เรียนรู้วิธีเรียนรู้ กับหนังเรื่อง “หนีตามกาลิเลโอ”


หนังเรื่องนี้ถ้าดูตามมุมมองของการเรียนรู้ โดยไม่พิพากษาและจับผิด จะเห็นว่ามีปรัชญาการเรียนรู้แฝงอยู่ทั้งเรื่อง

 

หนังเรื่องนี้ตอนแรกผมนึกว่าหนังขายความเป็นวัยรุ่นหน้าใสๆ ไปเที่ยวเมืองนอกก็เลยไม่คิดอยากดู ยิ่งบางกระแสบอกว่าหนังเป็นหนังเกี่ยวกับเลสเบี้ยนยิ่งทำให้ผมไม่เปิดกับหนังเรื่องนี้เลย จนกระทั่งมีแผ่นออกมาขายผมก็เลยลองดูแบบไม่ตั้งใจ แต่ในเนื้อหนังที่ใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ชั่วโมงนั้น ถ้าเราดูในมุมมองของการเรียนรู้ โดยไม่พิพากษาและจับผิด จะเห็นว่าหนังให้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับ ปรัชญาการเรียนรู้ได้ค่อนข้างกลมกลืนกับแนวคิดของ LOKM บางสถานการณ์ถ้าเอาตัวเราไปเปรียบเทียบ ก็จะใช้ในการฝึกแก้ปัญหาเฉพาะได้เป็นอย่างดี 

 

 

ธีมของหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งต้องเรียนรู้และแก้ปัญหาชีวิตตามเหตุการณ์ที่เข้ามาในแต่ละอย่าง ตั้งแต่ก่อนเริ่มเดินทาง ระหว่างเดินทาง ระหว่างการใช้ชีวิตในแต่ละเมือง จนกระทั่งเดินทางกลับ ในทรรศนะและมุมมองของผมที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นมุมมองของการดูหนังเพื่อการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ในการที่จะนำไปใช้เป็นสื่อประกอบการฝึกอบรมหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบแล้วว่าได้อะไรจากหนังเรื่องนี้บ้าง (AAR : After Action Review)

 

 

ความสัมพันธ์ในครอบครัว

จากลักษณะการเลี้ยงดูของครอบครัวทั้งสอง ผมเห็นความแตกต่างในการส่งเสริมการเรียนรู้อยู่ประการหนึ่งคือ ครอบครัวของนุ่น จะเอาความคิดของผู้ใหญ่ไปครอบงำความคิดเด็ก ทำให้การเรียนรู้แคบขาดจินตนาการ ส่วนครอบครัวของเชอรี่จะค่อนข้างปล่อยแต่คอย Coach อยู่ห่างๆ ผมคิดว่าตรงนี้ต้องให้พอดีไม่มากไม่น้อยเกินไป เพราะในหนังเรื่องนี้จะเห็นว่าเชอรี่ค่อนข้างจะเป็นคนมั่นใจในตัวเองสูง จนบางครั้งทำให้การตัดสินใจบางอย่างผิดพลาด พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก เพราะลูกคือตัวแทนของพ่อแม่ เช่น จากฉากที่พ่อซักผ้าเสร็จ แล้วนำไปตากที่ช่องระบายลมของเครื่องปรับอากาศ พอไปเมืองนอกลูกก็ทำวิธีคล้ายๆ กันนี้ โดยการนำชุดชั้นในไปตากที่ Heater โดยไม่รู้สึกว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ เพราะคิดว่าใครๆ เขาก็ทำกัน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างครูและลูกศิษย์

จากเนื้อเรื่อง เชอรี่เป็นคนที่มีฝีมือดี แต่มีทิฐิสูง จากฉากที่อาจารย์เปลี่ยนเกรดจาก A ให้กลายเป็น F โดยให้เหตุผลว่าเข้าไปใช้ห้องเขียนแบบโดยไม่ได้รับอนุญาตและปลอมลายเซ็นอาจารย์ ซึ่งเชอรี่ก็มีมุมมองของตนเองว่าถ้ามัวแต่รออาจารย์ก็ได้ทำกันพอดี เพราะอาจารย์ไม่สนใจมาสอนตามตัวไม่เจอ เรื่องนี้ผมคิดว่ากรณีนี้ทั้งสองฝ่าย ขิงก็รา ข่าก็แรง ทั้งสองคนควรจะมีการสื่อสารฟังกันให้มากเข้าใจกันให้มาก ถ้ามัวแต่กล่าวหากันไม่ยอมรับกันสุดท้ายก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมา เด็กควรฟังและเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องรับฟังความคิดเห็นเด็ก เหตุการณ์นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยของหนัง

 

 

การเรียนรู้และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

หลังจากที่นุ่นและเชอรี่เดินทางไปถึงลอนดอนแล้ว ทั้งคู่ก็พบกับปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่รอบคอบของการสื่อสาร ทำให้นัดหมายไม่ตรงกัน ปัญหาดังกล่าวทั้งสองได้ช่วยกันแก้ไขจากการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อให้ได้ความรู้มือหนึ่งโดยไม่ต้องพึ่งใคร จนไปถึงที่พัก เมื่อไปถึงที่พักก็พบปัญหาอีก เนื่องจากญาติที่นั่นพบกับมรสุมชีวิตทำให้ต้องเดินทางกลับ แต่สองสาวก็ไม่ย่อท้อ ได้ต่อสู้และจุดประกายการแก้ปัญหาจากสิ่งรอบตัว โดยเริ่มต้นจากเบอร์โทรของร้านอาหารไทยในต่างแดน ซึ่งเปรียบเทียบได้กับขุมทรัพย์พินัยกรรมเลยทีเดียว และยังมีอีกหลายๆ ตอนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การแลกเสื้อกับนักฟุตบอล การหายาให้เพื่อน เป็นต้น

 

ภาวะผู้นำและการให้บริการของการธุรกิจ

จากการไปสมัครงานที่ร้านอาหาร จะเห็นว่าเจ้าของร้านอาหารที่เป็นผู้หญิงใส่แว่นค่อนข้างจะดุ และเข้มงวด ในลักษณะ I in It สนใจผลลัพท์มากกว่ากระบวนการ ผมคิดว่าในการให้บริการ เราจะต้องทำออกมาจากใจ (Service Mind) ไม่ใช่โดยการบังคับ เจ้านายต้องมีกลยุทธ์ ยุทธวิธีในการทำให้ลูกน้องเกิดความศรัทธา และมีทัศนคติที่ดีต่องานบริการ ในทางกลับกันลูกน้องต้องเข้าใจระบบธุรกิจ เหตุผล ที่มาที่ไปของการให้บริการด้วย ว่าจะทำอย่างไรลูกค้าจึงจะพอใจ ในความคิดของผมลูกค้าไม่ใช่พระเจ้าที่เราต้องทำตามและยอมทุกอย่าง แต่ลูกค้าคือผู้อุปการะคุณต่อธุรกิจของเรา ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้าด้วยความเป็นมิตร สร้างความประทับใจจากรอยยิ้ม ถ้อยคำ กิริยามารยาทที่สุภาพเรียบร้อย แล้วความพอใจก็จะตามมาเอง

 

 

ปรัชญาการเรียนรู้

ตัวละครอย่าง ตั๊ม (เรย์ แมคโดนัล) น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนใฝ่รู้และมีความคิดในเชิงปรัชญชาการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวคิด LOKM ได้เป็นอย่างดี เช่น การเป็นคนช่างสังเกต แนวคิดการใช้ชีวิตที่ดูเหมือนไร้สาระแต่เป็นระบบและมีแบบแผน ตั้มมีเพื่อนมากมายหลายเผ่า หลายภาษา กินอยู่ร่วมกัน ทำให้เขามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกไปได้อย่างกว้างขวาง จากคำพูดในบทตอนที่กำลังตกปลา ผมคิดว่าสอดคล้องกับปรัชญา LOKM อย่างยิ่ง เช่น “ตกปลาเพื่อตกปลา” หมายถึงการมีสติสมาธิจดจ่ออยู่กับงาน  “คนสมัยนี้คิดถึงผลลัพท์มากกว่าวิธีการ” เปรียบเหมือนกับการเรียนรู้ การทำ LOKM การสร้างทัศนคติ เช่น ผู้บริหารต้องการให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อการบริการและความปลอดภัย ภายใน 1 สัปดาห์ ผมคิดว่าทำได้ยาก เพราะเป็นการคิดแบบเห็นภาพความสำเร็จด้วยความใจร้อน ใช้เงินซื้อมา กว่าที่พนักงานจะมีทัศนคติตรงนี้ได้ ไม่ใช่ได้มาเพราะการใช้ระเบียบบังคับ อบรม หรือการสั่งการเท่านั้น แต่ต้องทำให้พนักงานเห็นความสำคัญของเป้าหมายที่เราอยากจะให้ไป และต้องหากลยุทธ์ ยุทธวิธี แผนการดำเนินการอย่างชัดเจน และต้องทำอย่างต่อเนื่องและชัดเจน เปรียบเหมือนกับการปลูกต้นไม้ เพราะกว่าจะได้ผลซึ่งมีรสหวานอร่อยนั้นต้องเริ่มต้นเตรียมดิน เตรียมพันธุ์ ลงมือปลูก รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ป้องกันโรค แมลง กำจัด วัชพืช ประคบประหงม อย่างดี ซึ่งต้องใช้เวลาในการดูและอย่างต่อเนื่อง  อาจจะมีข้อแย้งว่าจะเสียเวลาปลูกทำไมไปหาซื้อที่ตลาดเลยไม่ดีกว่าหรือ ผมคิดว่าผลไม้ที่ต้องการอาจจะไม่มีในท้องตลาด หรือมีอาจจะแพงจนจ่ายไม่ไหว หรืออาจจะมีแต่ไม่ได้คุณภาพเพราะถูกหลอกขายจากแม่ค้าก็ได้

 

ความรู้กับอาชีพ

คนไทยเราส่วนใหญ่ชอบให้ความสำคัญกับใบปริญญาในการรับคนเข้าทำงาน ซึ่งผมคิดว่าไม่มีสิ่งที่รับประกันได้ว่าเรียนจบได้ใบปริญญามาแล้วจะทำงานตรงนี้ได้ดี จากบทของหนังที่เชอรีถูกทาบทามให้ไปทำงานที่มิลาน คนทาบทามไม่สนใจเลยว่าเธอจะเรียนจบหรือไม่ แต่เห็นผลงานแล้วพอใจ มีความสามารถทำได้ หรือในบางครั้งงานบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ทักษะอะไรมากเช่น การหั่นผักในครัว หรือการขายของที่ร้านของชาวอิตาลี ผมคิดว่าหนังได้สอนให้เราฉุกคิดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้แฝงไว้พอสมควร เช่น จากบทที่ตั๊มพูดกับนุ่นว่า “มัวแต่หั่นผักอยู่แต่ในครัว ไม่ออกไปไหน ที่เมืองไทยก็มีให้ทำ” และบอกให้ออกไปเรียนรู้โลกภายนอกบ้าง เพราะน้อยคนนักที่จะได้มาเยี่ยมที่เมืองนี้ ดังนั้นจงออกไปเที่ยวเพื่อเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง

 

คุณธรรมจริยธรรมกติกาสังคม

หลายตอนในเรื่องได้เดินเรื่องเสนอเกี่ยวกับการมีคุณธรรมจริยธรรมและการทำตามกติกาของสังคม ที่น่าจะนำไปฉุกคิดเพื่อเป็นแนวทางได้ เช่น การปลอมลายเซ็น การโกงบัตรโดยสาร การยักยอกเงินร้านอาหารชาวอิตาลี หรือเรื่องของการซื้อยาที่เมืองนอกจะเคร่งครัดกับกฏหมาย โดยถ้าไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ เภสัชกรก็จะไม่สามารถขายยาได้
 
ภาพและข้อมูลบางส่วนจาก http://movie.mthai.com/movie-gallery/43928.html , http://www.thaicinema.org/reviewsth70galileo.asp และ http://www.thaicinema.org/kits149galileo.asp
หมายเลขบันทึก: 314174เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2009 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาจองก่อนค่ะ

เด๊ยวจะมาอ่านอีกทีค่ะ

น่าอ่านครับน่าดูด้วย

แต่อย่างพี่น่าจะเป็น

รถไฟฟ้ามาหานะเธอ

ดูยังครับสนุกดี

***--

ขอบคุณท่านทั้งสอง P P ที่มาเยี่ยมเยือนครับ สำหรับหนังเรื่องรถไฟฟ้ามาหานะอยากให้ดูสาระของเรื่องจาก Blog ของเพื่อนผมที่ได้เขียนไว้จากหน้งเรื่องนี้ตาม Link ครับ http://www.oknation.net/blog/sekyicy/2009/10/17/entry-1

ตามมาอ่านความคิดเห็นของคุณไทเลย-บ้านแฮ่ค่ะ

สรรสร้าง..ช่างคิดได้สอดคล้องกับเทคนิคกระบวนการ

ได้อะไรจากการอ่าน ได้อะไรจากการดูหรือดูแล้วได้อะไร

ขอบคุณ คุณครูเล็ก P ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนครับ ในความคิดของผมคิดว่าถ้าเราได้มีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นหลังจากที่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ร่วมกันเป็นกลุ่มเสร็จแล้ว (ตามทฤษฎีเขาบอกว่าเป็นการ Show & Share จาก After Action Review แต่ผมไม่ได้ปีนบันไดขนาดนั้น ผมทำแบบลูกทุ่งตามสไตล์เด็กช่างครับ) ผมเชื่อว่าเราจะได้ความรู้จุดประกายเชื่อมโยงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท