การประกันคุณภาพทางการศึกษา (1)


การประกันคุณภาพทางการศึกษา

วิทยานิพนธ์  ศึกษาความคิดเห็นของครูที่มีต่อการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสงขลา

 

โดย : พณิชนาฎ  วงศ์สุวรรณ

สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  มหาวิทยาลัยทักษิน  มีนาคม  2546

 

ประวัติความเป็นมา

          ปัจจุบันประเทศต่างๆ  ต้องเผชิญกับความท้าทายจากกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ไม่ว่าจะด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การสื่อสารหรือเทคโนโลยีอื่นๆ และการแข่งขันกันอย่างรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจ  ประชากรที่มีคุณภาพจึงเป็นปัจจัยและพลังที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดพลังอำนาจของชาติในการพัฒนาประเทศ  แข่งขันและยืนหยัดอยู่ได้ในสังคมโลก  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2540: คำนำ ก) และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เศรษฐกิจและสังคมของประเทศดีเพียงใด  แข่งขันในตลาดโลกได้ดีเพียงใด     ขึ้น อยู่กับคุณภาพของประชากร  คุณภาพแรงงาน และคุณภาพของผู้นำในวงการต่างๆ และยังยอมรับกันว่าคุณภาพคนขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษา (มนตรี  จุฬาวัฒนทล. : 1 )ดังนั้น การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง  โดยจะต้องจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ  กล่าวคือ ระดมสรรพกำลังทุกส่วนของสังคมให้มีส่วร่วมในการจัดการศึกษา พัฒนาตนให้สมดุลทั้งด้านร่างกาย ปัญญา  จิตใจ และสังคม จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของบุคคล  ชุมชน และประเทศชาติ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  2540 : 16-19)

ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า

                1.  เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของครูที่มีต่อการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา

2.  เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของครูที่มีต่อการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสงขลา  จำแนกตามประสบการณ์ และขนาดโรงเรียน

3.  เพื่อประมวลข้อเสนอแนะในการปรับปรุง  และพัฒนาการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษา ของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา

ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า

                ผลการวิจัยนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมาสำหรับผู้บริหารและครูใช้เป็นแนวทางในการประกันคุณภาพการศึกษา ของโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา

 

สมมติฐานการศึกษาค้นคว้า

1.  ครูโรงเรียนประถมศึกษา ที่มีประสบการณ์ในการทำงานแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานงานประกันคุณภาพของผู้บริหารแตกต่างกัน

2.  ครูโรงเรียนประถมศึกษา ที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกัน  มีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพของผู้บริหารแตกต่างกัน

 

 

วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า

 

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

                1.  ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ คือ ครูโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา  ปีการศึกษา 2545 จำนวน 481 คน

                2.  กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้เป็นครูโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา  จำนวน 481  คน  กำหนดเป็นกลุ่มตัวอย่าง 215  คน  ตามตารางอัตราส่วนของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan.1970 : 608)  แล้วสุ่มแบบแบ่งชั้น  (stratified random sampling) ตามประสบการณ์ในการทำงาน แขนาดโรงเรียน

 

เครื่องมือการวิจัย

          ชุดที่ 1  แบบสอบถาม

                ชุดที่ 2  แบบสัมภาษณ์

 

วิธีสร้างเครื่องมือ

                1.  ศึกษาเอกสาร ตำรา สิ่งพิมพ์ต่างๆ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษา

                2.  สร้างแบบสอบถามโดยให้ครอบคลุมตัวแปรต่างๆที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า  จำนวน  37  ข้อ  ภายใต้องค์ประกอบการเตรียมการดำเนินการเพื่อรองรับการประเมินภายนอกสี่ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมบุคลากร  การสร้างความเข้าใจ  การเตรียมเอกสาร  หลักฐาน  แบบรายงานผล  และการประสานงานกับองค์กรประเมินภายนอก

                3.  นำแบบสอบถามที่สร้าง เสนอคณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข

                4.  นำแบบสอบถามที่ปรับปรุงแล้ว  ไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษา และด้านภาษา  ตรวจสอบความเที่ยงตรงตามเนื้อหา  (Content validity)  จำนวน  4  คน  จากนั้นนำแบบสอบถามไปปรับปรุงแก้ไข  เพื่อให้มีเนื้อหาตรงกับเรื่องที่ต้องการ

                5.  ทำแบบสอบถามไปทดลองใช้ (Try out)  กับครูประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา  ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้  จำนวน  30  คน  แล้วนำมาวิเคราะห์หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม  โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟ่า (alpha-coefficient) 

          6.  นำแบบสอบถามที่ผ่านการทดลองแล้ว  มาตรวจสอบและจัดทำแบบสอบถามฉบับสมบูรณ์เพื่อนำไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าต่อไป

                7.  การสัมภาษณ์ ใช้วิธีการสนทนา  เพื่อทราบข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษา

 

 

 

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

                ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ข้อมูล  โดยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for windows (statistical package for the social sciences for windows) สำหรับค่าสถิติต่อไปนี้       

          1.  สถิติพื้นฐานได้แก่  ร้อยละ  (percentage) ค่าเฉลี่ย (mean) ความเบี่ยงเบน  มาตรฐาน  (standard deviation) และความถี่ (frequency)

          2.  สถิติสำหรับการหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม  ได้แก่ สัมประสิทธิ์แอลฟ่า  (alpha-coefficient)

                3.  สถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน  ได้แก่  การทดสอบที  (t-test)

สรุปผลการวิจัย

                1.  ครูโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา  มีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา  โดยภาพรวมและรายด้าน อยู่ในระดับปานกลาง

                2.  ครูโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลาที่มีประสบการในการทำงานแตกต่างกัน (ต่ำกว่า 20 ปี และตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป)  มีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา  โดยภาพรวมและรายด้านพบว่า  การเตรียมบุคลากร  การสร้างความเข้าใจ  และการเตรียมเอกสาร  หลักฐาน แบบรายงานผล  แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05  โดยครูโรงเรียนประถมศึกษาที่มีประสบการณ์ในการทำงานต่ำกว่า 20 ปี มีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา  มากกว่าครูโรงเรียนประถมศึกษา  ที่มีประสบการณ์ในการทำงานตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป ส่วนด้านการประสานงานกับองค์กรประเมินภายนอก  ไม่แตกต่างกัน

                3.  ครูโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลาที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกัน (ต่ำกว่า 12 ห้องเรียน และตั้งแต่ 12 ห้องเรียนขึ้นไป)  มีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาโดยภาพรวมและรายด้าน พบว่า การเตรียมบุคลากร  การสร้างความเข้าใจ และการประสานงานกับองค์กรประเมินภายนอก แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ  .001  ส่วนการเตรียมเอกสาร  หลักฐาน  แบบรายงานผล  แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ  .01  โดยครูโรงเรียนประถมศึกษาที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนที่มีขนาดต่ำกว่า 12 ห้องเรียน มีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา  มากกว่าครูโรงเรียนประถมศึกษา ที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนที่มีขนาดตั้งแต่ 12 ห้องเรียนขึ้นไป

 ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง

1.  ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา  ควรสร้างความเข้าใจให้กับครู  บุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษา

2.  สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา  ควรติดตาม  กำกับ  ดูแลให้คำแนะนำและให้ขวัญและกำลังใจแก่ผู้บริหารในการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษา

3.  สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา  ควรส่งเสริมให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนได้มีโอกาสดูงาน  เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษา

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยต่อไป

 

 1.  ควรศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีต่อการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา  จังหวัดสงขลา

2.  ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ในการทำงานกับระดับการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา  จังหวัดสงขลา

3. ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดโรงเรียนกับระดับการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา

 

 

หมายเลขบันทึก: 312797เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2009 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท