงค์


1. วัตถุประสงค์หลัก เพื่อสารวจภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพของอาเภอพุทธมณฑล

2. วัตถุประสงค์รอง เพื่อใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งเสริม และสนับสนุนให้ มีการนาภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ประโยชน์ในวงการสุขภาพ และการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน


วิธีการดาเนินการวิจัย


โครงการวิจัยนี้ ใช้วิธีการดาเนินการวิจัยที่เป็นกลวิธีและกิจกรรมการศึกษาวิจัย คือ การระบุจุดมุ่งหมายของการศึกษาวิจัยและระเบียบวิธีการวิจัย กาหนดตารางและกิจกรรมการวิจัยและงบประมาณที่ใช้ในการดาเนินการวิจัย และจัดเตรียมและจัดการข้อมูลข่าวสารอันจะเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการวิจัย ทั้งในกลุ่มนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย กาหนดกรอบของการเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย กาหนดขนาดหรือจานวนของกลุ่มเป้าหมายและดาเนินการเลือกกลุ่มเป้าหมาย ออกแบบเครื่องมือที่จาเป็นต้องใช้ในการศึกษาวิจัยเชิงสารวจ ทาการทดสอบเครื่องมือการศึกษาวิจัย คัดเลือกและฝึกอบรมพนักงานสัมภาษณ์เก็บข้อมูล หรือจัดเวทีกลุ่มย่อยเพื่อการเก็บข้อมูล ดาเนินการศึกษาตามกระบวนการศึกษาวิจัยที่กาหนดไว้ ประมวลผลและเข้ารหัสข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และเขียนรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์นาเสนอแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัย และนาเสนอผลการศึกษาวิจัยหรือสิ่งที่ค้นพบที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะในช่องทางที่เหมาะสม 4



ผลการศึกษา


การวิจัยสารวจภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพอาเภอพุทธมณฑล ได้ดาเนินการ สารวจภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพของอาเภอพุทธมณฑล ได้ใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนาภูมิปัญญาไปใช้ประโยชน์ในวงการสุขภาพ ก่อให้การเรียนรู้ สร้างเสริมประสบการณ์แก่บุคคลที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านในอาเภอพุทธมณฑล ซึ่งเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ ผู้บริหาร/ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะสามารถนาความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากเข้าร่วมกระบวนการวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอันมากในการดาเนินงานของตนครอบคลุมพื้นที่ในอาเภอพุทธมฑณลทั้ง 3 ตาบล 18 หมู่บ้าน

ผลจากการศึกษาวิจัยโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า ลักษณะของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพอาเภอพุทธมณฑล แบ่งออกได้เป็น 8 กลุ่มคือ การนวด 13 คน ร้อยละ 40.63 การกวาดยาเด็ก 5 คน ร้อยละ 15.65 การทาขวัญแต่งงาน 4 คน ร้อยละ 12.50 การพ่นยาและพอกยา 4 คน ร้อยละ 12.50 การทายาสมุนไพร 3 คน ร้อยละ 9.38 การทาคลอดและการดูแลหลังคลอด 1 คน ร้อยละ 3.13 การทาขวัญนาค 1 คน ร้อยละ 3.13 และการสร้างเสริมสุขภาพทางปัญญา 1 รูป ร้อยละ 3.13 ตามลาดับ


ข้อมูลส่วนตัวของผู้ตอบแบบสารวจ 5



0

10

20

30

40

50

40.63

15.65

12.5

12.5

9.38

3.13

3.13

3.13


ระดับความต้องการในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ


ผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า ระดับความต้องการในด้านการสร้างเสริมสุขภาพอยู่ในระดับสูง คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพทั้งสิ้น 8 กลุ่ม คือ การนวด การกวาดยาเด็ก การทาขวัญแต่งงาน การพ่นยาและกวาดยา การทายาสมุนไพร การทาคลอดและการดูแลหลังคลอด การทาขวัญนาค และการสร้างเสริมสุขภาพทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ ได้ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญาหรือจิตวิญญาณแก่ผู้มาขอใช้บริการทั้งจากภายในและจากภายนอกพื้นที่อาเภอพุทธมณฑล ในปี 2555 โดยมีผู้ใช้บริการ 110,670 คน คิดเป็นจานวนครั้ง 332,010 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีผู้มาใช้บริการการดูแลสร้างเสริมสุขภาพวันละประมาณ 303 คน และคิดเป็นจานวนครั้งวันละประมาณกว่า 909 ครั้ง ซึ่งเมื่อประมาณการณ์จากจานวนประชากรในพื้นที่อาเภอพุทธมณฑล มีจานวนเพียง 37,173 คน เท่ากับประชาชนชาวพุทธมณฑลต้องไปใช้บริการประมาณคนละ 2 -8 ครั้ง/วัน นับว่า ผู้ใช้บริการในด้านการสร้างเสริมสุขอยู่ในระดับสูง

ดังนั้น นี้จึงเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่มีความจาเป็นและมีความเหมาะสมกับความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้สร้างเสริมสุขภาพอยู่ในพื้นที่ได้รับการสืบทอดต่อๆ กันมาในครอบครัว จากญาติพี่น้อง หรือบุคคลที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน จึงเป็นกลวิธีการสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้ต้นทุนต่าหรือราคาถูก ในหลายๆ กรณีเป็นบริการแบบให้เปล่า คือ ไม่เรียกค่าตอบแทน เพราะภูมิปัญญาท้องถิ่นมีความเชื่อที่สืบทอดต่อๆ กันมาว่า การให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มีอาการเจ็บป่วยให้รอดพ้นจาก ความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญานั้น เป็นการได้บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่นั่นเอง

สิ่งสาคัญ คือ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างเสริมสุขภาพ เป็นการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสาหรับผู้ป่วยแต่ละราย และกลายเป็นสิ่งส่งเสริมการแพทย์แผนหลักปัจจุบันที่ไม่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพได้ทั้งหมด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง พึ่งพิงเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศมหาศาล เป็นข้อจากัดการให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การกลับไปศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ การแพทย์พื้นบ้านที่มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งมีอยู่แล้วในทุกมิติของสังคมในท้องถิ่นไทย เพื่อดึงเอาสิ่งที่ยังคงมีความเหมาะสมกับยุคสมัยมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในสภาวะการณ์จริงของชุมชนนั้นๆ ได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ควรนามาพิจารณาและปฏิบัติร่วมกันเป็นอย่างยิ่ง.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท