Business Intelligence: ขีดความสามารถที่จำเป็น


Business Intelligence

ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า: “การยกพลหนึ่งแสนเพื่อทำการรณรงค์สงครามในแดนไกลนับพันหลี่ เงินทองซึ่งประชากรต้องส่งเสียเป็นส่วยสาอากร และทั้งค่าใข้จ่ายในราชการงานทหารวันหนึ่งนับตั้งพันตำลึงทอง ซ้ำจะทำให้เกิดความอลวนทั่วทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ผู้คนซึ่งจำเป็นต้องละงานประจำมาสมบุกสมบันอยู่ตามถนนหนทางกับงานลำเลียงขนส่งและอื่นๆนั้นนับเจ็ดแสนครัวเรือนทีเดียว ครั้นต้องมารบติดพันอยู่หลายปีเพื่อชิงชัยในวันหนึ่ง ถ้ามัวแต่หวงแหนเหนียวแน่นการใช้จ่ายเงินหลวงโดยไม่ช่วงใช้จารชนซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถล่วงรู้ความในของข้าศึกเสียเลยนั้น นับว่าขาดการุณย์ธรรมต่อไพร่ฟ้าประชากรอย่างยิ่ง อันมิใช่วิสัยขุนพล มิใช่ผู้แบ่งเบาภารกิจของท่านประมุข มิใช่ราชาผู้พิชิตโลกราชาผู้ทรงธรรมและขนพลผู้หลักแหลมเมื่อถึงคราวทำศึกก็จะชำนะ ทั้งได้รับผลสำเร็จเป็นเยี่ยมกว่าบุคคลอื่นนั้นก็เนื่องมาจากสืบรู้ความในของข้าศึกก่อนนั่นเอง

จะเห้นได้ว่าการใช้ข้อมูลกรอง (Intelligence) มีความสำคัญอย่างมากในการทำสงครามเพื่อชัยชนะมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังคงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จทั้งในการสงคราม และในสมรภูมิธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในยุคปัจจุบัน  สำหรับองค์กรธุรกิจแล้วอาจไม่ได้มีการใช้จารชนเช่นเดียวกิจการทหารในระดับประเทศ แต่นัยของความจำเป็นในการเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้องค์กรมีความได้เปรียบในการแข่งขันยังไม่เปลี่ยนแปลงนั่นคือ การพัฒนาขีดความสามารถ (Capability) ในด้านการข่าว และการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจสำหรับผู้บริหาร หรือที่เรียกว่า ‘Business Intelligence’

ในยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าอย่างมากด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้การรวบรวมข่าวสารทางธุรกิจทำได้ง่าย รวดเร็ว และมีต้นทุนไม่สูง แต่ส่วนใหญ่หลายองค์กรไม่สามารถวิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาเป็นจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ (หรือในบางองค์กรอาจจะยังไม่มีข้อมูลในการตัดสินใจทางธุรกิจเลย หรือได้ข้อมูลมาไม่ทันต่อเวลา) ปัจจุบันหลายองค์กรชั้นนำเริ่มเห็นความจำเป็นในการสร้างขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขึ้นมา แต่ยังคงมีความไม่เข้าใจถึงหลักการในการสร้างสมรรถนะขององค์กรในด้านนี้ (หลายองค์กรมองเรื่อง Business Intelligence เป็นเพียงเรื่องของการจัดหาซอฟแวร์สำเร็จรูปมาใช้งาน และเป็นโครงการหนึ่งในหลายเรื่องของฝ่าย IT)

องค์ประกอบของการมีขีดความสามารถดังกล่าวที่จะทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ (ทั้งภายในภายนอกองค์กร) วิเคราะห์ เพื่อนำเสนอทางเลือกในการตัดสินใจดำเนินกลุยทธ์ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะประกอบด้วย ความเข้าใจว่าผู้บริหารต้องการข้อมูลอะไรในการบริหารจัดการหรือข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ การมีระบบการจัดการสนเทศที่มีประสิทธิภาพ (ทั้งเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและการเรียกข้อมูลมาใช้) การจัดโครงสร้างของทีมงานที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยข่าวกรองขององค์กร และที่สำคัญที่สุดคือ การจัดหาตัวนักวิเคราะห์ข้อมูล (Intelligence Analyst) ที่มีความเข้าใจในการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจอย่างลึกซึ้ง

เหตุที่ผู้เขียนใช้คำว่า ‘ขีดความสามารถ’ หรือ ‘Capability’ นั้น ก็เนื่องจากเหตุผลของความพร้อมของปัจจัยหลายด้านในการที่จะพัฒนาหน่วยงานนี้ขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นอาจไม่จำเป็นจะต้องสร้างองค์ประกอบทั้งหมดด้วยตนเองภายในความเป็นเจ้าของ (Ownership) จึงไม่จำเป็นเสมอไป เพียงแต่เน้นให้ผู้บริหารสามารถเข้าถึง (Access) ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการบริหารงานหรือตัดสินใจทางธุรกิจก็เพียงพอ

การที่ผู้บริหารจะตัดสินใจพัฒนาขีดความสามารถในด้าน Business Intelligence  มีทางเลือกหลัก 2 ทางคือ การพัฒนาขีดความสามารถขึ้นมาเองภายใน หรือการจัดหามาจากภายนอก ซึ่งแต่ละแนวทางมีจุดเด่นต่างกันขึ้นอยู่กับความพร้อมขององค์กร แต่มีเป้าหมายสุดท้ายเหมือนกันคือ การที่ผู้บริหารจะได้ข้อมูลเชิงลึกในการกำกับดูแลกิจการ การวิเคราะห์สถานการณ์ และการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อผลประกอบการที่ดีเป็นไปตามที่วางแผนไว้

www.idmconsulting.co.th

หมายเลขบันทึก: 315539เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท