สภาวะอากาศ เปลี่ยนแปลง คนเกาะเหลาต้องปรับตัว


สภาวะอากาศ เปลี่ยนแปลง คนเกาะเหลาต้องปรับตัว

สภาวะอากาศ เปลี่ยนแปลง คนเกาะเหลาต้องปรับตัว

สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเรื่องเล็กของคนทั่วไป แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่คนเกาะเหลากังวล และต้องหาวิธีที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงให้ได้

 

 

บ้านเกาะเหลา ชุมชนชาวประมงเล็กๆ ที่ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง จากชายฝั่งของ เทศบาลตำบลปากน้ำ  อำเภอเมือง จังหวัดระนอง   ฝั่งตรงข้ามติดกับเกาะสอง ประเทศพม่า  มีประชากร 2 กลุ่ม อาศัยอยู่คนละฟากของกาะ กลุ่มหนึ่งเป็นคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่บริเวณเกาะเหลาหน้าใน และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มชาวเลมอร์แกนขนาดย่อมๆอาศัยอยู่ในส่วนของเกาะเหลาหน้านอก ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 3 กม. ไปมาหาสู่กันได้ทั้งทางเรือและเดินเท้า วิถีชีวิตชุมชนเกาะเหลาผูกติดกับทะเลอย่างแยกไม่ออก ฉะนั้นคนที่นี่จึงทำอาชีพประมงพื้นบ้านกันส่วนใหญ่ ทั้ง การวางอวนปู หรือ กระชังปลา   หลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547  ความช่วยเหลือส่วนใหญ่มุ่งสู่เกาะเหลาหน้านอกของกลุ่มมอร์แกนที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายไปกับคลื่นยักษ์  ซึ่งตรงข้ามกับชาวเกาะเหลาหน้าในที่ได้รับชดเชยความเสียหายของเครื่องมือประมงจากภาครัฐเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นั่นเพราะหมายกลุ่มหลายองค์กรมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสึนามิที่เกาะเหลาหน้าในนั้นน้อยกว่าหรือแทบไม่มีเมื่อเทียบกับเกาะเหลาหน้านอก  ซึ่งจากครั้งนั้นก็ทำให้ภาพของความร่วมมือระหว่างพี่น้องสองฟากฝั่งของเกาะเหลาไม่ค่อยมั่นคงมากนัก

 

 

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความตื่นตัวในเรื่องภัยทางธรรมชาติให้กับชาวบ้านเกาะเหลาเพิ่มขึ้น การวางแผนเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ จึงเริ่มต้นจากการประสานงานของเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยในโครงการชุมชนจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทอยุธยา อาลิอันล์  โดยการจัดตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมฯของชุมชน ที่มีนายสมหมาย                เนตรแสงแก้ว ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกสภาเทศบาล เป็นแกนนำที่สำคัญ ในการวิเคราะห์ภัยของชุมชนโดยใช้ “ กระบวนการวิเคราะห์ชุมชนจัดการความเสี่ยง โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ” และยึดหลักการมีส่วนร่วมในการดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาด้านภัย พัฒนาแผนงานของชุมชนเพื่อให้เกิดแนวทางการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

 

ภัยที่สำคัญไม่ใช่สึนามิ  แม้ว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านเกาะเหลาจะผูกติดกับการทำมาหากินกับทะเล แต่ความกังวลใจมากที่สุดกลับเป็นเรื่องของแผ่นดินไหล เนื่องจากพื้นที่ตั้งบ้านเรือนทั้งหมดของชุมชนเกาะเหลาหน้าในอยู่ในบริเวณชายหาดเชิงเขา เพื่อประโยชน์ในการหลบลมมรสุม แต่กลับมาพบปัญหาที่น่ากลัวกว่าคือการไหลของดินจากภูเขา โดยเฉพาะโรงเรียนนับเป็นจุดเสี่ยงที่สุดเนื่องจากเด็กทั้งจากเกาะเหลาหน้าในหน้านอกต่างต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่โรงเรียน

 

 

การจัดลำดับความสำคัญภัย

ลำดับความสำคัญ

ภัย / อันตรายที่เกิดขึ้น

ช่วงระยะเวลา

1

ลมทะเล ลมมรสุม

มิถุนายน – ตุลาคม , ทั้งปี

2

ดินไหล หลังโรงเรียน , มัสยิด , ทางเดิน

ทุกปี

 

ฝนตกหลัก น้ำใต้ดินหนุนขึ้น ท่วมมัสยิด

สิงหาคม ปี พ.ศ.2552

 

การกัดเซาะตลิ่ง จากน้ำบนบกลงคลอง

ปัญหาสะสม,ทุกปี

3

น้ำท่วมบ้าน จากน้ำทะเลหนุนสูง

ทุกปี , มิถุนายน – ตุลาคม

4

สึนามิ

ปี พ.ศ.2547

5

แผ่นดินยุบ ( เกิดกับบ่อน้ำเก่าแก่ )

ปี พ.ศ.2542

6

ภัยจากร่องน้ำทะเล การเดินเรือ เรือล่ม

ทุกปี  เกิดกับเรือต่างถิ่น

 

 

 

 

 

 

สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง คนเกาะเหลาต้องปรับตัว นับจากมีการก่อตั้งชุมชนจากประสบการณ์ของคนในชุมชน และปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเกิดขึ้นของลม  พายุมีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับ มีการเปลี่ยนแปลงของทิศทางเดินของลม  และความคลาดเคลื่อนของฤดูกาล ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตโดยเฉพาะในเรื่องของ  ปริมาณสัตว์น้ำ ทั้งนี้เกาะเหลานับเป็นแหล่งผลิตกะปิชั้นดีของเมืองระนอง จากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนทำให้ปริมาณเคยที่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญกลับลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

 

ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นและความผันผวนของลมมรสุม พื้นดินที่เคยอุ้มน้ำได้ก็กลับไม่สามารถพยุงตัวเองได้เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดคือแผ่นดินไหลจึงเกิดขึ้นอย่างกรณีล่าสุดที่มัสยิดกลางของหมู่บ้านเกิดแผ่นดินได้ไหลโชคดีที่ไม่รุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง ซึ่งถ้ามากกว่านั้นหมายถึงชีวิตของคนที่ตั้งบ้านเรืออยู่ในที่ต่ำกว่า ก่อนหน้านั้นในช่วงที่พายุนากิสได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในประเทศพม่า แรงของลมพายุส่งผลมาถึงเกาะเหลากิ่งไม้ใหญ่บนเขาหลังโรงเรียนหักโค่นทับหลังคาอาคารเรียน สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวเกาะเหลาในความปลอดภัยของลูกหลานที่ต้องเดินทางมาโรงเรียน

 

 

 

 

 

 

 

การกัดเซาะของตลิ่ง และน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ผลจากการกัดเซาะของตลิ่งจนถึงชั้นหิน ทำให้การตีกลับของคลื่นมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะมีผลให้บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้นๆต่างต้องระวังมากขึ้นกรณีที่เกิดพายุ และคลื่นลมแรง  อีกปรากฏการณ์คือน้ำทะเลหนุนสูงพื้นที่หน้าโรงเรียนมีปริมาณน้ำสูงขึ้นทุกปี

 

 

การรุกคืบของอาคารบ้านเรือน ไปบนที่สูงโดยการปรับพื้นที่ลาดเอียงให้เป็นพื้นที่ราบ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไปช่วยเร่งให้เกิดผลกระทบจากการไหลของดินให้เร็วขึ้น จากปรากฏการณ์แผ่นดินไหลทับมัสยิดเป็นเครื่องยืนยันที่ดี โชคดีที่ชุมชนเกาะเหลาไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรไม่มีการถางที่เพื่อเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรซึ่งนั้นก็เป็นอีกหนึ่งที่จะเร่งให้เกิดการไหลของดินมากขึ้นประเด็นที่ต้องคิดให้มากๆสำหรับชาวบ้านเกาะเหลาหน้าในคือการขยายตัวของชุมชน พื้นที่ในการปลูกสร้างเมื่อคนมากขึ้น จะขยายพื้นที่ปลูกสร้างอย่างไรในเมื่อไม่สามารถปรับพื้นที่สูงให้เป็นที่อยู่อาศัยได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องหารือกันระหว่างชุมชนเกาะเหลาหน้าในและหน้านอกที่จะต้องมาวางแผนกันต่อหลังจากนี้

 

 

ทางรอดของชุมชนคือต้องเฝ้าระวัง หลังการสำรวจพื้นที่เสี่ยงร่วมกันระหว่างมูลนิธิรักษ์ไทย คณะทำงานเตรียมความพร้อมของชุมชนที่นำโดยผู้ใหญ่บ้าน  ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ปลัดเทศบาลตำบลปากน้ำ และคุณสมใจ เย็นสบายนักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณี พบข้อสังเกตุประการหนึ่งคือความรู้ความเข้าใจของคนต่อการใช้พื้นที่ในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยทำให้สถานที่ตั้งบ้านเรือนกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงในที่สุด เช่น การตั้งบ้านเรื่อนอยู่ในเขตของร่องน้ำ ร่องเขา การตัดพื้นที่เชิงเขาให้เป็นที่ราบสำหรับปลูกสร้างบ้าน การเลือกทำเลที่ตั้งของอาคารเช่นที่ตั้งของอาคารเรียนที่อยู่ติดกับสันเขาเป็นต้น ซึ่งหากชาวบ้านมีข้อมูลตรงนี้ก็จะลดอันตรายจากเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหลได้  การบำรุงรักษาต้นไม้ที่เป็นเครื่องมือในการยึดชั้นดินและชั้นหินที่ดีกว่าการสร้างสิ่งกีดขวางอย่างอื่น และที่สำคัญคือการปรับแต่งพุ่มไม้ไม่ให้ใหญ่โตจนอาจจะเป็นเหตุให้โดนลมพายุพัดหัดโค่นได้ง่าย

 

ทีมงานเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝนถูกตั้งขึ้นหลังจากผ่านการสำรวจ อบรม และหาแนวทางร่วมกันในการป้องกันบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหลที่จะเกิดขึ้น 4 จุด โดยใช้แผนที่ทำมือในการวางแผนและกำหนดพื้นที่ รวมทั้งสร้างข้อตกลงในการใช้สัญญาณในการเตือนภัยร่วมกัน รวมทั้งการวางแผนการฝึกซ้อมหนีภัยที่จะมี ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนองเป็นวิทยากรที่จะนำฝึกในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตามได้มีการเน้นย้ำในเรื่องของความตระหนักเมื่อเกิดสัญญาณเตือนภัยจากกระบอกวัดน้ำฝน ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำจากการสังเกต บันทึก การประสานงานไปยังกรมทรัพยากรธรณี และการเตือนอพยบจะต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนไม่ตระหนก หรือเพิกเฉย เพราะนั้นหมายถึงชีวิต หลายพื้นที่หลังอบรมแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม มารู้อีกทีเมื่อมีดินมากองอยู่ในบ้านเสียแล้วก็มี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากภัยดินไหล ดินถล่ม สู่การเตรียมความพร้อมรับมือภัยต่างๆ แผนการเตรียมความพร้อมรับมือภัยดินถล่ม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเตรียมความรู้ความเข้าใจของชุมชน และที่สำคัญความตระหนักถึงภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้น มูลนิธิรักษ์ไทยจึงร่วมกับโรงเรียนบ้านเกาะเหลาในการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักเรื่องภัยให้กับนักเรียน ทั้งในเรื่องที่เป็นภัยใกล้ตัว และเป็นภัยที่จะเกิดขึ้นได้จากธรรมชาติรอบตัว แม้เด็กอาจจะไม่เข้าใจ ณ ตอนนั้น แต่หากมีการให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง สร้างเป็นกิจกรรมหนึ่งในการเรียนการสอน รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในการจัดกิจกรรมต่างๆที่เป็นการลดผลกระทบจากภัยดินไหล หรือการฝึกซ้อมแผนหนีภัย ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นในการดำรงชีวิต รวมทั้งความกังวลของผู้ปกครองก็จะน้อยลง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การป้องกันภัยพิบัติเราทำคนเดียวไม่ได้ เป็นความโชคดีที่เราได้วิทยากรจากกรมทรัพยากรธรณี รวมทั้งหัวหน้างานป้องกันฯป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ปลัด เทศบาลตำบลปากน้ำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะเหลา ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลปากน้ำ มาร่วมในการสำรวจ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการอบรมหาแนวทางในเรื่องภัยแผ่นดินไหล ทำให้เกิดช่องทางการประสานงาน และระบบของการแจ้งเตือน รวมทั้งการช่วยเหลือที่จะตามมาจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมทรัพยากรธรณีมีข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งพื้นที่เป็นเครื่องข่ายในการเฝ้าระวังและติดตาม ปภ.เห็นศักยภาพของทีมงานพร้อมที่จะให้การสนับสนุนแผนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการฝึกซ้อมแผน และการแจ้งเตือนภัยปลัดเทศบาลรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงพร้อมที่จะไปเสนอเข้าสู่นโยบายตั้งเป็นแผนการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินงานด้านการเตรียมพร้อมที่ปัจจุบันยังอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องมีแผนงานในเรื่อง

 

ดังกล่าว

 

เกาะเหลาจะจมหายไปไหม”ผอ.โรงเรียนถามขึ้นในการอบรม “ครูเห็นหินโสโครกกลางทะเลนั่นไหม ก่อนนั้นมันก็เป็นเกาะเหมือนเกาะเหลานี่แหละ  แต่อย่างไปคิดถึงเรื่องนั้น ปัจจุบันเราต้องร่วมมือกันที่จะทำอย่างไรให้เราสามารถที่จะอยู่กับธรรมชาติได้ต่างหาก” เป็นคำตอบของคุณสมใจวิทยากรจากกรมทรัพย์ หลายคนโดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านคลายความกังวลลงบ้างเมื่อเห็นแนวทางในการป้องกัน แต่ที่จะต้องรอดูกันต่อไปคือเมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง ซึ่งหลังเมษายนเมื่อฝนเริ่มมาอีกครั้ง ทีมงานเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝนในกระบอกจะเริมทำงาน การติดตามประเมินผลก็จะเป็นเครื่องมือที่จะบ่งบอกได้ว่าชุมชนบ้านเกาะเหลาพร้อมแล้วหรือยัง

 

ประสาร สถานสถิตย์

27 พฤศจิกายน 2552

 

หมายเลขบันทึก: 316532เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2009 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากคะ ข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียด

ทำให้รู้จักเกาะหลาขึ้นในระดับสูงที่เดียวนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท