บันทึกการเมืองไทย : สังคมผูกขาด


 

           ฟังคุณสฤณี อาชวานันทกุล รายงานเรื่อง “อิทธิพลเหนือตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ไทย” ในการสัมมนาวิชาการประจำปี ของ TDRI (เรื่อง การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม) เมื่อวันที่ ๒๕ พ.ย. ๕๒   แล้วผมรู้สึกว่ากติกาต่างๆ ในสังคมไทย มันทำให้สังคมของเราเป็นสังคมผูกขาด


           คุณสฤณีวิจัยเรื่องตลาดหลักทรัพย์   ได้ข้อมูลที่ชี้ช่องว่าง ว่าระบบนี้ของไทยอ่อนแอ   เปิดโอกาสให้มีคนเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนแบบที่เป็นผลตอบแทนส่วนเกิน โดยใช้อิทธิพลเหนือตลาด และอิทธิพลเหนือองค์กร   เป็นสาเหตุให้ ตลท. ไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร    ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง   รายละเอียดอยู่ในรายงานฉบับเต็ม ซึ่งอ่านได้ที่นี่


          ความอ่อนแอนี้ อยู่ในโครงสร้าง ซ่อนอยู่อย่างมิดชิด เข้าใจยากหากไม่ใช่คนวงในจริงๆ  

          แต่เมื่อผมฟังการนำเสนอแล้ว ผมคิดว่ามีจุดอ่อนส่วนที่แก้ไขหรือป้องกันง่าย   คือเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่ขณะนี้มีตัวคนที่เป็นกรรมการทั้งของบริษัทหลักทรัพย์ และเป็นกรรมการในสภาธุรกิจตลาดทุนไทยด้วย    ซึ่งเป็น potential CoI

          ที่เป็นความอ่อนแอในโครงสร้างอย่างชัดเจน คือการที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นตลาดปิด หรือไม่เปิดเสรี   ผู้ซื้อต้องซื้อผ่านบริษัทหลักทรัพย์เท่านั้น   ทำให้โบรกเกอร์มีอำนาจมากเกินไป   มีโอกาสทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมง่าย   ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกา มีการซื้อหลักทรัพย์โดยไม่ผ่านโบรกเกอร์ถึงร้อยละ ๕๐   และในยุโรป ร้อยละ ๒๐   เขาเรียกตลาดหลักทรัพย์ทางเลือก

          สรุปว่า เวลานี้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีลักษณะผูกขาดอยู่มาก   และมีวิธีพัฒนาได้

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ย. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 316275เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2009 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมคิดว่าการขาดความรู้เกี่ยวกับตลาดเงินและตลาดทุนก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญมากครับ เท่าที่สังเกตคร่าว ๆ ผมคิดว่าคนไทยมี "financial literacy" ต่ำมากครับ เรื่องนี้น่าทำวิจัยครับ

ต่ำมากจริงๆครับ อาจารย์ธวัช นับผมเข้าไปด้วยเลยหนึ่งคน เห็น package หรือคุยกันเรื่องหุ้น เรื่องลงทุน กองทุน เกิดอาการปวดตับกระทันหัน คลื่นไส้วิงเวียนทุกทีไป (เว่อมากเลย)

นักศึกษาบริหารธุรกิจมักได้รับการบอกกล่าวว่า ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นตัวสะท้อนระดับเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งก็เป็นจริงหากตลาดนั้นเป็นตลาดสมบูรณ์ (Perfect market) แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมิได้เป็นเช่นนั้น

ตลาดหลักทรัพย์มักได้รับผลกระทบจากหลายฝ่ายเช่นฝ่ายการเมืองและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ กรณีที่มีการปล่อยข่าวลืออันไม่เป็นมงคล จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดและไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีใครบ้างที่ได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ของไทยจะความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับราคาของหุ้นในกลุ่มพลังงาน หากมีใครสามารถครอบงำ (Dominate) ราคาของหุ้นดังกล่าวได้ก็สามารถครอบงำ (Dominate) ตลาดได้ (เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาว่าเป็นบริษัทใดบริษัทหนึ่งก็เอาเป็นว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทั้งกลุ่มก็ได้) คำถามคือ จะมีใครทำได้บ้าง คำตอบคือ กองทุนต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็น Mutual fund หรือ Hedge fund จากต่างประเทศ) ทำได้ และเคยทำมาแล้วกับตลาดปริวรรตเงินตราของไทย (กรณีเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทเมื่อปี 2540)

ถึงแม้ว่าตลาดหลักรัพย์ฯจะพยายามส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นการลงทุนทางเลือก(ที่ดี) จริงๆหรือ? ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ผลักดันให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นการลงทุนทางเลือก แต่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ (แม้แต่นักศึกษาในปัจจุบันซึ่งจะเป็นกำลังของชาติในอนาคตและจะเป็นมันสมองของชาติ) ยังไม่มีความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคล หลักการลงทุน และการจัดการความเสี่ยง กันเลย ตลาดหลักทรัพย์และสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับสถาบันการศึกษามากนัก แล้วจะมีสักกี่คนที่ตะหนักถึงเรื่องการลงทุนว่า จะลงทุนอย่างไร ให้ผลตอบแทนเท่าไหร่ มีความเสียงอย่างไร

ข้อสังเกตประการหนึ่งของโลกการเงินคือ ผู้ที่มีข้อมูลมากกว่าจะเป็นผู้ชนะเสมอ ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย เป็นตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีการผูกขาดคือผู้ที่มีข้อมูลมากกว่ามักเป็นกลุ่มเดิมและยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเสริมความไม่มีประสิทธิภาพอีก

โปรดสังเกตว่า วิกฤตเศรษฐกิจระดับชาติหรือระดับโลก ล้วนมีสาเหตุจากปัญหาทางการเงินทั้งสิ้น แต่ทำไมเรา(ประเทศไทย) จึงไม่หันมาให้ความสำคัญกับวิชาชีพทางการเงินหรือส่งเสริมความรู้ทางการเงินอย่างจริงจังกันบ้างเลย ทั้งๆที่ความรู้สาขาการเงินนั้นเป็นสาขาวิชาเดียวในคณะบริหารธุรกิจที่ได้รางวัลโนเบลมาแล้ว 4 รางวัล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท