ก้าวข้ามความคิด “วิทยุเมือง VS วิทยุชุมชน” : บทเรียนจากรายการ “นานาสาระกับเด็กปางมะผ้า”


จริงๆแล้วทุกศาสตร์ ทุกพื้นที่ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในโลกใบเดียวกัน มนุษย์ต่างหากที่ไปแยกส่วน และสร้างมายาคติกักขังตัวเองและความรู้ไว้ ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ขณะที่พิมพ์บันทึกนี้ ผมกำลังนั่งรถรถทัวร์เพื่อเดินทางกลับจากงานมหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน ที่กรุงเทพ

งานนี้เป็นงานที่มีผู้คนมาร่วมทุกภาคส่วน แต่หนักไปในทางกลุ่มเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม รองลงมาเป็นนักวิชาการ ซึ่งทางผู้จัด (แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน : สสย.) แม้จะมีเจ้าหน้าที่น้อย แต่ก็ดูแลงานได้อย่างน่าชื่นชม ทำให้งานเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี  ทำให้ผมกับเยาวชนไทใหญ่ที่มาร่วมงานได้ความรู้ ความอบอุ่นและเกิดกำลังใจที่จะกลับไปทำงานในพื้นที่เล็กๆของผมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแบ่งอภิปรายในห้องย่อยก็ดี หรือในห้องใหญ่ก็ดี ผมก็เข้าร่วมในห้อง ”จูนหาคลื่นวิทยุเด็ก”  ก็มีเสียงสะท้อนจากเครือข่ายวิทยุชุมชนได้แสดงความเห็นถึงความต้องการที่อยากให้ส่วนกลางมาเชื่อมโยงกับวิทยุชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือนสู้อยู่ในท้องถิ่นด้วยจิตอาสาอย่างตามมีตามเกิด ต่างจากประเด็นสื่อเด็ก เยาวชน  เช่น วิทยุเพื่อเด็ก เยาวชน ครอบครัว FM 105 MHz ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากรัฐ อย่างน้อยก็ในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ต่อรองจนได้คลื่นวิทยุและงบประมาณจากรัฐมาเป็นของตนเอง

 

น้ำเสียงผู้ตั้งคำถามในฐานะผู้ที่มาจากวิทยุชุมชนดูเหมือนจะอยากจะบอกว่า  “ทีประเด็นเด็ก สังคมกลับตอบรับมาก แต่ไหง พอเป็นวิทยุชุมชน สังคมกลับไม่ค่อยเห็นคุณค่าเท่าที่ควร”

ผมคิดคำตอบพื้นๆ ก็คือ ถ้าเราเข้าใจว่าสังคมในที่นี้ หมายถึงชนชั้นกลาง หรือรัฐบาล ก็คงพอเข้าใจได้ เพราะในสายตาของรัฐ วิทยุชุมชน เป็นเรื่องที่กระทบกับอำนาจรัฐอย่างชัดเจนกว่าวิทยุเด็ก หรือสื่อเด็ก แต่ในทางยุทธศาสตร์ งานสื่อเด็กก็ดี วิทยุเด็กก็ดีขึ้นจากพื้นที่ที่มีความพร้อมด้วยเหตุปัจจัยก่อน ซึ่งในที่นี้ก็คือส่วนกลาง ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีการขยายแนวร่วมไปยังภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งเชื่อมภาคีไปถึงวิทยุชุมชนบางแห่ง  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าเราเข้าใจพัฒนาการเช่นนี้

ในขณะเดียวกัน ก็มีปรากฏการณ์ที่มีงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่พยายามไปผลักดันให้เกิดรายการวิทยุสำหรับเด็ก เยาวชน ขึ้นตามวิทยุชุมชนในภูมิภาค แต่พอเอาเข้าจริง ก็เกิดแรงต้านอยู่บ้าง แรงต้านในที่นี้ไม่ใช่ตัวบุคคลหรือผลประโยชน์ เพราะทุกคนที่มาเดินบนเส้นทางสายนี้ล้วนแล้วแต่จิตสาธารณะทั้งสิ้น หากแต่เป็นแรงต้านที่มาจากวิธีคิดในการพัฒนาในองศาที่ต่างกัน

หลายๆคนอาจตั้งคำถามว่า ความรู้วิทยุจากส่วนกลางจะมาใช้กับชนบทได้อย่างไร ผมคิดว่า แค่ตั้งคำถามมันก็มาผิดทางแล้ว เพราะจริงๆแล้วทุกศาสตร์ ทุกพื้นที่ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในโลกใบเดียวกัน มนุษย์ต่างหากที่ไปแยกส่วน และสร้างมายาคติกักขังตัวเองและความรู้ไว้ ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

ผมคิดว่า ปัญหาการทำงานขับเคลื่อนสื่อเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว ไม่ได้อยู่ที่คน แต่อยู่ที่วิธีคิดของคน ที่มองอย่างสุดโต่ง แบบแยกขั้วตรงข้าม (Dualism) ในสองกลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่มองว่าความรู้หรือประสบการณ์การทำงานด้านสื่อ มันเป็นสากล คือ นำไปใช้ได้กับทุกพื้นที่
  2. กลุ่มที่มองว่าความรู้หรือประสบการณ์การทำงานด้านสื่อ มันอยู่ภายใต้บริบทเฉพาะ รู้จริงๆเฉพาะคนใน คนนอกที่เป็นนักวิชาการก็ดี นักพัฒนาจากข้างนอกก็ดี ไม่สามารถเข้าถึงได้

จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับวงการนี้มาหลายปี ผมพบว่าการมองแบบสุดโต่งทั้งสองด้าน ยังพบเห็นอยู่ทั่วไปในโลกของคนทำสื่อ และคนทำงานด้านเด็กครับ พอคิดต่างก็จะรวมกันเฉพาะกับกลุ่มที่คิดเหมือนกันกับเรา แต่กับกลุ่มที่คิดต่าง ก็จะคุยกันบ้างแบบแกนๆ หรือแสดงความเห็นที่สะท้อนว่า  “เรา” และ “เขา” แยกส่วนกัน  

 

ผมไม่ขอลงลึกว่าอะไรทำให้เกิดวิธีคิดที่แบ่งขั้วเช่นนี้ เพราะมีนักวิชาการและคำอธิบายในยุค Post Modern ได้วิเคราะห์ไว้บ้างแล้ว แต่คำถามของผมก็คือ ถ้าการแบ่งขั้วเช่นนี้ไม่สร้างสรรค์ แล้วมีตัวอย่างใดที่น่าจะข้ามผ่านการแบ่งแยกเช่นนี้ให้เห็น

คิดไปคิดมา ก็มาจบที่ตัวเอง เอ้อ เฮ้อ จากประสบการณ์ของวิทยุเด็ก เยาวชน สโมสรของเรา ถามว่า เราได้เรียนรู้อะไรจากการไปเชื่อมภาคีทั้งในแง่ทักษะ ความรู้ และช่องทางการสื่อสารกับชมรมวิทยุเด็ก เยาวชน ครอบครัวที่เติบโตมาจากส่วนกลาง

ผมคิดว่า ทางเราได้ทะลุออกจากกรอบการมองความรู้ / ประสบการณ์แบบคู่ตรงข้ามดังกล่าวไปสู่นวัตกรรมใหม่ ทะลุยังไง คือยังงี้ครับ

ขอยกตัวอย่างจากการทำ “รายการนานาสาระกับเด็กปางมะผ้า” ละกันนะครับ

รายการนานาสาระกับเด็กปางมะผ้า เป็นไอเดียที่ริเริ่มมาจากส่วนกลาง คือ ทางชมรมวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัวก็จริง แต่ก็ได้รับการขานรับจากสโมสรเยาวชนที่ปางมะผ้า ส่วนกลางวางกรอบและเทคนิคการลงเสียงมา แต่ทางเราก็ช่วยเติมเรื่องเนื้อหา โดยใช้ทักษะการเก็บข้อมูลที่เราฝึกมาจากการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว. ที่เน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน ชุมชน ต่อมาเราก็พยายามพัฒนารูปแบบการนำเสนอโดยเริ่มนำกระบวนการละครชุมชนที่ได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่มละครชุมชนกั๊บไฟมาประยุกต์ใช้  ซึ่งก็ทำให้รายการมีสีสันและเนื้อหาที่คมคายมากขึ้น

ทางชมรมวิทยุเด็กจากส่วนกลางก็จะบอกเสมอว่ารายการนี้ถือว่ามาเรียนรู้กับเรา เพราะเขามีช่องสัญญาณ มีช่วงเวลาออกอากาศ มีข้อมูลกลุ่มเป้าหมายให้  ซึ่งเป็นโอกาส เป็นความรู้ชุดหนึ่งที่เราขาดแคลน ส่วนทางเราเองก็หนุนเสริมด้านภาษาท้องถิ่น ความรู้และทักษะในการทำงานกับเด็ก เยาวชน และชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งก็เป็นความรู้อีกชุดหนึ่งที่ส่วนกลางอยากให้เราช่วย

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า ความรู้ทั้งสองชุดนี้จะเนียนด้วยกันไปซะหมด บางเรื่องเราก็พบว่ามันไม่ตรงกันนะครับ เช่น  ส่วนกลางมองว่าการทำงานวิทยุให้เด็กร่วมผลิตต้องดูจิตวิทยาพัฒนาการของเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งกำหนดช่วงอายุไว้ชัดเจน  ทางปางมะผ้าเราก็เห็นด้วย แต่เสนอว่าเด็กชนบทที่นี่ก็มีความซับซ้อน เพราะลักษณะทางจิตวิทยาของเด็กไม่ใช่เรื่องธรรมชาติกำหนดซะทั้งหมด แต่มันมีปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมเป็นตัวแปรสำคัญด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีตัวแปรดังกล่าวต่างกันออกไป  เวลาดูเด็กที่นี่ ต้องนึกถึงครอบครัว หมู่บ้าน  สิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ เขามีวิถีอยู่ด้วย ดูแบบปัจเจกนิยมอย่างเดียวจะพลาด 

พูดง่ายๆคือในการทำรายการวิทยุเด็ก เยาวชน โดยหลักเราจะเน้นด้านนิเทศศาสตร์ แต่ผมมองว่าเราน่าจะต้องใช้หลักจิตวิทยาพัฒนาการควบคู่ไปกับสังคมวิทยาเด็กด้วย (เป็นอย่างน้อย และน่าจะได้ใช้ความรู้อีกหลายศาสตร์มาประกอบ เช่น, การตลาดเพื่อสังคม  หรือแม้แต่ศาสนธรรม) คือต้องนำความรู้มาบูรณาการกัน ไม่ใช่แยกส่วนแบ่งเขาแบ่งเรา

 

ในแง่ของการพัฒนารายการ “นานาสาระกับเด็กปางมะผ้า” ภาพรวมเป็นกระบวนการที่นักวิชาการ และคนทำสื่อ จากวิทยุส่วนกลางมาจัดการความรู้ร่วมกันกับนักวิชาการ และคนทำสื่อจากวิทยุหมู่บ้าน

 

 

  

 แต่เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้เราสามารถนำความรู้มาบูรณาการกัน ข้ามศาสตร์ ข้ามพื้นที่ ข้ามชาติพันธุ์ นั้น ไม่ใช่การหักล้างกันด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียว

หากแต่การจัดการดังกล่าวต้องวางอยู่บนการมองเห็นเป้าหมายร่วม มีวิสัยทัศน์ร่วม ทีฐานมิตรภาพ เชื่อมั่นศรัทธาเห็นคุณค่าในพลังที่จะทำงานด้วยกัน เป็น Humanized Radio หรือเป็นวิทยุที่มีหัวใจศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 พูดง่ายๆคือ ต้องมี 3 ร่วม ได้แก่ การร่วมบริหารความรู้ ควบคู่ไปกับการร่วมบริหารความสัมพันธ์ บนฐานคิดร่วมเชิงอุดมการณ์ งานจึงเดินร่วมกันได้จนถึงวันนี้

 

ผมคิดว่าคุณค่าในการทำรายการนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวรายการเพียงอย่างเดียว แต่นัยยะของการจัดการความรู้ที่ก้าวข้ามวิธีคิดของคน ที่มองอย่างสุดโต่ง แบบแยกขั้วตรงข้าม (Dualism) ในสองกลุ่มดังกล่าว และสามารถลงเอยด้วยความเป็นน้ำหนึ่งในการพัฒนาอนาคตของประเทศชาติ อาจจะช่วยทำให้เรามองเห็นทิศทางและตัวอย่างการพัฒนาเชื่อมต่อระหว่างวิทยุเด็ก เยาวชน จากส่วนกลาง กับเครือข่ายวิทยุชุมชนที่มีอยู่อีกหลายร้อยสถานีในประเทศไทย ก็เลยอยากถ่ายทอดออกมาเล่าสู่กันครับ

หมายเลขบันทึก: 314099เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2009 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

เข้ามาอ่านเพราะสะดุดกับคำว่า "ยอดดอย"

ประสาคนเคยอยู่แถวๆดอยมา 4 - 5 ปีค่ะ

มา กทม. ไม่โทรศัพท์มาหาผมเลยครับ พี่ยอด...

ผมเองก็หาโอกาสกลับบ้านยาก อยากเสวนาด้วยหลายเรื่องครับ

พอดี อ. จเลิศ ทีมงาน BBC ภาคภาษาไทย และชมรมวิทยุเด็ก ได้กรุณามาช่วยให้ความเห็นทางอีเมล์ ผมเลยขออนุญาตนำความเห็นมาเผยแพร่ พื่อนำสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่นี้ต่อไป

อ. จเลิศตอบมาดังนี้ครับ

 "ขอบคุณครูยอดที่ช่วยสังเคราะห์การทำงานร่วมกันเป็นชุดความรู้ที่น่าวิเคราะห์กันต่อไปว่า ศูนย์กลางของความรู้อยู่ที่ใคร เด็ก ผู้ใหญ่ สังคมเมือง สังคมชนบท วิทยุเมือง วิทยุชุมชน ทั้งหมดนี้จะบูรณาการอย่างไรเพื่อให้เป็นชุดองค์ความรู้ที่เป็นสากล ไม่มีเขา ไม่มีเรา ในการผลิตสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน(ทั้งในเมืองและในชนบท) และเด็กทั้งสองกลุ่มจะเรียนรู้อยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร ฯลฯ

สำหรับผมคิดว่า หัวใจการทำงานร่วมกัน เราต้องเริ่มจากการฟังเสียงของเด็กก่อน ว่าควรเสนอเรื่องอะไรอย่างไร

เราค่อยๆเรียนรู้จากเด็กว่า เขาต้องการสื่อสารเรื่องใดกับสาธารณะ กับคนเมือง

เมืองควรได้เรียนรู้จักโลกที่คนเมืองไม่รู้จักอีกมากมาย ที่รายการนานาสาระนำมาเสนอ เป็นภูมิปัญญาที่เป็นรากของสังคมอย่างน่าทึ่ง

ภาษาไม่ใช่อุปสรรคของการสื่อสาร แต่อุปสรรคใหญ่คือวิธีคิดอย่างที่ครูยอดสะท้อนมา

ขอบคุณครับ ที่ช่วยกันสานและสร้างสิ่งดีๆให้ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน

ฝากขอบคุณเด็กๆทุกคนอีกครั้ง ที่เป็นขุมปัญญาใหญ่ให้คนเมืองได้ศึกษา เมื่อข้ามพ้นภูเขาแห่งความเขลา เราก็เจอปัญญาอันมหาศาลที่หาไม่เจอในเมืองครับ"

เพิ่งเปิดเมล

ไม่ทราบว่าพี่ไม่มีเบอร์โทรผม ส่งให้ทางอีเมลเเล้วนะครับ

ขอบคุณสำหรับแนวคิดและการแลกเปลี่ยนค่ะพี่ยอด

นกนำไปใช้ในการทำงานได้ดีมาก

ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ด้วยคนนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท